นับถอยหลังเดือนสุดท้ายของปี 2563 กับสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 (COVID-19) ที่ดูเหมือนว่าจะหนักหนากว่าช่วงกลางปีเสียอีก หลายๆ ประเทศมียอดผู้ป่วยติดเชื้อรายวันเพิ่มสูงขึ้นอย่างน่าใจหาย ไม่เว้นแม้แต่ไทยเอง ที่อยู่ๆ ก็พบ "การติดเชื้อภายในประเทศ" ทั้งแบบลักลอบเข้ามา และแบบไม่รู้ว่าติดมาจากไหน...
และอย่างที่เรารู้ๆ กัน... โควิด-19 ไม่ได้ทำลายแค่สุขภาพ
โดยผลกระทบที่ The Answer จะพูดถึงในวันนี้ คือ "ภาวะการตกงาน" ที่น่าสนใจว่า "แรงงานหญิง" มีความเสี่ยงมากกว่า "ผู้ชาย"
ไม่เพียงเท่านั้น ในกลุ่มแรงงานหญิงด้วยกันเอง...ยังพบ "ความไม่เท่าเทียม" ซุกซ่อนอยู่ด้วย
เรื่องราวเป็นอย่างไร...มาไล่เรียงกัน!
ในประเทศไทย ช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา แม้ว่า "ผู้หญิง" จะว่างงานน้อยกว่า "ผู้ชาย" แต่กลับพบว่า อัตราการเพิ่มขึ้นสูงถึง 94.1% เมื่อเทียบกับปีก่อน แถมยังมีความเสี่ยง "ตกงาน" สูงมากอีกด้วย
โดยกลุ่มเสี่ยง "ตกงาน" ที่ว่านี้ คือ แรงงานที่มีงานทำ แต่ไม่ได้ทำงาน... อาจด้วยผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ในบางประเภทธุรกิจ หรือเหตุผลอื่นๆ ที่ไม่สามารถกลับไปทำงานได้ จนเสมือนเป็น "คนว่างงาน" ซึ่งมีจำนวนไม่ใช่น้อย กว่า 1.194 ล้านคนทีเดียว
...
ที่น่าห่วงอีกอย่าง คือ แรงงานหญิง อีก 1.529 ล้านคน ถูกลดจำนวนชั่วโมงการทำงาน ซึ่งผลกระทบที่ตามมาก็หนีไม่พ้น รายได้ที่ลดลงไปจนถึงขาดรายได้ไปเลย...
แน่นอนว่า เมื่อพวกเขาขาดรายได้...ก็ย่อมกระทบต่อความเป็นอยู่และครอบครัว
จากข้อมูลการศึกษาของ TDRI เห็นได้ว่า อุตสาหกรรมที่ แรงงานหญิง ว่างงานมากที่สุด คือ ผลิตภัณฑ์การกลั่นปิโตรเลียม 20.9% รองลงมาเป็นอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์พลาสติก 24.5%, เครื่องหนังรองเท้า 22.7%, ประมง 20.4% และเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม 7.7%
แต่หากมาดู "อาชีพ" ที่ "แรงงานหญิง" ว่างงานมากที่สุด คือ พนักงานบริการและขายของหน้าร้าน เพิ่มขึ้นถึง 283%
ซึ่งสิ่งที่น่าสนใจจากผลการศึกษานี้ คือ "แรงงานหญิง" ที่ได้รับผลกระทบโควิด-19 มากที่สุด กลับเป็นช่วงอายุ 15-29 ปี คิดเป็นสัดส่วน 65.5% ของหญิงว่างงานทั้งหมด และนั่นทำให้ไทยสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจอย่างมากทีเดียว เพราะเป็นกำลังแรงงานที่ยังมีความกระตือรือร้น
โดยภาพรวม "แรงงานหญิง" ของไทย ไม่ได้ต่างจาก "สหรัฐอเมริกา" นัก แต่เหมือนว่าของเขาจะหนักกว่าเราอยู่พอสมควร
เพราะอย่างที่บอกได้ตอนต้นว่า มี "ความไม่เท่าเทียม" ซุกซ่อนอยู่ด้วย...
:: "สีผิว" ความไม่เท่าเทียมใน "ตลาดแรงงาน"
ในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายนที่ผ่านมา แรงงานสหรัฐฯ ที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป ตกอยู่ในสถานะว่างงานเกือบ 1.1 ล้านคน และในจำนวนนี้กว่า 865,000 คน เป็น "แรงงานหญิง" สูงกว่าผู้ชายที่มีเพียง 216,000 คน ถึง 4 เท่า!
ซึ่งในบรรดา "แรงงานหญิง" ที่ต้องเผชิญชะตากรรมอันโหดร้ายนี้ พบว่า "ผู้หญิงผิวดำและผู้หญิงละติน" มีสัดส่วนสูงที่สุด เห็นได้ว่า ภายในตลาดแรงงานที่เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของสหรัฐฯ แม้แต่ในเวลาวิกฤตินี้ก็ยัง "ไม่เท่าเทียม!"
จากข้อมูลของ NWLC พบว่า ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา อัตราการว่างงานของผู้หญิงผิวดำและผู้หญิงละตินมีตัวเลข 2 หลัก อยู่ที่ 11.1% และ 11% ตามลำดับ สวนทางกับอัตราการว่างงานของ "ผู้ชายผิวขาว" ที่มีเพียง 6.5% และ "ผู้หญิงผิวขาว" อยู่ที่ 6.9% หรือประมาณ 1 ใน 9 ของผู้หญิงผิวดำและผู้หญิงละตินเท่านั้น
...
แม้ว่าอัตราการว่างงานของ "ผู้หญิงผิวดำ" จะลดลงจากเดือนสิงหาคม แต่ยังนับว่าสูงเป็น 2 เท่าของอัตราการว่างงานก่อนโควิด-19 ระบาด ส่วน "ผู้หญิงละติน" เพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม และมากกว่าก่อนเกิดโควิด-19 ถึง 2 เท่า
แต่สิ่งที่น่าเศร้าคือ "แรงงานหญิงพิการ" เกือบ 1 ใน 6 หรือ 16.3% ถูกเลิกจ้างเพิ่มขึ้นเกือบ 9% นับจากสิ้นเดือนกุมภาพันธ์
ขณะที่ อีกหนึ่งข้อมูลจาก McKinsey & Company และ LEAN IN ก็พบความน่าสนใจว่า "คุณแม่" ต้องแบกรับภาระงานบ้านและดูแลลูกช่วงโควิด-19 มากกว่าคุณพ่อถึง 3 เท่า ไหนจะต้องกังวลถึงหน้าที่การงานที่ต้องรับผิดชอบ จนกลายเป็นความเหนื่อยล้าสะสม
โดย "เชอริล แซนด์เบิร์ก" ซีโอโอของ Facebook และผู้ก่อตั้ง LEAN IN หนึ่งในคนที่สนับสนุนสิทธิสตรี อธิบายภาพที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ ตอนนี้ว่า บรรดาคุณแม่ทั้งหลายต้องทำงานควบ 2 กะ หมายความว่า พอทำงานข้างนอกเสร็จ ก็ต้องกลับมาควบกะที่ 2 ทำงานบ้านและดูแลลูกๆ อีก ดีไม่ดีบางคนอาจควบหลายกะมากกว่านี้ด้วยซ้ำไป... แล้วรู้ไหมว่า คุณแม่เหล่านี้ใช้เวลาทำงานบ้านและดูแลลูกๆ ในช่วงโควิด-19 มากกว่า 20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เทียบได้เป็นครึ่งหนึ่งของการทำงานเต็มเวลาเลยทีเดียว
...
สำหรับหนทางแก้ไขนับจากนี้...
เอมิลี มาร์ติน รองประธานฝ่ายการศึกษาและความยุติธรรมในสถานที่ทำงาน ประจำ NWLC แนะไว้ว่า ภาครัฐต้องเร่งผลักดันนโยบายเพื่อให้ แรงงานภาคสาธารณะ สามารถคงสถานะการทำงานต่อไปได้ และต้องจัดหาบริการที่ทำให้พวกเขาเหล่านั้นมีสุขภาพที่ดี พร้อมกับให้เด็กๆ ได้ไปโรงเรียนหรือสนับสนุนอื่นๆ ที่ทำให้ไปทำงานได้อย่างสบายใจ
ด้าน TDRI เองก็แนะไว้ว่า ภาครัฐควรสนับสนุนให้ แรงงานหญิง เหล่านี้ ได้รับการปรับทักษะหรือสมรรถนะ ทั้ง Up Skill และ Reskill เพื่อให้กลับเข้ามาทำงานได้ใหม่อีกครั้งหรือมีการจ้างงานเพิ่มมากขึ้น ในส่วนของสถานประกอบการ ภาครัฐเองก็อาจสนับสนุนการจ้างงานเป็นรายชั่วโมง เพื่อลดโอกาสการว่างงานและรักษาคนงานเอาไว้
จากผลที่เกิดขึ้นแน่นอนว่า หากปล่อยปัญหาเรื้อรังจะกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจ ที่อาจทำให้ประเทศสูญเสียโอกาสที่สำคัญในอนาคต หากถึงวันที่โควิด-19 จางหาย.
ข่าวน่าสนใจ:
- โควิด-19 ปฏิวัติโลจิสติกส์ ช้าตกขอบ กรณีศึกษา "ไช่เหนี่ยว"
- โควิด-19 จะจบเมื่อไร? ไทม์ไลน์นับถอยหลัง "คลื่นแห่งความสูญเสีย"
- ใครคือ "เจเน็ต เยลเลน" ว่าที่ รมว.คลังสหรัฐฯ ที่ "โจ ไบเดน" เลือก
- Ant Group IPO อลเวง เมื่อ "แจ็ค หม่า" พูดไม่เข้าหูฝ่ายบริหาร "สี จิ้นผิง"
- ไทยเข้า RCEP เปิดตลาด แข่งเดือด สินค้าทะลัก ใครไม่ปรับตัวรอวันเจ๊ง
...