ในช่วงฤดูหนาว อากาศมักหนาวเย็นตั้งแต่หัวค่ำจนถึงรุ่งเช้า หากดูแลสุขภาพไม่ดี อีกทั้งบางจังหวัดสภาพอากาศแปรปรวนกลางวันร้อน กลางคืนหนาว อาจเป็นสาเหตุทำให้หลายคนเป็นไข้หวัดคัดจมูก เจ็บป่วยกันบ่อยๆ ได้ เพราะฉะนั้นการดูแลร่างกายจึงเป็นสิ่งสำคัญ
นอกจากดูแลให้ความอบอุ่นร่างกาย แต่งกายด้วยเสื้อผ้าหนาๆ สวมหมวก ถุงมือ ถุงเท้าเมื่ออากาศหนาวเย็นแล้ว อาหารที่รับประทานก็ช่วยเพิ่มความอบอุ่นและเสริมภูมิคุ้มกันให้ร่างกายแข็งแรงต้านโรคหวัดได้เช่นกัน
: ขี้เหล็ก ผักขี้หูด 11 ผักพื้นบ้านฤดูหนาวที่ควรกิน :
หลักปฏิบัติตนเพื่อสุขภาพที่ดีในหน้าหนาว และอาหารพื้นบ้านตามฤดูกาลที่ควรกินมีอะไรบ้างนั้น เรามีคำแนะนำจาก นางวสุนธรี เสรีสุชาติ นักโภชนาการชำนาญการพิเศษ สำนักโภชนาการ กรมอนามัย เปิดเผยถึงการเลือกกินอาหารในช่วงหน้าหนาวว่า ปัญหาสุขภาพที่มากับหน้าหนาวมักมีผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ เช่น เป็นหวัด เพื่อสุขอนามัยที่ดี ควรเน้นกินผักพื้นบ้านที่ขึ้นตามรั้ว ปลูกตามธรรมชาติ ปลูกแบบอินทรีย์ มากกว่าผักเศรษฐกิจ เพื่อความปลอดภัยจากสารพิษต่างๆ นอกจากนี้พืชผักพื้นบ้านหรืออาหารประจำท้องถิ่น หาง่าย ปลูกง่ายด้วย
...
เมนูอาหารผักพื้นบ้านตามฤดูกาลในช่วงหน้าหนาวที่กินเพิ่มความอบอุ่นให้ร่างกาย ต้องเป็นอาหารที่ร้อนและปรุงสุกใหม่ๆ ซดน้ำแกงคล่องคอ และควรเป็นผักที่มีวิตามินซีสูง แต่ต้องระวังในการนำมาทำอาหารปรุง อย่าต้มนานจะทำให้ “วิตามินซี” ในผักลดลง ควรใส่ในน้ำเดือด ปิดฝาหม้อ แล้วรีบกินร้อนๆ
ผักพื้นบ้านตามฤดูกาลหน้าหนาว มีดังนี้ ดอกแค, ชะอม, ผักหวาน, พริกหนุ่ม, พริกหวาน, กระเจี๊ยบ, ใบเหลียง, ยอดสะเดา, ยอดมะขาม (นำมาทำเมนูไก่หรือหมูต้มยอดมะขาม) แต่ผักหน้าหนาวที่มีวิตามินสูง คือ ขี้เหล็ก โดยดอกขี้เหล็กปริมาณ 100 กรัม มีวิตามินซี 490 มิลลิกรัม หากเป็นขี้เหล็กมีทั้งยอดและใบด้วยมีวิตามินซีประมาณ 500-600 มิลลิกรัม และ ผักขี้หูด (ผักทางภาคเหนือ) ปริมาณ 100 กรัม มีวิตามินสูงถึง 125 มิลลิกรัม ผักพื้นบ้านตามฤดูกาลในช่วงหน้าหนาวสามารถนำมา "แกง" เพื่อซดน้ำร้อนๆ ให้คล่องคอ เช่น แกงส้มดอกแค แกงป่า แกงขี้เหล็ก แกงเลียง แกงแค
: 9 วิธีปฏิบัติ กินอาหารเพื่อสุขภาพที่ดีในฤดูหนาว :
เพื่อสุขภาพที่ดีในหน้าหนาว นางวสุนธรี แนะ ไม่เพียงแต่รับประทานผักพื้นบ้านชนิดที่มีวิตามินซีสูงเท่านั้น ควรดื่มน้ำเปล่า เป็นประจำวันละ 8 – 10 แก้ว เพื่อไม่ให้ร่างกายขาดน้ำและเพิ่มความชุ่มชื้นแก่ผิวหนัง นอกจากนี้ควรกินอาหารร่วมกับผักสดอย่างน้อยมื้อละ 2 ทัพพี และในการกินอาหารเพื่อสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืนให้ปฏิบัติง่ายๆ โดยยึดตามหลัก 9 โภชนบัญญัติตามกลุ่มวัยให้เหมาะสม ดังนี้
...
1. กินอาหารครบ 5 หมู่ แต่ละหมู่ให้หลากหลาย ไม่ซ้ำซากจำเจ เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วน และหลีกเลี่ยงการสะสมสารพิษที่อาจปนเปื้อนมากับอาหารบางชนิดที่เรากินเป็นประจำ และหมั่นดูแลน้ำหนักตัว เพื่อให้ร่างกายเจริญเติบโต แข็งแรง ได้สารอาหารที่ร่างกายต้องการครบถ้วน มีน้ำหนักในเกณฑ์มาตรฐาน
2. กินข้าวเป็นหลัก สลับกับอาหารประเภทแป้งเป็นบางมื้อ โดยเน้นเลือกกินข้าวกล้องแทนข้าวขาว จะได้คุณค่าวิตามินและใยอาหารมาก
3. กินพืชผักให้มากและกินผลไม้เป็นประจำ นอกจากช่วยสร้างภูมิคุ้มกันโรค ยังช่วยต้านมะเร็งได้
4. กินปลา เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ไข่ และถั่วเมล็ดแห้งเป็นประจำ เนื่องจากปลาเป็นโปรตีนคุณภาพดี ย่อยง่าย ส่วนถั่วต่างๆ เป็นโปรตีนจากพืชใช้กินแทนเนื้อสัตว์ได้
5. ดื่มนมให้เหมาะสมตามวัย ช่วยให้กระดูกและฟันแข็งแรง เด็กควรดื่มนมวันละ 2-3 แก้ว ส่วนผู้ใหญ่ควรดื่มนมพร่องมันเนยวันละ 1-2 แก้ว
6. กินอาหารที่มีไขมันแต่พอควร เลี่ยงกินอาหารประเภท ทอด ผัด แกงกะทิ เน้นกินอาหารประเภท ต้ม ตุ๋น นึ่ง ย่าง (ที่ไม่ไหม้เกรียม)
7. หลีกเลี่ยงการกินอาหารรสหวานจัด และเค็มจัด การกินหวานมากเสี่ยงเกิดโรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด ส่วนการกินเค็มมากเสี่ยงต่อการเกิดโรคความดันโลหิตสูง
8. กินอาหารที่สะอาด ปราศจากการปนเปื้อน เพราะอาหารที่ไม่สุกและปนเปื้อนเชื้อโรค สารเคมี เช่น สารบอแรกซ์ สารกันรา สารฟอกขาว ฟอร์มาลิน และยาฆ่าแมลงทำให้เกิดโรคต่างๆ ได้
9. งดหรือลดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคความดันโลหิตสูง โรคตับแข็ง โรคมะเร็งหลอดอาหาร และโรคร้ายแรงอื่นๆ
...
อย่างไรก็ดี หากปฏิบัติตามคำแนะนำนี้แล้ว ต้องออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ วันละไม่ต่ำกว่า 8 ชั่วโมง หากอากาศเย็นควรสวมเสื้อผ้าที่ให้ร่างกายอบอุ่นเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน ป้องกันโรคไข้หวัดที่อาจเกิดขึ้น และไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์เพื่อให้ร่างกายอบอุ่น
: ข่าวน่าสนใจ :