ตื่นเช้ามา กิจวัตรประจำวันของคนทุกวัยคือ “การแปรงฟัน” หากดูแลฟันดีจะช่วยให้สุขภาพอื่นๆ แข็งแรงไปด้วย เพราะ “ฟัน” ใช้ในการ “บดเคี้ยว” ถ้าหากการบดเคี้ยวมีปัญหา เคี้ยวอาหารไม่ละเอียด จะทำให้มีปัญหาสุขภาพอื่นๆ ตามมา ดังนั้น การมีสุขภาพช่องปากที่ดีมีความสำคัญกับทุกวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ผู้สูงอายุ”

หากผู้สูงอายุมีฟันแท้เหลืออยู่น้อยไม่ถึง 20 ซี่ ตามการใช้งานมายาวนาน หรือมีโรคที่เป็นตั้งแต่ก่อนถึงวัยสูงอายุ จะทำให้เกิดปัญหาสุขภาพอื่นๆ เช่น ท้องอืดเพราะระบบย่อยอาหารทำงานหนัก ร่างกายไม่ได้ดูดซึมสารอาหารทำให้ป่วยง่าย อ่อนเพลีย ไร้เรี่ยวแรง และมีความเสี่ยงหากช่องปากมีการติดเชื้อจากจุลินทรีย์เข้าสู่กระแสเลือดไปที่หัวใจ โดยเฉพาะผู้มีประวัติความผิดปกติของหัวใจ

เพราะฉะนั้นเรามาดูแลสุขภาพฟันให้แข็งแรงกันดีกว่า เพราะหากมีสุขภาพช่องปากและฟันที่ดีแล้ว จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งกายและใจ รับประทานอาหารได้อร่อยและหลากหลายประเภท ทำให้ร่างกายแข็งแรงแล้ว ยังช่วยให้พูดออกเสียงได้ชัดเจน เข้าสังคมได้อย่างมั่นใจด้วย

...

: 2-2-2 รหัสลับฟันดี เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีในผู้สูงวัย :

การดูแลสุขภาพช่องปากและฟันในผู้สูงวัย และวัยอื่นๆ เพื่อเตรียมสุขภาพฟันให้แข็งแรงกันแต่เนิ่นๆ ก่อนเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย บอกรหัสลับฟันดีง่ายๆ โดยยึดหลัก 2-2-2 วิธีการแปรงฟันที่ถูกต้องและเหมาะสม น้อยคนนักที่จะรู้ สูตรการแปรงฟันที่จำได้ง่ายๆ นี้เรียกว่า ‘แปรงฟันสูตร 2-2-2’ เป็นอย่างไร อธิบดีกรมอนามัย ชวนให้ปฏิบัติตามดังนี้

1.แปรงฟันวันละ 2 ครั้ง ในตอนเช้า และก่อนนอน ด้วยแปรงชนิดขนแปรงนิ่ม มีจำนวนกระจุกขนแปรงมาก ปลาย ขนแปรงมน หรือแปรงที่ได้รับการรับรองคุณภาพจากกรมอนามัย ร่วมกับยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์อย่างน้อย ซึ่งการแปรงฟันก่อนนอนสำคัญมาก เพราะขณะนอนหลับ น้ำลายไหลน้อย เชื้อโรคในช่องปากจะเจริญเติบโต มากกว่าตอนกลางวัน

2. แปรงฟันนานครั้งละ 2 นาทีขึ้นไป ให้สะอาดทั่วทั้งปาก ทุกซี่ ทุกด้าน เพื่อกำจัดคราบอาหารและคราบจุลินทรีย์ และเพื่อให้เวลาฟลูออไรด์ในยาสีฟันจับกับผิวเคลือบฟันเพื่อการป้องกันฟันผุ

3. งดกินหลังแปรงฟัน 2 ชั่วโมง เพื่อให้ช่องปากสะอาดได้นานที่สุด ลดการเกิดจุลินทรีย์และกรดในช่องปาก ไม่ควรกินจุบจิบ ขนม อาหารที่มีแป้งและน้ำตาล เพราะเป็นตัวการสำคัญก่อให้เกิดโรคฟันผุ และทำให้อ้วน ยิ่งกินหวานมากโอกาสเสี่ยงยิ่งสูง โดยเฉพาะขนมหวานเหนียวติดฟัน เช่น ลูกอม ทอฟฟี่ ขนมหวานไทย รวมถึงเบเกอรี่ เช่น ขนมเค้ก ขนมปังกรอบ คุกกี้ ขนมพาย เนื่องจากเมื่อถูกกับน้ำลายจะรวมตัวเป็นก้อนเละๆ ติดค้างบนตัวฟัน รากฟัน ซอกฟันและคอฟันทำให้ช่องปากมีสภาพความเป็นกรดทำให้เกิดฟันผุได้มาก เพราะทำความสะอาดยาก

:  9 วิธี "ฟันดี" แนะอาหารควรกินเสริมแคลเซียม :

ทั้งนี้ จากผลการสำรวจสภาวะ ทันตสาธารณสุข ในปี 2560 ปัญหาสุขภาพช่องปากของผู้สูงอายุที่พบบ่อย คือ โรคฟันผุที่ยังไม่ได้รับการรักษ ร้อยละ 52.6, โรคปริทันต์ร้อยละ 36.3 และ รากฟันผุ ร้อยละ 16.5 นอกจากนี้ยังพบว่าผู้สูงอายุร้อยละ 18 ต้องการใส่ฟันเทียมบางส่วน ร้อยละ 6.5 ต้องการใส่ฟันเทียมทั้งปาก และเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนเป็นร้อยละ 18.9 ในผู้สูงอายุ 80-85 ปี ดังนั้นคนไทยทุกวัยควรดูแลสุขภาพช่องปากอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เด็กจนเข้าสู่วัยสูงอายุ ซึ่ง นอกเหนือจากการแปรงฟันตามสูตร 2-2-2 แล้ว อธิบดีกรมอนามัย ยังมีคำแนะนำอื่นๆ เพื่อสุขภาพช่องปากและฟันที่ดี ทำได้ง่ายๆ แค่เพิ่มการใส่ใจห่วงใยตัวเอง ได้แก่

...

1. ผู้สูงอายุที่เหลือฟันแท้น้อยกว่า 20 ซี่ และใส่ฟันเทียมทดแทน ให้ถอดทำความสะอาดหลังอาหารทุกมื้อ และก่อนนอนถอดออกแช่น้ำสะอาด และพบทันตแพทย์อย่างน้อยปีละครั้งตรวจสภาพฟัน เหงือก และซ่อมเสริมฟันเทียมให้อยู่สภาพใช้งานได้ดี ไม่หลวมหรือคมจนเหงือกและลิ้นเป็นแผล
2. ไม่ใช้แปรงสีฟันร่วมกับผู้อื่น
3. หลังการแปรงฟันแต่ละครั้ง ควรล้างแปรงฟันให้สะอาด ผึ่งให้แห้ง ไม่เก็บแปรงสีฟันในที่อับชื้นจะทำให้ขึ้นราได้ง่าย
4. ควรเปลี่ยนแปรงสีฟันเมื่อขนแปรงขึ้นรา รูปทรงบิดเบี้ยว หรือบาน จากปกติ เนื่องจากขนแปรงที่เสียรูป อาจทำอันตรายต่อเหงือกได้ โดยทั่วไปแปรงสีฟันมีอายุการใช้งานประมาณ 3-4 เดือน


5. ใช้ไหมขัดฟัน (dental floss) อย่างน้อยวันละ 1 ครั้งเช็ดทำความสะอาดบริเวณซอกฟัน เพราะขนแปรงสีฟันไม่สามารถเข้าถึง เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี ผู้ปกครองต้องใช้ไหมขัดฟันทำความสะอาดซอกฟันให้ลูก
6. เลือกใช้แปรงซอกฟัน (proxabrush) ที่มีขนาดเหมาะสมกับซอกฟัน ตามคำแนะนำของทันตแพทย์
7. เลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกายและฟันเพื่อปกป้องผิวฟันให้แข็งแรง เช่น อาหารที่มีใยอาหารสูง อาทิ แครอท ขึ้นฉ่าย ผักโขม มะเขือเทศ, อาหารที่มีวิตามินบีสอง เช่น ถั่วลิสง ถั่วเหลือง ป้องกันการเกิดแผลในช่องปาก, อาหารที่มีแคลเซียมสูง โดยเฉพาะปลาทะเล เช่น ปลาทู ปลาซาบะ ปลาทูน่า หรือปลากรอบตัวเล็กๆ
8. หลีกเลี่ยงอาหารแข็ง เพราะอาจทำให้ฟันแตกขณะเคี้ยว
9. พบทันตแพทย์อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

...

“ฟัน” จะอยู่กับเราได้นานแค่ไหน สิ่งสำคัญคือ เราต้องรักตัวเอง และปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ เป็นกิจวัตรประจำวัน หากอยากรู้สุขภาพฟันของตัวเองและดูแลได้อย่างถูกต้อง คลิก "ทดสอบ" ดูแล้วคุณจะพบคำแนะนำที่ดี

: ข่าวน่าสนใจ :