เผยตัวเลขกระทรวงยุติธรรมจ่ายเงินเยียวยาคดีแพะ เพียงแค่ 3 เปอร์เซ็นต์ เผยมาจากต้นตอจากกฎหมายระบุไว้ เป็นเหตุให้คำพิพากษาว่าส่วนใหญ่ระบุ “ยกประโยชน์แห่งความสงสัย”
พ.ต.อ.วิรุตม์ เผยเตรียมเสนอร่าง กฎหมายต่อสภาฯ "ยกเครื่องใหม่" เพื่อให้เกิดความยุติธรรมต่อผู้ตกเป็น "เหยื่อ" หรือ "แพะ" อย่างแท้จริง!
คดีแพะเยอะ เพราะระบบยุติธรรมแจ้งข้อหาคนได้ง่าย ตำรวจขอหมายเรียก หมายจับได้ง่าย มันส่งผลให้คนถูกส่งตัวเข้าสู่ระบบยุติธรรมง่ายไปด้วย
ปัจจุบันมีตัวเลขที่อยู่ในการควบคุมของ “กรมราชทัณฑ์” กว่า 3 แสนราย ส่วนมากจะเป็นนักโทษเด็ดขาดที่ศาลพิพากษาไปแล้ว แต่..ก็มีบางส่วนที่ถูก “ฝากขัง” เพราะคดียังไม่สิ้นสุด
แต่เมื่อกระบวนการยุติธรรมดำเนินไปถึงจุดสิ้นสุดของคดี บางคดีศาลพิพากษา “ยกฟ้อง” ส่งผลให้จำเลยหลายคนที่ถูกขังในนรกบนดินที่เรียกว่า “คุก” ได้ทรมาน “แพะรับบาป” ทั้งร่างกายและจิตใจอย่างแสนสาหัส เสียประวัติ เสียโอกาส เสียเงินมากมายในการต่อสู้คดี
ถึงแม้ที่ผ่านมาจะมี พระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จําเลยในคดีอาญา พ.ศ.2544 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) ที่จะช่วยเหลือ “เยียวยา” ให้กับ “แพะ” เหล่านี้ แต่ในความเป็นจริงกลับเป็นเรื่องที่โหดร้ายกว่านั้น เมื่อมีการเปิดเผยตัวเลขผู้ที่ได้รับเงินเยียวยาตรงนี้เพียง 3%
เรื่องนี้กลายเป็นที่พูดถึง เพราะเมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา อนุกรรมาธิการการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ได้มีการประชุมพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่ผู้ต้องหาและจำเลยคดีอาญาขึ้นใหม่ทั้งฉบับ สาเหตุเพราะทราบข้อมูลที่มาของตัวเลข 3% เพราะเชื่อว่ากฎหมายเดิมนั้น “มีปัญหา” นอกจากนี้ยังมีประเด็นใหม่คือ “การไม่ครอบคลุม” ถึงบุคคลที่ตกเป็น “ผู้ต้องหา” ซึ่งถูกควบคุมตัวแล้วอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง
...
พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร อดีตตำรวจที่เคยถูกลอบสังหารด้วยการวางระเบิดแล้วไม่ตาย จนได้ฉายาตำรวจกระดูกเหล็กมา ซึ่งปัจจุบันได้เข้ามาทำงานในฐานะอนุกรรมาธิการการยุติธรรม ในคณะกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน แห่งสภาผู้แทนราษฎร ระบุว่า ที่ผ่านมาไม่มีใครรู้ว่า “กฎหมายเยียวยาแพะ” นั้นมีปัญหามาตลอด
พ.ต.อ.วิรุตม์ บอกว่า ก่อนหน้านี้กระทรวงยุติธรรมได้ออกมาเปิดเผยเสมอว่า ได้มีการจ่ายเยียวยาให้กับแพะ หรือคดีที่ศาลยกฟ้องอยู่เป็นประจำ ซึ่งเมื่อก่อนจะมีการจ่ายชดเชยให้วันละ 200 บาท ต่อมาเมื่อเร็วๆ นี้ได้มีการเปลี่ยนแปลงเป็นวันละ 500 บาท
“แต่...ล่าสุด มีข้อเท็จจริงปรากฏว่า ตัวแทนจากกระทรวงยุติธรรมได้เปิดเผยยอดการจ่ายเงินดังกล่าวให้กับแพะเพียง 3% ของคดีที่ยกฟ้องทั้งหมด ในความเป็นจริงแล้วไม่ว่าจะจ่ายเท่าไร มันก็ไม่คุ้มกับที่ต้องเสียสิทธิเสรีภาพ แต่นี่ปรากฏว่าไม่จ่ายถึง 97% เลย” พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าวเสียงเข้ม ก่อนเผยอีกว่า
การจ่ายเยียวยาแค่ 3% เป็นอะไรที่น้อยมาก ที่สำคัญคือ เป็นเรื่องที่ไม่ค่อยมีใครเคยรู้มาก่อน และจากการสืบค้นข้อมูลก็พบว่า รายสุดท้ายที่ไม่ได้เงินเยียวยาตรงนี้ก็คือ คุณแม็กซ์มวยไทย (อัจฉริยะ กันต์ยศทรงสิริ) ที่โดนคดียาเสพติด และถูกคุมขังอยู่นาน 14 เดือน และสุดท้ายศาลยกฟ้อง ซึ่งทีแรกคุณแม็กซ์ควรจะได้เงินเยียวยากว่า 2 แสนบาท แต่ก็ไม่ได้ จึงได้มีการอุทธรณ์และเป็นข่าว เราจึงได้นำเรื่องนี้มาศึกษาในฐานะอนุกรรมาธิการการยุติธรรม
พ.ต.อ.วิรุตม์ เผยว่า จากการศึกษารายละเอียดพบว่า กรณีของแม็กซ์มวยไทย ไม่ใช่คดีแรกๆ แต่กลับมีคดี “แพะ” เกิดขึ้นมากมายก่อนหน้านี้ที่ไม่ได้รับเงินเยียวยา เมื่อเป็นเช่นนี้ นายอาดิลัน อาลีอิสเฮาะห์ ประธานการประชุมพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่ผู้ต้องหาและจำเลยคดีอาญาขึ้นใหม่ทั้งฉบับ และมีการพูดคุยกับตัวแทนของกระทรวงยุติธรรมเพื่อสอบถามถึงปัญหา
...
ข้อจำกัดเยียวยาแพะ ศาลต้องพิพากษาว่า “ไม่ได้กระทำผิด” แต่ความจริงคือ “ยกประโยชน์แห่งความสงสัย”
ประเด็นที่สำคัญที่มีการพูดคุยคือ ตัวกฎหมาย “มีข้อจำกัด” ในการจ่ายเงินเยียวยาค่อนข้างมาก คือ
1.กฎหมายไม่ครอบคลุมในส่วนของ “ผู้ต้องหา” แต่ครอบคลุมในส่วนของ “จำเลย” เท่านั้น หมายถึงคนที่ถูกฟ้องแล้วเท่านั้นแล้วศาลยกฟ้อง
2.เงื่อนไขในการจ่ายเงิน คือ จะจ่ายให้เฉพาะบุคคลที่ศาลพิพากษาว่า “ไม่ได้กระทำความผิด” ซึ่งในข้อเท็จจริงคือ ไม่มีศาลใดพิพากษาแบบนี้เลย คำพิพากษาแทบทั้งหมดจะพิพากษาว่า “ศาลยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิด พยานหลักฐานคดียังมีข้อสงสัย จึงยกเหตุแห่งความสงสัยให้จำเลยไป”
“ส่วนมากเกือบ 100% ศาลจะพิพากษาลักษณะนี้ ซึ่งไปตามกฎหมาย ป.วิอาญา มาตรา 227 ห้ามมิให้ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยจนกว่าจะแน่ใจว่ามีการกระทำผิด และจำเลยกระทำความผิดนั้น หากมีประโยชน์มีความสงสัยให้ยกประโยชน์ให้ความสงสัยนั้นให้จำเลย ซึ่งคนก็ตีความว่าหลักเกณฑ์นี้ไม่เข้าหลักเกณฑ์ คือ ศาลไม่ได้พิพากษาว่า ไม่ได้กระทำความผิด ก็เป็นที่มาว่าทำไมคดีที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ไม่ได้รับการเยียวยา มีเพียง 3% เท่านั้นที่จะมีการจ่ายให้ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นคดีดัง ที่เป็นข่าว”
...
แล้วหลักเกณฑ์การเยียวยาว่าจะจ่ายหรือไม่จ่าย อยู่ตรงไหน..
พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าวว่า “ก็เพราะการออกกฎหมายแบบนี้ คล้ายกับว่าไม่อยากจะจ่ายให้ แต่มีไว้เพื่อโชว์ว่ากฎหมายมีอยู่..แต่ในข้อเท็จจริง คือมีการจ่ายจริงน้อยมาก แบบนี้เป็นธรรมกับคนที่ตกเป็นเหยื่อติดคุกฟรีหรือไม่ อีกทั้งเขายังต้องเสียเวลาทำหนังสือยื่นคำร้อง แต่ถึงเวลาก็ไม่ค่อยจ่ายให้กับเขา แต่ที่ผ่านมากลับไปประชาสัมพันธ์มากมาย ซึ่งหากเป็นคดียาเสพติดบอกได้เลยว่า “หมดหวัง” เพราะคำตัดสินของคดียาเสพติดมักจะระบุว่าเป็นลักษณะสงสัย หรือไม่สงสัยว่ากระทำผิดเท่านั้น
“สิ่งที่เกิดขึ้นมันคือความเดือดร้อนและความไม่เป็นธรรม เมื่อเรามาศึกษารายละเอียดต่างๆ แล้วเราก็อยากที่จะแก้ไขให้ครอบคลุมในส่วนของ “ผู้ต้องหา” เพราะกฎหมายเดิมจะจ่ายเฉพาะผู้ที่ตกเป็น “จำเลย” และได้รับการยกฟ้อง แต่ไม่ครอบคลุมในส่วนที่ถูกฝากขัง เพราะฉะนั้นสิ่งที่อยากจะทำ คือ อยากให้ผู้ต้องขังเหล่านี้ได้รับเงินเยียวยาด้วย”
ฉะนั้น หากจะแก้ โดยจะใส่คำว่า “ผู้ต้องหา” ลงไปด้วย ก็จะส่งผลให้ “ชื่อกฎหมาย” ดังนั้นจึงจำเป็นต้อง “ยกเครื่อง” ใหม่ทั้งหมด จะแก้แค่บางมาตราเพื่อช่วยในส่วน “จำเลย” ที่ได้รับคำพิพากษา “ยกประโยชน์แห่งความสงสัย” นั้นไม่เพียงพอแล้ว..เพราะคำที่จะใช้มันเกี่ยวข้องและสอดคล้องกันหมด
พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าวว่า ขณะนี้ข้อเสนอดังกล่าวได้ผ่านกรรมมาธิการฯชุดใหญ่แล้ว และรอการนำเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร โดยจะมีการลงชื่อร่วมกันของ ส.ส. จำนวน 100 คน โดยเสนอว่า ผู้ต้องหาที่อัยการสังไม่ฟ้อง หรือ จำเลยที่ศาลยกฟ้อง ให้กระทรวงยุติธรรมเยียวยาทุกกรณี ถ้าจะไม่จ่ายต้องให้คณะกรรมการพิจารณาว่ามีเหตุอันควรสงสัยว่าทำผิดหรือไม่ ตามระเบียบและหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด พูดง่ายๆ ว่าไม่จ่ายก็ได้ ตามที่คณะกรรมการเห็นสมควร
...
“เดิมหากคิดตามเปอร์เซ็นต์ 100 ราย คุณจ่ายแค่ 3 ราย แต่ถ้าใช้กฎหมายที่ “ยกเครื่อง” ใหม่นี้ คุณอาจจะต้องจ่าย 97 ราย ไม่จ่าย 3 ราย ทุกอย่างมันจะสลับกัน ถ้าจะไม่จ่ายก็ต้องมีเหตุผลตอบได้ว่า “เราไม่มั่นใจว่าคุณไม่กระทำผิดเพราะ..” โดยมีหลักเกณฑ์การพิจารณาจากคณะกรรมการที่มีตัวแทน เช่น อัยการ ยุติธรรมจังหวัด ฝ่ายปกครอง ซึ่งมีอยู่ในข้อกำหนดในพระราชบัญญัติเดิมอยู่แล้ว
กลัวกระแสตีกลับหรือไม่ ที่รัฐต้องเสียเงินให้กับคนที่ศาลยกประโยชน์แห่งความสงสัย
อนุกรรมาธิการการยุติธรรมฯ กล่าวอย่างหนักแน่นว่า ถ้าเรายึดหลัก presumption of innocence ตามรัฐธรรมนูญที่สันนิษฐานว่าบุคคลทุกคนเป็นผู้บริสุทธิ์ การที่ศาลยกฟ้อง หรืออัยการสั่งไม่ฟ้อง ก็ต้องยอมรับว่า “เขาคือผู้บริสุทธิ์” จะมาคิดว่าเขาทำผิดอีกก็คงไม่ได้ เพราะระบบยุติธรรมบ้านเราสามารถแจ้งข้อหาคนได้ง่าย ตำรวจขอหมายเรียก หมายจับได้ง่าย มันส่งผลให้คนถูกส่งตัวเข้าสู่ระบบยุติธรรมง่ายไปด้วย แล้วก็มีคดีจำนวนมากที่ศาลยกฟ้อง แล้วมาบอกว่า “อ้าว มีการวิ่งเต้นล้มหนิ” ซึ่งความเป็นจริงคือ คุณเองก็ต้องทำสำนวนคดี มีหลักฐานแน่นหนาก่อนสิ ก่อนจะแจ้งข้อหาหรือส่งฟ้อง ศาลจะได้ลงโทษได้ 100%
“ปัญหาสำคัญเนื่องจากการสอบสวน "แจ้งข้อหา" และ "ออกหมายจับ" ง่าย ไร้การตรวจสอบตามหลักสากล!"
อดีตตำรวจกระดูกเหล็ก กล่าวว่า หากเราไม่ถูกจับ ไม่ถูกดำเนินคดี มันไม่รู้หรอกว่ามันเป็นยังไง คนที่โดนก็จะรู้ว่ามันเจ็บปวดขนาดไหน ถ้าเราไม่ได้กระทำผิด แล้วถูกจับไปขัง แล้วไม่ได้อะไรเลย แม้แต่เงินเยียวยา คำถามคือ “เป็นธรรม” ไหม? ถ้าไม่อยากให้เอาเงินภาษีไปจ่ายเงินเหล่านี้ ก็ต้องดำเนินคดีให้ถูกต้อง ทำระบบสอบสวน รวบรวมพยานให้ดี พัฒนาตรงนี้ให้ได้ รัฐต้องบีบคนที่อยู่ในระบบยุติธรรมให้ได้ว่าอย่าทำผิด อย่าจับแพะ
“เขาถูกจับ ถูกขัง แล้วศาลยกฟ้อง แบบนี้มีตรรกะอะไรที่รัฐจะไม่จ่ายให้เขา ที่ผ่านมา ตำรวจส่งสำนวนให้อัยการ และอัยการสั่งฟ้องถึง 90% ในขณะที่คดีที่จำเลยสู้คดี และต่อมาศาลยกฟ้องมีมากถึง 40% เป็นตัวเลขที่สูงมาก เมื่อเทียบกับประเทศที่เจริญแล้วมีเพียงแค่ 1%” พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าวทิ้งท้าย
ผู้เขียน : อาสาม
กราฟิก : Jutaphun Sooksamphun
อ่านข่าวที่น่าสนใจ