กลายเป็น "สินค้า" ที่มียอดคำสั่งซื้อล่วงหน้าถล่มทลายพอๆ กับช่วงเทศกาลช็อปปิ้งยอดนิยม เมื่อผลการทดสอบระยะแรกและระยะที่ 3 ของ "วัคซีนโควิด-19" ออกมาเป็นที่น่าพอใจ
โดยเฉพาะในห้วงเวลาที่การแพร่ระบาดครั้งใหญ่ของโควิด-19 คลื่นลูกที่ 3 กำลังเข้าถล่มหลายๆ ประเทศ ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทยเองที่จู่ๆ ก็พบการติดเชื้อภายในประเทศ เกิดความหวาดวิตกไปทั่วโลกว่าจะกลับมาล็อกดาวน์กันอีกรอบหรือไม่...
และเมื่อ "วัคซีน" กลายเป็นความหวังเดียวที่ทั่วโลกต้องการ ภาพที่ปรากฏให้เห็นก็หนีไม่พ้น... การดาหน้าเรียงคิวยื่นใบสั่งจองกับบรรดาผู้ผลิตต่างๆ พร้อมทุ่มงบไม่อั้นในการได้มาซึ่งจำนวนวัคซีนที่ต้องการ
คำถามที่ตามมาก็คือ ประเทศไหนยื่นใบคำสั่งซื้อล่วงหน้าวัคซีนโควิด-19 ในปริมาณที่ครอบคลุมประชากรของตัวเองมากที่สุด?
The Answer จะมาไล่เรียงคำตอบให้ได้ทราบกัน...
จากการรวบรวมของ Bloomberg เกี่ยวกับข้อตกลงระหว่างผู้ผลิตวัคซีนและประเทศต่างๆ ทั่วโลก พบว่า แม้วัคซีนโควิด-19 จะยังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนา แต่ก็มีการทำสัญญากันมากกว่า 80 ฉบับ โดยมีประเทศแคนาดา, สหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย อยู่ในรายชื่อลำดับต้นๆ ที่มีการสั่งจองวัคซีนในปริมาณที่ครอบคลุมต่อประชากรของตนเองได้อย่างเพียงพอหลายเท่าตัว
...
ซึ่งหากเรียงตามลำดับจากข้อมูลทั้งหมดแล้ว พบว่า อันดับ 1 คือ แคนาดา, อันดับ 2 สหราชอาณาจักร, อันดับ 3 ออสเตรเลีย, อันดับ 4 ออสเตรีย, อันดับ 5 เบลเยียม, อันดับ 6 บัลกาเรีย, อันดับ 7 โครเอเชีย, อันดับ 8 ไซปรัส, อันดับ 9 สาธารณรัฐเช็ก และอันดับ 10 เดนมาร์ก
แล้วประเทศอันยิ่งใหญ่อย่าง "สหรัฐอเมริกา" อยู่ลำดับที่เท่าไร?
หากย้อนดูข้อมูลข้อตกลงการสั่งซื้อวัคซีนโควิด-19 ต่อหัว (ประชากร) แล้ว ก็พบว่า "สหรัฐอเมริกา" อยู่ไกลเป็นลำดับที่ 32 เลยทีเดียว โดยตามหลัง 27 ประเทศสหภาพยุโรป ที่รวมกลุ่มกันสั่งจองวัคซีนในปริมาณมหาศาล และถูกประกบอยู่ตรงกลางระหว่างอันดับที่ 31 ชิลี และอันดับที่ 33 ญี่ปุ่น
แน่นอนว่า เมื่อสหรัฐฯ มีคำสั่งซื้อในปริมาณที่ครอบคลุมประชากรน้อย ก็สร้างความกังวลให้กับประชากรในประเทศ โดยเฉพาะบรรดานักเศรษฐศาสตร์ที่ถึงกับยอมรับว่า "รู้สึกหมดหวัง... และอาจทำให้เศรษฐกิจที่จะกลับมาเดินหน้าใหม่อีกครั้งต้องล่าช้าออกไปอีก 1-2 เดือน"
ถ้ากำลังสงสัย "ทำไมสหรัฐอเมริกาถึงสั่งซื้อน้อย?" นั่นก็เพราะว่า สหรัฐฯ ยกเลิกคำสั่งซื้อวัคซีนโควิด-19 ที่มีการเจรจาต่อรองก่อนหน้านั้น ด้วยการอ้างว่า บริษัทผู้ผลิตยังไม่สามารถให้ความชัดเจนช่วงเวลาการจัดส่งได้ แถมยังบอกให้ไปทำการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อยืนยันประสิทธิภาพของวัคซีน
และเมื่อเป็นแบบนี้...ก็หมายความว่า การเข้าถึงการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของชาวอเมริกันจะล่าช้าลงด้วย
ซึ่งบทวิเคราะห์หลายๆ แห่งก็มองไปทางเดียวกันว่า ความล่าช้าที่เกิดขึ้นนี้จะทำให้สหรัฐฯ ไม่สามารถพิชิตชัยชนะจากโควิด-19 ได้
แต่การคาดการณ์นั้นก็ทำให้สหรัฐฯ ถึงกับฉุน!!
โฆษกกระทรวงสุขภาพและบริการมนุษย์ของสหรัฐฯ รีบออกมาชี้แจงว่า ภายใต้โครงการ Operation Warp Speed ได้มีการลงนามสัญญากับ 6 บริษัทผู้ผลิต ไปแล้วเมื่อ 6 เดือนก่อน และยังมั่นใจด้วยว่า สหรัฐอเมริกาจะพบกับชัยชนะแน่นอน ด้วยการมีปริมาณวัคซีนโควิด-19 เพียงพอสำหรับชาวอเมริกันในไตรมาส 2 ของปี 2564 และไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับบทวิเคราะห์ที่ปรามาสว่า สหรัฐฯ ไม่อาจได้รับชัยชนะนี้
…ก็คงต้องลองติดตามชม
ในส่วนของข้อมูลที่ Bloomberg รวบรวม พบว่า จากการยื่นใบคำสั่งซื้อเพิ่มเติมระหว่างประเทศต่างๆ กับบรรดาผู้ผลิตวัคซีนโควิด-19 มีความน่าสนใจหลายอย่าง... ตั้งแต่การทำโครงการร่วมกันระหว่าง Airfinity กับสหภาพยุโรป (อียู) ที่จะส่งผลให้มีวัคซีนครอบคลุมประชากรกว่า 2 ใน 3 ได้ภายในเดือนกันยายน ซึ่งช้ากว่าสหรัฐฯ 4 เดือน
...
หรือการที่สหรัฐฯ ทำข้อตกลงกับ Pfizer และ Moderna ซึ่งได้รับการอนุมัติในเวลาใกล้เคียงกัน ด้วยการจบดีลซื้อวัคซีน 100 ล้านโดส กับ Pfizer สำหรับประชากรราว 330 ล้านคน ขณะเดียวกัน สหภาพยุโรปก็ยื่นคำสั่งซื้อล่วงหน้า 200 ล้านโดส สำหรับประชากรราว 450 ล้านคน ทั้งนี้ เมื่อเทียบกันแล้ว สหภาพยุโรปแซงหน้าสหรัฐฯ ในการได้มาซึ่งวัคซีนโควิด-19 ของ Johnson & Johnson และยังมีวัคซีนที่อยู่ในการพัฒนาโดย Sanofi และ GlaxoSmithKline อีกด้วย
อย่างไรก็ตามแต่... ในส่วนวัคซีนของ Moderna ทางสหรัฐฯ สามารถจัดสรรให้กับประชากรได้มากกว่าคนละ 1 โดส เมื่อเทียบ 100 ล้านโดส กับของสหภาพยุโรปที่มี 80 ล้านโดส ดังนั้น เมื่อรวมกับวัคซีนของ Pfizer สหรัฐฯ ก็จะเพียงพอต่อการฉีดวัคซีนชาวอเมริกัน 100 ล้านคนตามทฤษฎี
ง่ายๆ ว่า การยื่นใบคำสั่งซื้อก่อน-หลังไม่ได้เป็นปัจจัยเดียวในการเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ได้ เพราะสิ่งสำคัญมากๆ คือ ความสามารถของบริษัทในการจัดส่งป้อนสู่ตลาดได้ตามสัญญา
...
มาต่อกันที่อีกประเด็นที่กำลังร้อนระอุ!! กับการโต้ตอบระหว่างรัฐบาลสหรัฐฯ และ Pfizer ซึ่งเรื่องราวจะเป็นอย่างไรมาตามกันต่อ...
ย้อนกลับไปวันอังคารที่ 8 ธันวาคม เมื่อคณะกรรมการของ Pfizer ออกมาบอกว่า เดือนก่อน...อยู่ดีๆ รัฐบาลสหรัฐฯ ก็ปฏิเสธข้อเสนอคำสั่งซื้อปริมาณมากกว่า 100 ล้านโดส ที่กำลังเตรียมจัดส่งในช่วงฤดูใบไม้ผลินี้ ทั้งๆ ที่ผลการทดลองวัคซีนออกมาว่ามีประสิทธิภาพสูง
แน่นอนว่า Pfizer ไม่ง้อ กลับหลังหันแล้วไปเจรจากับประเทศอื่นๆ เพื่อขายวัคซีนโควิด-19 ทันที
แต่เพียงวันเดียว รัฐบาลสหรัฐฯ ก็ออกมาโต้ทันทีว่า ที่ไม่ตอบรับข้อเสนอที่แยกออกมาจากข้อตกลงฉบับเดิมก็เพราะว่า Pfizer ยังไม่มีความแน่นอนว่าจะจัดส่งวัคซีนได้จริงเมื่อไหร่ พร้อมยืนยันว่า มากกว่า 2 เดือนที่ผ่านมา สหรัฐฯ ได้ทำงานร่วมกับ Pfizer มาโดยตลอด ดังนั้น ข้อเสนอที่เพิ่มเข้ามาของ Pfizer นั้น สหรัฐฯ ก็ย่อมคาดหวังสิ่งดีๆ ที่จะเกิดขึ้น
"รัฐบาลมีความกระตือรือร้นในการหารือกับ Pfizer, Moderna และอื่นๆ ในการขยายกำลังการผลิต และขอแสดงความชัดเจนตรงนี้ด้วยว่า รัฐบาลจะใช้ทุกๆ อำนาจที่กฎหมายการผลิตเพื่อป้องกัน (Defense Production Act) มอบให้กับประธานาธิบดีและรัฐบาล เพื่อทำให้ชาวอเมริกันทุกคนมั่นใจได้ว่า พวกเขาจะได้รับวัคซีนตามความจำเป็น"
...
โดยจากข้อตกลงการสั่งซื้อวัคซีน Moderna กับสหรัฐฯ ตอนนี้อยู่ที่ 100 ล้านโดสจากข้อเสนอมากกว่า 400 ล้านโดส ซึ่งต้องดำเนินการเจรจาต่อไป แต่ Moderna ระบุว่า การจัดส่งปริมาณวัคซีนโควิด-19 ภายใต้ข้อเสนอที่ว่านี้ อาจต้องใช้เวลาถึงเดือนเมษายน
และบรรดานักเศรษฐศาสตร์ก็ออกมาย้ำอีกว่า การเข้าถึงวัคซีนที่ล่าช้า...อาจนำไปสู่ความตายที่เพิ่มขึ้น เพราะนับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดครั้งใหญ่เมื่อต้นปี ชาวอเมริกันเสียชีวิตไปแล้วมากกว่า 286,000 ราย และไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาก็ทำสถิติใหม่ด้วย จากสถานการณ์ที่รุนแรงขึ้น
ไม่เว้นแม้แต่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 46 โจ ไบเดน ที่แม้ยังไม่ได้นั่งเก้าอี้อย่างเป็นทางการก็ได้ แต่ก็ออกมาไล่บี้ว่า สหรัฐอเมริกาควรเร่งการจัดซื้อวัคซีนโควิด-19 ให้มากกว่านี้ คณะบริหารทรัมป์ต้องเจรจาต่อรองกับทั้ง Pfizer และ Moderna เพื่อให้เกิดการทำงานอย่างรวดเร็วและขยายการผลิตให้พร้อมสำหรับประชากรสหรัฐฯ และประชากรโลกทุกคน
สำหรับประเทศไทยเอง...ก็คงไม่ต่างกันนัก เพราะเท่าที่ประเมินจากคำสั่งซื้อตอนนี้ วัคซีนโควิด-19 ครอบคลุมประชากรเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์เท่านั้น เพราะอย่างที่บอกไปว่า ยิ่งมีการสั่งซื้อมาก กำลังการผลิตก็ต้องเพิ่มขึ้น แต่คำถามทิ้งท้ายคือ... ความสามารถในการผลิตให้เพียงพอต่อประชากรทุกประเทศมีมากน้อยแค่ไหน และจะได้รับในเวลาใด...
เมื่อประเทศมหาเศรษฐีกว้านซื้อ "วัคซีนโควิด-19" จนหมด...ประเทศที่เหลือจะเป็นอย่างไร?
จากข้อมูลข้อตกลงคำสั่งซื้อทั้งหมด พบว่า วัคซีนกว่า 53% ถูกประเทศร่ำรวยกว้านซื้อไปหมดแล้ว โดยมีประชากรรวมกันคิดเป็นเพียงแค่ 14% ของประชากรโลกทั้งหมดเท่านั้น โดยเฉพาะ "แคนาดา" ที่เป็นประเทศมีปริมาณวัคซีนครอบคลุมประชากรมากเป็นอันดับ 1 รู้หรือไม่? จากคำสั่งซื้อวัคซีนของแคนาดาพบว่า มีปริมาณเพียงพอต่อประชากรมากถึง 5 เท่าทีเดียว เรียกว่า กักตุนจนล้นเหลือ!!
โดยจากปริมาณที่ว่านั้น สตีฟ ค็อกเบิร์น หัวหน้าทีมเศรษฐกิจและความยุติธรรมทางสังคม ประจำ Amnesty International ต้องออกมาเตือนเลยว่า การแห่กักตุนวัคซีนของบรรดาประเทศร่ำรวยในเวลานี้ กำลังกัดเซาะความพยายามในการทำให้คนทั้งโลกปลอดภัยและทุกพื้นที่ได้รับการปกป้องจากพิษร้ายโควิด-19 ดังนั้น แทนที่พวกเขาจะดึงดันทำแบบนี้ต่อไป ควรหันมาจับมือแบ่งปันความรู้และขยายปริมาณการผลิต เพราะไม่แน่ว่า พวกเขาอาจนำไปสู่จุดจบของวิกฤติโควิด-19 ที่เกิดขึ้นอยู่ทั่วโลกนี้ได้
อย่างไรก็ตาม หนึ่งในข้อเรียกร้องทิ้งท้ายขององค์กรความร่วมมือระหว่าง Amnesty International, Frontline AIDS, Global Justice Now และ Oxfam คือ รัฐบาลทุกประเทศต้องให้ความมั่นใจได้ว่า อุตสาหกรรมยาทั้งหมดจะให้ความสำคัญกับชีวิตประชาชนมาก่อนกำไร...
ข่าวน่าสนใจ: