“ติดเชื้อในกระแสเลือด” (Septicemia) หลายคนคงเคยได้ยินคำนี้บ่อยๆ หลังคร่าชีวิตคนดังหลายคน อาทิ สะอาด เปี่ยมพงศ์สานต์ นักแสดงอาวุโส ผู้กำกับฯ นักพากย์ ศิลปินแห่งชาติ, อัญชลี ไชยศิริ, นาธาน โอมานนายโสภณ พัชรวีระพงษ์ คุณพ่อของนักแสดงสาว แตงโม นิดา ล่าสุดเสี่ยเต้ย อดีตสามีของเจ๊อ๋อที่เคยถูกสลากกินแบ่งรัฐบาลมูลค่ากว่า 90 ล้าน ก็เสียชีวิตกะทันหันในวัย 40 หลังมีอาการติดเชื้อในกระแสเลือด ⁣

การติดเชื้อในกระแสเลือดมีโอกาสหายหรือไม่ เกิดขึ้นได้อย่างไร คนที่ป่วยโรคอะไรมีความเสี่ยง มีวิธีการป้องกันการติดเชื้อในกระแสเลือดหรือไม่ วันนี้มีคำตอบจาก นพ.ชวลิต หล้าคำมี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโลหิตวิทยา มาฝากกันค่ะ

: การติดเชื้อในกระแสเลือดเกิดจากอะไร :

นพ.ชวลิต อธิบายว่า การติดเชื้อในกระแสเลือด คือ ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายเกิดการติดเชื้อแบคทีเรีย ผ่านทางผิวหนัง ทางเดินหายใจ ทางเดินปัสสาวะ ทางเดินอาหาร หรือทางบาดแผล แล้วลุกลามเข้าสู่กระแสเลือดที่ทำหน้าที่ไหลเวียนไปหล่อเลี้ยงอวัยวะทั่วร่างกาย ทำให้อวัยวะส่วนนั้นๆ อักเสบติดเชื้อ

...

หากภูมิคุ้มกันไม่ดี รักษาไม่ทันท่วงที อาจทำให้เกิดภาวะหายใจล้มเหลวเฉียบพลันจนช็อก และอวัยวะต่างๆ ทำงานล้มเหลวจนเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ภาวะเลือดแข็งตัวในหลอดเลือด ต่อมหมวกไตล้มเหลวจนเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

: 7 ปัจจัยเสี่ยง เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด :

ปัจจัยที่ทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด ดังนี้   

1.ปัญหาสุขภาพทั่วไปจากการเจ็บป่วย เพราะร่างกายอ่อนแอและภูมิต้านทานต่ำ ทำให้ไม่สามารถต่อสู้กับเชื้อโรคได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เช่น โรคเกี่ยวกับการติดเชื้อในปอด เช่น ปอดบวม ติดเชื้อที่ไต โรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ
2.ผู้มีโรคประจำตัว เช่น โรคตับแข็ง โรคเบาหวาน
3.ผู้ถูกไฟลวก หรือได้รับบาดเจ็บจนเกิดแผลขนาดใหญ่
4.ผู้ติดเชื้อเอชไอวี (HIV) หรือผู้ป่วยลูคีเมีย
5.ภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อในโรงพยาบาล จากการใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ ผ่าตัดหรือรักษาผู้ป่วยเพราะเชื้อแบคทีเรียอาจต้านฤทธิ์ยาปฏิชีวนะ เช่น ผู้ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ผู้ต้องสวนปัสสาวะ หรือถูกสอดท่อเข้าไปในหลอดเลือดดำ
6.เด็กทารก และผู้สูงอายุ
7.ผู้ที่ได้รับการรักษาด้วยเคมีบำบัด หรือฉีดสเตียรอยด์

: 8 อาการเบื้องต้น ติดเชื้อในกระแสเลือด :

การติดเชื้อในกระแสเลือดเป็นภาวะที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในผู้ป่วยโรคใดโรคหนึ่ง เมื่อร่างกายติดเชื้อ และเชื้อลุกลามเข้าสู่กระแสเลือด โดยมากผู้ใหญ่จะมีอาการเบื้องต้น ดังนี้

1.ชีพจรเต้นเร็วขึ้นเกิน 90 ครั้งต่อนาที
2.หายใจเร็วขึ้นเกิน 20 ครั้งต่อนาที
3.ไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส 
4.หนาวสั่น
5.มือและเท้าเย็นมาก
6.ไอและเจ็บหน้าอกเมื่อหายใจ เพราะติดเชื้อที่ปอดหรือเยื่อหุ้มปอด 
7.หากเกิดการติดเชื้อที่กรวยไต จะปวดหลังและปัสสาวะบ่อย
8.เกิดรอย หรือตุ่มหนอง เพราะพิษของเชื้อโรคกระจายสู่บริเวณผิวหนัง

: 6 อาการรุนแรง เสี่ยงต่อชีวิต :

ทั้งนี้หากไม่ได้รับการรักษาทันท่วงที จะเกิดอาการกำเริบรุนแรง ดังนี้

1.ปัสสาวะน้อยลง

2.คลื่นไส้และอาเจียน

...

3.รู้สึกตัวน้อยลง

4.รู้สึกสับสน และคิดอะไรไม่ออก

5.ผิวหนังอาจเกิดจุด หรือแดง หากปล่อยทิ้งไว้ ผื่นจะลุกลามใหญ่ขึ้นเหมือนรอยช้ำ และแผ่ขยายใหญ่เป็นบริเวณกว้าง

6.เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงอวัยวะไม่เพียงพอ นำไปสู่ภาวะช็อก

สำหรับเด็กที่ติดเชื้อในกระแสเลือดนั้น มักแสดงอาการไม่ชัดเจนเหมือนผู้ใหญ่ โดยมากจะเริ่มมีอาการตัวเย็นมาก, สีผิวซีดหรือออกเขียวและเกิดจุดเป็นหย่อมๆ, เมื่อกดผื่นบนผิวหนังแล้ว ผื่นไม่ยอมหายไปตามรอยกด, หายใจถี่กว่าปกติ, เหนื่อยง่าย, เซื่องซึม รวมถึงปลุกให้ตื่นยาก

: การรักษาอาการติดเชื้อในกระแสเลือด :

ในการรักษาตามทางการแพทย์ เนื่องด้วยการติดเชื้อในกระแสเลือดเป็นภาวะฉุกเฉิน แพทย์ไม่สามารถระบุประเภทของเชื้อได้อย่างเฉพาะเจาะจงในเวลาอันสั้น เพราะปกติต้องใช้เวลาประมาณ 3-5 วัน เพื่อทราบผลการวินิจฉัยจากการตรวจด้วยวิธีต่างๆ ซึ่งขึ้นอยู่กับอาการและความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละคน อาทิ ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ ตรวจสารคัดหลั่งจากบาดแผล ตรวจน้ำมูกหรือเสมหะ ตรวจด้วยภาพสแกน เช่น เอกซเรย์ อัลตราซาวนด์ ซีทีสแกน เอ็มอาร์ไอ

...

หลังแพทย์วินิจฉัยเบื้องต้นจากลักษณะและอาการของผู้ป่วยแล้ว จะฉีดยาปฏิชีวนะเข้าหลอดเลือดดำ ซึ่งมีฤทธิ์ต่อต้านเชื้อแบคทีเรียครอบคลุมหลายประเภทไว้ก่อน หลังรับยา 1-2 ชั่วโมง หากผู้ป่วยได้รับยารักษาตรงกับเชื้อ ก็มีโอกาสรอดชีวิตสูงมากขึ้น 

ตรงกันข้าม หากได้รับยาที่ไม่ตรงกับเชื้อ หรือได้รับยาช้าเกินไป ก็มีโอกาสเสี่ยงเสียชีวิตมากขึ้นเช่นกัน โดยแพทย์จะให้การรักษาแบบประคับประคองตามอาการ จากนั้นเมื่อได้ผลตรวจวินิจฉัยแล้ว ก็รักษาโดยใช้ยาปฏิชีวนะแบบเม็ด หรือวิธีอื่นๆ ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของอาการในผู้ป่วยแต่ละราย

: 9 วิธีการป้องกันไม่ให้ติดเชื้อในกระแสเลือด :

เมื่อรู้จักภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดแล้ว สำหรับวิธีป้องกันไม่ให้ติดเชื้อในกระแสเลือดควรปฏิบัติดังนี้

1.รักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ ด้วยการออกกำลังกายเป็นประจำ
2.งดสูบบุหรี่
3.เลี่ยงใช้สารเสพติด
4.พ่อ แม่ พาลูกไปรับวัคซีนให้ครบอย่างสม่ำเสมอ
5.ผู้ที่มีโรคประจำตัวที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อในกระแสเลือด เช่น เบาหวาน ควรควบคุมระดับน้ำตาลให้ดี 
6.ยึดหลักสุขอนามัย กินร้อนช้อนกลาง หมั่นล้างมือ
7.ระวังการอยู่ใกล้ผู้ป่วยโรคต่างๆ
8.หลีกเลี่ยงไปยังสถานที่แออัด การถ่ายเทอากาศไม่ดี หรือที่ที่มีเชื้อโรค
9.หากพบความผิดปกติใดๆ ของร่างกายที่ไม่เคยเป็นมาก่อนให้รีบพบแพทย์ เช่น ไข้สูง หนาวสั่น ซึม หายใจเร็วผิดปกติ.

...

: ข่าวน่าสนใจ :