"หากเราไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดครั้งใหม่นี้ได้ เราก็มาถึงจุดวิกฤติที่อาจจะต้องนำไปสู่การพิจารณาเพิ่มความเข้มข้นเรื่องมาตรการ Social Distancing ให้ขึ้นไปอยู่ใน Level 3"

ประธานาธิบดี มุน แจ อิน ของเกาหลีใต้ ประกาศเตือนประชาชนด้วยสีหน้าจริงจัง หลังประเทศแห่งไอดอลพบตัวเลขผู้ติดเชื้อ Covid-19 รายวันกระโดดสูงขึ้นจนน่าตกใจถึง 2 วันติดต่อกัน กระทั่งสุ่มเสี่ยงต่อการที่จะเกิดการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ระลอกที่ 3 (Third Wave)

อะไรคือ ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันที่น่าตกใจนั้น?

ตัวเลขผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจาก Covid-19 ในประเทศเกาหลีใต้ 2 สัปดาห์ล่าสุด

ส่งผลให้ล่าสุด ยอดสะสมผู้ติดเชื้อในประเทศเกาหลีใต้พุ่งทะลุ 45,442 คน และเสียชีวิตสะสมรวม 612 ศพ หากแต่...ประเด็นที่น่าวิตกกังวลที่สุด คือ ในจำนวนการติดเชื้อระลอกล่าสุดนี้ เป็นการติดเชื้อภายในประเทศ (local transmission) ถึง 1,002 คน และ 80% ในจำนวนนี้ เป็นการพบติดเชื้อในกรุงโซล ยืนยันโดยศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคระบาดของเกาหลีใต้

...

"พวกเรามาถึงจุดที่หลังพิงกำแพงแล้ว นี่คือช่วงเวลาสำคัญที่จะต้องทุ่มเทความสามารถในการหยุดยั้งการแพร่ระบาดลงให้ได้" ผู้นำเกาหลีใต้เรียกพลังคนในชาติให้มาร่วมไม้ร่วมมือกันต่อสู้กับโรคระบาดที่สุดในศตวรรษ

เหตุใดตัวเลขการแพร่ระบาดในประเทศครั้งล่าสุดจึงต้องน่าวิตกกังวล?

"สมมติว่า มีผู้ติดเชื้อ Covid-19 ใหม่ 1,000 คนต่อวัน ในอีก 20 วันข้างหน้า เราจะต้องจัดเตรียมเตียงสำหรับรองรับผู้ป่วยให้ได้มากกว่า 10,000 เตียง สำหรับอีก 3 สัปดาห์" กระทรวงสาธารณสุขของเกาหลีใต้เฉลยคำตอบ

และล่าสุด เพื่อเป็นการเตรียมรับวิกฤติที่อาจกำลังก่อตัว กระทรวงสาธารณสุขของเกาหลีใต้ได้สั่งเพิ่มเตียงรักษาผู้ป่วยตามโรงพยาบาลต่างๆ แล้ว 10,000 เตียง พร้อมกับเตรียมเงินพิเศษชั่วคราว 3 ล้านวอนต่อเดือน ให้กับพยาบาลที่ต้องดูแลผู้ป่วย Covid-19 ตามโรงพยาบาลทั่วประเทศ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจรวมถึงลดความกดดันจากการที่ต้องทำงานหนักขึ้นเป็นพิเศษในช่วงเวลาวิกฤติ

โดยความสุ่มเสี่ยงที่จะนำพาดินแดนแห่งไอดอลไปสู่การแพร่ระบาดระลอกที่ 3 นี้ เกิดขึ้นทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้เกาหลีใต้ได้รับการยกย่องจนตัวลอยในฐานะประเทศที่ประสบความสำเร็จในการควบคุมการแพร่ระบาดโรค Covid-19 โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งมาตรการขั้นสุดอย่างมาตรการ Lockdown ทั่วประเทศ เหมือนเช่นที่หลายๆ ประเทศในโลกนำมาใช้ ส่งผลให้นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจของเกาหลีใต้น่าจะหดตัวลงเพียง 1.1% ในปีนี้ ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่ดีที่สุดในสมาชิกกลุ่มองค์กรเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือ OECD ทั้ง 37 ประเทศ

แต่แล้วเมื่อรัฐบาลเกาหลีใต้เห็นว่า "เอาอยู่" และค่อยๆ ผ่อนปรนมาตรการควบคุมต่างๆ ลงไปอยู่ในระดับต่ำสุดและเริ่มมาตรการอัดฉีดต่างๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในเดือนตุลาคม

นั่นแหละ เมื่อ "การ์ดเริ่มตก" มหกรรมการแพร่ระบาดครั้งใหม่จึงเริ่มต้นขึ้น โดยเริ่มจากช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน จำนวนผู้ติดเชื้อได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะที่กรุงโซลและพื้นที่โดยรอบเมืองหลวงแห่งนี้ ซึ่งมีจำนวนประชากรเกือบครึ่งหนึ่งของจำนวน 52 ล้านคนทั่วประเทศ

อย่างไรก็ดี แม้จะต้องเผชิญหน้ากับตัวเลขผู้ป่วยที่เพิ่มสูงขึ้นทุกขณะ แต่รัฐบาลเกาหลีใต้กลับยังคงไร้ซึ่งปฏิกิริยาใดๆ ที่จะแสดงให้เห็นว่าจะมีการยกระดับการควบคุมการแพร่ระบาด จนทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางว่า น่าจะเป็นเพราะรัฐบาลเกาหลีใต้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจมากกว่าคิดที่จะแก้ไขปัญหา Covid-19 เป็นผลให้คะแนนนิยมของประธานาธิบดี มุน แจ อิน ลดต่ำลงเป็นประวัติการณ์เหลือเพียง 36.7% เท่านั้น จากผลสำรวจล่าสุด

"ชาวเกาหลีใต้ลดระดับการป้องกันตัวเองลง หลังเห็นว่ารัฐบาลเร่งผ่อนคลายมาตรการป้องกันต่างๆ เพื่อเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจและช่วยผู้คนที่กำลังเหนื่อยล้า แต่สิ่งที่ผิดพลาดเป็นอย่างมาก คือ การที่รัฐบาลล้มเหลวในการยกระดับการควบคุม หลังเห็นจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา

หากแต่สิ่งที่น่าวิตกมากไปกว่านั้น คือ การแพร่ระบาดระลอกใหม่นี้ อาจจะรับมือได้ยากขึ้นกว่าครั้งที่ผ่านมา ถึงแม้จะอยู่ภายใต้มาตรการควบคุมแบบเดิมหรืออาจเข้มข้นกว่าเดิม รวมถึงมีการระดมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารเข้ามาช่วย นั่นเป็นเพราะในเวลานี้เป็นฤดูหนาวไวรัสสามารถอยู่ได้นานขึ้น ในขณะที่ผู้คนส่วนใหญ่ก็มักจะใช้ชีวิตอยู่ในอาคารปิดทึบมากขึ้นด้วยเช่นกัน" ศาสตราจารย์ คิม อู จู (Kim Woo-joo) ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดต่อของเกาหลีใต้ ให้ความเห็น

...

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขของเกาหลีใต้ยังพบอีกด้วยว่า การแพร่ระบาดระลอกใหม่นี้แตกต่างจากครั้งที่ผ่านมา เนื่องจากผู้ติดเชื้อระลอกล่าสุดนี้ มีจำนวนน้อยมากที่ติดในแหล่งที่เคยเป็นสถานที่การแพร่ระบาดที่เคยมีการเก็บข้อมูลตลอด 10 เดือนที่ผ่านมา และสิ่งที่น่าเป็นกังวลอีกประเด็น คือ จำนวนผู้เสียชีวิตจาก Covid-19 รายวันที่กำลังเพิ่มสูงขึ้น โดยล่าสุด (16 ธ.ค.) หน่วยงานด้านสาธารณสุขของเกาหลีใต้ได้ออกมาเตือนว่า จำนวนผู้เสียชีวิตอาจจะเพิ่มสูงขึ้นในอีกไม่กี่วันข้างหน้า เนื่องจากจำนวนผู้ป่วยวิกฤติมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น และในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ (80 ปีขึ้นไป) ซึ่งมีอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 15.02% ในขณะที่บุคคลทั่วไปอยู่ที่ 1.35%

ปัจจุบัน กรุงโซลเมืองหลวงของเกาหลีใต้และเมืองที่อยู่ใกล้เคียง คือ คยองกี และอินชอน อยู่ภายใต้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาด Level 2.5 ซึ่งมีข้อบังคับสำคัญ คือ ห้ามประชาชนรวมกลุ่มกันเกินกว่า 50 คน และห้ามร้านอาหารให้บริการลูกค้าหลังเวลา 21.00 น. ในขณะที่ พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศอยู่ภายใต้มาตรการ Level 2

...

โดยหากรัฐบาลเกาหลีใต้ตัดสินใจประกาศเลื่อนระดับการควบคุมจาก Level 2.5 ไปเป็นระดับ Level 3 เมื่อไหร่ ประชาชนจะถูกห้ามรวมกลุ่มกันเกินกว่า 10 คน โรงเรียนจะต้องถูกปิด ลีกกีฬาต่างๆ จะต้องถูกสั่งระงับการแข่งขัน บริษัทต่างๆ จะได้รับอนุญาตให้มีพนักงานมาทำงานเท่าที่จำเป็น ในขณะที่ส่วนใหญ่จะต้องทำงานและเรียนอยู่กับบ้าน ซึ่งนั่นจะเท่ากับเกิดภาวะชะงักงันทางเศรษฐกิจของประเทศที่ขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 4 ของเอเชียในรอบหลายเดือนทันที

ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลเกาหลีใต้จึงยังพยายามมุ่งขจัดการแพร่ระบาดระลอกใหม่นี้ ไปที่เพิ่มจำนวนเตียงในโรงพยาบาลเพื่อรองรับผู้ป่วยตามโรงพยาบาลต่างๆ รวมถึงมุ่งค้นหา "ผู้แพร่เชื้อแบบซ่อนเร้น" (Hidden Spreaders) หรือผู้ติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการ เพื่อหลีกเลี่ยงการยกระดับมาตรการควบคุมไปที่ Level 3 ซึ่งจะส่งผลต่อปากท้องคนในประเทศ

...

"รัฐบาลจะพยายามอย่างเต็มที่ในการควบคุมการแพร่ระบาด Covid-19 เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้วิธีการสุดท้าย" นายกรัฐมนตรี ชอง เซ กยูน ของเกาหลีใต้ ยืนยันในระหว่างการประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาทางป้องกันเกาหลีใต้จากหายนะครั้งใหม่

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีของเกาหลีใต้ยังได้สั่งการให้กระทรวงเศรษฐกิจและการคลังและกระทรวง SMEs และ Startups ปรับมาตรการให้ความช่วยเหลือต่างๆ ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน และรัฐบาลยังเตรียมเสนอเงินบรรเทาทุกข์รอบที่ 3 ให้กับธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจาก Covid-19 ด้วย เพื่อสนับสนุนสำหรับการปูทางไปสู่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในลำดับต่อไป

เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เศรษฐกิจของเกาหลีใต้เริ่มส่งสัญญาณการฟื้นตัวจากภาวะถดถอยอย่างรุนแรงในช่วงไตรมาสที่ผ่านมา ภายหลังจากการส่งออกมีตัวเลขที่เติบโตเร็วที่สุดในรอบหลายทศวรรษ จนส่งผลให้ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP ในช่วงไตรมาสที่ 3 เพิ่มขึ้น 1.9% เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ทำให้บรรดานักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจน่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้น 1.3%

สาเหตุหลักที่ตัวเลขการส่งออกของเกาหลีใต้พุ่งสูงขึ้น เนื่องจากเทคโนโลยีการผลิต "ชิปคอมพิวเตอร์" สินค้าส่งออกสำคัญของเกาหลีใต้ กลายเป็นที่ต้องการอย่างสูงในตลาดโลก เนื่องจากการแพร่ระบาด Covid-19 ทำให้ผู้คนเกือบทั้งโลกต้องทั้งเรียนและทำงานที่บ้านของตัวเอง จนกระทั่งทำให้สินค้าไฮเทคขายดิบขายดี ขณะเดียวกัน การที่ก่อนหน้านี้เกาหลีใต้สามารถควบคุมการแพร่ระบาด Covid-19 ได้เป็นอย่างดีเมื่อเปรียบเทียบกับหลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะยุโรปและสหรัฐอเมริกา ทำให้บรรดานักลงทุนเกิดความเชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจของเกาหลีใต้กำลังกลับมาฟื้นตัวอย่างเข้มแข็งอีกครั้ง

แต่แล้ว...เมื่อชาวเกาหลีใต้ "การ์ดตก" จนทำให้ Covid-19 ค่อยๆ กลับมาอาละวาดได้อีกครั้ง ทุกอย่างก็เริ่มเลวร้ายลง อัตราการว่างงานที่ในเดือนสิงหาคม สามารถปรับลดลงเหลือ 3.2% จาก 4.2% ในเดือนกรกฎาคม ซึ่งควรจะไม่ต่างอะไรจากแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์นั้น อีก 2 เดือนต่อมา อัตราการว่างงานก็ค่อยๆ พุ่งสูงขึ้นตามลำดับ โดยในเดือนกันยายนอยู่ที่ 3.9% และ 4.2% ในเดือนตุลาคม

นอกจากนี้ จำนวนผู้มีงานทำในเกาหลีใต้ยังคงทยอยปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 ติดต่อกันแล้ว โดยล่าสุด จำนวนผู้มีงานทำในเดือนตุลาคม ปี 2020 อยู่ที่ 27.2 ล้านคน ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของเมื่อปีที่ผ่านมา ถึง 273,000 คน

แต่ตัวเลขที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การแพร่ระบาดระลอกล่าสุดของ Covid-19 กระทบกับเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ก็คือ ในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน ซึ่งเป็นช่วงผ่อนคลายมาตรการควบคุมไวรัสเพื่อกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ มีจำนวนคนตกงานสูงถึง 421,000 ตำแหน่ง ซึ่งเป็นการลดลงที่รุนแรงที่สุดในรอบ 6 เดือนของปีนี้ (2020) นอกจากนี้ รายงานการว่างงานทุกๆ เดือนนับตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา ยังพบอีกว่า มีการสูญเสียการจ้างงานไปแล้วกว่า 195,000 ตำแหน่งงาน ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่มีการสูญเสียการจ้างงานมากที่สุด นับตั้งแต่ปี 2009

ส่วนภาคการผลิต ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญที่สุดของเศรษฐกิจเกาหลีใต้นั้น ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา มีจำนวนคนตกงานสูงถึง 113,000 ตำแหน่ง ซึ่งถือว่าสูงกว่าจำนวนคนตกงานในเดือนตุลาคมที่มีทั้งสิ้น 98,000 ตำแหน่ง

ส่วนธุรกิจที่พักและบริการอาหาร ในเดือนพฤศจิกายน มีจำนวนคนตกงาน 161,000 ตำแหน่ง ในขณะที่ ธุรกิจการค้าและการค้าปลีกมีจำนวนคนตกงานทั้งสิ้น 166,000 ตำแหน่ง ซึ่งทั้งหมดที่เกิดขึ้นนี้ คำตอบมีเพียงคำตอบเดียว นั่นก็คือ Covid-19 นั่นเอง!

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
กราฟิก: เทพอมร แสงธรรมาพิทักษ์

ข่าวน่าสนใจ: