"หาก ณ วันที่คุณมีอายุมากถึง 78 ขวบปี แต่คุณได้ก้าวเท้าขึ้นทำหน้าที่ผู้นำของประเทศที่มีอำนาจมากที่สุดในโลก แต่ในขณะเดียวกันก็มีสารพัดปัญหาที่กำลังรุมเร้ารอบด้าน คุณจะรู้สึกอย่างไร?"
คำถามนี้? หาใช่คำถามบนเวทีประกวดนางงามของประเทศ ประเทศหนึ่งในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่มันคือ "คำถาม" ที่กำลังจะเกิดขึ้นจริงกับว่าที่ Mr.President Of The United States Of America คนที่ 46 ในประวัติศาสตร์ ที่มีชื่อว่า... มิสเตอร์ "โจ ไบเดน"
มิสเตอร์ไบเดนจะเข้าพิธีสาบานตนเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ ในวัย 78 ปี ซึ่งตามสถิติถือเป็นผู้นำสหรัฐฯ ที่มีอายุมากที่สุดในประวัติศาสตร์ นอกจากนี้ ตัวเลข 78 ปีนี้ เป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับอายุ 77 ปี 349 วัน ในวันที่อดีตประธานาธิบดี โรนัลด์ เรแกน ก้าวเท้าออกจากทำเนียบขาว หลังบริหารประเทศครบ 2 เทอม (8 ปี) ในปี 1989 ด้วย!
และหากนับจากวันนี้ จะเหลือเวลาอีกเพียงไม่เกิน 2 เดือน ที่ชายชราวัย 78 ปี จะขึ้นเถลิงอำนาจบนประเทศที่กำลังเผชิญสารพัดปัญหารุมเร้า ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาความแตกแยกทางการเมือง ปัญหาด้านสาธารณสุขที่รุนแรงที่สุดในรอบหลายศตวรรษ ปัญหาเศรษฐกิจจากตัวเลขการว่างงานที่สูงจนน่าตกตะลึง หรือแม้กระทั่งความอยุติธรรมทางเชื้อชาติ
ซึ่งสารพัดปัญหาอันสาหัสสากรรจ์ที่รอให้แก้อยู่เบื้องหน้านี้ ย่อมไม่แปลกที่จะมีชาวอเมริกันส่วนหนึ่งตั้งคำถามขึ้นมาในใจเช่นเดียวกันว่า อายุของชายชราที่ล่วงพ้นถึง 78 ปี และหากอยู่ครบเทอม (4 ปี) มิสเตอร์ไบเดนจะมีอายุถึง 82 ปี (และอาจจะมีอายุถึง 86 ปี หากได้เป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 2) จะเป็นอุปสรรคในการทำงานเพื่อบ้านเพื่อเมืองครั้งนี้หรือไม่?
...
พูดตรงๆ คือ อายุและสุขภาพจะกลายเป็นปัญหาของผู้นำสหรัฐฯคนใหม่ ในระหว่าง 4 ปีที่ทำหน้าที่ในทำเนียบขาวหรือไม่?
ถึงเวลาพิสูจน์ตัวเอง เพื่อต้องลบคำครหา "Sleepy Joe"
ในระหว่างการทำศึกชิงเก้าอี้ทำเนียบขาวที่ผ่านมา "Sleepy Joe" คือ ถ้อยคำ คำจิกกัดของ โดนัลด์ ทรัมป์ ที่มีต่อมิสเตอร์ โจ ไบเดน เพื่อชักจูงให้ชาวอเมริกันเชื่อว่า ชายชรามีปัญหาเรื่องสุขภาพ และไร้ซึ่งความเฉียบขาดในฐานะผู้นำ เนื่องจากอายุอานามมากโขถึงวัยไปเลี้ยงหลานที่บ้านแล้วนั่นเอง
ด้วยเหตุนี้ แม้เอาล่ะ...ในท้ายที่สุดแล้วมิสเตอร์ไบเดนจะเป็นผู้ชนะในการเลือกตั้งที่ผ่านมาก็ตาม แต่การถูกตอกย้ำในประเด็นนี้ตลอดเวลา ย่อมทำให้มีชาวอเมริกันส่วนหนึ่งรู้สึกวิตกถึงสุขภาพของผู้นำคนใหม่แน่นอน โดยเฉพาะเมื่อบนดินแดนแห่งเสรีภาพยังเต็มไปด้วยการแพร่ระบาดโรค Covid-19
"โรคซึ่งถือเป็นอันตรายอย่างยิ่งสำหรับผู้สูงอายุ"
ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งที่ผ่านมา ทั้งนักวิเคราะห์และผู้สนับสนุนของไบเดนเห็นตรงกันว่า มีความผิดพลาดในการสื่อสารถึงประเด็น "สุขภาพ" และ "ความหาญกล้าเมื่อต้องเผชิญวิกฤติ" ของว่าที่ผู้นำคนใหม่ของสหรัฐฯหลายต่อหลายครั้ง
โดยเฉพาะการลงพื้นที่หาเสียงพบปะประชาชนในพื้นที่สาธารณะ ที่มักเต็มไปด้วยความระมัดระวัง เพื่อป้องกันการติดเชื้อ Covid-19 จนทำให้ไบเดนลงพื้นที่หาเสียงน้อยครั้งมาก หากเทียบเคียงกับการลงพื้นที่อย่างบ้าระห่ำของท่านผู้นำทรัมป์ และนี่เองคือ "รอยโหว่" ที่ทำให้ไบเดนถูกโจมตีและตอกย้ำจากทรัมป์ตลอดเวลา
และหากยังไม่ลืม ในช่วงการลงทำศึกเป็นผู้แทนพรรคเดโมแครต ไบเดนก็ถูกบรรดาแคนดิเดตตอกย้ำเรื่องปัญหาอายุและสุขภาพมาอย่างหนักหน่วง จนถึงขั้นถูกตั้งคำถามเสียดแทงใจที่ว่า...
"คนเจเนอเรชั่นเยี่ยงไบเดนและทรัมป์มีความเหมาะสมมากน้อยเพียงใดที่จะเข้าไปจัดการประเด็นปัญหาที่กำลังรุมเร้าสหรัฐอเมริกา อย่าง ปัญหาโลกร้อน การเหยียดเชื้อชาติ และความไม่เท่าเทียม"
...
อย่างไรก็ดี ไบรอัน อ๊อต (Brian Ott) ศาสตราจารย์ด้านการสื่อสารจากมหาวิทยาลัยมิสซูรี ในฐานะผู้เชี่ยวชาญที่ศึกษาสุนทรพจน์ของอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯมายาวนาน ให้ความเห็นที่น่าสนใจว่า
"แม้ไบเดนจะทำได้ไม่น่าประทับใจมากนักในช่วงการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง แต่สุนทรพจน์ในวันประกาศชัยชนะนั้นแตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากมันเต็มไปด้วยความเห็นอกเห็นใจ และการเรียกร้องให้ทุกฝ่ายหันหน้าเข้าหากัน โดยเฉพาะฝ่ายที่เคยยืนอยู่ในจุดที่ตรงกันข้าม ซึ่งสิ่งนี้เป็นเครื่องชี้ชัดว่า สุนทรพจน์ของรัฐบาลย่อมไม่ใช่สุนทรพจน์ในการหาเสียงเลือกตั้ง เพราะมันคือ การสื่อถึงความร่วมไม้ร่วมมือกันมากกว่าที่จะสร้างความเป็นปรปักษ์"
ขณะที่ ลอส เบเกอร์ (Ross Baker) ผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรัตเกอร์ส (Rutgers University) และที่ปรึกษาอดีตนักการเมืองชื่อดังหลายคนของสหรัฐฯ มองประเด็นปัญหาเรื่องอายุและสุขภาพของไบเดน ในมุมมองที่น่าสนใจว่า
"ข้อดีจากประสบการณ์อันโชกโชนของไบเดน ทำให้เขาสามารถคัดเลือกคนคุณภาพเข้ามาร่วมทีมได้ เช่น การเลือกวุฒิสภาชิก คามาลา แฮร์ริส ที่อายุน้อยกว่าเกือบ 20 ปี มานั่งในตำแหน่งรองประธานาธิบดี เพื่ออุดช่องโหว่ในประเด็นที่ตัวเองจะถูกโจมตี นอกจากนี้ การพยายามวางตำแหน่งตัวเองว่าเป็นเพียงประธานาธิบดีเฉพาะกาล แต่ไม่ได้ยืนยันว่าจะไม่ลงชิงตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ ในเทอมที่ 2 ถือเป็นนัยสำคัญทางการเมืองที่ชาญฉลาด และยังสามารถขจัดข้อถกเถียงเรื่องอายุและสุขภาพ ที่อาจจะเกิดขึ้นหลังการเข้าทำงานในทำเนียบขาวได้อีกด้วย"
...
อะไรคือสิ่งยืนยันว่า ชายวัย 78 ปี จะสามารถทำงานในทำเนียบขาวได้ตลอด 4 ปี?
นายแพทย์เควิน โอคอนเนอร์ (Dr. Kevin O’Connor) แพทย์ประจำตัวของว่าที่ผู้นำสหรัฐฯคนใหม่ ได้เปิดเผยรายงานทางการแพทย์ที่ยืนยันถึงเรื่องสุขภาพและอายุของไบเดนเอาไว้ว่า เป็นคนที่มีสุขภาพดีและแข็งแรงดี และมีความเหมาะสมที่จะปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งประธานาธิบดี รวมถึงหัวหน้าทีมผู้บริหารสูงสุดของประเทศและผู้บัญชาการทหารสูงสุดของสหรัฐฯ
โดยในรายงานดังกล่าวยังระบุอีกด้วยว่า ไบเดน สามารถทำงานได้ 5 วัน ใน 1 สัปดาห์ นอกจากนี้ว่าที่ผู้นำสหรัฐฯคนใหม่ ยังได้บอกกับบรรดาผู้สนับสนุนด้วยว่า ในระหว่างการแพร่ระบาดโรค Covid-19 ครั้งใหญ่ เขาฟิตซ้อมร่างกายด้วยการปั่นจักรยาน ยกน้ำหนัก และวิ่งบนลู่วิ่งในบ้านพักอีกด้วย
ส่วนปัญหาเรื่องโรคประจำตัวนั้น รายงานดังกล่าวระบุว่า ในปี 1988 ไบเดนเคยเฉียดตายจากภาวะสมองโป่งพอง 2 ครั้ง และเคยพบว่ามีอาการหัวใจเต้นผิดปกติ แต่ไม่จำเป็นต้องใช้ยาหรือการรักษาอื่นใด และล่าสุด เคยต้องเข้ารับการผ่าตัดเอาถุงน้ำดีออกเมื่อปี 2003
...
นอกจากนี้ ยังมีรายงานที่สามารถยืนยันเรื่องสุขภาพที่ไร้ปัญหาของไบเดนจากกลุ่มนักวิจัยพฤฒพลัง หรือพลังของผู้สูงอายุ (Active Aging) ที่ออกมาระบุเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาว่า ทั้งไบเดนและทรัมป์ถือเป็นกลุ่มผู้สูงอายุที่ยังคงมีความจำและความคิดที่ยอดเยี่ยม (Super-Agers) และมีแนวโน้มที่จะมีอายุยืนกว่าคนรุ่นใหม่ในประเทศสหรัฐอเมริกา และจะสามารถรักษาสุขภาพได้จนสิ้นสุดวาระในตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ
แล้วอะไร คือ สิ่งที่ไบเดนควรแสดงออกต่อสาธารณชนเพื่อกำจัดข้อครหาเรื่องสุขภาพและอายุ?
เอ็ดเวิร์ด ฟรานซ์ (Edward Frantz) นักประวัติศาสตร์ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จากมหาวิทยาลัยอินเดียนาโพลิส วิเคราะห์ประเด็นนี้โดยอ้างอิงอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯไว้อย่างน่าสนใจว่า
"อดีตประธานาธิบดี โรนัลด์ เรแกน มักจะชอบตัดต้นไม้ และขี่ม้าอวดสาธารณชน ในขณะที่ โดนัลด์ ทรัมป์ หลังถูกวินิจฉัยว่าติดเชื้อ Covid-19 เพียงไม่นาน ก็รีบออกหาเสียง และไปปรากฏตัวในพื้นที่สาธารณะอย่างรวดเร็วในช่วงท้ายๆ ของการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ถึงแม้ว่ามันจะขัดกับมาตรการ Social Distancing ก็ตาม
หรือเมื่อปี 1841 วิลเลียม เฮนรี แฮร์ริสัน (William Henry Harrison) อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 9 เคยพยายามแสดงความแข็งแกร่งทางร่างกาย ด้วยการกล่าวปราศรัยที่ยาวนาน โดยไม่หวั่นต่ออากาศที่หนาวเหน็บ ด้วยการไม่สวมเสื้อคลุมหรือหมวก ในขณะที่มีอายุ 68 ปีมาแล้ว"
แต่เดี๋ยวก่อน...ในท้ายที่สุด แม้จะได้เป็นประธานาธิบดี แต่ วิลเลียม เฮนรี แฮร์ริสัน ผู้นี้กลับป่วยด้วยโรคปอดบวม ซึ่งคาดว่าน่าจะเกิดจากการออกไปปราศรัยที่ทนทรหดที่ว่า และเสียชีวิตในตำแหน่งที่เพิ่งเข้าทำงานได้เพียงหนึ่งเดือนเท่านั้น! (นะ)
อย่างไรก็ดี เมื่ออ่านมาถึงบรรทัดนี้แล้ว ไม่ว่าหนทางข้างหน้าที่รอว่าที่ Mr.President Of The United States Of America ที่มีอายุมากที่สุดในประวัติศาสตร์ จะหนักหน่วงรุนแรง และเต็มไปด้วยความกดดันจากความคาดหวังที่มากล้นกว่าสถานการณ์ปกติขนาดไหน แต่ในเมื่อท่านผู้นำคนใหม่เอ่ยปากแล้วว่า...
ฉะนั้น คำตอบในอีก 4 ปีข้างหน้านี้ จะต้องมีอย่างเดียวคือ ประสบความสำเร็จเท่านั้น!
End Credit
สำหรับสถิติต่างๆ ที่น่าสนใจ หลังประเทศแห่งเสรีภาพและภราดรภาพได้ประธานาธิบดีที่อายุมากที่สุดในประวัติศาสตร์ มีหลายเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่น่าสนใจดังต่อไปนี้...
อายุเฉลี่ยของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในวันที่สาบานตนเข้ารับตำแหน่ง คือ 55 ปี
ธีโอดอร์ รูสเวลต์ (ประธานาธิบดีคนที่ 26) คือ ประธานาธิบดีที่อายุน้อยที่สุด หลังต้องเข้ารับตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ แทน วิลเลียม แม็คคินเลย์ ที่ถูกลอบสังหารในปี 1901 โดยในขณะนั้นเขามีอายุเพียง 42 ปี 322 วัน
จอห์น เอฟ เคนเนดี (ประธานาธิบดีคนที่ 35) คือ ประธานาธิบดีที่อายุน้อยที่สุดที่ชนะการเลือกตั้ง โดยในขณะนั้นเขามีอายุเพียง 43 ปี 236 วัน
โดนัลด์ ทรัมป์ คือ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่อายุมากที่สุดที่ชนะการเลือกตั้ง รวมถึงในวันที่สาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี อายุ 70 ปี 220 วัน แต่ปัจจุบันสถิตินี้กำลังจะถูกลบโดย โจ ไบเดน (ว่าที่) ที่จะเข้าพิธีสาบานตนเป็นประธานาธิบดีคนที่ 46 ในวันที่ 20 มกราคม ปี 2021 (ปัจจุบันอายุ 78 ปี เกิดวันที่ 20 พ.ย. 1942)
อดีตประธานาธิบดี ธีโอดอร์ รูสเวลต์ คือ ผู้ที่มีอายุน้อยที่สุดในวันที่สิ้นสุดตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ 50 ปี ส่วนผู้ที่มีอายุมากที่สุดหลังสิ้นสุดตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ คือ โรนัลด์ เรแกน 77 ปี (สถิตินี้อาจถูกลบ หากไบเดนอยู่ครบเทอม 4 ปี)
ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ถึงแก่อสัญกรรมในขณะดำรงตำแหน่งจากการลอบสังหาร มีทั้งสิ้น 4 คน ประกอบด้วย 1.อับราฮัม ลินคอล์น, 2.เจมส์ การ์ฟิลด์, 3.วิลเลียม แม็คคินเลย์ และ 4.จอห์น เอฟ เคนเนดี
ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ถึงแก่อสัญกรรมในขณะดำรงตำแหน่งกรณีไม่ได้ถูกลอบสังหาร มีทั้งสิ้น 4 คน ประกอบด้วย 1.วิลเลียม เฮนรี แฮร์ริสัน (ประธานาธิบดีคนที่ 9) เสียชีวิตด้วยโรคปอดบวม, 2.แซคารี เทย์เลอร์ (ประธานาธิบดีคนที่ 12) เสียชีวิตด้วยโรคอหิวาตกโรค, 3.วาเรน ฮาดิง (ประธานาธิบดีคนที่ 29) เสียชีวิตจากภาวะหัวใจล้มเหลว และ 4.แฟรงกลิน ดี โรสเวลต์ (ประธานาธิบดีคนที่ 32) เสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดสมอง
ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่อายุยืนที่สุด คือ อดีตประธานาธิบดี จิมมี คาร์เตอร์ อายุ 95 ปี.
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
กราฟิก: เทพอมร แสงธรรมาพิทักษ์
ข่าวน่าสนใจ:
- 10 เหตุผล "ไบเดน" ชนะ "ทรัมป์" และอนาคตสหรัฐฯ ที่อาจเข้าสู่วังวนขัดแย้ง
- Nikola มหากาพย์สตาร์ตอัพยูนิคอร์นหมื่นล้านลวงโลก
- เมื่อ MacBook กลายร่างเป็น iPhone ปฏิวัติอารยธรรม Apple
- ไทยเข้า RCEP เปิดตลาด แข่งเดือด สินค้าทะลัก ใครไม่ปรับตัวรอวันเจ๊ง
- ข้อดีข้อเสีย iPhone 12 ความต่างของ 4 รุ่น กับ 5 หูฟังที่ถูกแนะนำว่าเทพ