ทุกปีในวันที่ 14 พฤศจิกายน คือ “วันเบาหวานโลก” (World Diabetes Day) ปีนี้ถือเป็นปีที่ 29 แห่งการจัดตั้ง "วันเบาหวานโลก" ขึ้นมานับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534

จุดประสงค์ในการกำหนดให้วันที่ 14 พฤศจิกายนของทุกปีเป็น “วันเบาหวานโลก” จากความร่วมมือของสหพันธ์โรคเบาหวานนานาชาติ (IDF) องค์การอนามัยโลก (WHO) และสหประชาชาติ (UN) นั้น เนื่องจากเป็นวันเกิด Frederick Banting ผู้ค้นพบอินซูลิน ยาฉีดลดน้ำตาลในเลือดที่ใช้รักษาผู้ป่วยโรคเบาหวานเมื่อ พ.ศ. 2465 และใช้รักษามาจนถึงปัจจุบัน รวมทั้งเป็นการรณรงค์ให้คนทั้งโลก ตื่นรู้ ร่วมมือและร่วมใจ ช่วยกันต้านภัยจากโรคเบาหวานที่นับวันมีผู้ป่วยโรคเบาหวานทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ

: คนไทยอายุ 15 ป่วยโรคเบาหวาน 5 ล้านคน เสียชีวิต 200 รายต่อวัน :

สำหรับสถานการณ์โรคเบาหวาน (Diabetes mellitus) ในประเทศไทย ถือว่าน่าเป็นห่วง จากข้อมูลจากกรมควบคุมโรค เปิดเผยล่าสุดเมื่อ 12 พ.ย. 63 คนไทยเสียชีวิตจากโรคเบาหวานมากถึง 200 รายต่อวัน และยังพบอีกว่า 1 ใน 11 คนไทยที่อายุ 15 ปีขึ้นไป ป่วยเป็นโรคเบาหวานประมาณ 5 ล้านคน

...

ในทางการแพทย์ สาเหตุของการเกิดโรคเบาหวานเกิดขึ้นได้อย่างไร ปัจจัยเสี่ยงเกิดโรค การป้องกัน รวมถึงหากป่วยเป็นโรคเบาหวานจะอยู่ร่วมกับมันอย่างไร ไม่ให้เป็นโรคแทรกซ้อน

เราไปทำความรู้จักโรคเบาหวานให้ถ่องแท้เพื่อปกป้องตัวเองห่างจากโรคเบาหวานกันค่ะ เพราะหากป่วยเป็น "เบาหวาน" แล้วต้องลำบากไปทั้งชีวิต เพราะต้องควบคุมอาหาร กินยาเป็นประจำ หรือต้องพบเเพทย์ เพื่อรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ เพราะหากน้ำตาลมากหรือน้อย เสี่ยงอันตรายถึงชีวิตได้

: รู้จักสาเหตุโรคเบาหวาน 4 ประเภท ความสำคัญของอินซูลินต่อร่างกาย :

โรคเบาหวานเกิดจากในกระแสเลือดมีระดับน้ำตาลสูงกว่าปกติ อันเนื่องมาจากการขาดฮอร์โมนอินซูลิน ซึ่งอินซูลินเป็นฮอร์โมนสำคัญในร่างกาย มีหน้าที่พาน้ำตากลูโคสในกระแสเลือดจากอาหารที่เรากินไปเข้าสู่เนื้อเยื่อส่วนต่างๆ ของร่างกาย อาทิ สมอง, ตับ, ไต, หัวใจ เพื่อให้เซลล์นั้นนำกลูโคสไปใช้เป็นพลังงานในการทำงาน ซึ่งโรคเบาหวานแบ่งเป็น 4 ประเภท ดังนี้

1. โรคเบาหวานชนิดที่ 1 เกิดจากเซลส์ตับอ่อนถูกทำลายโดยภูมิคุ้มกันของร่างกายตัวเองจนตับอ่อน ไม่สามารถสร้างอินซูลินได้ ทำให้ขาดอินซูลิน มักพบในเด็ก หรือผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 30 ปี อาการมักผ่ายผอม ต้องรักษาด้วยการฉีดอินซูลิน หากขาดอินซูลินจะเกิดภาวะหมดสติจากน้ำตาลสูงและกรดคีโตนคั่งในเลือด

2. โรคเบาหวานชนิดที่ 2 เกิดจากตับอ่อนยังพอผลิตอินซูลินได้บ้าง แต่มีภาวะดื้อต่ออินซูลิน มักพบในคนอายุ 30 ปีขึ้นไป ที่รูปร่างอ้วนหรือท้วม และปัจจุบันพบในเด็กมากขึ้น โดยเฉพาะเด็กอ้วนที่รับประทานอาหารไขมันสูง ขาดการออกกำลังกาย เพราะนั่งหน้าจอโทรทัศน์หรือจอคอมพิวเตอร์แทนการวิ่งเล่น หรือการเล่นกีฬา การรักษาในระยะแรกต้องควบคุมอาหาร หรือยาเม็ดลดระดับน้ำตาล แต่เมื่อเป็นเวลานานๆ ในบางรายมีเบต้าเซลล์เสื่อม ทำให้ควบคุมระดับน้ำตาลได้ไม่ดีจำต้องฉีดอินซูลิน

3. โรคเบาหวานที่เกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์ เนื่องจากฮอร์โมนจากรกมีฤทธิ์ต้านอินซูลินเป็นผลให้ร่างกายตอบสนองต่ออินซูลินลดลง หลังคลอดจึงต้องติดตามเพื่อตรวจหาเบาหวานเป็นระยะ

...

4. โรคเบาหวานที่มีสาเหตุจำเฉพาะ เกิดจากความผิดปกติบนสายพันธุกรรมที่ควบคุมการทำงานของอินซูลินจากหลายสาเหตุ ได้แก่ โรคตับอ่อน ความผิดปกติของต่อมไร้ท่อ การได้รับยาบางชนิด เช่น ยากลุ่มสเตียรอยด์ หรือสารเคมี เป็นต้น

: 5 กลุ่มเสี่ยง โรคเบาหวาน :

นอกจากนี้สาเหตุของการเกิดโรคเบาหวาน ยังเกิดจากพันธุกรรม รวมถึงการดำเนินชีวิตของคนเรา ที่คุณอาจมองข้ามความสำคัญ มาดูกันว่าคุณมีปัจจัยเสี่ยงอะไรบ้าง

1. ผู้ที่เป็นโรคอ้วน น้ำหนักเกิน

2. คนไม่ออกกำลังกาย หรือออกกำลังกายไม่สม่ำเสมอ เพราะหากออกกำลังกายเป็นประจำ ช่วยควบคุมน้ำหนักได้ และช่วยให้เซลล์ต่างๆ ไวต่อการนำน้ำตาลไปใช้ รวมถึงช่วยให้การเผาผลาญน้ำตาลในเลือดได้ดีอีกด้วย

3. อายุมากขึ้น เนื่องจากระบบการทำงานของเซลล์ตับอ่อนเสื่อมถอย

4. ผู้มีไขมันในเลือดสูง

5. ผู้มีความดันโลหิตสูง

...

: 6 วิธีการป้องกัน ไกลห่างโรคเบาหวาน :

หลังรู้ปัจจัยเสี่ยงที่คุณอาจจะเป็นโรคเบาหวานแล้ว ถ้าไม่อยากให้ตัวเลขผู้ป่วยเบาหวานเพิ่มขึ้น เรามีคำแนะนำดีๆ ในการป้องกันโรคเบาหวาน ดังนี้

1. เลี่ยงรับประทานอาหารประเภทหวาน มัน เค็ม เน้นรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ

2. ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์

3. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

4. ผู้ที่อายุ 35 ปีขึ้นไปควรตรวจระดับน้ำตาลในเลือดปีละครั้ง

5. ควบคุมน้ำหนักตัวให้เหมาะสม

6. หากมีอาการของโรคเบาหวาน เช่น อ่อนเพลีย, ผอมลงทั้งๆ ที่กินข้าวได้, มดขึ้นปัสสาวะ, ตามัว, คัน หรือมีผื่นบวมแดงบริเวณปากช่องคลอด หรือคันทั้งตัว, ชา ปวดแสบปวดร้อนตามปลายมือปลายเท้า ควรรีบไปพบแพทย์

: 3 วิธีอยู่กับโรคเบาหวาน ไม่ให้เกิดโรคแทรกซ้อน : 

อย่างที่ทราบกันดี โรคเบาหวาน ถือเป็นโรคเรื้อรัง หากควบคุมระดับน้ำตาลได้ไม่ดี จะส่งผลให้ให้อวัยวะเสื่อมสมรรถภาพ ทำงานล้มเหลวจนทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ได้แก่ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง ตาบอดจากเบาหวาน โรคไตจากเบาหวาน เป็นแผลที่เท้าง่ายแต่หายยาก เป็นต้น ดังนั้น สิ่งสำคัญผู้ป่วยโรคเบาหวานต้องดูแลสุขภาพตัวเองให้ดีขณะอยู่บ้านเพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากเบาหวาน ดังนี้ 

...

1. ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและปัจจัยเสี่ยง โดยปฏิบัติดังนี้

- รับประทานอาหารตรงเวลา
- จัดสัดส่วนอาหารแต่ละมื้อให้เหมาะสม โดยให้มีผัก 2 ส่วน ข้าว 1 ส่วน และเนื้อสัตว์ไขมันต่ำ 1 ส่วน
- หลีกเลี่ยงอาหารหวานจัด มันจัด เค็มจัด
- หมั่นออกกำลังกาย
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ หรือดื่มสุรา
- รับประทานยา หรือฉีดอินซูลิน ตามแผนการรักษา

2. หมั่นตรวจสอบความผิดปกติของร่างกาย โดยหากตามัว มองเห็นไม่ชัด ควรพบแพทย์ และตรวจเท้าเป็นประจำว่ามีแผลหรือไม่ โดยหมั่นรักษาความสะอาดเท้า และหลีกเลี่ยงการเดินเท้าเปล่า

3. ตรวจสุขภาพที่สถานพยาบาลสม่ำเสมอ โดยตรวจน้ำตาลสะสม ความดันโลหิต ระดับไขมัน และคัดกรองภาวะแทรกซ้อนตา ไต เท้า อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง


ใครที่ป่วยเป็น "โรคเบาหวาน" ต้องดูแลตัวเองให้มากขึ้น หากทำได้ครบทุกข้อ ก็จะทำให้คุณมีสุขภาพดีขึ้น สุขใดเล่าจะเท่าการไม่ป่วยเป็นโรค อย่าลืมดูแลสุขภาพด้วยนะคะ เพราะการไม่มีโรคถือเป็นลาภอันประเสริฐ  

ข่าวน่าสนใจ