สถานการณ์ในไทยวันนี้ (9 ธ.ค. 63) ภาคเหนือเผชิญกับโควิด-19 ส่วน 11 จังหวัดภาคใต้เกิด "น้ำท่วมฉับพลัน" หลังเกิดอิทธิพลมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ ประกอบกับหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมประเทศมาเลเซีย ส่งผลให้บริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และวาตภัย ตั้งแต่วันที่ 25 พ.ย. ถึงปัจจุบัน (9 ธ.ค. 63 เวลา 06.00 น.) 

จากรายงานของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) น้ำท่วมภาคใต้มีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมฉับพลัน รวม 11 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี กระบี่ นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส รวม 101 อำเภอ 560 ตำบล 4,130 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 555,194 ครัวเรือน

เหตุการณ์น้ำท่วมในภาคใต้ครั้งนี้ถือเป็นวิกฤตการณ์ครั้งใหญ่เลยทีเดียว เพราะไม่เพียงแต่สร้างความเสียหายให้กับทรัพย์สิน บ้านเรือน ยังทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วถึง 29 ราย ได้แก่ สุราษฎร์ธานี 2 ราย, นครศรีธรรมราช 21 ราย, ตรัง 1 ราย, สงขลา 2 ราย และพัทลุง 3 ราย

...

หลายพื้นที่ในแต่ละจังหวัดกว่าระดับน้ำจะทรงตัว หรือค่อยๆ ลดจนเข้าสู่ภาวะปกติ ต้องใช้ระยะเวลาอีกหลายสัปดาห์หรือเป็นเดือน เพื่อป้องกันการสูญเสียชีวิตเพิ่มจากการที่ชาวบ้านต้องอยู่กับ “น้ำท่วมขัง” ตลอดทั้งวันทั้งคืน รวมถึงเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เจ้าหน้าที่อาสาสมัครต่างๆ กลับมาบ้านหลังจากลงพื้นที่ลุยแจกอาหาร สนับสนุนยาและเวชภัณฑ์ ให้ความช่วยเหลือต่างๆ ที่จำเป็น ต้องเสี่ยงกับโรคร้ายน่ากลัวและอันตรายที่มากับน้ำท่วม จนอาจเสียชีวิตได้

วันนี้เราจึงมีคำแนะนำดีๆ จาก นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขที่สั่งการหน่วยงานในสังกัดติดตามสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้อย่างต่อเนื่อง พร้อมเฝ้าระวังโรคและภัยสุขภาพที่มักเกิดตามมากับน้ำท่วม รวมไปถึงวิธีการป้องกันจากกรมควบคุมโรคด้วย

: เฝ้าระวัง 12 โรคที่มากับน้ำท่วม :

ประชาชน 11 จังหวัดภาคใต้ที่กำลังเผชิญปัญหาน้ำท่วมอยู่ นายแพทย์โอภาส รู้สึกเห็นอกเห็นใจและขอให้ประชาชนอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมอย่างระมัดระวัง เตรียมความพร้อมอยู่เสมอ รวมทั้งติดตามข่าวสารจากทางราชการ สำหรับโรคและภัยสุขภาพที่ต้องระมัดระวังในช่วงน้ำท่วมมี 3 กลุ่มโรคสำคัญจากน้ำท่วม ได้แก่

1. กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ (respiratory diseases)
ที่พบป่วยบ่อย คือ ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ซึ่งเชื้อติดต่อแพร่กระจายผ่านเสมหะ น้ำลาย น้ำมูก หากร่างกายไม่แข็งแรง อาจเกิดโรคแทรกซ้อนเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจรุนแรง เช่น ปอดบวม ปอดอักเสบ จนอาจเสียชีวิตได้ เมื่อมีไข้ ไอ จาม ควรรีบกินยาลดไข้ หรือยาที่มีตัวยาพาราเซตามอล แต่หากมีไข้สูง หรือเป็นไข้นานเกิน 7 วัน ควรรีบพบแพทย์

2. กลุ่มโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ
ได้แก่ โรคอุจจาระร่วง จะมีอาการถ่ายอุจจาระเหลว 3 ครั้งต่อวัน หรือมากกว่านั้น บางรายถ่ายอุจจาระเป็นมูกปนเลือดอย่างน้อย 1 ครั้ง นอกจากนี้ยังมี “อหิวาตกโรค” จะมีอาการท้องเดิน และอาเจียนรุนแรง อุจจาระมีลักษณะคล้ายน้ำซาวข้าว ร่างกายเสียน้ำและเกลือแร่อย่างรวดเร็ว อาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ และอาหารเป็นพิษ ทำให้เกิดอาการปวดท้อง ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน เป็นต้น โดยเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายจากการรับประทานอาหาร หรือดื่มน้ำปนเปื้อนเชื้อโรคจากของเสีย เช่น อุจจาระ ปัสสาวะ เพื่อป้องกันการเกิดโรค ควรล้างมือด้วยสบู่ทุกครั้งก่อนกินอาหารและหลังขับถ่าย หรือดื่มน้ำสะอาด น้ำบรรจุขวด ถ้าจำเป็นต้องดื่มน้ำที่ท่วมควรต้มให้สุกก่อน

...

3. กลุ่มโรคที่มาจากน้ำขัง มี 5 โรคที่ต้องเฝ้าระวัง ได้แก่

- โรคไข้ฉี่หนู หรือ โรคเลปโตสไปโรซิส (Leptospirosis) เชื้อนี้พบในสัตว์หลายชนิดแต่พบมากในหนู โดยเชื้อออกมากับฉี่ของหนูแล้วปนเปื้อนอยู่ในน้ำท่วมขัง พื้นดินชื้นแฉะ หากร่างกายมีบาดแผล รอยขีดข่วน รอยถลอก เชื้อจะเข้าสู่ร่างกาย หากมีอาการน่าสงสัย เช่น มีไข้ ปวดศีรษะรุนแรง ปวดกล้ามเนื้อน่อง โคนขา หรือตาแดงให้รีบพบแพทย์ด่วน

- โรคตาแดง (Conjunctivitis) เกิดจากเชื้อไวรัส ถึงไม่เป็นโรคอันตรายถึงชีวิตเพราะหายได้เอง แต่ถ้าไม่ได้รักษาตั้งแต่เนิ่นๆ อาจเกิดโรคแทรกซ้อนได้ อาการตาแดงจะรู้สึกเคืองตา น้ำตาไหล มีขี้ตามากและจะมีอาการอยู่ประมาณ 10 วัน การรักษาให้พักสายตาบ่อยๆ ประคบตาด้วยผ้าเย็น และเช็ดตาด้วยสำลีชุบน้ำอุ่น และล้างหน้าและมือให้สะอาดอยู่เสมอ

- โรคน้ำกัดเท้า หรือ ฮ่องกงฟุต ซึ่งเกิดจากเชื้อราที่เท้าเมื่อเท้าเปียกชื้น จะมีอาการคันตามซอกนิ้วเท้าและผิวหนัง ลอกเป็นขุย ที่เท้า และลุกลามไปฝ่าเท้าและเล็บ แนะควรหลีกเลี่ยงการแช่ในน้ำนานๆ หากจำเป็นต้องเดินลุยน้ำหรือแช่น้ำควรสวมรองเท้าบูต และล้างเท้าให้สะอาด เช็ดให้แห้งเมื่อกลับถึงบ้าน

- โรคไข้เลือดออก (Dengue Fever) มียุงลายเป็นพาหะ หากมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ เพลียหลายวันหรือหลายสัปดาห์ มีผื่นราบหรือนูนและอาจคัน ควรรีบพบหมอ ห้ามใช้ยาแอสไพริน ลดไข้ เพราะทำให้เลือดออกง่ายขึ้น วิธีป้องกันในช่วงน้ำท่วมทำให้มีแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายเพิ่มขึ้น ควรระวังตอนกลางวันอย่าให้ยุงกัด ให้ทายากันยุง ส่วนกลางคืนนอนกลางมุ้ง

- โรคไข้มาลาเรีย (Malaria) อีกหนึ่งโรคติดต่อที่มียุงก้นปล่องเพศเมียเป็นพาหะ ช่วงน้ำท่วมควรสวมเสื้อแขนยาว กางเกงขายาวอย่างมิดชิด ป้องกันยุงกัด หรือใช้ยากันยุงชนิดโลชั่นหรือสเปรย์ฉีดผิวหนังทุกๆ 3-4 ชั่วโมง ในช่วงเวลาตอนกลางคืน เป็นช่วงที่ยุงก้นปล่องออกหากิน ให้ป้องกันยุงกัดโดยนอนในมุ้ง

...

: 3 ภัยสุขภาพไม่คาดคิดจากน้ำท่วม :

นอกจากโรคดังกล่าวที่ต้องระวังแล้ว นายแพทย์โอภาส ยังแนะให้เฝ้าระวังอีก 3 ภัยสุขภาพที่ไม่คาดคิด ดังนี้

1. สัตว์แมลงมีพิษกัด ต่อย อาทิ งู แมงป่อง ตะขาบ ให้สำรวจ สะบัดเสื้อผ้าก่อนสวมใส่ หรือหากพบเห็นสัตว์มีพิษควรตั้งสติ และเรียกผู้ชำนาญมาช่วย

2. พยาธิที่มักมากับน้ำท่วม คือ พยาธิเส้นด้าย (พยาธิสตรองจิลอยด์) เข้าสู่ร่างกายทางบาดแผล แนะให้ใส่รองเท้าบูตทุกครั้งเมื่อต้องลุยน้ำท่วมขัง

3. การจมน้ำ อันเนื่องจากพลัดหกล้ม

...

: 5 วิธีป้องกันโรคและภัยสุขภาพจากน้ำท่วม :

สำหรับ "วิธีป้องกันโรคและภัยสุขภาพ" ที่มากับน้ำท่วมหรือน้ำป่าไหลหลาก นายแพทย์โอภาส แนะนำทิ้งท้าย ดังนี้

1. ไม่ทิ้งขยะทุกชนิด หรือขับถ่ายของเสียลงน้ำท่วมขัง ให้ทิ้งขยะหรือสิ่งปฏิกูลลงในถุงพลาสติก และมัดปากถุงให้แน่นแล้วเก็บไว้ในที่แห้ง
2. อย่าปล่อยให้เด็กเล็กลงเล่นน้ำเพียงลำพัง เพราะเด็กอาจจมน้ำและช่วยเหลือไม่ทัน ทำให้ป่วยด้วยโรคตาแดง โรคพยาธิสตรองจีลอยด์ หรือถูกสัตว์มีพิษที่หนีน้ำมากัดต่อยได้

3. หากน้ำท่วมขังกระเด็นเข้าตา หรือมีฝุ่นละอองเข้าไปในตา ให้ใช้น้ำสะอาดล้างหน้าและดวงตาให้สะอาด
4. รับประทานอาหารปรุงสุก ร้อน สะอาด ป้องกันโรคอาหารเป็นพิษและโรคอุจจาระร่วง
5. หากจำเป็นต้องเดินลุยน้ำเป็นเวลานาน ควรใส่รองเท้าบูตทุกครั้ง เพื่อป้องกันโรคที่มักเกิดตามมากับน้ำท่วมต่างๆ ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น และเมื่อกลับถึงบ้านให้รีบทำความสะอาดร่างกายด้วยน้ำสะอาดและเช็ดให้แห้งทันที  

รู้จักโรคต่างๆ ที่มากับน้ำท่วมแล้ว ผู้ที่เผชิญน้ำท่วมภาคใต้ต้องระวังและดูแลตัวเองให้ดีๆ และพึงปฏิบัติตามคำแนะนำของอธิบดีกรมควบคุมโรค ส่วนญาติผู้ประสบภัยน้ำท่วมภาคใต้ที่อยู่จังหวัดอื่นๆ นอกจากโทรส่งกำลังใจให้ผ่านวิกฤติช่วงนี้ไปได้แล้ว อย่าลืมบอกต่อข้อมูลดีๆ ให้ญาติหลีกหนีจากโรคที่มากับน้ำท่วม เพื่อจะได้ฉลองปีใหม่ร่วมกัน

: ข่าวน่าสนใจ :