อีก 1 คดี ที่เป็นผลงานชิ้น “โบแดง” ของตำรวจไทย ที่ใช้ฝีมือสืบสวนสอบสวนชั้นเซียน ถึงไล่ล่าคนร้ายได้ยกแก๊ง ทั้งที่เหตุเกิดกลางทะเล และแทบจะไม่มีหลักฐานใดปรากฏ

3 นาทีคดีดัง โดย ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จะพาทุกท่านย้อนรอยไปวันที่ 2 ตุลาคม 2556 กับเหตุปล้นอุกอาจ กวาดเงินมูลค่ากว่า 120 ล้านบาท

โดยวันนั้นได้รับแจ้งจาก "เรือสถาพรวัฒนา" ว่ามีคนร้ายไม่ทราบจำนวน บุกปล้นเรือกลางทะเลอ่าวไทย ใกล้กับเกาะโลซิน ในพื้นที่ ต.บานา อ.เมือง จ.ปัตตานี โดยเรือดังกล่าวได้บรรทุกธนบัตรสกุลดอลลาร์สิงคโปร์ มูลค่า 2,600,000 เหรียญฯ คิดเป็นเงินไทยราว 65 ล้านบาท ธนบัตรสกุลริงกิตของมาเลเซีย มูลค่า 5,600,000 ริงกิต คิดเป็นเงินไทย 54,880,000 บาท รวมกันทั้งสิ้น 119,880,000 บาท เมื่อตำรวจรับแจ้งก็ยังคงไม่แน่ใจ และสงสัยว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่ แต่เมื่อผู้รับมอบอำนาจจากบริษัทเจ้าของเงิน ซึ่งดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการรับแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศได้เข้าร้องทุกข์

เนื่องจากจะนำเงินดังกล่าวไปให้กับลูกค้าที่เกาะโลซิน ตำรวจจึงเชื่อว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องจริง และกลายเป็นคดีปล้นครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่ง เหตุโจรสลัดดักปล้น เคยเกิดขึ้นอยู่เนืองๆ แต่เหตุการณ์ครั้งนี้แตกต่างออกไป สิ่งที่ตำรวจรู้มีเพียงเสียงวิทยุสุดท้ายจากเรือลำดังกล่าว ส่งมาถึงศูนย์วิทยุว่า "มีโจรสลัด" โดยใช้เรือเร็วเข้ามาประกบ และระดมยิงปืนใส่ ไต้ก๋ง ลูกเรือ รวม 8 ชีวิต ต่างหนีตายกระโดดหนีลงทะเล คาดกันว่าอาจจะเสียชีวิตทั้งหมด

...

คดีแบบนี้ถือเป็นคดีที่ยากมากคดีหนึ่ง เพราะพยานไม่มี หลักฐานก็ไม่มี เหตุเกิดกลางทะเล แล้วจะล่าคนร้ายยังไง!

นี่คือความท้าทายที่ถูกส่งมอบให้กับ พ.ต.อ.ทินกร รังมาตย์ ผู้กำกับ 6 กองบังคับการปราบปราม (ขณะนั้น) หัวหน้าชุดที่ต้องลงพื้นที่จัดการให้ได้ ตำรวจเชื่อว่า "เงินที่หายไป" อาจจะวนเวียนอยู่ในพื้นที่ สิ่งที่ต้องทำคือต้องหามันให้เจอ บริษัทเจ้าของเงินระบุว่า เขาได้ทำสัญลักษณ์ไว้ที่เงินดังกล่าว จึงได้นำข้อมูลนี้มาให้กับตำรวจ

และตำรวจก็งัดแผนเด็ดออกมาใช้ทันที ด้วยการขอความร่วมมือสถานประกอบการที่แลกเงิน ด้วยการดันอัตราแลกเงิน 2 สกุลที่ถูกปล้นให้สูงขึ้น เพื่อล่อใจให้แก๊งโจรสลัดงัดเงินที่ถูกปล้นไปออกมาแลก แค่ไม่กี่วัน "กับดัก" แรกที่ตำรวจวางไว้ก็ทำงาน!

6 ตุลาคม 2556 ญาติแก๊งโจรก็ตกหลุมพรางกินเบ็ดที่ตำรวจวางไว้ นำธนบัตร 1,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ จำนวน 1 แสนดอลลาร์มาแลก ซึ่งปกติแล้ว แบงก์พันดอลลาร์สิงคโปร์ไม่ค่อยมีใช้ในไทยนัก เมื่อล่อโจรออกจากถ้ำได้แล้ว ทีนี้ตำรวจก็ยังไม่ผลีผลาม โดยค่อยๆ ติดตามเส้นทางการเงิน รวมถึงติดตามดูพฤติกรรมผู้เกี่ยวข้อง ทีละคน ทีละคน ที่ผู้ต้องสงสัยนำพาไปพบ

ตำรวจทำงานพร้อมกันหลายทีม ทีมหนึ่งติดตาม นายทวี นิตย์ปราณ จนแน่ใจว่านายทวี คือหนึ่งในคนร้ายแน่ เพราะตรวจสอบพบเส้นทางเงินไม่ปกติ วันที่ 8 และวันที่ 9 ตุลาคม 2556 มีเงินเข้าบัญชีเกือบ 4 ล้านบาท เมื่อตำรวจแน่ใจดังนั้น จึงขอหมายค้น และบุกค้นบ้านนายทวี ระหว่างที่กำลังพูดคุยกับนายทวี นายทวี ออกอาการพิรุธ แม้ปากจะปฏิเสธทุกเรื่องที่ตำรวจถาม

แต่..ด้วยสัญชาตญาณ ตำรวจรู้ว่ามีอะไรผิดสังเกต และในระหว่างพูดคุยนี่เอง สายตาของนายทวีได้เหลือบมองไปที่เตียงนอน ตำรวจที่กำลังสอบถามจึงรู้ทันทีว่ามีอะไรแน่ และก็เรียบร้อย เมื่อไปตรวจสอบก็พบเงิน 200,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ ด้วยหลักฐานที่มัดแน่นไม่หลุด สิ่งที่ทำได้คือ "เปิดปากรับสารภาพ" พร้อมไปจับกุมเพื่อนร่วมแก๊งได้อีก 3 คน รวม 4 คน และยังมีอีกจำนวนหนึ่งที่ตำรวจต้องติดตาม

นายทวี สารภาพว่า ได้ร่วมกับ นายพันธ์ หรือเม้ง สังข์ทอง อดีตไต๋เรือ ที่ถูกไล่ออกจากบริษัท จึงมีความแค้น และทราบความเคลื่อนไหวการขนเงินส่งลูกค้าจำนวนมาก จึงได้ชวนเพื่อน รวม 8 คน วางแผนปล้น โดยมีการทิ้ง "หนอนบ่อนไส้" คือ นายอาคม หรือคม พูนชนะ ซึ่งเป็นหนึ่งในลูกเรือที่ขนเงินในวันนั้น คอยส่งสัญญาณ

เมื่อถึงเวลาปล้น แก๊งโจรสลัดนั่งเรือเร็วประกบ พร้อมอาวุธครบมือ ได้บุกขึ้นเรือ จากนั้น นายคม หนึ่งในหนอนที่อยู่บนเรือ ได้บอกกับเพื่อนๆ ให้กระโดดน้ำหนี เมื่อทุกคนกระโดดน้ำหนี แก๊งโจรกลับไม่ปรานี ด้วยการใช้อาวุธไล่ยิงคนที่ลอยคอในน้ำตายจนหมด จากนั้นก็รับนายอาคมขึ้นเรือ

เมื่อได้เงินจำนวนมากก็ขนเงินขึ้นเรือสปีดโบ๊ต จากนั้นก็จมเรือขนเงินทิ้งกลางทะเล ต่อมาได้นำเรือสปีดโบ๊ตขึ้นบกที่ อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช แล้วจุดไฟเผาเรือสปีดโบ๊ตทำลายหลักฐาน มาตรการไล่ล่าแก๊งโจรสลัด ใช้เวลาเพียง 23 วัน ก็สามารถจับกุมคนที่เหลือได้ยกแก๊ง และได้ตามทรัพย์สินคืนให้กับเจ้าของทรัพย์ราว 100 ล้านบาท

...

งานนี้ถือเป็นผลงานชิ้นโบแดงของ กองกำกับการ 6 กองปราบปราม ถึงแม้จะหาหลักฐานเรือที่ถูกปล้นไม่พบและศพที่หายไปกับทะเล แต่ด้วยหลักฐานต่างๆ ที่ติดตามภายหลังทำให้ศาลเชื่อในสำนวนสอบสวน โดยตำรวจได้กันตัว นายอาคม ซึ่งทำหน้าที่หนอนบ่อนไส้ในเรือไว้เป็นพยาน เนื่องจากก่อนจะลงมือ นายอาคมก็โดนข่มขู่ให้ยอมทำตาม

ต่อมา ศาลชั้นต้นได้พิพากษา ประหารชีวิตจำเลยทั้ง 7 คน ยกเว้นนายอาคม ฐานความผิด ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการกระทำอันเป็นโจรสลัด และความผิดฐานปล้นทรัพย์ เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย แต่คำให้การของจำเลยที่ให้การในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์อยู่บ้าง จึงลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิต ต่อมา ศาลอุทธรณ์ได้อ่านคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น และมีบางส่วนต่อสู้คดีในชั้นฎีกา แต่ก็ได้ถอนคำร้องในเวลาต่อมา

เรียกว่า คดีนี้ถือเป็นผลงานชิ้นเอกของตำรวจไทยอีกคดีหนึ่ง

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

ชม 3 นาทีคดีดังที่น่าสนใจ

...