“หัวใจ” อวัยวะสุดสำคัญของร่างกาย ทำงานไม่มีวันพัก ตั้งแต่เป็นตัวอ่อนในครรภ์มารดา และต้องเต้นตลอดตราบที่ยังมีชีวิต จึงเป็นอวัยวะที่แข็งแรงมาก แต่คนไทยก็เสียชีวิตด้วย “โรคหัวใจ” เป็นอันดับต้นๆ เช่นกัน เพราะโรคหัวใจมักไม่แสดงอาการชัดเจน กว่าจะรู้อาจจะสายเกินไป
“หัวใจวายเฉียบพลัน” (Heart Attack) ก็เป็นอาการหนึ่ง ล่าสุดนักท่องเที่ยวชายวัย 62 ปี เสียชีวิตเพราะหัวใจวายเฉียบพลัน หลังเดินได้เพียง 300 เมตร แล้วเป็นลมหมดสติ ระหว่างเดินทางพิชิตยอดภูกระดึง จ.เลย แม้ทีมกู้ภัยอุทยานฯ แพทย์ทำ CPR จนฟื้นกลับมาแล้ว
นับเป็นภัยเงียบที่น่ากลัว เพราะบางคนอาจไม่รู้ว่าตัวเองเป็นโรคหัวใจ เพราะอาการบางอย่างคล้ายคลึงกับหลายโรคอื่นๆ พฤติกรรมใดที่ตัวเราทำร้ายตัวเองสะสมจนเสี่ยงทำให้เกิดหัวใจวายเฉียบพลัน วันนี้เรามีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับอาการ รวมถึงการป้องกัน เพื่อสำรวจตัวเองว่ามีความเสี่ยงของการเป็นโรคหัวใจหรือไม่ เพราะถ้ารู้จักอาการหัวใจวาย และวิธีช่วยเหลือ ก็รักษาชีวิตไว้ได้
...
: สาเหตุโรคหัวใจ :
สาเหตุโรคหัวใจ นอกจากอายุมากขึ้น ในผู้ชายมากกว่า 45 ปี หรือหญิงที่อายุเกิน 55 ปี หรือวัยหมดประจำเดือน, กรรมพันธุ์ สิ่งสำคัญที่สุด คือ วิถีชีวิตและพฤติกรรมไม่ถูกต้องของตัวเราเอง อาทิ เครียดง่ายและเครียดบ่อย กดดัน พักผ่อนน้อย สูบบุหรี่ ไม่ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ชอบรับประทานอาหารที่มีไขมัน เกลือ น้ำตาล หรือคอเลสเตอรอลสูง รวมไปถึงผู้มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือดสูง มีภาวะอ้วนตั้งแต่เด็ก นอนกรนรุนแรงร่วมมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
สำหรับหัวใจวาย เป็นภาวะเฉียบพลันของโรคหัวใจ เกิดจากหลอดเลือดหัวใจแข็งตัว ตีบตัน อุดตัน ทำให้เลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่ได้ ส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจที่ขาดเลือดเริ่มตายไปเรื่อยๆ หากมีอาการเป็นอยู่นานกว่า 15 นาที และไม่ทุเลา หรือปล่อยให้เกิดอาการเกินหนึ่งชั่วโมง อาจจะแก้ไขไม่ทัน และเสียชีวิตได้
: 6 อาการโรคหัวใจ สัญญาณเตือนหัวใจวายเฉียบพลัน :
เพราะฉะนั้นการหมั่นสังเกตตัวเองเป็นสิ่งจำเป็น อย่าละเลยเป็นอันขาด สำหรับอาการผิดปกติที่เกิดจากโรคหัวใจ และอาจเป็นสัญญาณเตือน “หัวใจวายเฉียบพลัน” ดังนี้
1. เจ็บแน่นกลางหน้าอกเหมือนมีของหนักมากดทับ
2. ปวดจุกท้องบริเวณลิ้นปี่ หรือเจ็บหน้าอกร้าวไปที่กราม ขากรรไกร คอ แขน ไหล่ซ้าย
3. เจ็บหน้าอกร่วมเหงื่อออกมากจนหนาวบริเวณลำตัวส่วนบน
4. แน่นหน้าอกจนคลื่นไส้ อาเจียน หน้ามืด เป็นลม
5. ตัวเย็น ใจสั่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ
6. เหนื่อยง่าย
: 5 วิธีปฏิบัติ เมื่ออาการหัวใจกำเริบ :
เมื่อมีอาการดังกล่าว เจ็บเค้นหน้าอกนานกว่า 15 นาที หากอยู่คนเดียวให้โทรเรียกรถพยาบาล หรือบอกคนใกล้ตัวช่วยขับรถไปส่งโรงพยาบาลใกล้ที่สุด เพราะนั่นเป็นสัญญาณเตือน “ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด” ซึ่งหากรักษาช้าและไม่ถูกต้อง สมองขาดออกซิเจน กลายเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือเสียชีวิตอย่างรวดเร็วและหัวใจวายได้
...
วิธีช่วยเหลือที่ถูกต้องเพื่อลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจในผู้ที่มีหัวใจวาย หรือหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ดังนี้
1. เรียกชื่อ หรือเขย่าตัวผู้หมดสติว่ายังมีการตอบสนองหรือไม่
2. ถ้าไม่มีการตอบสนองใดๆ ให้สังเกตว่าผู้ป่วยมีอาการกระตุก ชักเกร็ง หายใจเฮือก หรือหยุดหายใจหรือไม่
3. โทรศัพท์แจ้งขอความช่วยเหลือหน่วยกู้ชีพ หรือรถพยาบาลฉุกเฉิน
4. ช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานด้วยการนวดหัวใจ หรือทำ CPR ช่วยให้หัวใจบีบเลือดออกไปเลี้ยงร่างกายเพื่อพยุงเวลาให้นานที่สุด
5. กระตุ้นการเต้นของหัวใจด้วยเครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าอัตโนมัติ (Automated External Defibrillator หรือ AED) หากบริเวณนั้นมีเครื่องติดตั้งไว้
: การรักษา และการตรวจวินิจฉัยโรคหัวใจ :
ในการรักษาเมื่อผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาล แพทย์มักพิจารณาให้ยาละลายลิ่มเลือด ต้องนอนโรงพยาบาล 2-3 วัน เฝ้าระวังและรักษาภาวะแทรกซ้อน บางกรณีแพทย์จะแนะนำตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมโดย เจาะเลือด, ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG), ตรวจสมรรถภาพหัวใจด้วยการวิ่งสายพาน (EST), ตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (Echo) หรือฉีดสีเข้าหลอดเลือดหัวใจเพื่อตรวจหาว่ามีการตีบหรืออุดตันมากเพียงใด
...
เมื่อรู้ผลการตรวจ แพทย์จะพิจารณาวิธีดูแลรักษา ซึ่งมีทั้งให้รับประทานยา หรือทำบอลลูนขยายส่วนของหลอดเลือดที่ตีบ หรือผ่าตัดหลอดเลือดหัวใจหลอดเลือดจากส่วนอื่นของร่างกาย มาทำเป็นทางเบี่ยงเพื่อให้เลือดไหลข้ามส่วนที่อุดตันไปได้
: 8 สุขบัญญัติ ป้องกันป่วยโรคหัวใจ :
โรคหัวใจ และการเกิดภาวะหัวใจวาย คนที่รู้อาการดีที่สุดคือตัวเราเอง เพราะฉะนั้นต้องหมั่นสังเกตอาการตัวเอง หากพบอาการผิดปกติ หรือมีความเสี่ยงเข้าข่ายเป็นโรคหัวใจ ควรรีบพบแพทย์ตรวจร่างกายเพื่อวินิจฉัยโรค และควรตรวจสุขภาพหัวใจอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ควบคู่กับการตรวจสุขภาพประจำปี นอกจากนี้เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นโรคหัวใจ มีวิธีปฏิบัติเพื่อลดปัจจัยเสี่ยง ดังนี้
1. ควบคุมน้ำหนักกรณีที่น้ำหนักเกิน
2. ออกกำลังกายอาทิตย์ละ 3-4 วัน เช่น ว่ายน้ำ วิ่ง เดินเร็ว ขี่จักรยานครั้งละ 30-40 นาที
3. พักผ่อนให้เพียงพอ
4. ลดความเครียด เช่น ปล่อยวาง ดูหนัง ฟังเพลง ทำสมาธิ หรือทำกิจกรรมอื่นๆ ที่ชอบ
5. รับประทานอาหารที่เหมาะสม
6. ดูแลและควบคุมโรคเดิมที่เป็นอยู่ให้ดี
7. งดสูบบุหรี่
8. เลี่ยงรับประทานอาหารไขมันอิ่มตัวและคอเลสเตอรอลสูง ควรรับประทานอาหารประเภทธัญพืช ผลไม้ ข้าวกล้อง ถั่ว งา
...
จะเห็นได้ว่าการดูแลตัวเองให้สุขภาพดีไม่ยุ่งยากเลย และทุกอย่างต้องอาศัยเวลา ต้องตั้งใจจริงและปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าโรคหัวใจหรือโรคอื่นๆ ก็ไม่มีโอกาสมาคุกคามเราได้ เพราะฉะนั้นเริ่มตั้งแต่วันนี้ก็ยังไม่สาย.
(ขอบคุณข้อมูล : รพ.บางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล, รพ.ศิริราช)
: ข่าวน่าสนใจ :