ย้อนกลับไปช่วง 1-2 เดือนก่อน "อองซาน ซูจี" ได้พูดไว้ว่า "นี่เป็นช่วงเวลาที่ 'เมียนมา' มีสมรรถภาพอย่างแท้จริง เพราะประเทศเพื่อนบ้านส่วนใหญ่กำลังเผชิญกับสถานการณ์ที่เลวร้าย..." ซึ่งต่อมาไม่นาน อย่างที่เราทราบกัน... ในวันนี้ 'เมียนมา' มียอดผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 สะสมสูงถึงแสนคนแล้ว
หากลองมาคิดดูแล้ว...อะไรทำให้ "อองซาน ซูจี" มั่นใจถึงเพียงนั้นว่า "เมียนมา" จะสามารถฟื้นฟูสถานะที่สูญเสียไปนานหลายปี ให้กลับมาเป็น "ผู้เล่นคนสำคัญ" บนเวทีเศรษฐกิจเอเชียได้
หนึ่งใน "ความฝัน" ที่เป็นความทะเยอทะยานสูงสุดของ "เมียนมา" ในการเร่งผลักดันโครงการต่างๆ ให้บรรลุผลสำเร็จให้ได้ในเร็ววัน คือ การสร้าง "สนามบินนานาชาติ" นอกเมืองที่ใหญ่ที่สุดอย่างย่างกุ้ง มูลค่า 1.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 3.31 หมื่นล้านบาท ที่หวังว่าจะเป็นสนามบินที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค และเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงใต้ "ทวาย"
นับตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา เห็นได้ว่า ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลเมียนมาแสวงหาประโยชน์ให้กับประเทศด้วยการใช้กลยุทธ์กระตุ้นนักลงทุนต่างชาติให้หอบเงินมาขุดทองหากำไรในเมียนมา จนเกิดภาพล้นทะลักของบรรดานายธนาคาร, ทนายความ และนักลงทุนต่างๆ แห่เข้ามาจำนวนมาก
โดยในช่วงปีแรกของการดำรงตำแหน่งของ "ซูจี" มีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมากถึง 9.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 2.83 แสนล้านบาท ก่อนที่งบประมาณการเงินปีล่าสุด ณ วันที่ 30 กันยายน 2563 จะลดลงมาอยู่ที่ 5.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 1.65 แสนล้านบาท แน่นอนว่า การลดลงที่เกิดขึ้นเป็นผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 ที่พังทลายเศรษฐกิจทั่วโลกจนย่อยยับ
และจนถึงตอนนี้... ฝัน "สนามบิน" ก็ยังไม่สมบูรณ์ และ "ทวาย" ก็ยังอยู่ในระยะการวางแผน
...
จนมีการคาดการณ์จาก หัวหน้าทีมนักวิเคราะห์ด้านเศรษฐกิจเมียนมา แห่ง Control Risks ว่า เมียนมา ไม่สามารถก้าวออกจากทศวรรษแห่งการโดดเดี่ยวได้ เว้นแต่เปลี่ยนแปลงตัวเองให้เป็น "จุดหมายปลายทางแห่งการลงทุน" ให้ได้โดยเร็วที่สุด
แน่นอนว่า "เมียนมา" ไม่ยอมแพ้ง่ายๆ
ในการแถลงของ "ซูจี" เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม เธอพูดอย่างมาดมั่นว่า เมียนมามีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) เพิ่มขึ้น 98% ของเป้าหมาย ถึงแม้ว่าประเทศกำลังอยู่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดครั้งใหญ่ของโควิด-19 ก็ตาม
ซึ่งทันทีที่เธอพูดจบ ไม่นานก็มีเสียงจากพรรคฝ่ายค้าน USDP ที่ออกมาตำหนิทีมเศรษฐกิจของเธอว่า "ล้มเหลวในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างสิ้นเชิง!"
แถมตอกย้ำด้วยว่า "รัฐบาลขาดแคลนทั้งประสบการณ์และทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งนั่นส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเมียนมาต่อเนื่องหลายปีที่ผ่านมา"
ก็ติติงกันไปพอสมควร... แต่ก่อนที่เราจะคาดการณ์ทิศทางเศรษฐกิจ "เมียนมา" หลังโควิด-19 มาทำความรู้จักกับ "เมียนมา" ดินแดนที่ร่ำรวยอัญมณีกันสักหน่อย
"เมียนมา" หรือที่คนไทยคุ้นเคยกันดีกับการเรียกว่า "พม่า" เป็นหนึ่งในประชาคมอาเซียนของเราด้วย เดิมมีเมืองหลวงคือ "ย่างกุ้ง" ก่อนที่ต่อมาในปี 2549 จะประกาศอย่างเป็นทางการว่า "เนปิดอว์" คือเมืองหลวงแห่งใหม่ของเมียนมา
จากข้อมูลตัวเลขต่างๆ เมียนมา ถือเป็นหนึ่งในประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุดของภูมิภาคเลยก็ว่าได้ โดยส่วนใหญ่แล้วพึ่งพาการทำเกษตรกรรม ประชากรส่วนใหญ่ในประเทศรับจ้างทำอาชีพกสิกรรม รวมถึงภาคอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่อง เช่น การขนส่ง, กระบวนการผลิต, การตลาด และการส่งออก โดยช่วงปี 2505-2506 เกือบครึ่งหนึ่งของผลผลิตทางเศรษฐกิจเมียนมาอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาล ทั้งอุตสาหกรรมขนาดใหญ่, ระบบธนาคาร, ประกันภัย, การค้าต่างประเทศ หรือแม้แต่การขายส่งภายในประเทศ ก่อนที่ช่วงปี 2518-2519 การเกษตรและประมงจะอยู่ในการดูแลของเอกชน
และอย่างที่บอกไปว่า "เมียนมา" เป็นประเทศร่ำรวยอัญมณีและแร่ธาตุ ทั้งแร่เหล็ก, น้ำมันปิโตรเลียมและแก๊สธรรมชาติ, หินมีค่าและพลอยต่างๆ ก็มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แม้ว่าการผลิตโดยรวมจะเพิ่มขึ้นนับตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 21 ก็ตาม โดยรายได้จากการทำเหมืองคิดเป็นสัดส่วนของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) เพียงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับสัดส่วนกำลังแรงงาน
...
การค้นพบความร่ำรวยแร่ธาตุของ "เมียนมา" เริ่มต้นในตอนกลางของช่วงปี 2513 โดยเงิน, ตะกั่ว, สังกะสี, ทองคำ อัดแน่นอยู่บริเวณตอนเหนือที่ราบสูงฉาน ส่วนดีบุกและแร่ทังสเตนอยู่บริเวณภูมิภาคตะนาวศรี และแบไรต์อยู่รอบๆ เมืองเมเมียว ขณะที่ "เหมืองทองแดง" ที่เมืองโมนยวา เริ่มต้นขึ้นในตอนต้นช่วงปี 2523 และเติบโตขึ้นเรื่อยๆ
สำหรับทับทิมและไพลินมีการขุดเหมืองทางตอนเหนือที่ราบสูงฉานนับตั้งแต่ยุคก่อนอาณานิคม ขณะที่ หยกก็ถูกขุดเหมืองทางภูเขาตอนเหนือ ในส่วนสปิเนล (แร่ไร้สี), เพชร และหินอัญมณีอื่นๆ มีบ้างประปราย ผลิตได้ไม่เยอะนัก
ซึ่งนั่นเป็นส่วนหนึ่งเท่านั้น หากถามว่า "เมียนมา" ร่ำรวยแร่ธาตุและอัญมณีมากแค่ไหน แม้มีการรวบรวมของหน่วยงานนานาชาติหลายแห่งก็ยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัดนัก
กลับมาที่ทิศทางเศรษฐกิจของเมียนมากันต่อ... แม้ว่าผู้นำรัฐบาลพลเรือนจะมีการปฏิรูปบางอย่าง อาทิ การปล่อยเสรีภาคการธนาคาร การประกันภัย และการศึกษา รวมถึงการแก้ปัญหาเงินเฟ้อที่เรื้อรังมานานหลายปี แต่ประชากรกว่า 1 ใน 3 ของประเทศก็ยังมีชีวิตอยู่ด้วยความยากจน ภาคธุรกิจยังคงเผชิญกับข้อบังคับที่เข้มงวด แถมยังมีวิกฤติโรฮีนจาที่ยังไม่เห็นสัญญาณว่าจะสิ้นสุดเมื่อไหร่
...
แต่จากการคาดการณ์ของหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำเมียนมา หนึ่งในกลุ่ม Think Tank ของ Parami Roundtable Group ก็ยังมองว่า ระยะแรกของการปฏิรูปเศรษฐกิจต้องใช้เวลาอีกนาน ปัญหาที่พบในตอนนี้ คือ เมียนมาขาดการสนับสนุนธุรกิจขนาดเล็ก ความสามารถในการผลิตต่ำ การจำกัดความร่วมมือระหว่างรัฐบาล และคุณภาพสินค้าเกษตรที่ย่ำแย่
แต่ในปัญหายังมองเห็นข้อดีอยู่ คือ ดินแดนโดดเดี่ยวอย่างเมียนมา เป็นสะพานเชื่อมระหว่าง 2 ภูมิภาคยักษ์ใหญ่อย่างอินเดียและจีน ดังนั้น เมียนมามีศักยภาพที่จะพัฒนาให้เข้าสู่ Supply Chain ของโลกได้ในห้วงเวลาที่ธุรกิจตะวันตกกำลังเฝ้าระวังจีนอยู่ในขณะนี้ แต่อย่างว่า เพราะชนักติดหลัง "ซูจี" กรณีวิกฤติโรฮีนจา เลยทำให้นักธุรกิจยังลังเลในการหอบเงินมาลงทุนในโครงการต่างๆ อยู่
นั่นจึงเป็นการบีบบังคับให้เมียนมาหันไปพึ่งเพื่อนบ้านตอนเหนือมากขึ้นเพื่อเติมเต็มช่องว่างนั้น โดยจีนเป็นคู่ค้าที่สำคัญที่สุดของเมียนมา ปี 2562 มีมูลค่าการค้ากว่า 12.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 3.84 แสนล้านบาท เกือบ 2 เท่าของไทยทีเดียว
...
และในอนาคตที่น่าจับตา คือ 3 เขตเศรษฐกิจพิเศษของเมียนมา ที่โฆษกกระทรวงพาณิชย์เมียนมาโวไว้ว่า แค่ที่ "ติละวา ที่เดียว" ก็มีการอนุมัติไปทั้งสิ้น 121 บริษัทจาก 21 ประเทศทั่วโลกแล้ว โดยเน้นไปที่อุตสาหกรรมการผลิต โครงสร้างพื้นฐาน การบริการ และโลจิสติกส์
สำหรับไทยกับเมียนมา แม้จะมีการหารือพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ "ทวาย" ที่เกี่ยวพันกับการก่อสร้างถนน 2 เลนชายแดนไทย-เมียนมา ด้วยเงินกู้จากไทย 4.5 พันล้านบาทนั้น แต่ทางโฆษกฯ ก็บอกเพียงว่าอยู่ในขั้นตอนเจรจากับทางญี่ปุ่นอยู่ ยังไม่มีสัญญาณเริ่มโครงการใดๆ
แต่ถึงแม้ว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของเมียนมาจะมีการคาดการณ์ไว้ว่า ปี 2563 จะโตเพียงแค่ 1.5% เท่านั้น แต่ธนาคารโลกกลับมองว่า ในปี 2564 เมียนมามีโอกาสที่จะกลับมาเติบโตถึง 6% เกือบเท่าปี 2562 ที่อยู่ที่ 6.3% โดยความเป็นไปได้นั้นขึ้นอยู่กับว่า การแพร่ระบาดครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นทั่วโลกจะอยู่ภายใต้การควบคุมและการค้าโลกกลับฟื้นคืนมา
ปี 2564 เมียนมาถือเป็นอีกหนึ่งประเทศน่าจับตา...เพราะหากเมกะโปรเจกต์ต่างๆ เร่งพัฒนาและฟื้นตัวได้เร็ว ไทยเองก็มีคงมีหนาวนิดๆ.
ข่าวน่าสนใจ:
- ไทยเข้า RCEP เปิดตลาด แข่งเดือด สินค้าทะลัก ใครไม่ปรับตัวรอวันเจ๊ง
- "อาเซียน" โรงละครแห่งความขัดแย้ง ไม่จำเป็นต้องเลือกข้าง "สหรัฐฯ vs จีน"
- จับตา "รถยนต์ไฟฟ้า" แข่งเดือด "เทสล่า" มีดีอะไร ทำไมไทยจีบตั้งฐานผลิต
- เมื่อ "ดาบพิฆาตอสูร" จ่อขึ้นแท่นอนิเมะเบอร์1 ล้ม Spirited Away
- ทำไม "แรงงานหญิง" เสี่ยงกว่าชาย ตกงาน ลดชั่วโมง แถมควบ 2 กะ