รัฐอัดฉีดงบ อบจ.ทั่วประเทศ 5 ปีย้อนหลัง เฉลี่ยปีละ 2.4 หมื่นล้าน รายได้-รายจ่าย 7 หมื่นล้าน
จับตาการหาเสียงเปลี่ยนไปจากอดีต บ้านใหญ่บางจังหวัดต้องเลือกซบพรรค ส่วนก้าวไกลใช้กระแสการเมืองต้องเปลี่ยนแปลง
ภาคประชาชนผนึกกำลังทำ crowdsourcing จับตาการเลือกตั้งเพื่อให้เกิดความโปร่งใส
20 ธันวาคม 2563 นี้ ถือเป็นวันสำคัญสำหรับการเมืองไทยในระดับท้องถิ่น เพราะมันคือ “วันเลือกตั้ง” นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือ อบจ. ทั่วประเทศ หลังห่างหายมานานกว่า 8 ปี (ซึ่งไม่ต้องบอกก็คงรู้ว่าเพราะอะไร.. ฮา)
หากนับวันเวลาดูก็จะรู้ว่ามัน “นานมาก” เหมือนกัน บางคนอาจจะลืมเลือนไปแล้ว ว่าทำอย่างไร หรือบางคนจากเด็กกลายเป็นผู้ใหญ่ และถือเป็นการเลือกตั้ง นายก และ ส.อบจ. เป็นครั้งแรก ซึ่งผู้เขียนเองมีโอกาสได้พูดคุยกับ ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า นักวิชาการด้านการเมืองการปกครอง และผู้เฝ้ามองการเลือกตั้งของไทยมาหลายสมัย
สิ่งที่ผู้เขียนสนใจใคร่รู้ และอยากถามเผื่อประชาชนที่สนใจเรื่องการเมือง คือ การเลือกตั้ง อบจ. ครั้งนี้ เปลี่ยนไปจากแต่ก่อนขนาดไหน ดร.สติธร ตอบสั้นๆ ได้ใจความว่า “แตกต่างตรงที่การเมืองระดับชาติเข้ามายุ่มย่ามมากขึ้น”
...
ดร.สติธร บอกกับผู้เขียนว่า แต่เดิมพรรคการเมืองใหญ่ระดับประเทศ ไม่ค่อยเข้ามามีบทบาทกับการเมืองท้องถิ่นมากนัก ถามว่ามีไหม..ก็มีแต่ไม่มาก และค่อนข้างระมัดระวังตัว สืบเนื่องจากสนามเลือกตั้งท้องถิ่น เป็นสนามของกลุ่มก้อนต่างๆ ภายในจังหวัดที่เขาแข่งขันกันเอง
“หากพรรคการเมืองเข้าไปยุ่มย่ามมาก อาจจะเกิดความรู้สึกว่า “รักพี่เสียดายน้อง” เพราะการเลือกตั้งภายในจังหวัด อาจจะมีหลายกลุ่มสนับสนุนพรรคเดียวกัน หากพรรคการเมืองเข้าไป อาจจะทำให้เกิดการแตกคอกันเอง เช่น พรรคเพื่อไทย ที่มีฐานเสียงแน่นๆ ภาคเหนือ-อีสาน ที่ผ่านมาเขามักวางตัวเฉย ถ้าผู้สมัครอยากได้แบรนด์พรรคไปใช้หาเสียง เขาก็จะมาขออนุญาต ซึ่งในจังหวัดหนึ่งก็อาจจะมีแบรนด์เพื่อไทยหลายทีมก็ได้”
แต่ที่ผ่านมา เพื่อไทยตกเป็นฝ่ายค้านมาโดยตลอด ดังนั้น เขาจึงอาจเริ่มกลับมาคิดว่าจะลงสู้ท้องถิ่นเต็มตัว เพื่อเป็นฐานให้การเลือกตั้งระดับชาติ ด้วยเหตุนี้ เราจึงเห็นภาพนักการเมืองระดับชาติ ลงไปช่วยนักการเมืองท้องถิ่นหาเสียงมากขึ้น โดยเฉพาะบางจังหวัดที่ส่งผู้สมัครในนามพรรค ภาพแบบนี้เอง คือ สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
ดร.สติธร บอกว่า บรรยากาศแบบนี้ใช่ว่าจะเหมือนกันทุกจังหวัด มันขึ้นอยู่กับอุณหภูมิการเมืองและการแข่งขันในจังหวัดนั้นๆ ด้วย บางจังหวัดมีขั้วการเมืองเดียว ยิ่งใหญ่จากบารมีตระกูล ใครมาแข่งก็ไม่กลัว หรือบางจังหวัด มีการแข่งขันผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ การได้ขั้วการเมืองใหญ่มาสนับสนุนเป็นแบ็ก ก็จะทำให้ผู้สมัครแข่งขันมั่นใจมากขึ้น
แสดงว่า บารมีบ้านใหญ่ตระกูลดังคับจังหวัดตอนนี้ไม่เพียงพอแล้ว..? ผู้เขียนถาม ดร.สติธร ตอบอย่างออกรสว่า การเลือกตั้งใหญ่(เลือกตั้ง ส.ส.) ที่ผ่านมา ชื่อเสียงระดับตระกูลก็โดนลองของสั่นคลอนไปหลายแห่ง..แต่ลึกแล้ว บางคนก็มีความเชื่อว่า ในระดับจังหวัดก็น่าจะพอเอาอยู่!
ที่เป็นเช่นนี้ เพราะระบบการเมืองระดับท้องถิ่น ยังเอื้ออำนวยให้ “บ้านใหญ่” ยังพออยู่ได้ เพราะมีการเกื้อหนุนกันระหว่าง การเลือกตั้ง อบต. เทศบาล และ อบจ. โดยมี อบจ.อยู่บนสุด เลือกตั้ง อบจ. ผู้นำท้องถิ่น นายกเล็ก (เทศบาล) และ อบต.(องค์การบริหารส่วนตำบล) ก็อาจจะมาช่วยหาเสียง และเมื่อถึงเวลาเลือกตั้งนายกเล็ก หรือ นายก อบต. ทีมหาเสียงของกลุ่ม อบจ. ก็อาจจะมาช่วย ถือเป็นการ “แลกเปลี่ยนผลประโยชน์” กันและกัน
สิ่งที่เปลี่ยนไปอีกอย่าง ที่ นักวิชาการการเมืองการปกครอง อย่าง ดร.สติธร บอกกับผู้เขียนคือ การมาของ “คณะก้าวหน้า”
คณะก้าวหน้า ใช้รูปแบบการหาเสียงเชิงการสร้างกระแส ด้วยการใช้ถ้อยคำปลุกเร้าอารมณ์คนในท้องถิ่นให้อยากลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงจังหวัดตัวเอง โดยเผยแพร่ผ่านสื่อรูปแบบใหม่ ทำให้รู้สึก “แปลกตา” แตกต่าง ซึ่งไม่ค่อยพบเห็นในการเลือกตั้งท้องถิ่น อย่างที่ผ่านๆ มา ส่วนเรื่องการร้องเรียนการทุจริตเลือกตั้ง เชื่อว่าจะไม่มาก และไม่ต่างจากเดิม เพราะการให้คำมั่นสัญญาระหว่างหาเสียงต่างๆ สามารถทำได้อยู่แล้ว เพราะท้องถิ่นเองก็มีงบประมาณในการดูแล
...
สำหรับ สิ่งที่ ดร.สติธร มั่นใจ คือ การเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งนี้ จะไม่ส่งผลต่อการเมืองระดับชาติมากนัก เพราะรัฐธรรมนูญเองไม่ได้พูดเรื่องการกระจายอำนาจ สัดส่วนงบประมาณที่จะกระจายให้ท้องถิ่นก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลง
พอจะเห็นภาพบรรยากาศการแข่งขันเลือกตั้งการเมืองท้องถิ่นในปี 2563 แล้ว แม้ภาพรวมจะไม่ได้เปลี่ยนไปมากนัก แต่สำหรับสิ่งที่เปลี่ยนไปจากเดิมอย่างเห็นได้ชัด คือ การจับตาการเลือกตั้งจากภาคประชาชน ด้วยนำระบบ crowdsourcing (การส่งข้อมูลจากผู้สังเกตการณ์) มาใช้ “ติดตามการเลือกตั้ง” ซึ่งเราหวังว่า หากมีอาสาสมัครมาร่วมติดตามมาก ก็จะทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้โปร่งใสมากขึ้น มีพลังมากขึ้น เพราะจะเป็นตัวชี้วัดข้อผิดพลาดต่างๆ เช่น การนับคะแนน การกระทำที่ไม่ชอบมาพากล ซึ่งหากทุกหน่วยเลือกตั้งถูกจับตาโดยประชาชน โอกาสเล่นสกปรกทางการเมืองก็จะน้อยลง
ดร.สติธร ได้อธิบายผ่านผู้เขียนถึงการใช้ระบบ crowdsourcing ว่า ในเชิงระบบถือว่ามีความพร้อมอยู่แล้ว เพราะถูกพัฒนา มาจากเว็บไซต์ “VOTE 62” โดยกลุ่มคนที่ทำงานด้านเทคโนโลยี โดยร่วมกับหลายๆ หน่วยงานที่มีเป้าหมายตรงกัน จึงมาร่วมกันเป็นพลังในการรายงานผลเลือกตั้ง โดยทางเราได้รายงานเรื่องนี้ไปยัง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
...
“สาเหตุที่หลายหน่วยงานผนึกกำลังในการทำระบบนี้ เพราะส่วนหนึ่งก็มาจากการเลือกตั้งเมื่อปีก่อนที่ค่อนข้างสับสนอลม่าน หลังปิดหีบเลือกตั้ง ดังนั้น หากเราปล่อยให้ กกต. รายงานผลเลือกตั้งแบบนั้น ผลที่ออกมาก็คงจะไม่แตกต่างจากเดิม เราได้แต่รอการนับคะแนนแบบช้าๆ เราก็เลยว่าน่าจะมาช่วยกันเพื่อให้บรรยากาศมันดูคึกคัก”
ที่ผ่านมา อาสาสมัครมักจะถูกเจ้าหน้าที่ที่จัดการเลือกตั้งมองว่าเข้ามา “เกะกะ” ลางคนโดนตำหนิและถูกต่อว่าในเรื่องของข้อกฎหมายที่อ้างว่าทำไม่ได้ แต่ในความเป็นจริง ขอบเขตของกฎหมาย ห้ามเพียงอย่างเดียว คือ ถ่ายรูปบัตรเลือกตั้งที่กากบาทแล้ว นอกนั้นทำได้หมด ไม่ว่าจะเป็น ถ่ายรูปคูหา ถ่ายรูปตารางนับคะแนน หากเห็นเหตุการณ์อะไรไม่ชอบมาพากลก็สามารถถ่ายรูปได้ หรือ ตอนนับคะแนน เราสามารถถ่ายวิดีโอได้ด้วย เพื่อดูว่าเจ้าหน้าที่นับผิดหรือถูก หากนับผิดเราก็สามารถคัดค้านได้ เช่น ขานคะแนนผิดเบอร์ก็สามารถทักท้วงได้ เพราะเราคือประชาชนที่ไปสังเกตการณ์ ส่วนวิธีการที่ให้ประชาชนช่วยส่งข้อมูลคือ จะให้ส่งรูปถ่ายการนับคะแนนเข้ามา 3 ภาพ เพื่อยืนยันข้อมูล โดยต้องมีรายละเอียดบนป้าย ว่าที่ตรงนั้นคือหน่วยไหน โดยจะต้องมีรูปถ่ายที่เป็นป้ายสรุป จากนั้นก็จะมีคนคอยตรวจสอบ
การใช้คนทั่วไปมาใส่ข้อมูล เกรงว่าจะมีการใส่ข้อมูลผิด หรือมั่วบ้างหรือไม่ ดร.สติธร กล่าวว่า แต่เนื่องจากเป็นการถ่ายภาพมาด้วย ทำให้การโกหกน้อยหน่อย เรามีการสุ่มตัวอย่างหน่วยเลือกตั้งที่เราต้องการไว้มากกว่า 2,600 หน่วย โดยใช้รับอาสาสมัครแบบธรรมชาติ คือ ใครก็ได้ จากนั้นค่อยมาดูว่าหน่วยที่เราคัดไว้ขาดเหลือคนหรือไม่ ถ้าขาด เราก็จะประสานไปยังคนในจังหวัดให้ช่วยหาอาสาสมัครเพื่อเติมเต็มในหน่วยเลือกตั้งนั้น
“สิ่งที่จะเป็นสีสัน สำหรับการทำ crowdsourcing ครั้งนี้ คือ เราสามารถบอกผลเลือกตั้งได้ ก่อนที่ กกต. จะนับคะแนนเสร็จ”
...
ดร.สติธร ฝากผู้เขียนเน้นย้ำว่า การเลือกตั้งท้องถิ่น ถือเป็นสิ่งสำคัญมาก เรียกว่าเป็นภารกิจที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของผู้คน เพราะ อบจ. จะดูแลสาธารณูปโภค โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ สิ่งไหนที่เทศบาล อบต. ทำไม่ได้ อบจ. ก็จะทำ
อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบงบประมาณของ อบจ. ทั่วประเทศ 5 ปีย้อนหลัง จาก ส่วนระบบสถิติการคลัง สำนักนโยบายการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) พบว่า แต่ละปีจะมีรายรับรายจ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 7 หมื่นล้าน โดยได้รับงบอุดหนุนเฉลี่ย 24,051 ล้านบาท โดยมีรายละเอียดดังนี้
เงินอุดหนุนที่ภาครัฐ อัดฉีด อบจ. ทั่วประเทศ รวม 76 แห่ง 5 ปีล่าสุด (ไม่รวมเมืองพัทยาและกรุงเทพฯ ) คือ
ปี 2558 รัฐอุดหนุน จำนวน 25,139 ล้านบาท
ปี 2559 รัฐอุดหนุน จำนวน 26,505 ล้านบาท
ปี 2560 รัฐอุดหนุน จำนวน 23,540 ล้านบาท
ปี 2561 รัฐอุดหนุน จำนวน 21,716 ล้านบาท
ปี 2562 รัฐอุดหนุน จำนวน 23,357 ล้านบาท
หากรวมรายได้ที่มาจากภาษีอากรอื่นๆ อบจ.ทั่วประเทศ มีรายได้ ดังนี้
ปี 2558 จำนวน 71,289 ล้านบาท
ปี 2559 จำนวน 74,620 ล้านบาท
ปี 2560 จำนวน 74,319 ล้านบาท
ปี 2561 จำนวน 70,083 ล้านบาท
ปี 2562 จำนวน 74,664 ล้านบาท
ส่วนรายจ่าย 5 ปี หลังสุด ของ อบจ. ทั่วประเทศ ส่วนใหญ่จะใช้ไปกับรายจ่ายประจำ เช่น เงินเดือน ค่าจ้าง ค่าตอบแทน ค่าใช้สอย ค่าครุภัณฑ์ ค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมไปถึงค่าสาธารณูปโภค คือ
ปี 2558 จำนวน 71,289 ล้านบาท
ปี 2559 จำนวน 71,699 ล้านบาท
ปี 2560 จำนวน 71,058 ล้านบาท
ปี 2561 จำนวน 67,634 ล้านบาท
ปี 2562 จำนวน 73,646 ล้านบาท
สุดท้าย ผู้เขียนขอเชิญชวนประชาชนไปเลือกตั้ง นายกฯ และ ส.อบจ. ในวันที่ 20 ธ.ค.นี้ เลือกคนดีมาบริหารจังหวัดของท่าน ให้เจริญรุ่งเรือง
ผู้เขียน : อาสาม
กราฟิก : Jutaphun Sooksamphun
อ่านข่าวที่น่าสนใจ