กลายเป็น Talk of The Town ประจำสัปดาห์เลยก็ว่าได้ หลังมีกระแสข่าวปลิวว่อนไปทั่วโลกว่า ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา คนที่ 46 อย่าง "โจ ไบเดน" เลือกหญิงแกร่ง "เจเน็ต เยลเลน" ที่หลายคนอาจคุ้นชื่อกันเป็นอย่างดี กลับเข้ามามีบทบาทในคณะรัฐบาลภายใต้การนำของเขา ในฐานะ "รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง"
"เจเน็ต เยลเลน" เธอคนนี้คือใคร?
The Answer จะพาไปทำความรู้จักกับ "หญิงแกร่ง" ที่กำลังเป็นที่จับตามองจากทั่วทุกมุมโลก ในฐานะที่เป็น "ตัวเต็ง" ว่าที่ รมว.คลังสหรัฐฯ ในคณะบริหารไบเดน
ทำความรู้จัก ว่าที่ รมว.คลังสหรัฐฯ ที่ "โจ ไบเดน" เลือก "เจเน็ต เยลเลน"
ซึ่งหากข่าวที่ว่านี้ไม่พลิกโผ เจเน็ต เยลเลน จะเป็น "คนแรก" ที่นั่งเก้าอี้สำคัญทางเศรษฐกิจในรัฐบาลสหรัฐฯ ถึง 3 เก้าอี้ คือ ประธานเฟด, หัวหน้าสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
และไม่เพียงเท่านั้น เธอยังจะเป็น "ผู้หญิงคนแรก" ในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกาที่ได้เป็น "รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง" อีกด้วย
แล้ว "เจเน็ต เยลเลน" คือใคร?
...
เจเน็ต เยลเลน หรือชื่อเต็ม เจเน็ต หลุยส์ เยลเลน เกิดและเติบโตที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ปัจจุบันอายุ 74 ปี มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 13 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 394 ล้านบาท โดยเธอเรียนจบทางด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยบราวน์ และได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิต (PhD) จากมหาวิทยาลัยเยล โดยหลังจากนั้นได้ไปเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดจนถึงปี 2519
หากย้อนดูบทบาทการทำงานของ เจเน็ต เยลเลน ก็ต้องบอกว่าเธอผ่านประสบการณ์มาอย่างโชกโชน
ในปี 2520-2521 เธอทำงานเป็นนักเศรษฐศาสตร์ในสภาผู้ว่าการของธนาคารกลางสหรัฐฯ และในปี 2521-2523 ก็ได้ไปเป็นผู้บรรยายประจำ London School of Economics and Political Science (LSE) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงโดดเด่นด้านสังคมศาสตร์ จากนั้นในปี 2523 ก็ได้ร่วมเป็นหนึ่งในคณะวิจัย และเป็นอาจารย์สอนเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์มหภาคที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ และได้รับรางวัลด้านการสอนมากมาย จนถึงปี 2537 เธอได้ยื่นใบลาออกจากเบิร์กลีย์ เพื่อไปปฏิบัติหน้าที่อันสำคัญในฐานะ "สมาชิกสภาผู้ว่าการ" ของระบบธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด)
เจเน็ต เยลเลน อยู่ในตำแหน่งจนถึงปี 2540 ก่อนจะลาออกไปรับตำแหน่งหัวหน้าสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจ ภายใต้คณะบริหาร บิล คลินตัน จนถึงปี 2542 ซึ่งในระหว่างนั้น เธอก็ควบตำแหน่งประธานคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจของ OECD (Organization for Economic Co-operation and Development) ด้วย โดยหลังยุติหน้าที่ เธอก็ได้กลับไปสอนที่เบิร์กลีย์เช่นเดิมจนถึงปี 2547 ก่อนจะกลับมารับตำแหน่งในฐานะประธานธนาคารกลางแห่งซานฟรานซิสโก และก้าวสู่ตำแหน่งรองประธานสภาผู้ว่าการของเฟดในปี 2553
และในอีก 3 ปีต่อมา ชื่อเสียงของ เจเน็ต เยลเลน ก็เป็นที่พูดถึงอีกครั้ง เมื่อประธานาธิบดี บารัค โอบามา เสนอชื่อเธอเป็น "ประธานเฟด" คนต่อไป ท่ามกลางความกังขาจากสมาชิกพรรครีพับลิกันบางส่วน
...
อย่างไรก็ตาม เดือนมกราคม ปี 2557 เธอก็ได้รับการรับรองจากรัฐสภาสหรัฐฯ ด้วยคะแนนโหวต 26 ต่อ 56 นับว่าเป็นสัดส่วนการรับรองที่น้อยที่สุดในประวัติศาสตร์การแต่งตั้งประธานระบบธนาคารกลางสหรัฐฯ แต่นั่นก็ทำให้เธอกลายเป็น "ผู้หญิงคนแรก" ที่ได้นั่งเก้าอี้ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ โดยมีวาระ 4 ปี นับตั้งแต่ปี 2557-2561 ซึ่งเริ่มปฏิบัติหน้าที่วันแรก คือ 3 กุมภาพันธ์ 2557
และในปี 2559 เจเน็ต เยลเลน ยังถูกรับเลือกเป็นสตรีทรงอิทธิพลอันดับ 3 และบุคคลทรงอิทธิพลอันดับ 6 ของนิตยสาร Forbes
คำถามต่อมาคือ...
เจเน็ต เยลเลน ทำอะไรสำเร็จบ้างในฐานะ "ประธานเฟด"
ในช่วงที่เธอเป็น "ประธานเฟด" นั้น เธอได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้นำทีมฟื้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ หลังพังทลายจากวิกฤติการเงินเมื่อปี 2550 หากย้อนดูผลงานยามนั้น พบว่า หลังจากเธอยุติบทบาทประธานหญิง อัตราการว่างงานลดลงอยู่ที่ 4.2% ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดในรอบมากกว่า 16 ปี
บรรดาเพื่อนร่วมงานของ เจเน็ต เยลเลน ต่างเรียกขานเธอว่า แมร์รี ป็อปปินส์ เพราะแม้ว่าเธอจะเด็ดขาดมากแค่ไหน แต่เธอก็ยังใจดี ฉลาด และเตรียมพร้อมอยู่เสมอ ...ไม่เพียงเท่านั้น เธอยังได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในบุคคลที่เป็นผู้กำหนดนโยบายที่ยอดเยี่ยมที่สุดที่คาดการณ์วิกฤติการเงินปี 2551 ได้อย่างแม่นยำ
...
ภายใต้การนำของ เจเน็ต เยลเลน ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่ปี 2551 แน่นอนว่า เธอได้รับคำชื่นชมในวงกว้างอย่างท่วมท้น ทั้งจากกลุ่มอนุรักษนิยมและ Wall Street
ในจดหมายลาออกที่เธอยื่นให้กับประธานาธิบดีทรัมป์เมื่อปี 2560 เขียนไว้ว่า เธอรู้สึกปลื้มใจอย่างมากกับระบบการเงินที่มีความแข็งแกร่งกว่าหลายทศวรรษที่ผ่านมา การสนับสนุนการจ้างงานกว่า 17 ล้านตำแหน่ง และเฟดยังเคลื่อนเข้าใกล้เป้าหมายแห่งความสำเร็จทีละน้อยๆ
...
หาก เจเน็ต เยลเลน เป็น รมว.คลังสหรัฐฯ อะไรคือความท้าทายที่เธอต้องเผชิญ
แน่นอนว่า เมื่อก้าวเข้าสู่ตำแหน่ง รมว.คลังสหรัฐฯ เธอจะถูกถาโถมไปด้วยความรับผิดชอบในการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจที่กำลังสูญเสียสมดุลอันเป็นผลจากโควิด-19 ที่ระบาดรุนแรงอยู่ทั่วประเทศอย่างไม่หยุดยั้ง
ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ระดับการว่างงานของสหรัฐฯ ได้ทุบสถิติช่วงภาวะหลังสงคราม โดยนักเศรษฐศาสตร์ประจำ JPMorgan Chase & Co. มองว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะหดตัวเล็กน้อยในไตรมาสแรกของปี 2564
และรอยร้าวระหว่างพรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกัน ที่นับวันจะมีแต่ลึกยิ่งกว่าเดิม จากการโต้เถียงกันถึงวิธีการที่จะนำมาใช้ในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งผู้สังเกตการณ์ต่างเชื่อกันว่า เจเน็ต เยลเลน เป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดที่จะเป็น รมว.คลังสหรัฐฯ ในการทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมช่องว่าง และก่อให้เกิดฉันทามติในอนาคต
แต่ในบรรดาตัวเลือก ว่าที่ รมว.คลังสหรัฐฯ ยังมีอีก 2 คนที่ถูกพูดถึง...
คู่แข่งของ เจเน็ต เยลเลน คือใคร?
คนแรกคือ ลาเอล เบรนาร์ด
ซึ่งเป็นกรรมการระดับนโยบายของระบบธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) และเคยเป็น รอง รมว.คลัง ฝ่ายกิจการระหว่างประเทศ ในคณะบริหาร บารัค โอบามา ซึ่งผลงานที่ผ่านมาคือ การรับมือวิกฤติยูโรโซน และวิกฤติการเงินโลก
คนที่สองคือ ซาราห์ บลูม แรสคิน
อดีตคณะกรรมการระดับนโยบายของระบบธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) และเป็น "ผู้หญิงคนแรก" ที่ดำรงตำแหน่ง รมช.คลังสหรัฐฯ
ในสัปดาห์หน้าต้องจับตาดูกันว่า สุดท้ายแล้ว เจเน็ต เยลเลน, ลาเอล เบรนาร์ด หรือ ซาราห์ บลูม แรสคิน จะถูกเลือกเป็น รมว.คลังหญิงคนแรกของสหรัฐฯ ในคณะบริหาร โจ ไบเดน.
ข่าวน่าสนใจ :
- CPTPP กับการเปลี่ยนผ่าน 3 ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย
- "มหาเศรษฐีพันล้าน" รวยไม่หยุด โควิด-19 ไม่ระคาย ความมั่งคั่งทุบสถิติปี 60
- Ant Group IPO อลเวง เมื่อ "แจ็ค หม่า" พูดไม่เข้าหูฝ่ายบริหาร "สี จิ้นผิง"
- "โจ ไบเดน" ถึงเวลาบทพิสูจน์ความเก๋า พลิกวิกฤติสหรัฐอเมริกา
- ไทยเข้า RCEP เปิดตลาด แข่งเดือด สินค้าทะลัก ใครไม่ปรับตัวรอวันเจ๊ง