- Zombie Firm มีรายได้แค่พอฝืนทำธุรกิจต่อไป และชำระดอกเบี้ยเท่านั้น แต่ไม่มีทุนมากพอในการกระตุ้นการเติบโต และใกล้ "ล้มละลาย"
- Zombie ปรากฏตัวครั้งแรกใน "ญี่ปุ่น" ช่วง "ทศวรรษที่หายไป" อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการระเบิดของ "ภาวะฟองสบู่ราคาสินทรัพย์"
- ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา สัดส่วน Zombie Firm ในไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง คาดว่าปี 2020 จะสูงถึง 11%
ปี 2020 ใกล้ปิดฉากลง... แต่สถานการณ์โควิด-19 ยังไม่มีทีท่าว่าจะสงบ หลายพื้นที่ในโลกยังคงมีการแพร่ระบาดระลอก 3 อย่างต่อเนื่อง ในส่วนประเทศไทยเองก็เกิดเหตุการณ์โควิด-19 โผล่นอกสถานที่กักตัวของรัฐแบบดาวกระจาย พบเคสใหม่ๆ ไม่เว้นแต่ละวัน แทบไม่อยากคิดเลยว่า เมื่อเวลาที่ไวรัสร้ายนี้ซาลง เศรษฐกิจจะพังทลายมากแค่ไหน... และต้องใช้เวลาเท่าไรกว่าจะฟื้นคืนสภาพปกติ
สำหรับเวลานี้... ไม่รู้ว่าคุณผู้อ่านพอจะได้เห็นผ่านหูผ่านตากันบ้างไหม?
เพราะตอนนี้หากสังเกตให้ดีๆ จะเห็นสำนักข่าวหัวเศรษฐกิจและสำนักวิจัยทางเศรษฐกิจทั้งในและนอกประเทศกำลังส่งสัญญาณเตือนอันตราย... ปรากฏการณ์ "ซอมบี้" กำลังจะกลับมา!!
ซึ่ง "ซอมบี้" ที่ว่านี้ไม่ใช่ภาพยนตร์สยองขวัญ-แอ็กชั่น Train To Busan แต่อย่างใด... แต่เป็นปรากฏการณ์ของภาคธุรกิจ ที่บริษัทต่างๆ กำลังกลายร่างเป็น "ซอมบี้" เพราะพิษร้ายโควิด-19 ที่แพร่พันธุ์อย่างรวดเร็วนี้เอง
"บริษัทซอมบี้" เป็นแล้วหายยาก
"บริษัทซอมบี้" หายแล้วเป็นอีกได้
และมันจะกลายเป็นปัญหาเรื้อรังทางเศรษฐกิจที่น่ากลัวในอนาคต โดยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยเองมีสัดส่วน "บริษัทซอมบี้" เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ปี 2019 สูงถึง 9.1% และจากการคาดการณ์ของ EIC มีความเป็นไปได้ว่า ปี 2020 จะมี "บริษัทซอมบี้" เพิ่มขึ้นเป็น 11% และในปี 2022 ก็มีแนวโน้มเพิ่มสูงถึง 16%
...
"บริษัทซอมบี้" คืออะไร?
ก่อนหน้าจะมาเป็น "บริษัทซอมบี้" พวกเขาคือ บริษัทที่มีรายได้เพียงพอในการยื้อชีวิตธุรกิจ และชำระดอกเบี้ยได้เท่านั้น แต่ไม่มีเงินไปจ่ายหนี้ หรือทุนในการต่อยอดธุรกิจกระตุ้นการเติบโตเพื่อหากำไร และมีวี่แววว่าใกล้ "ล้มละลาย" ซึ่งสุดท้ายแม้ว่าบริษัทเหล่านี้จะตายไป แต่สุดท้ายก็ "ฟื้นชีพ" กลับมา และกลายมาเป็น "บริษัทซอมบี้!"
ฟื้นกลับมาได้อย่างไร... แน่นอนหนึ่งในคนชุบชีวิตก็คือ "รัฐบาล" ด้วยการให้เงินช่วยเหลือ เพราะหากปล่อยให้ล้มหายตายจากไปหมด คิดภาพดูสิว่าจะมีคนต้องเจ็บปวดมากเท่าไร และที่สำคัญ คือ ป้องกันหายนะทางธุรกิจ
หนึ่งในข้อมูลที่น่าสนใจ คือ ในรอบทศวรรษที่ผ่านมา "บริษัทซอมบี้" ในไทยกระจุกอยู่กลุ่มธุรกิจขนาดเล็กที่สุดและใหญ่ที่สุด โดยกว่า 14.8% เป็นประเภทอสังหาริมทรัพย์ รองลงมาเป็น... สิ่งทอ 12.8%, โรงแรม 12.5%, ยานยนต์ & ชิ้นส่วน 12.1%, ผลผลิตทางการเกษตร 11.1% และการขนส่งทางอากาศ 11.1% เป็นต้น
ขณะเดียวกันในต่างประเทศเอง ช่วงปี 2005-2016 จากกว่า 79 ประเทศทั่วโลก พบว่า บริษัทที่อาจเรียกได้ว่าเป็น "ซอมบี้" นั้นมีประมาณ 10% โดยจากการประมาณการของดอยซ์แบงก์ (Deutsche Bank) "บริษัทซอมบี้" คิดเป็นสัดส่วนกว่า 20% ของบริษัทมหาชนในสหรัฐอเมริกา เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่านับตั้งแต่ปี 2013 ไม่เพียงเท่านั้นจากการคาดการณ์ของบลูมเบิร์ก (Bloomberg) ที่เผยแพร่เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา พบว่า "บริษัทซอมบี้" ใน Russell 3000 Index กว่า 527 บริษัท มีหนี้สินรวมกันกว่า 1.36 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 40.89 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2019 ที่มี 335 บริษัท หนี้สินรวม 3.78 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 11.37 ล้านล้านบาท
เรียกได้ว่า ปรากฏการณ์ "บริษัทซอมบี้" กำลังเป็นปัญหาทั่วโลก ไม่ใช่แค่เฉพาะกับในไทยเท่านั้น โดยนักเศรษฐศาสตร์เชื่อว่า "บริษัทซอมบี้" อาจมีอัตราส่วน 1 ใน 6 ของบริษัททั้งหมดเลยก็ว่าได้ โดยเฉพาะในสหราชอาณาจักรคาดว่าจะมีมากถึง 20%
จริงๆ แล้ว หากไปย้อนดูดีๆ จากสัดส่วนทั้งหมดจะเห็นได้ว่า "บริษัทซอมบี้" มีมาก่อนที่โควิด-19 จะแพร่ระบาดแล้ว เพียงแต่ว่าวิกฤติโควิด-19 ครั้งนี้เข้ามาช่วยขยายพันธุ์ให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น และคาดว่าอาจจะกลายร่างเป็น Super Zombie ในระยะอันใกล้ เพราะบาดแผลทางเศรษฐกิจที่ทำให้มีหนี้สินสะสม โดยจากบทวิเคราะห์ของ Bloomberg พบว่า หนี้สินของ "บริษัทซอมบี้" ในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 เพิ่มขึ้นกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 30.07 ล้านล้านบาท
มาถึงตรงนี้... รู้ไหมว่า "บริษัทซอมบี้" เป็นที่กล่าวขานถึงครั้งแรกเมื่อไร?
"บริษัทซอมบี้" ถูกกล่าวขานถึงครั้งแรกในญี่ปุ่น ช่วงปี 1990 ใน "ทศวรรษที่หายไป" หรือ The Lost Decade ที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากการระเบิดของ ภาวะฟองสบู่ในราคาสินทรัพย์ (Asset Price Bubble) ซึ่งแม้ว่าในเวลานั้น "บริษัทซอมบี้" เหล่านี้จะพองตัวจนใกล้จะแตก ไร้ประสิทธิภาพ หรือล้มเหลวแค่ไหนก็ตาม แต่ก็ได้รับการช่วยเหลือจากสถาบันการเงินในการพยุงธุรกิจให้ดำเนินต่อไป และในยามนั้น... ว่ากันว่า กลายเป็นหนึ่งในวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจที่ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์เลยทีเดียว
...
ย้อนบทเรียน THE LOST DECADE
หลังผ่านพ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 (World War II) เศรษฐกิจญี่ปุ่นก็กลับมารุ่งเรืองอีกครั้ง และพุ่งสูงสุดในช่วงปี 1980 ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GNP) ต่อหัวมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ธุรกิจต่างๆ เข้าสู่ภาวะการเก็งกำไร การประเมินราคาในตลาดหุ้นและภาคอสังหาริมทรัพย์ก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
จนกระทั่ง... ปี 1990 ฟองสบู่ที่ลอยฟุ้งเฟ้อก็ถึงเวลาระเบิด!!
แม้กระทรวงการคลังจะออกมาตรการทางดอกเบี้ยมายื้อยุดแค่ไหน แต่ท้ายที่สุด... ตลาดหุ้นก็พังทลาย และ "วิกฤตการณ์หนี้สิน" ก็เริ่มต้นขึ้น... การเติบโตทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก และผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์นั้น หรือก็คือ "บริษัทซอมบี้" ได้นำไปสู่ THE LOST DECADE!!
ที่... "บริษัทซอมบี้" ได้เข้าครอบงำระบบการเงินของญี่ปุ่น โดยหนึ่งในผลการศึกษาเมื่อปี 2019 พบว่า กว่า 21% ของบริษัทขนาดเล็กและขนาดกลางของญี่ปุ่น ล้วนเป็น "ซอมบี้" และมากกว่า 1 ใน 3 ของภาคการผลิตที่ลดลงในญี่ปุ่น ก็กลายเป็น "ซอมบี้" อีกเช่นกัน
ทั้งนี้ ผลกระทบทางเศรษฐกิจของ THE LOST DECADE กินวงกว้างมากแค่ไหน จนถึงตอนนี้นักเศรษฐศาสตร์ก็ยังมีการถกเถียงกันอยู่ แต่ที่เห็นชัดๆ คือ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของญี่ปุ่นในช่วงนั้นเฉลี่ยอยู่ที่ 1.2% ต่ำอย่างมีนัยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ใน G-7 ซึ่งแม้ว่าการออมภาคครัวเรือน (Household Saving) จะเพิ่มสูงขึ้น แต่การเพิ่มสูงขึ้นนั้นไม่ได้แปรเปลี่ยนไปสู่ความต้องการซื้อ (อุปสงค์) ดังนั้นผลที่เกิดขึ้น คือ เศรษฐกิจญี่ปุ่นเกิดการชะลอตัว มูลค่าอสังหาริมทรัพย์ก็ยังไม่ฟื้น และตลาดญี่ปุ่นก็ซบเซาต่อเนื่องตลอดทศวรรษแรกของศตวรรษที่ 21 โดยมีการคาดการณ์กันว่าน่าจะยาวนานนับตั้งแต่ปี 1990-2010 หรือ LOST 20 YEARS
...
"บริษัทซอมบี้" เหล่านี้จริงๆ แล้วควรต้องลากประตูปิดกิจการไป แต่กลับไม่เป็นอย่างนั้น และเมื่อไม่เป็นอย่างนั้น สภาพตอนนี้ก็เลยเหมือนคนป่วยภาวะ "ผัก" ที่มีผลประกอบการย่ำแย่ แถมยังไม่มีรายรับและเงินที่เพียงพอ เมื่อจำนวนเพิ่มมากขึ้นก็กลายเป็นไปขัดขวางการเข้าสู่ตลาดของรายใหม่ๆ กีดกันคู่แข่งโดยไม่รู้ตัว (หรืออาจรู้?) ค่อยๆ ทำลายพลวัตรและลดการลงทุน ภาคการผลิต และเงินเฟ้อ โดยจากการศึกษาของ Bank of International Settlements (BIS) พบว่า 1% ของสัดส่วน "บริษัทซอมบี้" ที่เพิ่มขึ้นในประเทศ จะลดการเติบโตภาคการผลิตลง 0.3% ซึ่งจะปรับลดรายได้ของประเทศ ตั้งแต่การไม่มีกำไรไปจนถึงภาษี
แล้ว "บริษัทซอมบี้" กระทบเศรษฐกิจไทยอย่างไร?
จากการประมาณการภาพที่เกิดขึ้นของ EIC คาดว่า "บริษัทซอมบี้" อย่างน้อยครึ่งหนึ่งจะมียอดขายลดลงไปจนถึงจุดขาดทุน ทำให้อัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์อยู่ในเกณฑ์ติดลบและการลงทุนต่ำต่อเนื่อง โดยจากกลุ่มตัวอย่าง "บริษัทซอมบี้" ในช่วงปี 2005-2018 มีเพียง 1.1% เท่านั้นที่สามารถฟื้นคืนความสามารถในการชำระหนี้ในรอบบัญชีถัดไปได้ โดยโอกาสการฟื้นตัวของ "บริษัทซอมบี้ไทย" ในระยะ 4 ปี มีเพียง 42.1% เท่านั้น เมื่อเทียบกับ "บริษัทซอมบี้ยุโรป" ที่สูงถึง 60% และที่น่าสนใจ คือ โอกาสกลับไปเป็น "บริษัทซอมบี้" อีกครั้งในปีบัญชีถัดไปมีมากกว่าบริษัทที่ไม่เคยเป็น "ซอมบี้" มาก่อนเลยถึง 2.8 เท่าตัว และผลประกอบการยังเลวร้ายอย่างมีนัยมากกว่าด้วย
...
ถามว่า ทำไมรัฐบาลแต่ละประเทศถึงต้องยอมให้มี "บริษัทซอมบี้" อยู่ในตลาด?
หนึ่งในความเห็นของหลายๆ บทวิเคราะห์ คือ "เราไม่ควรตัดหัวบริษัทที่กำลังดิ้นรนต่อสู้..."
ยกตัวอย่างในสหรัฐอเมริกา ปัจจุบัน "บริษัทซอมบี้" มีการจ้างงานกว่า 2.2 ล้านคน หากยอมปล่อยให้มีการชัตดาวน์ แน่นอนว่าภาพที่เห็นคงเป็นโศกนาฏกรรมการตกงานครั้งใหญ่ ดังนั้นนั่นจึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่รัฐบาลต้องยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ อย่างญี่ปุ่น ที่อัดฉีดเงินกู้มากกว่า 100 ล้านล้านเยน หรือประมาณ 28.91 ล้านล้านบาท ลดการล้มละลายในเดือนกรกฎาคมถึง 1.6%
ขณะที่ รัฐบาลอื่นๆ ก็มีแพ็กเกจช่วยเหลือที่คล้ายคลึงกัน ในเยอรมนี การล้มละลายในเดือนกันยายน ลดลง 35%, สหราชอาณาจักรลดลง 42% ในเดือนตุลาคม, ฝรั่งเศสลดลง 30% ในเดือนกันยายน และแคนาดาก็พบว่า บริษัทล้มละลายลดลง 14.5% ในไตรมาส 3
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ยังมีข้อโต้แย้งจากบรรดานักเศรษฐศาสตร์อยู่ดี โอเคว่า การฟื้นชีพ "บริษัทซอมบี้" อาจปกป้องการจ้างงานได้ แต่เมื่อทรัพยากรอยู่ผิดที่ผิดทาง ก็อาจกลายเป็นว่าไปกีดขวางการเติบโตของบริษัทที่ประสบความสำเร็จได้ และนั่นก็เป็นการขัดขวางการสร้างงานด้วยเช่นกัน
มุมหนึ่งคนก็บอกว่า ก็เพราะ TOO BIG TO FAIL มันใหญ่เกินไปที่จะล้ม... หากปล่อยล้มหายตายจากไปก็อาจเกิดหายนะทางเศรษฐกิจได้เช่นกัน
ซึ่งหากคิดอีกที... การที่สัดส่วน "บริษัทซอมบี้" ในไทยสะสมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มันก็น่ากลัวไม่น้อย ดีไม่ดีอาจกลายเป็นปัญหาเรื้อรังได้ และอาจกระทบต่อภาคการผลิตในอนาคต รวมถึงการจ้างงานอย่างที่ว่าไป โดยมีแนวโน้มที่น่าจับตาว่า หลังโควิด-19 กลุ่มธุรกิจสายการบิน, ยานยนต์, สิ่งทอ, การโรงแรม และพลังงาน จะมีสัดส่วน "บริษัทซอมบี้" เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัย
แล้วจะแก้อย่างไร?
ข้อเสนอที่น่าสนใจจากบรรดานักวิเคราะห์ คือ ต้องมีมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ หาก บริษัทซอมบี้ ไหนไปไม่ไหวจริงๆ ก็คงต้องปล่อยให้ออกจากตลาด แต่มีมาตรการที่ทำให้มีผลกระทบจำกัด ส่วนใครที่ฟื้นกลับมาได้ หรือไม่ได้เป็น "ซอมบี้" แต่แรก ก็ควรช่วยพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน
วิกฤติโควิด-19 ครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก คนที่ล้มหายตายจากไปแล้วก็มาก "บริษัทซอมบี้" ก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สุดท้ายแล้ว... หากสถานการณ์คลี่คลายจะมีน้ำมันให้เดินเครื่องเศรษฐกิจเต็มสูบได้หรือไม่.
ผู้เขียน: เหมือนพระอาทิตย์
กราฟิก: Theerapong
ข่าวน่าสนใจ:
- โควิด-19 ปฏิวัติโลจิสติกส์ ช้าตกขอบ กรณีศึกษา "ไช่เหนี่ยว"
- จบโควิด-19 ช้าไป ช่วงเวลานี้ดีที่สุด ปรับกลยุทธ์ ฟื้น "ท่องเที่ยว" ทางรอดปี 64
- แย่งซื้อ "วัคซีนโควิด-19" ยอดพรีออเดอร์ถล่ม หวังหลุดวังวนหายนะ
- ทำความรู้จัก "เมียนมา" ทิศทางเศรษฐกิจหลังโควิด-19 จับตาเมกะโปรเจกต์
- จับตา "รถยนต์ไฟฟ้า" แข่งเดือด "เทสล่า" มีดีอะไร ทำไมไทยจีบตั้งฐานผลิต
ข้อมูลอ้างอิง:
- อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 12 ธันวาคม 2563 : 30.07 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
- อัตราแลกเปลี่ยน ณ เดือนตุลาคม 2551 : 34.95 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ