• ปัญหาล่วงละเมิดทางเพศในวัยเรียน 7 ปี ครูและบุคลากรการศึกษา 105 เคส 

  • นักเรียนถูกกระทำต้องเงียบ ครูถูกย้าย ไม่เป็นความจริง! เพราะลงโทษทั้งวินัย-อาญาเฉียบขาดทุกเคส

  • ห้ามยากเด็กจะมีอะไรกัน แต่ที่ต้องระวังคือต้องใส่ถุงยางฯ เพราะเอดส์ โรคทางเพศเริ่มกลับมาระบาด


เนื้อตัว ร่างกาย ไม่ว่าเพศไหน ไม่ว่าใคร พ่อแม่ พี่น้อง ครูอาจารย์ เพื่อน หรือแม้แต่คนรัก ก็ละเมิดมิได้ นี่คือสิทธิขั้นพื้นฐานของชีวิตมนุษย์ที่ทุกคนพึงมี

ช่วงเดือนที่ผ่านมา มีข่าวว่ามีหญิงสาวคนหนึ่ง มาชูป้ายบอกกับทุกคนว่า เธอถูกครูล่วงละเมิดทางเพศ หรือแม้แต่อดีตสื่อรายหนึ่งที่ถูกเพื่อนสาวออกมาแฉว่าได้ล่วงละเมิดทางเพศเธอ ในช่วงที่เธอเรียนอยู่มหาวิทยาลัย กระทั่งมีการเคลียร์ปัญหาที่เกิดขึ้นจากต้นสังกัด

สิ่งที่เกิดขึ้นเปรียบเสมือน “เงา” สะท้อน ว่าเรื่องแบบนี้ “มีจริง” และไม่ค่อยถูกเอ่ยถึงนัก แม้แต่กระทรวงศึกษาธิการเองก็ตาม เพราะเมื่อเกิดเหตุขึ้นก็มักแก้ปัญหากันเงียบๆ

การล่วงละเมิดทางเพศในวัยเรียนไม่ใช่เรื่องใหม่ ผู้เขียนเองในฐานะที่อยู่ในแวดวงสื่อ เห็นข่าวลักษณะนี้เกิดขึ้นต่อเนื่อง สิ่งที่พบตามมา คือ เมื่อเด็กๆ ถูกกระทำ มันจะส่งผลต่อจิตใจของเขาและเธอไปตลอดชีวิต

ผู้เขียนมีโอกาสได้คุยกับ นายธีร์ ภวังคนันท์ ผู้อำนวยการศูนย์เฉพาะกิจคุ้มครองและช่วยเหลือเด็กนักเรียน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ฉก.ชน.สพฐ.) นายธีร์ เล่าจากประสบการณ์การทำงานช่วยเหลือเด็กให้ฟังว่า ปัจจัยการล่วงละเมิดทางเพศในปัจจุบันมีหลายสาเหตุ ส่วนหนึ่งมาจากโซเชียลมีเดียที่เปิดกว้างมากยิ่งขึ้น อีกปัจจัยสำคัญ การเกิด “การเรียนรู้ที่ผิดพลาด” หรือ “ไม่ได้เรียนรู้สิ่งที่ถูก”

...

เคส : สาวที่ถือเป็นป้ายถูกล่วงละเมิดทางเพศ

จากประสบการณ์ทางงาน ศูนย์เฉพาะกิจคุ้มครองและช่วยเหลือเด็กนักเรียนฯ เรามี “ความเชื่อ” ว่า เด็กอาจจะถูกกระทำจริง เพราะไม่มีใครคิดหรอกที่คิดจะทำป้ายเพื่อประจานตัวเอง ขอย้ำนะครับว่า “เชื่อว่า” ถึงแม้ว่ายังไม่รู้ว่าทำจริงหรือไม่

“จากการทำเคสต่างๆ ไม่มีใครที่ไหนหรอกจะออกมาถือป้ายประจานตัวเองเล่นๆ”

ผอ.ศูนย์เฉพาะกิจคุ้มครองและช่วยเหลือเด็กนักเรียน เน้นย้ำ แต่..เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมันก็ต้องสอบสวนเป็นกรณีไป ที่สำคัญเรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน เกิดขึ้นมานานแล้ว และยังไม่แน่ใจว่า “เท็จจริง” คืออะไร ฉะนั้นต้องเห็นใจเจ้าหน้าที่ที่มาตรวจสอบเรื่องนี้ด้วย และอาจจะต้องใช้เวลา แต่ลึกๆ เชื่อว่า “มีส่วนจริง” แต่จริงแค่ไหน..ไม่รู้!

สถิติ 7 ปี ครูย่ำยีนักเรียน สพฐ. ดำเนินการเด็ดขาดทุกราย!

นายธีร์ เผยสถิติการล่วงละเมิดทางเพศ ตั้งแต่ 2556-2562 พบว่า มีทั้งหมด 1,186 เคส มากที่สุด คือ บุคคลอื่นกระทำกับเด็ก 482 เคส รองลงมา คือ เด็กกระทำกับเด็กด้วยกัน 464 เคส คนในครอบครัวทำกับเด็ก 135 เคส และ ครู/บุคลากรการศึกษากับเด็ก 105 เคส

กรณีครูหรือบุคลากรการศึกษาทำกับนักเรียน ในรอบ 7 ปีตัวเลขถือว่ายังไม่มาก ซึ่งที่ผ่านมา สพฐ. ได้ดำเนินการกับครูหรือบุคลากรการศึกษาเหล่านี้ขั้นเด็ดขาดทุกราย แต่สืบเนื่องจากเคสลักษณะแบบนี้ถือเป็นเรื่องปิด คนทั่วไปจึงไม่ค่อยรู้ แต่ผู้บริหารเขตการศึกษาจะรับรู้เรื่องนี้เป็นอย่างดี ซึ่งหากพบว่ามีการกระทำความผิดจริง ไม่ว่าจะเป็นข่มขืน หรืออนาจาร

1.ในทางวินัย คือ “ไล่ออก”
2.ในทางอาญา แจ้งความเอาผิด ซึ่งตรงนี้จะเป็นบทบาทของครอบครัว ทางเราจะช่วยเหลือประสานงานให้ได้
3.ยึดใบประกอบวิชาชีพครู ซึ่งเป็นกระบวนการที่ สพฐ. ดำเนินการอยู่แล้ว

นายธีร์ บอกกับผู้เขียนว่า เมื่อก่อนมีปัญหาจะ “ให้ออกจากราชการไว้ก่อน” (ระหว่างสืบสวน) เพราะให้อำนาจเป็นของศึกษาธิการจังหวัด แต่วันนี้ต้องขอบคุณ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ ที่กรุณาตั้งศูนย์คุ้มครองการละเมิดทางเพศของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งภายในนี้มีผู้บริหารของกระทรวงทุกหน่วยเข้ามาเป็นบอร์ดบริหาร ทำให้กระบวนการดั่งกล่าวสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว เป็นการทลายข้อจำกัดต่างๆ ซึ่งแตกต่างจากสมัยก่อน ที่อาจจะผ่านหลายขั้นตอนมากกว่า แต่เมื่อมีหน่วยกลางตรงนี้ทำให้ยิงคำสั่งไปยังหน่วยปฏิบัติได้เร็วขึ้น

...

รวดเร็วที่ว่า คือ 2-3 วัน ได้คำตอบคือ “ออกจากราชการไว้ก่อน”
จากนั้นกระบวนการทางวินัยก็จะเริ่มด้วยการสืบสวนข้อเท็จจริง โดยทั่วไปจะใช้เวลา 90 วัน แต่ถ้าเป็นกรณีละเมิดทางเพศ ต้องใช้เวลาไม่เกิน 30 วัน ยิ่งถ้ามีหลักฐานชัดเจน เช่น มีคลิป นี่คือไม่ต้องสอบ คือ จบเลย..

“โดยสรุปแล้ว เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นไม่ว่าจะเป็นการล่วงละเมิดทางเพศ หรือ อนาจาร สพฐ. เราไม่ยอม เราจะดำเนินการเอาผิดทุกทางที่ทำได้ อย่างกรณีเคสหนึ่งที่ จ.นครราชสีมา ถึงแม้จะเป็นการสมยอม แต่ศาลก็ลงโทษหนักจำคุกเกือบ 50 ปี เรื่องแบบนี้ไม่ควรเกิดขึ้น

นายธีร์ ภวังคนันท์ ผู้อำนวยการศูนย์เฉพาะกิจคุ้มครองและช่วยเหลือเด็กนักเรียน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
นายธีร์ ภวังคนันท์ ผู้อำนวยการศูนย์เฉพาะกิจคุ้มครองและช่วยเหลือเด็กนักเรียน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน

...

สิ่งที่ผู้เขียนสงสัย คือ เคส อนาจาร จะทำงานยากกว่าหรือเปล่า นายธีร์ อธิบายว่า เดี๋ยวนี้กล้องวงจรปิดมีเยอะ การสอบสวนตามกฎหมาย ป.วิฯ อาญา กฎหมายเกี่ยวกับเด็ก ช่วยได้ แต่ก็ต้องดูว่าเป็นเด็กเล็กหรือเด็กโต ถ้าเป็นเด็กเล็ก เด็กจะใสบริสุทธิ์และไม่โกหก แต่ถ้าเป็นเด็กโต เจ้าหน้าที่ก็จะมีวิธีการเก็บข้อมูล ซึ่งไม่ว่าจะเป็น “อนาจาร” หรือ “ข่มขืน” โทษทางวินัยก็ไม่ต่างกัน

ปรากฏการณ์ของคนในสังคม มองว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับครูมักแค่ถูกย้าย เด็กก็ต้องเงียบ! นายธีร์ ตอบสวนเสียงดังว่า “ไม่จริง!” และย้ำว่า “ไม่เป็นความจริง!”

เคสของศูนย์ฯ จะลงโทษทางวินัยทุกเคส เพียงแต่การย้าย ตรงนี้เพื่อไม่ให้กระทบกับเด็ก คือ แยกคู่กรณีออกจากกันระหว่างสอบสวนเท่านั้น แต่เมื่อพบว่ากระทำผิดจริง เราก็ลงโทษจริง เช่น เคสที่นครราชสีมา โดนทั้งวินัย และอาญา ตอนแรกอาจเป็นข่าวดัง แต่เวลาผ่านไปเขาลงโทษกันจริงๆ แต่ไม่ได้เป็นข่าว

ขึ้นชื่อว่า “ครู” ก้าวพลาดไม่ได้ ไม่มีโอกาสแก้ตัว

อย่างที่หัวข้อบอกไป คนที่จะมาเป็นครู จะไม่มีโอกาสครั้งที่สอง ถ้าหากทำผิดในเรื่อง “บัดซบ” แบบนี้ นายธีร์ บอกกับผู้เขียนว่า มาตรการป้องกันระหว่างครูกับนักเรียน เป็นสิ่งที่ยากมาก ถึงมีขั้นตอนการคัดกรองจะมีการสัมภาษณ์ เช็กประวัติอาชญากรรม แต่ปัญหาใหญ่ที่พบอย่างหนึ่ง คือ ครูรุ่นใหม่วิญญาณความเป็นครูอาจจะยังไม่เต็มที่ ทำให้เกิด “ก้าวพลาด” แต่การก้าวพลาดมันเป็นเรื่องที่ให้อภัยไม่ได้

“ผมเข้าใจนะ เพราะเป็นผู้ชายเหมือนกัน บางครั้งต้องอยู่กับนักเรียนวัยรุ่น น่ารักๆ เริ่มจะโตเป็นสาว อายุ 16-18 ปี หากมีความใกล้ชิดมากเกินควร ก็อาจจะแกว่งได้ถ้าความเป็นครูไม่สูงพอ ขณะที่เด็กก็ยังมีวิจารณญาณไม่เต็มที่”

...

ที่ผ่านมา สพฐ. มีการแจ้งเตือนเรื่องนี้เป็นประจำ แต่กลายเป็นว่า มัวแต่ละระวังแต่ครูผู้ชายกับนักเรียนหญิง ปรากฏว่า ในปี 2561 เกิดคดีระหว่างครูผู้ชายกับนักเรียนชาย (สังเกตในกราฟจะสูงมากในปี 2561) ทั้งที่จริงก็สั่งให้ระมัดระวังแล้ว ไม่ได้ปล่อยปละละเลย แต่มันก็เกิดขึ้นได้

นักเรียนก้าวพลาด ต้องให้บทเรียนของชีวิต

ผู้เขียนสังเกตเห็นว่าตัวเลขของเด็กที่ล่วงละเมิดทางเพศกันเอง จะสมยอมหรือไม่ ก็ถือว่ามีจำนวนมาก ทาง สพฐ. มีแนวทางแก้ปัญหาเรื่องนี้แบบไหน นายธีร์ บอกว่า สิ่งที่ทำได้คือแก้โดยหลักกฎหมาย และครอบครัว

1.ถ้าเป็นเด็กโต กรณีสมยอม ครอบครัวทั้งสองฝ่ายอาจจะแก้ด้วยการผูกข้อไม้ข้อมือ ซึ่งบางโรงเรียนก็ยังรับไม่ได้ สิ่งที่ต้องทำคือ ต้องพูดคุยทำความเข้าใจ รัก ชอบพอกันได้แต่ห้ามทำประเจิดประเจ้อในโรงเรียน

“สิ่งที่ระมัดระวังมาก คือ การกระทำกันในโรงเรียน หากดูแล้วสุ่มเสี่ยง เราให้โรงเรียนสั่งปิดตึก คือ ไม่ให้ขึ้นตึกเรียน”

ส่วนอีกวิธี ที่ใช้คือ การสอนให้รู้จักการใช้อุปกรณ์ ป้องกันท้องไม่พร้อม ถ้าเป็นไปได้ก็ไม่อยากให้มีอะไรกันในวัยเรียน แต่ถ้าห้ามไม่ได้คืออย่าให้ท้อง เราต้องทำความเข้าใจกับเด็กว่าเราไม่ได้ห้าม

“เรื่องแบบนี้ต้องเข้าใจ จะไปโทษเด็กว่าจ้องจะมีอะไรกัน มันไม่ถูก สิ่งที่เกิดขึ้นมันต้องดูที่ตัวผู้ใหญ่ด้วย บริบทของครอบครัว สังคมเป็นแบบไหน เด็กจะมีวิธีเอาตัวรอดจากเรื่องแบบนี้อย่างไร จากประสบการณ์ที่ทำเคสมาเยอะๆ ผมเชื่อว่าไม่มีเด็กเลว แต่บางครั้งเขากำลังมีปัญหา และกำลังส่งสัญญาณของความช่วยเหลือ ซึ่งผู้ใหญ่ต้องอ่านสัญญาณเหล่านี้ให้ออก”

สิ่งที่รู้ได้คือ เด็กที่มีเพศสัมพันธ์เร็ว ส่วนใหญ่เป็นเด็กที่ขาดความรักอย่างรุนแรง ยกตัวอย่าง
1.กลุ่มพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว เพราะมีเวลาให้ลูกน้อย โดยเฉพาะพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวที่มีลูกหลายคน
2.พ่อแม่ที่มีอาชีพที่ต้องใช้เวลามาก เช่น พ่อค้าแม่ค้าอาหารตอนเช้า ไก่ปิ้ง หมูปิ้ง ต้องตื่นตั้งแต่ตี 2 ไปเตรียมของ ตกเย็นกลับมานอน ไม่มีเวลาดูแลลูก ยิ่งที่ถ้ามีลูกหลายคนก็จะดูแลแต่คนเล็ก เมื่อคนโตเห็นก็จะรู้สึกน้อยใจ หมดความรักเราไปแล้วหรือ

ในฐานะพ่อแม่ผู้ปกครองต้องทำความเข้าใจเรื่องนี้ให้มาก หากเกินเลยไปแล้ว หรือ ตั้งท้อง หน้าที่พ่อแม่ ครู ต้องให้สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นบทเรียนครั้งใหญ่ในชีวิต ถ้าตกลงกันไม่ได้ก็ต้องจับแยกทั้งคู่ โดยอาจจะต้องย้ายโรงเรียนทั้งสองฝ่าย ส่วนหนึ่งเพราะต้องการผู้หญิงไปเจอสังคมใหม่ เพื่อเป็นการแก้ปัญหา แต่ที่สำคัญ คือ ฝ่ายชาย ก็ต้องให้รับผิดชอบ โดยจะต้องให้มาดูแลลูกที่เกิดขึ้น เพื่อเตือนว่าสิ่งที่เขาทำอะไรลงไปแล้ว ต้องรับผิดชอบ

อย่างไรก็ตาม จากสถิติของกระทรวงสาธารณสุข ก็พบว่าสถานที่นักเรียนมีเพศสัมพันธ์ นั้นไม่ได้อยู่ที่โรงเรียน แต่เป็นที่บ้าน หรือโรงแรมมากกว่า

“ปัญหาของเด็กวัยรุ่นสมัยนี้คือ มีอะไรกันแล้วไม่ใส่ถุงยางอนามัย เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ นอกจากเรื่องท้องแล้วยังมีโรคที่มาจากเพศสัมพันธ์ด้วย เดี๋ยวนี้จะเห็นเด็กติดเอดส์กันเยอะ เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องระมัดระวังมากที่สุด วิธีแก้ปัญหาคือเราต้องให้ความรู้ให้รอบด้าน”

นี่คือความเป็นห่วงจาก ผู้อำนวยการศูนย์เฉพาะกิจคุ้มครอง และช่วยเหลือเด็กนักเรียน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่ส่งผ่านผู้เขียน ถึงคนในสังคม

ผู้เขียน : อาสาม
กราฟิก : Varanya Phae-araya
อินโฟกราฟิก : Supassara Traiyansuwan 


อ่านข่าวที่น่าสนใจ