ไอเดียกระฉูด หยุดไม่อยู่จริงๆ สำหรับมหาอำนาจเศรษฐกิจซีกโลกตะวันออก ที่คราวนี้ขอกระโดดลงเล่นสนามใหม่และใหญ่กว่าเดิม ปลุกปั้นและผลักดันเต็มที่กับ หยวนดิจิทัล เงินเสมือนจริงของรัฐบาลจีนที่มีศักยภาพเป็น GAME CHANGER ที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงสนามนี้ ว่ากันว่า... อาจเปลี่ยนโลกที่คุณเคยรู้จักอย่างสิ้นเชิง!!

หยวนดิจิทัล คืออะไร?

อธิบายง่ายๆ มันคือ "เงินเสมือนจริง" ที่รัฐบาลจีนกำลังผลักดันและพัฒนาให้สามารถใช้งานได้ดีกว่า "ธนบัตร" ทั่วไป

โดยในขั้นต้น รัฐบาลจะใช้วิธีแจก "หยวนดิจิทัล" ให้กับประชาชนในเมืองทางตะวันออกของซูโจว มูลค่ารวม 20 ล้านหยวน หรือประมาณ 91.87 ล้านบาท ผ่านรูปแบบ "ลอตเตอรี่" ที่เป็น "ซองแดง" (Red Packet) กว่า 100,000 ซอง แต่รัฐบาลเขามีข้อแม้ว่า คนที่จะได้ หยวนดิจิทัล ไปใช้นั้น ต้องดาวน์โหลดกระเป๋าสตางค์ออนไลน์ หรือ Wallet มาใช้ซะก่อน!!

คุ้นๆ แอบเหมือน G-Wallet ของรัฐบาลไทย

ส่วนอีกที่หนึ่งก็มีการทดสอบเงินเสมือจริงเช่นกัน คือ เมืองทางตอนใต้ของเซินเจิ้น ที่เมื่อเดือนตุลาคาม 2563 รัฐบาลจีนแจก "หยวนดิจิทัล" มูลค่ารวม 10 ล้านหยวน หรือประมาณ 45.92 ล้านบาท แต่การทดลองเงินเสมือนจริงในครั้งนี้แตกต่างจากรอบล่าสุดเล็กน้อย เพราะมีการแนะนำฟีเจอร์ใหม่ที่ถือว่าเด็ดมากๆ ก็คือ Dual Offline Payment

Dual Offline Payment มันเด็ดยังไง?

นั่นก็เพราะว่า ฟีเจอร์ Dual Offline Payment นี้จะช่วยให้เราใช้จ่ายได้ง่ายมากกว่าเดิม เพียงแค่ติดตั้งแอปพลิเคชันกระเป๋าสตางค์หยวนดิจิทัล แล้วเอาโทรศัพท์แตะกัน แค่นี้ก็ใช้จ่ายได้แล้ว แม้จะไม่ได้เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตอยู่ก็ตาม แต่ฟีเจอร์ที่ว่านี้ไม่ได้กันมาง่ายๆ รัฐบาลจีนจะมีการสุ่มเลือกผู้ชนะ 1,000 รายให้ได้ทดลองก่อน และถ้าใครยังจำกันได้เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ยักษ์ใหญ่เทเลคอมของจีนอย่าง "หัวเว่ย" ก็ออกมาประกาศว่า สมาร์ทโฟน Mate 40 ก็จะมีกระเป๋าสตางค์หยวนดิจิทัลที่พ่วงฟีเจอร์จ่ายเงินออฟไลน์นี้มาด้วย

...

ในส่วนแพลตฟอร์มออนไลน์ เท่าที่ทราบตอนนี้ JD.com คู่แข่ง Alibaba ได้กลายเป็นแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซรายแรกที่ยอมรับ "เงินดิจิทัล" และอนุญาตให้ผู้ใช้สามารถใช้ซื้อสินค้าได้

นี่ล่ะ!! คือความน่าสนใจของ "โลกดิจิทัล" ในปี 2564 ที่ใกล้จะมาถึง...

แต่การมาของ "หยวนดิจิทัล" ครั้งนี้ เป็นที่สังเกตของบรรดานักวิเคราะห์ทั่วโลกพอสมควร ว่าอาจจะเข้ามาตีตลาดแย่งฐานลูกค้าเจ้าตลาดเอกชน โดยเฉพาะ 2 ยักษ์ใหญ่ AliPay และ WeChat Pay

"หยวนดิจิทัล" ท้าชน 2 ยักษ์ใหญ่ ปลุกสนามเดือด!!

จากการเข้ามาของ "หยวนดิจิทัล" แน่นอนว่าเรียกทุกสายตาให้หันไปมองได้อย่างรวดเร็ว เพราะการลงสนามครั้งนี้ไม่ได้สะเทือนคู่แข่งนอกประเทศเท่านั้น แต่ยังสะกิด "ยักษ์ใหญ่" ในประเทศตัวเองด้วย

แม้ว่าก่อนหน้านี้ ธนาคารกลางของจีนจะออกมาชี้แจงแข็งขันว่า "สนามเงินเสมือนจริง" ไม่ได้เปิดการแข่งขันโดยตรงระหว่าง "หยวนดิจิทัล" กับ AliPay และ WeChat Pay ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันกระเป๋าสตางค์ที่ครองตลาด Digital Payment ของจีน เพราะ "หยวนดิจิทัล" จะทำหน้าที่เป็นแค่ "เงิน" เท่านั้น ส่วน AliPay และ WeChat Pay นั้นเป็นเครื่องมือ หรือกระเป๋าสตางค์ไว้ใส่เงิน

ถึงภาพจะยังไม่ชัดเจนว่า รัฐบาลจีนมีความกังวลต่อการครอบงำตลาดของแอปพลิเคชันกระเป๋าสตางค์ของเอกชน และยักษ์ใหญ่ฟินเทค Ant Group ซึ่งเป็นเจ้าของ AliPay แต่ก็มีการคาดการณ์ว่า การแข่งขันการใช้จ่ายผ่านกระเป๋าสตางค์หยวนดิจิทัลจะตามมาแน่นอนในไม่ช้านี้... (ดีไม่ดีได้เห็นภาพในปีหน้า)

ส่วนผลการแข่งขันใครจะแพ้จะชนะนั้น ดูจากที่เห็นตอนนี้... มันก็ยังยากอยู่ดีที่แอปพลิเคชันกระเป๋าสตางค์ที่ได้รับการสนับสนุนโดยรัฐบาล จะมาเทียบกับ AliPay และ WeChat Pay ที่ในตอนนี้เรียกว่าเป็น Super Apps ไปแล้ว เพราะครอบคลุมการใช้จ่ายบริการที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตแทบทุกมิติ แต่ก็ใช่ว่าจะเอาชนะไม่ได้เลยซะทีเดียว เพราะอย่างฟีเจอร์ที่บอกไปข้างบน กับฟีเจอร์ Offline Payment และการขยาย Online Payment ก็มีความเป็นไปได้ว่าจะดึงดูดให้คนหันมาใช้ของรัฐบาลมากขึ้น

ทั้งนี้ รัฐบาลจีนกำลังพัฒนาเวอร์ชันใหม่ๆ ของ "หยวนดิจิทัล" เพื่อหวังมีอำนาจสูงสุดในตลาดมาตั้งแต่ปี 2557 แล้ว และหวังว่าจะผลักดันให้มีคนใช้ไปทั่วโลกด้วย เช่น การสนับสนุนให้มีการใช้จ่ายข้ามเขตแดนกับฮ่องกง หรือผลักดันให้มีการใช้แบบเต็มรูปแบบภายในปี 2565 ก่อน "โอลิมปิกฤดูหนาว" ในปักกิ่ง เป็นต้น โดย Goldman Sachs ประมาณการว่า รัฐบาลจีนจะมีฐานผู้ใช้เต็มศักยภาพ 1,000 ล้านยูสเซอร์ ได้ใน 10 ปี

แต่... ที่ว่าจะไปทั่วโลกนั้นไปอย่างไร?

...

"หยวนดิจิทัล" สู่ "ระบบเงินดิจิทัล" ที่สหรัฐอเมริกาไกล (เกินเอื้อม)

เป็นที่จับตามองมากว่า "เงินดิจิทัล" ของจีนจะสามารถขยายสาขาไปทั่วโลกได้จริงหรือไม่?

เดวิด มาร์คัส ผู้บริหาร "ลิบรา" (Libra) แห่ง Facebook ตั้งข้อสังเกตว่า จีนอาจกำลังสร้าง "ระบบเงินดิจิทัล" ที่ไกลเกิน "ฝ่ายบริหารสหรัฐฯ" จะเอื้อมถึง

ซึ่งหมายความว่า บทลงโทษทางการเงินของสหรัฐอเมริกาอาจมีผลกระทบต่อจีนเพียงเล็กน้อย เพราะหากว่า "หยวนดิจิทัล" ถูกนำไปใช้ทั่วโลก หลายประเทศก็อาจเลือก "เหรินหมินบี้" (RMB) เป็นทางเลือกในการโต้ตอบ "ดอลลาร์" เพื่อหักบัญชีระหว่างประเทศและบริการชำระหนี้ต่างๆ

ข้อดีอย่างหนึ่งของ "เงินดิจิทัล" ที่ควบคุมโดยรัฐบาล คือ อาชญากรรมทางการเงิน เช่น การฟอกเงินและเลี่ยงภาษีจะกลายเป็นเรื่องที่ทำได้ยากขึ้น

แต่แน่นอนว่า การปราฏตัวของ "หยวนดิจิทัล" ไม่ได้ราบรื่นนัก (จริงๆ แทบทุกอย่างที่เป็นของจีนก็ไม่เคยจะรอดคำครหา)

เพราะมีคนมองว่า หยวนดิจิทัล อาจกลายมาเป็น GAME CHANGER ระหว่างประเทศได้ หนึ่งในเหตุผลคือ จีนมีศักยภาพพอที่จะเป็นผู้บุกเบิก "มาตรฐานโลกฉบับใหม่" ได้ แถมยังมีแววว่าจะใช้โชว์อำนาจทางเศรษฐกิจ หรือโน้มน้าวประเทศอื่นๆ และสถาบันการเงินให้หันมาใช้ของตัวเอง และนั่นอาจกระทบรุนแรงต่อ "ดอลลาร์สหรัฐ"

ในปัจจุบัน "ดอลลาร์สหรัฐ" ถือเป็นสกุลเงินที่มีอิทธิพลมากที่สุดในโลก และเป็น "ตัวกลาง" ที่ได้รับความนิยมชมชอบในการนำมาใช้แลกเปลี่ยนการค้าในหลายๆ ภาค จนอาจบอกได้ว่า รัฐบาลสหรัฐฯ มีอำนาจในการติดตั้ง "ดอลลาร์สหรัฐ" ให้อยู่ในรูปแบบ "สิทธิสภาพนอกอาณาเขต" เพื่อสู้ๆ กับบรรดาประเทศที่ไม่ชอบขี้หน้ากันได้ ยกตัวอย่างเช่น แคร์รี แลม ผู้บริหารสูงสุดของฮ่องกง ที่ถูกสหรัฐอเมริกาลงโทษ ในข้ออ้างว่า "ทำลายเอกราชประเทศ" จนทำให้เธอไม่สามารถถือครองบัญชีเงินฝากธนาคารได้ แม้กระทั่งธนาคารที่อยู่ข้างเดียวกับจีนก็ยังเชื่อมั่นตลาดการเงินของสหรัฐอเมริกา ก็ไม่ยอมให้เธอแตะต้อง...

...

แม้ว่า "ดอลลาร์สหรัฐ" จะมีบทบาทที่แข็งแกร่ง แต่ "หยวนดิจิทัล" ก็พอจะแสดงให้เห็นได้ว่า อาจเข้ามาเป็น GAME CHANGER จริงๆ โดยหากทำได้เท่ากับว่า "หยวนดิจิทัล" จะเข้ามาเป็นตัวกลางระหว่างประเทศโดยเป็นเครื่องมือการค้าของสถาบันการเงิน บริษัทต่างๆ รวมถึงรัฐบาลประเทศอื่นๆ ซึ่งจะลดอิทธิพลที่ครอบงำทั่วโลกของ "ดอลลาร์สหรัฐ" ลงได้ เช่น อิหร่านและเวเนซูเอลาที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงของการลงโทษโดยสหรัฐอเมริกา

เมื่อมีคนที่ได้ประโยชน์ก็ย่อมมีคนเสียประโยชน์ การที่ "ระบบการเงิน" จะถูกเขียนขึ้นใหม่โดยรัฐบาลจีนย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะโดนต่อต้าน

รายแรกคงหนีไม่พ้น "สหรัฐอเมริกา" โดยอาจตอบโต้ด้วยการสร้าง "เงินดิจิทัล" ของตัวเองขึ้นมาสู้ หรือแม้แต่สหภาพยุโรป (อียู) เองก็มีความเป็นไปได้ว่า ในอนาคตก็จะขับเคลื่อนสู่ "ยูโรดิจิทัล" เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตนเองเช่นกัน

การเพิ่มขึ้นของ "หยวนดิจิทัล" ในตลาดโลก อาจแสดงให้เห็นนวัตกรรมรูปแบบใหม่ในอนาคต และมีศักยภาพมากพอที่จะหยุดระบบผูกขาดของ "ดอลลาร์" โดยฝ่ายเดียวได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แต่นั่นก็อาจจะเป็นการเริ่มต้นการเดินทางของ "การแข่งขันเงินดิจิทัล" ที่จะมีผู้เล่นเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจหลากหลายขั้ว และการไม่ใช้เงินสด หรือที่เรียกว่า Cashless นั้น ก็หมายถึงว่า "การปฏิวัติดิจิทัล" กำลังมา หากมัวยังวางแผนอยู่ก็มีความเป็นไปได้ว่า จีนอาจเข้าถึงเส้นชัยไปก่อนแล้ว...

สำหรับ บาทดิจิทัล จะมีความเป็นไปได้กับเขาบ้างหรือไม่นั้น... ในครั้งหน้า เราจะไปถกถามหาคำตอบมาให้คุณผู้อ่านได้ทราบกัน

...

ข่าวน่าสนใจ: