ที่ปรึกษากระทรวงสาธารณสุข แนะวิธีชนะโควิด-19 รอบ 3 หลังคนไทยที่ไปทำงานในสถานบันเทิงโรงแรม 1G1 จ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา กลับไทยพบติดเชื้อโควิด 30 กว่ารายในเชียงราย เชียงใหม่ พะเยา พิจิตร พร้อมเผยความคืบหน้าระบบบริหารจัดการ "วัคซีนโควิด-19" ในไทย
จากสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด 19 ในไทยที่เกี่ยวข้องกับ จ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา อันมีสาเหตุจากคนไทยหลายร้อยคนที่ทำงานในโรงแรม 1G1 จ.ท่าขี้เหล็ก ได้เดินทางกลับไทย เพราะมีการระบาดของโควิดและทางการปิดสถานบันเทิงเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา ทำให้การระบาดของโควิด-19 ในไทยมีผู้ติดเชื้อโควิดเพิ่มขึ้น
คนไทยจึงรู้สึกวิตกกังวล เพราะหลายคนกำลังวางแผนจะกลับบ้านไปหาครอบครัวช่วงปีใหม่ หรือไปเที่ยวปีใหม่กับครอบครัวที่ภาคเหนือ
เพื่อคลายความกังวล ทีมข่าวฯ สอบถามจาก นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ ที่ปรึกษากระทรวงสาธารณสุข รก.ระดับ 11 หัวหน้าสำนักวิชาการสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข ถึงมาตรการความปลอดภัยเพื่อป้องกันการระบาดของโควิด
...
“ขอให้คนไทยอย่าตื่นตะหนก ให้ตั้งสติ ช่วยกันป้องกันตัวเองตามที่กระทรวงสาธารณสุขแนะนำ เราก็จะผ่านสถานการณ์โควิดครั้งนี้ไปได้” นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ กล่าวกับทีมข่าวฯ เพื่อขอความร่วมมือคนไทยทั้งประเทศ เอาชนะโควิด-19 จากท่าขี้เหล็ก
นายแพทย์รุ่งเรือง กล่าวด้วยความห่วงใยอีกว่า ในช่วงนี้คนไทยต้องเฝ้าระวังเชื้อไวรัสโควิด-19 ให้มากๆ เนื่องจากเชื้อโควิดชอบอากาศเย็น และอยู่ได้นานมากกว่าอากาศร้อน โดยเฉพาะสถานที่ปิด เช่น สถานบันเทิงต่างๆ เป็นแหล่งแพร่กระจายเชื้อได้ง่ายกว่าสถานที่โล่งแจ้งเพราะมีคนอยู่รวมกันจำนวนมาก
: ปัจจัยเสี่ยงสำคัญ ติดโควิดรอบ 3 :
ทั้งนี้ความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิดไม่ได้อยู่ที่สถานที่เพียงอย่างเดียว ขึ้นอยู่กับว่า "ได้อยู่ในเวลาเดียวกันกับผู้มีเชื้อโรคที่กำลังแพร่เชื้ออยู่หรือไม่" เพราะฉะนั้นขอความร่วมมือคนไทย "การ์ดอย่าตก" อย่าวิตกกังวลหากไม่ได้ใกล้ชิดผู้ป่วยโควิด สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ และเดินทางไปท่องเที่ยวในจังหวัดนั้นๆ ได้ เพราถึงแม้จะอยู่ในอำเภอเดียวกัน แต่เป็นคนละตำบลก็ถือว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับผู้ป่วย ดังนั้นไม่ได้มีความเสี่ยง แต่ควรพึงปฏิบัติตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อชนะโควิด-19 ดังนี้
1. Social Distancing เว้นระยะห่าง หลีกเลี่ยงสถานที่คนแออัด
2. Mask Wearing สวมหน้ากากทุกครั้งเมื่ออยู่นอกบ้าน หรือในที่สาธารณะต่างๆ
3. Hand Washing ล้างมือบ่อยๆ ไม่นำมือที่ไม่มั่นใจว่าสะอาด จับปาก จมูก
4. รักษาความสะอาดต่อเนื่อง บริเวณจุดสัมผัสร่วมต่างๆ เช่น บันไดเลื่อน ประตู ลิฟต์ ของเล่นที่เด็กๆ เล่นร่วมกัน 5. ดูแลสุขภาพตนเอง วัดอุณหภูมิก่อนเข้าสถานที่ต่างๆ
: เผยระบบบริหารจัดการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในไทย :
...
สำหรับความคืบหน้าของ “วัคซีนโควิด” ในไทย หลังรัฐบาลจองและซื้อวัคซีนโควิด-19 จำนวน 26 ล้านโดส กับบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า จำกัด บนเงื่อนไขรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตมาด้วย โดยใช้งบประมาณภาครัฐวงเงิน 2,379,430,600 บาท โดยวัคซีนโควิด 26 ล้านโดส จะฉีดให้กับประชาชนได้เพียง 13 ล้านคน หรือประมาณร้อยละ 20 ของประชากร จากที่รัฐบาลตั้งเป้าฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมร้อยละ 50 ของประชากร
ส่วนวัคซีนโควิดที่ต้องฉีดอีกร้อยละ 10 ของประชากรที่เหลือ อยู่ระหว่างเจรจากับ COVAX (COVID-19 Vaccine Global Access Facility) เพื่อสนับสนุนการเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ที่พัฒนาสำเร็จและผ่านการจดทะเบียนรับรอง รวมถึงจะพยายามประสานบริษัทผู้ผลิตวัคซีนที่มีโอกาสประสบความสำเร็จ นอกจากนี้ยังสนับสนุนผู้พัฒนาวัคซีนโควิดภายในประเทศไทยด้วย
เมื่อถามไทม์ไลน์ที่คนไทยจะได้รับการฉีควัคซีนต้านโควิด นายแพทย์รุ่งเรือง เผยข้อมูลความคืบหน้ากับทีมข่าวฯ คนไทยกลุ่มเป้าหมายต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง จะได้รับวัคซีนโควิด-19 โดยไม่คิดมูลค่า ประมาณกลางปี 2564 ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขเตรียมระบบบริหารจัดการวัคซีนโควิด-19 รองรับไว้อย่างดีเพื่อให้ได้รับการฉีดวัคซีนตามกำหนด และยืนยันไม่มีการนำวัคซีนโควิดไปใช้เพื่อประโยชน์อื่นที่ไม่ได้กำหนดไว้แน่นอน
...
ขอประชาชนมั่นใจในการบริหารจัดการวัคซีนโควิด-19 เนื่องจากประเทศไทยมีประสบการณ์ให้วัคซีนขนาดใหญ่ทั่วประเทศ ประสบความสำเร็จมาช่วยกำจัด ป้องกันโรคต่างๆ ได้ เช่น วัคซีนป้องกันโรคคอตีบ 22 ล้านเข็ม วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอ วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก ช่วยลดอัตราเสียชีวิตปีละ 7 พันราย และวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 4 ล้านโดสต่อปี ช่วยลดความรุนแรงและการเสียชีวิตในกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้มีโรคประจำตัว ผู้สูงอายุ ภูมิคุ้มกันต่ำ แต่การป้องกันได้ทั้งนี้ไม่ได้เกิดจากวัคซีนเพียงอย่างเดียว
: 6 วิธีรณรงค์ คนไทยเข้าใจวัคซีนโควิด-19 :
สำหรับการเตรียมความพร้อมการรณรงค์ให้วัคซีนโควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุข มี 6 ด้าน ได้แก่
1. การเตรียมวัคซีนโควิด-19 เช่น การทำสัญญาซื้อขาย จัดทำของบประมาณจัดซื้อวัคซีน พัฒนาระบบการเบิกจ่ายและบริหารวัคซีน การเตรียมขึ้นทะเบียนวัคซีน และตรวจสอบคุณภาพ Lot Release
2. การเตรียมสถานพยาบาล ทั้งอุปกรณ์สำหรับการฉีด ระบบลูกโซ่ความเย็น ฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ และสำรวจกลุ่มเป้าหมาย และลงทะเบียนกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งการพิจารณากลุ่มเป้าหมายหลัก จะเป็นกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องดูแลผู้ป่วย กลุ่มที่ติดเชื้อแล้วเสี่ยงเสียชีวิตสูง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรัง หรือกลุ่มที่มีโอกาสแพร่กระจายสูง โดยมีคณะกรรมการพิจารณา ไม่ขึ้นกับคนใดคนหนึ่งมาสั่งการได้
3. สื่อสารประชาชนให้เข้าใจว่ากลุ่มเป้าหมายใดที่ควรรับวัคซีน ให้ความรู้ประชาชนเรื่องวัคซีนก่อนรับบริการ ประกาศรณรงค์
4. การรณรงค์ฉีดวัคซีน โดยจัดส่งไปยังหน่วยบริการทุกแห่ง ซึ่งมีองค์การเภสัชกรรมดำเนินการจัดส่งวัคซีนตามปกติอยู่แล้ว นัดหมายประชาชนกลุ่มเสี่ยงมารับวัคซีน โดยอาจฉีดในสถานพยาบาล หรือเข้าไปฉีดในชุมชน พร้อมรายงานและติดตามผลการให้บริการ
5. การติดตามผลการให้วัคซีน โดยมีการติดตามผลเป็นรายสถานพยาบาลและรายสัปดาห์ กำหนดเป้าหมายการให้บริการมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ หารือแนวทางให้วัคซีนเพิ่มเติมในพื้นที่เข้าถึงยาก
6. ติดตามอาการหลังได้รับวัคซีน ซึ่งจะมีคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญมาทบทวน
...
: เปิดสายด่วน กลุ่มเสี่ยงโควิด-19 รายงานตัว :
ด้านคนไทยที่ไปทำงานใน จ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา ขอให้ติดต่อขอเดินทางกลับไทยอย่างถูกต้อง การลอบเดินทางเข้ามาจะเพิ่มความเสี่ยงการนำเชื้อโควิดเข้ามาในประเทศไทย สำหรับมาตรการป้องกันควบคุมโรคในพื้นที่ชายแดน เพื่อป้องกันโอกาสการนำเชื้อโควิดเข้าประเทศไทย ทุกจังหวัดได้เปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข 6 ข้อปฏิบัติ ดังนี้
1. ติดตามและประเมินสถานการณ์ภายในจังหวัด
2. เตรียมความพร้อมโรงพยาบาล เวชภัณฑ์ ห้องปฏิบัติการ และบุคลากรด้านการรักษาพยาบาล
3. เฝ้าระวังผู้ป่วยโรคปอดบวม และผู้ป่วยในคลินิกโรคทางเดินหายใจ (ARI) ตามเกณฑ์ของกองระบาดวิทยาอย่างเคร่งครัด
4. ส่ง อสม.เคาะประตูบ้านแจ้งข่าวประชาชน และคัดกรองกลุ่มเสี่ยง สื่อสารข้อมูลที่ถูกต้องไปยังประชาชนพร้อมขอความร่วมมือ
5. เปิดสายด่วน 1422 (Call Center) ให้กลุ่มเสี่ยงรายงานตัว
6. แนะนำมาตรการต่างๆ ต่อประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด รวมทั้งกำกับให้สถานประกอบการในพื้นที่ โดยเฉพาะสถานบันเทิง ต้องให้ความรู้และให้กำลังใจ เพื่อให้ปฏิบัติตามมาตรการควบคุมป้องกันโรคได้ตามมาตรฐาน
“คนไทยต้องช่วยกันยื้อเวลาให้นานที่สุด จนกว่าจะมีวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ มาสร้างภูมิต้านทาน จากการประเมินสถานการณ์ คาดว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติได้ต้องใช้เวลาอีกไม่น้อยกว่า 1 ปี ขอให้ทุกคนช่วยกันประคับประคอง จะได้ไม่เกิดความสูญเสียทั้งทางสุขภาพ สังคม” นายแพทย์รุ่งเรือง กล่าว.
: ข่าวน่าสนใจ :