มนุษย์ทุกคน มีอารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ ได้เสมอ

แต่เป็นการเปลี่ยนแปลง แปรปรวนอย่างไร ที่ถือเป็นโรคไบโพลาร์?

เรามาทำความรู้จักและเข้าใจโรคไบโพลาร์ (Bipolar Disorder) จาก นายแพทย์อภิชาติ จริยาวิลาศ จิตแพทย์และโฆษกกรมสุขภาพจิต ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคดังกล่าวอย่างเข้าใจง่าย รวมถึงแนะการปฏิบัติตัวของคนรอบข้าง เพราะหากขาดความเข้าใจ และทิ้งให้ผู้ป่วยเผชิญโรคเพียงลำพัง นั่นคือสิ่งที่อันตราย เพราะอาการอาจรุนแรงถึงขั้นฆ่าตัวตายได้

: รู้จัก เข้าใจ สาเหตุโรคไบโพลาร์ :

นายแพทย์อภิชาติ อธิบายว่า โรคไบโพลาร์ หรือโรคอารมณ์แปรปรวนสองขั้ว พบในวัยผู้ใหญ่ แต่พบบ่อยสุดอายุ 15-19 ปี รองลงมาอายุ 20-24 ปี และกว่า 50% ผู้ป่วยจะมีอาการครั้งแรกก่อนอายุ 20 ปี สาเหตุของโรคไบโพลาร์ ได้แก่

1.ความผิดปกติของสารสื่อประสาทในสมอง ได้แก่ สารนอร์อะดรีนาลีน (Noradrenaline) สารเซโรโทนิน (Serotonin) และสารโดปามีน (Dopamine) ทำให้เกิดความผิดปกติของการทำงานในส่วนต่างๆ ของสมองที่เกี่ยวกับการควบคุมอารมณ์
2.พันธุกรรมจากบรรพบุรุษ แม่สู่ลูกช่วงเป็นทารกในครรภ์ หรือในครอบครัวเคยมีคนป่วยโรคทางจิตเวชอื่นๆ
3.ปัจจัยภายนอกอื่นๆ หรือและวิกฤติชีวิต ส่งผลกระทบต่ออารมณ์อย่างรุนแรงอื่นๆ เช่น เครียดเรื้อรัง สูญเสียคนรัก ตกงาน หรือเจ็บป่วยกะทันหัน การใช้สารเสพติด

...

: อาการโรคไบโพลาร์ หากไม่ชัดเจนต้องวินิจฉัยโรค :

สำหรับอาการไบโพลาร์ ผู้ป่วยโรคนี้จะมีอารมณ์เปลี่ยนแปลงไปมาระหว่างอารมณ์ซึมเศร้า (major depressive episode) สลับกับอารมณ์ดีมากกว่าปกติ (mania หรือ hypomania) โดยไม่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ใดๆ จากข้อมูลทางการแพทย์แบ่งอาการผู้ป่วยโรคไบโพลาร์เป็น 2 กลุ่ม ดังนี้

1. คลุ้มคลั่ง (Manic Episode) ก้าวร้าว ฉุนเฉียว ทำอะไรสุดโต่ง มีความมั่นใจในตัวเองสูง  เช่น พูดเสียงดัง ขยันเกินปกติ ครื้นเครงสนุกสนานสุดขีดเกินเหตุ 
2. ซึมเศร้า (Depressive Episode) รู้สึกไม่มั่นใจในตัวเอง เบื่อ เซ็ง ท้อแท้ ขลาดกลัว เก็บตัว รู้สึกสิ้นหวัง อยากตาย

อาการเหล่านี้ไม่มีอาการใดอาการหนึ่งแน่นอนตายตัว จะสลับสับเปลี่ยนไปมา อาจเดี๋ยวคลุ้มคลั่ง เดี๋ยวซึมเศร้า หรืออาจเกิดอารมณ์ขั้วใดขั้วหนึ่งติดต่อกันหลายๆ รอบ และมีอาการนานนับสัปดาห์ หรือหลายเดือน โดย 70-90% มีโอกาสเป็นซ้ำสูง

ดังนั้นการสังเกตความเปลี่ยนแปลงของผู้ป่วย หรือคนใกล้ชิด จึงเป็นสิ่งสำคัญ หากมีพฤติกรรมเปลี่ยนไปสุดโต่งเหมือนเป็นคนละคน เช่น เป็นคนเรียบร้อย พูดน้อย ไม่ค่อยพูด กลับพูดมาก และพูดเสียงดังไม่หยุด หรือจากคนที่มีความมั่นใจสูง กลายเป็นเก็บตัวเงียบ ซึมเศร้า ควรรีบพาไปพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัย ดังนี้

1.ซักประวัติสุขภาพและประวัติครอบครัว มีใครเคยเป็นโรคไบโพลาร์ หรือมีปัญหาสุขภาพจิตหรือไม่
2.ตรวจสุขภาพจิตด้วยแบบสอบถามจากคู่มือการวินิจฉัยความผิดปกติทางจิต โดยจิตแพทย์จะทดสอบ พูดคุยซักถามอาการปัญหา และประวัติการใช้สิ่งเสพติด หรือยาที่อาจส่งผลต่ออารมณ์
3.ตรวจร่างกาย ตรวจเลือด หรือปัสสาวะ เพื่อวินิจฉัยอาการเจ็บป่วยทางร่างกาย ที่อาจเป็นโรคที่ส่งผลต่ออารมณ์

: 7 สัญญาณเตือนโรคไบโพลาร์ :

สำหรับบางคนที่กังวลและสงสัยว่าตัวเองป่วยเป็นไบโพลาร์หรือเปล่า นายแพทย์อภิชาติ แนะวิธีเช็กอาการเบื้องต้น หากคุณมีอาการเหล่านี้ควรปรึกษาแพทย์

1.มีปัญหาการทำงาน ควบคุมการทำงานไม่ได้ ขยันมาก หรือซึมเศร้าจนไม่สามารถทำงานให้ลุล่วงตามกำหนดเวลา

2.เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ

3.พูดเร็วจนจับใจความไม่ได้ หรือพูดมากจนไม่สนใจฟังคนอื่น

4.ขี้โมโห หงุดหงิดง่าย อารมณ์เสียบ่อยๆ 

5.อารมณ์ดีเกินเหตุอันควร บางครั้งสลับกับภาวะซึมเศร้า

6.นอนน้อยกลับไม่รู้สึกอ่อนเพลีย หรือนอนมากเกินแต่ยังรู้สึกพักผ่อนไม่เพียงพอ

7.ควบคุมตัวเองไม่ได้ ฟุ้งซ่าน อยู่ไม่สุข กระวนกระวาย

...

: 2 วิธีการรักษา 5 ภาวะแทรกซ้อนโรคไบโพลาร์ :

ผู้ป่วยโรคไบโพลาร์นอกจากได้รับผลกระทบในการใช้ชีวิตประจำวันของตัวเองจนทำงานไม่มีประสิทธิภาพ การเรียนแย่ลง หรือติดเหล้า ติดยาเสพติด รวมถึงเสี่ยงป่วยเป็นโรคอื่นๆ เช่น โรคทางจิต โรคไมเกรน โรคเบาหวาน โรคสมาธิสั้น และโรคหัวใจแล้ว ยังมีปัญหาความสัมพันธ์กับคนรอบข้างด้วย

ดังนั้นความเข้าใจของคนรอบข้างเป็นสิ่งสำคัญ เพราะอาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงถึงขั้นทำร้ายตัวเองหรือฆ่าตัวตาย เนื่องจากโรคไบโพลาร์ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แพทย์จะรักษาด้วยการให้รับประทานยาร่วมกับการบำบัด เพื่อปรับสมดุล ควบคุมความผิดปกติของสารสื่อประสาทในสมอง

อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น ยังจำเป็นต้องใช้ยาตามแพทย์สั่งอย่างต่อเนื่อง จนกว่าแพทย์จะสั่งให้หยุดยา และต้องพบแพทย์ตามนัดเพื่อติดตามผลการรักษาอย่างสม่ำเสมอ เพราะหากขาดการรักษาอย่างต่อเนื่อง ผู้ป่วยมีโอกาสกลับไปเป็นโรคซ้ำ หรืออาจมีอาการรุนแรงกว่าเดิมได้

...

: การป้องกันและการดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคไบโพลาร์ : 

อย่างไรก็ดี นายแพทย์อภิชาติ กล่าวแนะนำทิ้งท้าย แม้โรคไบโพลาร์ ไม่มีวิธีป้องกันอย่างเห็นผลชัดเจน แต่สามารถป้องกันไม่ให้เกิดปัจจัยเสี่ยง และช่วยลดอาการรุนแรงของโรค รวมถึงภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ดังนี้

1.ดูแลร่างกายให้มีสุขภาพแข็งแรง โดยรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

2.หลีกเลี่ยงความเครียด

3.หากป่วย ควรรีบพบแพทย์ เพื่อเข้ารับการรักษา

4.อย่าหยุดยาเองเด็ดขาด กินยาและพบแพทย์ตามนัดอย่างเคร่งครัด

"โรคไบโพลาร์" แม้ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ตัวเราเองต้องกินยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัดแล้ว คนใกล้ชิดและครอบครัวก็สามารถช่วยควบคุมโรคไม่ให้รุนแรงได้ โดยเข้าใจ เห็นใจ ก็จะช่วยให้ผู้ป่วยได้มีโอกาสกลับมาดำเนินชีวิตอย่างปกติสุขได้อีกครั้ง.

: ข่าวน่าสนใจ :

...