นับจากต้นปีมาจนถึงเวลานี้ เกิดการเปลี่ยนแปลงมากมาย ทั้งในรูปแบบที่ไม่คาดคิด หรือคิดไว้แล้ว...แต่ถูกเร่งให้เกิดเร็วขึ้น และปฏิเสธไม่ได้ว่า ภาพที่เห็นชัดมากที่สุดคือ "เดลิเวอรี่" และ "โลจิสติกส์"
"เดลิเวอรี่" (Delivery) กลายเป็นเทรนด์ฮิตประจำปี 2563 หลังจากได้รับอานิสงส์และผลกระทบไปพร้อมๆ กันจากวิกฤติสาธารณสุขที่สร้างความปั่นป่วนไปทั่วโลก อย่าง "โควิด-19" (COVID-19)
การพึ่งพาอาศัย "เดลิเวอรี่" ที่เพิ่มมากขึ้นแบบเท่าทวี จากที่เคยคิดว่า "อย่างไรเวลานี้ก็ต้องมาถึง..." แต่ไม่คิดว่าจะมาถึงเร็วขนาดนี้ ทำให้หลายๆ คนต้องรีบปรับตัวให้ทัน เรียกว่า "คนไหนไว! คนนั้นรอด!"
แต่การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ไม่ได้นำพามาแค่การรับ-ส่งอาหารหรือสินค้าเท่านั้น มันไปไกลจนถึงขั้นเรียกว่าเป็น "ยุคปฏิวัติโลจิสติกส์!"
ซึ่งความน่าสนใจ คือ ผู้นำการปฏิวัติครั้งนี้...ว่ากันว่าเป็น "ไช่เหนี่ยว" (Cainiao) บริษัทของจีน (อีกแล้ว...)
แน่นอนว่า "ไช่เหนี่ยว" จะไม่ได้เป็นเพียงแค่ผู้นำการปฏิวัติเท่านั้น พวกเขามีฝันที่ไกลกว่านั้น คือ การเป็น "ผู้ควบคุมเงื่อนไขโลจิสติกส์ทั้งหมดของโลก"
ดังนั้น เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา ไปเจาะแนวคิด "ไช่เหนี่ยว" (Cainiao) ที่หวังจะปฏิวัติโลจิสติกส์ของโลกใบนี้
...
:: กรณีศึกษา "ไช่เหนี่ยว" (ว่าที่) ผู้คุมกฎโลจิสติกส์ยุคใหม่
ปี 2557 บริษัทโลจิสติกส์นามว่า Cainiao หรือ "ไช่เหนี่ยว" ได้ถือกำเนิดขึ้น โดยมีความหมายภาษาจีนว่า "มือใหม่" หรือภาษาอังกฤษว่า Rookie และใช่แล้ว...อย่างที่หลายๆ คนแอบคิด มือใหม่ "ไช่เหนี่ยว" นี้ เป็นบริษัทในเครือยักษ์ใหญ่อี-คอมเมิร์ซ (e-Commerce) มูลค่า 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (3.02 แสนล้านบาท) ที่รู้จักกันดีว่า "อาลีบาบา" (Alibaba)
ซึ่ง ณ เวลานี้ "หางโจว" เมืองทางตะวันออกที่กำลังรุ่งเรืองของจีน ที่มีประชากรมากกว่า 10 ล้านคน กำลังมียานพาหนะอัตโนมัติขนาด 3-5 ฟุต ที่มีชื่อว่า "เสี่ยว จี" (Xiao G) คัดเลือกพัสดุจากคลังสินค้าของไช่เหนี่ยว แล้วตระเวนไปรอบๆ บริเวณใกล้เคียงอย่างอุ้ยอ้ายผ่านระบบเซนเซอร์ 360 องศา เพื่อนำพัสดุไปส่งแก่ลูกค้า โดยมันจะส่งข้อความไปบอกลูกค้าหลังจากเริ่มออกเดินทางและถึงจุดนัดรับพัสดุ
หลายคนอาจมองว่า "เสี่ยว จี" ไม่ได้เป็นการปฏิวัตินวัตกรรมโลจิสติกส์ที่เขย่าโลกอะไรมากมาย แต่มันก็แสดงให้เห็นในแง่มุมของพลังการปฏิวัติแบบลับๆ
เจ้า "เสี่ยว จี" ที่ว่านี้ เป็นส่วนหนึ่งในแผนงานแห่งความฝันของ "ไช่เหนี่ยว" ในการสร้าง Single Ecosystem สำหรับบริษัทโลจิสติกส์ทั่วโลก ที่เพียงแค่ใช้สมาร์ทโฟนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ (Android) ไม่ว่ายี่ห้อใดก็ตาม ก็สามารถเชื่อมต่อระบบและสามารถถ่ายโอนสินค้าระหว่างบริษัทและเขตปกครองได้อย่างไร้รอยต่อ
ไม่เพียงเท่านั้น ไช่เหนี่ยว ยังคาดการณ์ว่า ภายใต้ระบบที่ว่านี้จะทำให้บริษัทโลจิสติกส์ทั้งหลายสามารถแบ่งปันทุกสิ่งทุกอย่าง นับตั้งแต่มาตรฐานฉลาก ไปจนถึงข้อมูลภาษีศุลกากร
โดยจากเป้าหมายที่ว่านี้ เจฟฟรีย์ ทาวสัน นักลงทุนหุ้นนอกตลาดและผู้เชี่ยวชาญการลงทุนประจำมหาวิทยาลัยปักกิ่ง มองว่า ไช่เหนี่ยวกำลังทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน และนั่นอาจเกิดขึ้นใน Digital Space ของจีน
:: เดลิเวอรี่ในอนาคต "ราคา" นั้นสำคัญ
หากเทียบ "ไช่เหนี่ยว" กับบริษัทโลจิสติกส์รายใหญ่เจ้าอื่นยังนับว่าห่างไกลนัก แต่ก็นับว่าเป็นแพลตฟอร์มใหม่ที่น่าสนใจ ด้วยการเปิดพื้นที่ให้พาร์ตเนอร์โลจิสติกส์กว่า 3,000 ราย และพนักงานเดลิเวอรี่กว่า 3 ล้านราย ได้เข้ามาทำงานร่วมกัน ซึ่งในจำนวนนี้รวมถึง 15 บริษัทเดลิเวอรี่ชั้นนำของจีน และบริษัทที่ดำเนินการระหว่างประเทศอีก 100 รายด้วย
...
แล้วแพลตฟอร์มนี้มีอะไรน่าสนใจ?
"ไช่เหนี่ยว" บอกว่า แพลตฟอร์มของพวกเขาจะทำให้ผู้จำหน่ายสินค้าสามารถเลือก "เดลิเวอรี่" ที่มีประสิทธิภาพในการลดต้นทุนและทุ่นเวลาได้ดีที่สุด แถมยังมีระบบข้อมูลแบบเรียลไทม์ที่ทำให้เห็นเส้นทางต่างๆ ได้
ตัวอย่างง่ายๆ ที่ "ไช่เหนี่ยว" หยิบยกมาให้เห็นภาพ "ยุคสมัยเดลิเวอรี่" ในอนาคต คือ พัสดุ 1 กิโลกรัม ต้องสามารถส่งไปได้ทุกที่ในจีนภายใน 24 ชั่วโมง และมีราคาเพียงแค่ 0.30 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 9.08 บาท
ส่วนเป้าหมายต่อไป คือ ต้องสามารถส่งพัสดุไปทุกที่ในโลกได้ภายใน 72 ชั่วโมง และราคาต้องอยู่ที่ 3 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 90.72 บาท ซึ่งหากเทียบกับการส่งจดหมายของ DHL ที่มีน้ำหนักต่ำกว่า 0.5 กิโลกรัม จากเซี่ยงไฮ้ไปลอนดอน ต้นทุนอยู่ที่ประมาณ 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 3,025 บาท และใช้เวลาส่ง 5 วันทำการ
แน่นอนว่า หากทำสำเร็จย่อมนำประโยชน์มาให้และอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในชีวิตของคนบางกลุ่ม เช่น ผู้ปลูกกาแฟในเปรู คนทอผ้าในชาด หรือแม้แต่ผู้ผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ในบังกาลอร์
เพราะอุปสรรคที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุคโลกาภิวัตน์ คือ "โลจิสติกส์"
...
:: โควิด-19 ตัวกระตุ้นนวัตกรรมโลจิสติกส์
เป้าหมายของ "ไช่เหนี่ยว" คือ การปรับกระบวนการโลจิสติกส์ให้เป็นดิจิทัลทั้งหมดจากบนลงล่าง รวมถึงการติดตั้งเซนเซอร์ในทุกๆ สิ่ง ควบคู่ไปกับการติดกล้องในโกดังสินค้าทุกแห่ง และติด GPS บนรถขนสินค้าและพัสดุทุกชิ้น
ซึ่งต้องยอมรับว่า จีนเป็นประเทศที่ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มีมูลค่ากว่า 1.94 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 58.61 ล้านล้านบาท หากเทียบกับสหรัฐอเมริกาในกลุ่มธุรกิจประเภทใกล้เคียงกันก็มีขนาดใหญ่กว่าถึง 3 เท่า โดยเมื่อปี 2562 มีการขนส่งพัสดุภายในประเทศกว่า 64,000 ล้านชิ้น
สำหรับในปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเจนและ "ไช่เหนี่ยว" มองว่านี่เป็น "ปัญหา" คือ เครือข่ายเดลิเวอรี่ยิบย่อยมากเกินไป แถมไร้ประสิทธิภาพ และสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ
หมายความว่าอย่างไร?
ไช่เหนี่ยว ยกตัวอย่างว่า ทุกวันนี้ทั่วทั้งเมืองจีนจะพบเห็นพนักงานเดลิเวอรี่กระจายไปทั่วทุกที่ ข้างๆ นั้นก็พบเห็นการคัดแยกพัสดุจำนวนมากที่มีลักษณะยับย่นกองอยู่บนถนน แถมยังบรรจุหีบห่ออย่างสิ้นเปลือง เช่น คำสั่งซื้อ ฟิล์มหน้าจอสมาร์ทโฟน ขนาด 0.1 มิลลิเมตร ที่ถูกบรรจุมาในกล่องกระดาษขนาดเท่ากล่องใส่รองเท้า อัดมาด้วยหมอนเป่าลมและใยสังเคราะห์
...
จาก "ปัญหา" จึงนำพาไปสู่โอกาสที่ทำให้ "ไช่เหนี่ยว" เพิ่มกำไรและปกป้องสิ่งแวดล้อม ตลอดจนช่วยประหยัดเชื้อเพลิงไปได้พร้อมๆ กัน โดยสิ่งที่พวกเขาทำนั้นก็คือ การทำฉลาก E-Shipping ที่ประหยัดกระดาษได้มากกว่า 400,000 ล้านชิ้น และชดเชยการปล่อยคาร์บอนได้เป็นพันๆ ล้านกิโลกรัมในแต่ละปี และนั่นคือ "ต้นทุน"
"วาน ลิน" ซีอีโอไช่เหนี่ยว ที่เคยอุทิศเวลากว่า 9 ปี ทำงานให้กับ "อเมซอน" (Amazon) และเจ้าพ่อ "เจฟฟ์ เบซอส" ก็เป็นบุคคลที่เขาเคารพนับถือเป็นอย่างมาก โดยในตอนนั้น เขาทำงานในตำแหน่ง "ผู้อำนวยการฝ่ายยุทธศาสตร์โลจิสติกส์ทั่วโลก" ...แน่นอนว่า เมื่อเขาจากมา ย่อมนำประสบการณ์เหล่านั้นมาต่อยอดให้กับ "ไช่เหนี่ยว"
อย่างที่บอกว่า "ไช่เหนี่ยว" คือหนึ่งในบริษัทของอาลีบาบา ดังนั้น จึงเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนวงจรธุรกิจนี้ หากจะอธิบายให้เห็นภาพก็ต้องยกตัวอย่าง แพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซ "เถาเป่า" (Taobao) ที่ใช้วิธีการชำระเงินผ่าน Alipay แอปพลิเคชันของ Ant Group (หนึ่งในอาลีบาบาอีกเช่นกัน) และจากนั้นก็ขนส่งผ่านไช่เหนี่ยว ทั้งหมดล้วนเป็นส่วนหนึ่งของ Single Ecosystem ในภาพใหญ่ที่ครอบทับ Single Ecosystem โลจิสติกส์ของไช่เหนี่ยวอีกทีหนึ่ง
ย้อนกลับไปในเดือนมกราคม ไช่เหนี่ยวได้เปิดตัว Green Channel ที่ริเริ่มส่งความช่วยเหลือทางการแพทย์จากทั่วโลกไปยังอู่ฮั่น ซึ่งผลจากการดำเนินงานนี้ช่วยให้รอยช้ำจากการล็อกดาวน์ 76 วัน ลดลงอย่างรวดเร็ว โดย ไช่เหนี่ยว ได้นำสิ่งของบรรเทาทางการแพทย์กว่า 69 ล้านชิ้น จาก 39 ประเทศและภูมิภาค ไปยังสถาบันการแพทย์ท้องถิ่นภายในเวลาเพียงวันเดียวเท่านั้น
ความพยายามในการพัฒนาขีดความสามารถการขนส่งของ "ไช่เหนี่ยว" นำไปสู่การกระตุ้นการขับเคลื่อนนวัตกรรมโลจิสติกส์ใหม่ๆ และซีอีโอไช่เหนี่ยวมองว่า "โควิด-19 ทำให้ทุกคนได้ตระหนักว่า โครงสร้างพื้นฐานโลจิสติกส์ที่เปรียบเป็นกระดูกสันหลังนั้นมีความสำคัญอย่างไร และทำให้เห็นว่า อะไรที่ไช่เหนี่ยวควรจะทำให้เกิดภายใน 3 ปีนี้"
:: The New Technology ของการขนส่งพัสดุ
"ในระยะอันใกล้ อุตสาหกรรมการผลิตของจีนจะมีระบบโลจิสติกส์ที่ทันสมัย และเกิดการแข่งขันในการชดเชยค่าแรงที่เพิ่มขึ้นทีละน้อยๆ ในสังคมกำลังพัฒนาอย่างรวดเร็ว"
ต้องยอมรับว่า นี่เป็นความได้เปรียบทางยุทธศาสตร์ที่เหมาะสมกับ China Standard 2035 ของจีนอย่างมาก ในการที่จะก้าวสู่การเป็น "ผู้กำหนดเกณฑ์มาตรฐานโลกสำหรับเทคโนโลยียุคใหม่" เช่น 5G, ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และ IoT (Internet of Things) และความพยายามในด้านโลจิสติกส์ของ ไช่เหนี่ยว ก็อาจทำให้ความฝันการเป็นชาติแรกของ "จีน" ในบทบาท "ผู้เขียนกฎระเบียบโลกอย่างแท้จริง"
เพราะนี่ก็เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ที่จีนมีความพยายามที่จะผลักดันประเทศให้กลายเป็นประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี
ในอนาคต มีความเป็นไปได้ว่า "ไช่เหนี่ยว" อาจจะบุกไปตั้งสำนักงานในสหรัฐอเมริกา เพื่อแย่งส่วนแบ่งตลาดจากบริษัทเจ้าถิ่น ที่มีการประมาณการว่า กว่า 95% ของคำสั่งซื้ออี-คอมเมิร์ซทั้งหมด ขนส่งโดย Fedex, UPS หรือไปรษณีย์สหรัฐอเมริกา ส่วน DHL ที่มีเจ้าของเป็นชาวเยอรมัน เชื่อว่ามีสัดส่วน 39% ของตลาดโลจิสติกส์ทั่วโลก ซึ่งยักษ์ใหญ่อี-คอมเมิร์ซอย่าง "อเมซอน" (Amazon) มีสัดส่วนการใช้บริการถึง 10% ของธุรกิจ UPS ทั้งหมด
จีนไม่ได้หวังแค่เกียรติยศในการเป็นผู้บุกเบิกเท่านั้น แต่ยังอยากเป็นผู้มีอิทธิพลทางความคิดทางด้านภูมิยุทธศาสตร์ด้วย และคงไม่มีใครปฏิเสธว่า ภาพที่เห็นจากแนวคิดของ "ไช่เหนี่ยว" นั้น "จีนต้องการยืนตำแหน่งเดียวกับสหรัฐอเมริกา คือ เทคโนโลยีของจีนเป็นสิ่งจำเป็นและใช้ไปทั่วโลก และสามารถควบคุมเงื่อนไขใดๆ ก็ตาม"
จากการถือกำเนิด "เสี่ยว จี" ยานพาหนะส่งพัสดุอัตโนมัติของ "ไช่เหนี่ยว" กำลังเป็นก้าวแรกในการเปลี่ยน "อุตสาหกรรมโลจิสติกส์" ในอนาคต ที่ก่อนหน้านี้เคยเห็นเพียงแค่ในการ์ตูนหรือภาพยนตร์
นับจากนี้ ธุรกิจเดลิเวอรี่และบริษัทโลจิสติกส์ทั้งหลายต้องเร่งมือแล้ว หากมัวชักช้ามีแต่ตกขอบ แถมยังต้องนับเวลาถอยหลังอำลา... เพราะปี 2564 คงแข่งขันไม่ได้ง่ายนัก.
ข่าวน่าสนใจ:
- โควิด-19 จะจบเมื่อไหร่? ไทม์ไลน์นับถอยหลัง "คลื่นแห่งความสูญเสีย"
- จบโควิด-19 ช้าไป ช่วงเวลานี้ดีสุด ปรับกลยุทธ์ ฟื้น "ท่องเที่ยว" ทางรอดปี 64
- Ant Group IPO อลเวง เมื่อ "แจ็ค หม่า" พูดไม่เข้าหูฝ่ายบริหาร "สี จิ้นผิง"
- ไทยเข้า RCEP เปิดตลาด แข่งเดือด สินค้าทะลัก ใครไม่ปรับตัวรอวันเจ๊ง
- ใครคือ "เจเน็ต เยลเลน" ว่าที่ รมว.คลังสหรัฐฯ ที่ "โจ ไบเดน" เลือก