- การแข่งขันฟุตบอลในอังกฤษ ฤดูกาล 2020-2021 สูญเงินเพราะพิษโควิด-19 รวมกันแล้วกว่า 100 ล้านปอนด์ต่อเดือน
- ประธานสโมรสรทอตแนมฮอตสเปอร์ ยอมรับว่า หากรัฐบาลอังกฤษไม่อนุญาตให้แฟนบอลกลับเข้าสู่สนาม สโมสรอาจต้องสูญเงินก้อนโตถึง 150 ล้านปอนด์
- ฤดูกาลที่ผ่านมา แหล่งรายได้หลักของแต่ละสโมสรฟุตบอลมาจากผู้สนับสนุนและรายได้เชิงพาณิชย์ คิดเป็น 28% ของรายได้รวมทั้งหมด
ฟุตบอลจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป หากปราศจาก "แฟนบอล" และแน่นอน ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับวงการฟุตบอล จะไม่มีทางเกิดความยั่งยืนได้ หากไร้ซึ่ง "แฟนบอล" เช่นกัน ฤดูกาลที่แล้ว (ฤดูกาล 2019-2020) นับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นมา สโมสรในพรีเมียร์ลีกสูญเงินไปรวมกว่า 850 ล้านปอนด์ ขณะที่ในปัจจุบัน (ฤดูกาล 2020-2021) การแข่งขันฟุตบอลในประเทศอังกฤษ สูญเงินไปรวมกันแล้วกว่า 100 ล้านปอนด์ต่อเดือน นี่คือจุดเริ่มต้นของ "หายนะ" ที่จะส่งผลกระทบต่อทุกสโมสรและวงการฟุตบอลของอังกฤษแน่นอน
ถ้อยแถลงของพรีเมียร์ลีกจากบรรทัดด้านบนนั้น มีขึ้นหลังนายกรัฐมนตรี บอริส จอห์นสัน ประกาศเลื่อนแผนการให้แฟนบอลกลับคืนสู่สนามจากเดือนตุลาคมไปเป็นเดือนธันวาคม หลังสถานการณ์การแพร่ระบาด Covid-19 ในอังกฤษยังไม่ดีขึ้น
นั่นคือ "ภาพสะท้อน" ที่ชัดเจนว่า แม้พรีเมียร์ลีกอังกฤษจะเป็นลีกฟุตบอลที่ร่ำรวยที่สุดในโลกจากฟ่อนเงินค่าลิขสิทธิ์อันมหาศาล แต่หากไร้ซึ่ง "แฟนบอล" ในสนามแล้ว ลีกฟุตบอลอันมั่งคั่งนี้อาจจะไม่สามารถทนทู่ซี้ปล่อยให้มีการฟาดแข้งได้อีกต่อไปแล้ว
"ผมคิดว่ามันน่าจะเป็นเรื่องที่ยากลำบากมากๆ สำหรับหลายๆ สโมสรที่จะจัดการแข่งขันต่อไปโดยไม่มีแฟนบอลในสนามเลยสักคนในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง นั่นเป็นเพราะโมเดลธุรกิจทั้งหมดของเราถูกสร้างขึ้นมาโดยมีแฟนบอลอยู่ในสนาม" พอล บาร์เบอร์ (Paul Barber) ประธานสโมสรไบรจ์ตัน กล่าว
...
อย่างไรก็ดี หลังใช้เวลาอดทนรอมานานถึง 271 วัน ในที่สุดเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา สังเวียนฟาดแข้งฟุตบอลพรีเมียร์ลีกอังกฤษก็ได้มีโอกาสเปิดประตูต้อนรับแฟนบอลกลับเข้าสู่สนามอีกครั้ง ถึงแม้ว่าบรรดาแฟนบอลผู้โชคดีเหล่านั้นจะต้องปฏิบัติตามสารพัดกฎมากมาย ไม่ว่าจะเป็น การทำแบบสอบถามด้านสุขภาพ ถูกตรวจตั๋วและบัตรประจำตัว ถูกวัดอุณหภูมิตามมาตรการคัดกรองต่างๆ และต้องยอมรับกับ "กฎเกณฑ์การเข้าชมฟุตบอลรูปแบบใหม่" ก่อนเข้าสู่สนาม
แล้วอะไร คือ "กฎเกณฑ์การเข้าชมฟุตบอลรูปแบบใหม่" ที่ว่านี้น่ะหรือ?
ไม่ยากเลย...ในขณะที่กำลังเพลิดเพลินกับการชมการฟาดแข้ง บรรดาแฟนบอลพรีเมียร์ลีกยุค Covid-19 จะต้องประพฤติตนให้เรียบร้อยและเหมาะสมกับเป็นแฟนบอลที่ดี ด้วยการลดการร้องเพลงเชียร์ รวมถึงการตะโกนให้อยู่ในอาการสำรวมไม่ดูรุนแรงมากเกินไป ห้ามสวมกอดแสดงความยินดีกับบรรดาคอเดียวกันบนอัฒจันทร์ หนำซ้ำการถอดหน้ากากอนามัยจะทำได้เพียงเฉพาะเวลารับประทานอาหารหรือดื่มน้ำเท่านั้น และในทุกๆ ครั้งที่ลดหน้ากากอนามัยลง จะมีเจ้าหน้าที่ประจำสนามคอยดูแลเอาใจใส่อยู่ใกล้ๆ ตลอดเวลาเสียด้วย
อ่อ...เกือบลืมบอกไป บรรดาสโมสรที่ได้รับอนุญาตให้แฟนบอลเข้าสนามจะต้องจัดที่นั่งให้แฟนบอลอยู่ห่างกันเกิน 1 เมตร ตามมาตรการ Social Distancing ด้วยนะรู้ยัง?
สาบานได้ว่า นี่คือ การเชียร์ฟุตบอล! ว่าแต่หากหนึ่งในผู้โชคดีที่ว่านี้เป็น "คุณ" คิดว่ามันจะสนุกกับการดูฟุตบอล หรือเซ็งจิตไปกับการดูฟุตบอลกันแน่ก็ไม่รู้สินะ?
แต่เอาเถอะ แม้มันอาจจะเป็นการดูฟุตบอลที่ดูทุลักทุเลไปบ้าง แต่อย่างน้อยมันก็น่าจะดีกว่าปล่อยให้บรรดานักเตะค่าตัวแพงลิบลิ่ววิ่งแย่งลูกฟุตบอลลูกเดียวบนท้องหญ้าเขียวขจี ท่ามกลางเก้าอี้ว่างเปล่าและเสียงเชียร์ปลอมๆ จากเกมตระกูลฟีฟ่าจริงไหม?
ปัจจุบัน 20 สโมสรในพรีเมียร์ลีกถูกจัดแยกตามพื้นที่ป้องกันการแพร่ระบาด Covid-19 ของรัฐบาลอังกฤษ ซึ่งมีอยู่ทั้งสิ้น 3 ระดับ
...
ให้แฟนบอลเข้าสนามแบบจำกัด ทีมเล็กเริ่มมีหวังรอดตาย แต่ทีมยักษ์ใหญ่ไม่คุ้มทุน
อย่างไรก็ดี แม้การกลับมาเปิดสนามรับแฟนบอลในวงจำกัดนี้ อาจเป็นดั่งหยดน้ำในทะเลทรายที่ช่วยให้บรรดาทีมในลีกรอง (แชมเปียนชิพ, ลีกวัน และลีกทู) ได้เงินจากค่าบัตรผ่านประตูจำนวนหนึ่ง ซึ่งแต่เดิมถือเป็นรายได้หลักสำหรับเอาไปต่อชีวิตได้อีกสักระยะ แต่สำหรับทีมยักษ์ใหญ่ที่มีสเตเดียมรองรับผู้ชมได้ 40,000-70,000 คนต่อนัด อย่างอาร์เซนอล ทอตแนมฮอตสเปอร์ หรือเวสต์แฮมฯ มันต่างออกไป
เดเนียล เลวี (Daniel Levy) ประธานสโมสรทอตแนมฮอตสเปอร์ ยอมรับเมื่อเร็วๆ นี้ว่า สโมสรไก่เดือยทองแห่งนี้อาจต้องสูญเงินก้อนโตถึง 150 ล้านปอนด์ หากรัฐบาลอังกฤษยังคงไม่อนุญาตให้แฟนบอลกลับเข้าสู่สนาม
บรรทัดด้านบนนั้น คือ ตัวเลขที่ยักษ์ใหญ่แห่งลอนดอนอาจจะต้องสูญเสียไปในกรณีลงเตะโดยไร้แฟนบอล แต่กลับกัน เมื่อเปิดให้แฟนบอล come back สนามทอตแนมฮอตสเปอร์ สเตเดียม ซึ่งจุคนได้สูงสุดถึง 62,303 คน แต่ได้รับอนุญาตให้พี่ตูน บอดี้สแลม เอ๊ย! เหล่าสาวกไก่เดือยทองเข้ามาในสนามได้สูงสุดเพียง 2,000 คน ทำให้นอกจากรายได้จะไม่คุ้มทุน เนื่องจากสนามที่มีความจุระดับ 40,000-70,000 คนนั้น ตัวเลขผู้ชมต่อนัดต่ำที่สุดต้องอยู่ที่ประมาณ 10,000 คนต่อนัดแล้วนั้น ทีมไก่เดือยทองยังต้องเสียค่าใช้จ่ายสำหรับสารพัดมาตรการป้องกัน Covid-19 ที่เพิ่มเติมเข้ามาอีก ซึ่งนั่นเท่ากับเงินก้อนโตที่ต้องสูญไป อาจไม่ใช่แค่ 150 ล้านปอนด์ก็เป็นได้
...
เพราะจนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีใครบอกได้ว่า สถานการณ์ Covid-19 จะดีขึ้น จนสามารถให้แฟนบอลเข้าเต็มความจุของสนามได้เมื่อไหร่?
นอกจากคำแถลงลูบหลังปลอบประโลมของพรีเมียร์ลีกที่ว่า...
"เรายินดีสำหรับถ้อยแถลงของรัฐบาลอังกฤษ ที่อนุญาตให้แฟนบอลกลับเข้าสู่สนามเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนมีนาคม แม้ว่ามันจะยังมีจำนวนน้อยอยู่ก็ตาม อย่างไรก็ดี เราจะร่วมทำงานกับรัฐบาลอังกฤษอย่างใกล้ชิดต่อไป เพื่อเพิ่มจำนวนแฟนบอลในสนามให้มากขึ้น แม้ว่าหลายๆ สโมสรอาจจะต้องดำเนินการแข่งขันต่อไปโดยแบกภาระขาดทุนก็ตาม"
...
ส่วนหากท่านใดอยากรู้ว่า แต่ละทีมในพรีเมียร์ลีกสูญเสียรายได้จาก Covid-19 ไปประมาณเท่าไรแล้ว กรุณากดคลิกอ่านได้ที่สกู๊ปชิ้นนี้ โควิด-19 ทุบ "พรีเมียร์ลีก" สูญ 4 หมื่นล้าน "แมนยูฯ" เงินค่าตั๋วหายบานตะไท
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม: รายได้ Big Six
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม: รายได้ค่าผ่านบัตรประตู
เพราะเหตุใด สนามฟุตบอลจึงอันตรายต่อการแพร่ระบาด Covid-19 มากกว่าผับ บาร์
เดล วินซ์ (Dale Vince) ประธานสโมสร ฟอเรสต์ กรีน โรเวอร์ สโมสรในระดับลีกทูของอังกฤษ เคยออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอังกฤษอย่างตรงไปตรงมาในประเด็นนี้ว่า เหตุใดจึงอนุญาตให้ผับและร้านค้าขนาดใหญ่ยังคงสามารถเปิดให้บริการได้ แต่กลับไม่อนุญาตให้แฟนบอลกลับเข้าสู่สนาม ทั้งๆ ที่สนามฟุตบอลมีมาตรการคุมเข้มเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด Covid-19 ได้ดีกว่า
นั่นสิ! ...เหตุใดสนามฟุตบอลที่หลังคาเปิดโล่งมีอากาศถ่ายเทสะดวก แถมบางแห่งกว้างใหญ่จุคนได้เป็นจำนวนมาก แถมมีมาตรการป้องกันเต็มรูปแบบจึงได้รับอนุญาตให้รับแฟนบอลได้เพียง 2,000 คน?
เจเรนต์ ฮิวส์ (Geraint Hughes) นักวิเคราะห์จากสำนักข่าว SKy Sports วิเคราะห์เรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า แม้แต่ละสโมสรจะทำงานอย่างหนักในการใช้มาตรการคุมเข้มต่างๆ เพื่อให้แต่ละสนามกลายเป็นสถานที่ปลอดเชื้อ อย่างไรก็ดี แม้ว่าแต่ละสนามจะมีความปลอดภัยมากแค่ไหน แต่จุดที่สุ่มเสี่ยงคือ กระบวนการคัดกรองเพื่อรับแฟนบอลเข้าและออกจากสนาม รวมถึงพื้นที่ที่แฟนบอลจะไปรวมตัวกันเป็นจำนวนมากๆ หลังจบการแข่งขัน ซึ่งโดยมากมักจะจบลงด้วยการไปกินดื่มตามผับบาร์ เหล่านี้ต่างหาก คือ ความสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วได้
ซึ่งประเด็นนี้ สอดคล้องกับคำแนะนำทางการแพทย์ที่ระบุไว้ชัดเจนว่า การรวมตัวของกลุ่มคนตั้งแต่ 100-200 คน ตามผับบาร์หรือคาเฟ่ ล้วนแล้วแต่จะทำให้เกิดความเสี่ยงสูงมากที่จะทำให้เกิดการติดเชื้อ Covid-19 พูดง่ายๆ คือ หากเปิดแฟนบอลเข้าสนาม ผับ บาร์ คาเฟ่ จะมีคนเพิ่มจำนวนการใช้บริการมากขึ้น ซึ่งสุ่มเสี่ยงเกินไปนั่นเอง
และยังไม่นับรวมถึงการแสดงออกของแฟนบอลบางกลุ่ม ที่มักจะออกมาแสดงการต่อต้านคำแนะนำเรื่องมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของรัฐบาลอังกฤษอยู่เนืองๆ เช่น ในช่วง Project Restart เมื่อปลายฤดูกาลที่แล้ว (ฤดูกาล 2019-2020) ก็ปรากฏชัดว่า มีแฟนบอลจำนวนหนึ่งเคยออกไปรวมตัวกันเพื่อแสดงจุดยืนเช่นนั้นมาแล้ว จนกระทั่งทำให้รัฐบาลอังกฤษต้องปรับแผน เลื่อนการให้แฟนบอลเข้าสนามจากเดือนตุลาคมไปเป็นเดือนธันวาคมแทนในที่สุด
เมื่อแฟนบอลเข้าสนามน้อยลง สโมสรในพรีเมียร์และลีกรองควรปรับตัวอย่างไร?
ดีลอยท์ (Deloitte) บริษัทผู้ตรวจสอบบัญชีระดับโลก ได้ประเมิน "วิบากกรรม" ที่สโมสรในพรีเมียร์ลีกอังกฤษต้องเผชิญในฤดูกาลนี้ (2020-2021) เอาไว้อย่างน่าสนใจว่า...
แม้สโมสรเงินถุงเงินถัง โดยเฉพาะเหล่าผู้ยิ่งใหญ่ทั้ง 6 (Big Six) ที่ประกอบด้วย ลิเวอร์พูล แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด แมนเชสเตอร์ ซิตี้ เชลซี อาร์เซนอล และทอตแนมฮอตสเปอร์ น่าจะอยู่ในจุดที่สามารถรับมือกับ "พายุคลั่ง" ที่เกิดจาก Covid-19 ได้ดีกว่าสโมสรอื่นๆ แต่คงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า แม้จะเป็นถึง Big Six แต่ในเมื่อที่มาของรายได้มันเริ่มจะเหือดแห้งและอนาคตยังคงเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน เหล่า Big Six ย่อมหนีไม่พ้นที่จะต้องได้รับผลกระทบเหมือนทีมอื่นๆ ด้วยเช่นกันเพียงแต่จะมากหรือน้อยเท่านั้น
ฤดูกาลที่ผ่านมา รายได้จากผู้สนับสนุนและรายได้เชิงพาณิชย์ (Sponsorship and Commercial Revenue) คือ แหล่งรายได้หลักของแต่ละสโมสร โดยคิดเป็น 28% ของรายได้รวมทั้งหมดของแต่ละสโมสรในพรีเมียร์ลีกอังกฤษ การประสบความสำเร็จในการผลักดันให้สามารถกลับมาแข่งขันจนสามารถปิดฤดูกาลได้อย่างสมบูรณ์ ทำให้แต่ละสโมสรสามารถหนีพ้นจากวิกฤติและความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจจากการที่ไม่สามารถปฏิบัติตามข้อตกลงทางธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็น ทั้งจากการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์และข้อตกลงของเหล่าสปอนเซอร์มาได้อย่างหวุดหวิด แต่แม้กระนั้น บรรดาผู้สนับสนุนและพันธมิตรทางการค้าทั้งหลายได้แสดงปฏิกิริยาให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เกิดความไม่มั่นใจกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว
สโมสรขนาดเล็กรวมถึงทีมในระดับลีกรอง (เดอะแชมเปียนชิพ ลีกวัน และลีกทู) จะได้รับผลกระทบจาก Covid-19 รุนแรงที่สุด เนื่องจากสโมสรเหล่านี้พึ่งพารายได้จากค่าบัตรผ่านประตูและรายได้ที่เกิดขึ้นในวันที่มีการแข่งขัน (Match day) เป็นหลัก โดยจากการตรวจสอบสถานะทางการเงินของเหล่าสโมสรฟุตบอลในอังกฤษล่าสุดของดีลอยท์ พบว่า สโมสรในพรีเมียร์สร้างรายได้จากค่าบัตรผ่านประตูและรายได้ที่เกิดขึ้นในวันที่มีการแข่งขันคิดเป็น 13% ของสัดส่วนรายได้ทั้งหมด แต่เหล่าสโมสรในลีกรองรายได้ในส่วนนี้กลับสูงถึง 21% ของสัดส่วนรายได้ทั้งหมด
และหากใครยังไม่รู้? รายได้จาก Match day ที่ว่านี้ สำหรับสโมสรในฟุตบอลลีกทั่วโลกที่อยู่นอกกลุ่ม "Big Five" (อังกฤษ สเปน อิตาลี เยอรมนี และฝรั่งเศส) นั้น มันคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 47% ของรายได้แต่ละสโมสรเลยทีเดียว
ส่วนการคาดคะเนจำนวนแฟนบอลที่จะกลับคืนสู่สนามฟุตบอลนั้น "ดีลอยท์" วิเคราะห์ประเด็นนี้จากผลการสำรวจแฟนกีฬาในสหราชอาณาจักร ซึ่งพบว่า มีประชาชนถึง 57% วางแผนที่จำกัดการใช้บริการขนส่งสาธารณะของตัวเอง ในขณะที่ 24% วางแผนที่จะใช้บริการรถไฟเพื่อวัตถุประสงค์ด้านการพักผ่อน และอีก 36% จะชะลอการจับจ่ายใช้สอยซึ่งรวมถึงการซื้อตั๋วเข้าชมการแข่งขันตลอดฤดูกาล (Season Ticket) ด้วย ทำให้ แต่ละสโมสรโดยเฉพาะบรรดาทีมลีกรอง ควรหาทางจำหน่ายตั๋วสำหรับการเข้าชมในแต่ละนัด (Non-Season) เพิ่มเติมเพื่อชดเชยรายได้ที่หดหายไปและใช้ความจุของสนามให้เป็นประโยชน์ เมื่อแฟนบอลได้รับอนุญาตให้สามารถเข้าชมได้เต็มจำนวนตามปกติ
ส่วนคำถามสำคัญที่ว่า หลังการแพร่ระบาด Covid-19 สิ้นสุดลง "ประสบการณ์ที่น่าจดจำในสนามฟุตบอล" จะช่วยทำให้เหล่าแฟนบอลทั้งหลายต้องการที่จะใช้เวลาอยู่ในสนามฟุตบอลยาวนานขึ้นหรือไม่นั้น จากการทำการสำรวจของดีลอยท์ก่อนหน้านี้พบว่า "การสร้างประสบการณ์ที่น่าจดจำในสนามฟุตบอล" มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยกระตุ้นให้แฟนบอลอยู่ในสนามได้นานขึ้น และนั่นย่อมตามมาด้วยการยอมควักเงินในกระเป๋าจับจ่ายใช้สอยในสนาม และยินดีที่จะกลับมาชมในเกมนัดต่อๆ ไปด้วย
ฉะนั้น หากแต่ละสโมสรสามารถสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีให้กับสนามฟุตบอล เช่น มีเครื่องมืออำนวยความสะดวกครบครัน สามารถค้นหาที่นั่ง ซื้ออาหารและเครื่องดื่มได้อย่างสะดวกสบาย ย่อมสามารถสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับแฟนบอลที่กำลังหงุดหงิดใจกับ Covid-19 ได้แน่นอน
แต่ที่สำคัญมากไปกว่านั้นคือ แต่ละสโมสรควรมีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีส่วนสำคัญในการเพิ่มความสะดวกสบายให้กับแฟนบอลมากขึ้น เช่น การใช้ Application ชำระค่าที่จอดรถยนต์ ค่าอาหาร แทนการใช้เงินสดเพื่อลดการสัมผัส รวมถึงอำนวยความสะดวกการตรวจสอบเวลาในการเข้าสนาม ที่นั่ง เวลาในการเข้าคิวเพื่อตรวจอุณหภูมิก่อนเข้าสู่สนาม หรือแม้กระทั่งการจัดส่งสินค้าให้กับแฟนบอล
เพราะสิ่งที่ต้องไม่ลืมคือ กว่าที่แฟนบอลแต่ละคนจะสามารถฝ่ามาตรการและข้อกำหนดอันแสนยุ่งยากมากมาย พาตัวเองเข้ามาในสนามได้แล้ว หากต้องมาพบกับความจุกจิกเวลาที่ต้องเข้าหรือออกจากสนามฟุตบอล ซึ่งแน่นอนว่าย่อมต้องอยู่ภายใต้ระยะเวลาที่จำกัดจำเขี่ย โอกาสครั้งต่อไปที่หวังว่า แฟนบอลจะยอมทิ้งความสะดวกสบายจากหน้าจอโทรทัศน์เพื่อกลับมาที่สนามอีกครั้ง ย่อมเป็นเรื่องที่ยากยิ่งกว่า การพาพี่ตูนบอดี้สแลมไปดูบอลที่สนามเอมิเรตส์ สเตเดียม หรือสนามสแตมฟอร์ด บริดจ์ ท่ามกลางรี้พลของเดอะกูนเนอร์และเดอะบลูส์แน่นอน
อย่างไรก็ดี หลังรัฐบาลอังกฤษประกาศให้วันที่ 9 ธันวาคมที่ผ่านมา เป็นวันแห่งชัยชนะ (V-DAY) จากการที่ได้เริ่มฉีดวัคซีนป้องกัน Covid-19 ของบริษัท ไฟเซอร์ (Pfizer) ให้กับมนุษย์เป็นคนแรกของโลก และจะเริ่มทยอยฉีดวัคซีนอีกกว่า 800,000 โดส ให้กับประชาชนอีกกว่า 4 ล้านคน ภายในสิ้นเดือนธันวาคมนี้ น่าจะเป็นสัญญาณในทางบวกที่น่าจะพอทำให้บรรดาสโมสรในพรีเมียร์เริ่มยิ้มออก เพราะนั่นย่อมมีความเป็นไปได้ว่า ข้อเรียกร้องที่อยากให้รัฐบาลอังกฤษยอมผ่อนปรนให้แฟนบอลสามารถกลับเข้าสู่สนามได้ในระดับ 10,000-15,000 คนต่อนัด ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่คุ้มต้นทุนสำหรับการจัดการแข่งขันต่อหนึ่งนัด หรือข้อเสนอที่หวังไกลไปถึงการยอมให้แฟนบอลเข้าเต็มความจุของสนามนั้น อาจจะได้รับการตอบสนองก่อนสิ้นสุดฤดูกาลอันแสนน่าหดหู่นี้ ก็เป็นได้!
ผู้เขียน: นายฮกหลง
กราฟิก: เทพอมร แสงธรรมาพิทักษ์
ข่าวที่น่าสนใจ:
- โควิด-19 ทุบ "พรีเมียร์ลีก" สูญ 4 หมื่นล้าน "แมนยูฯ" เงินค่าตั๋วหายบานตะไท
- ล่อคำหรู ซ่อนกินรวบ เมื่อพรีเมียร์ลีกอังกฤษจะถูกกลืนด้วย "ลิเวอร์ ยูไนเต็ด"
- ความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ 3 ทางออก ฟุตบอลพรีเมียร์ลีกอังกฤษ ฟาดแข้งแบบปิด
- เมื่อโควิดรอบ 3 จ่อถล่ม ในวันที่ขนบชาวญี่ปุ่นห้ามคนอ่อนแอ
- เมื่อวัคซีน Covid-19 ต้องใช้ 3 อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ การันตี