"สำหรับทุกคนที่โหวตให้ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ผมเข้าใจถึงความผิดหวังในคืนนี้ ผมเองก็เคยพ่ายแพ้มาแล้วหลายครั้ง แต่ ณ เวลานี้ โปรดให้โอกาสสำหรับการเปลี่ยนแปลง"
ถ้อยคำแสดงความเห็นอกเห็นใจในวันแห่งการประกาศชัยชนะของผู้ที่เคยพ่ายแพ้มาตลอด 5 ทศวรรษ สำหรับความเพียรพยายามอย่างหนักเพื่อก้าวเท้าเข้าสู่ทำเนียบขาวในฐานะ Mr.President of the United States of America ของชายวัย 77 ปี ที่มีชื่อว่า "โจ ไบเดน"
ถูกต้อง! ชายวัย 77 ปี (จะอายุครบ 78 ปี ในวันที่ 20 พ.ย.นี้) ทำสำเร็จจนได้ หลังเคยชอกช้ำ พ่ายแพ้เป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีมาแล้วถึง 2 ครั้ง ในปี 1988 และปี 2008 เขาแพ้แล้วแพ้อีก แต่เขาอดทนรอคอยเพื่อชัยชนะในบั้นปลาย ซึ่งช่างตรงกันข้ามกับบุคคลที่เขากำลังจะเข้าไปแทนที่ในทำเนียบขาวอย่างสิ้นเชิง
เพราะบุคคลคนนั้น หรือที่โลกรู้จักกันดี ในนาม "โดนัลด์ ทรัมป์" มักจะมีคำพูดติดปากที่ว่า "ผมจะเป็นผู้ชนะเสมอในทุกๆ สิ่ง และความพ่ายแพ้มีไว้สำหรับผู้แพ้ และผมจะไม่มีวันเป็นผู้แพ้อย่างแน่นอน" แต่ตัดภาพกลับมาในปัจจุบัน คนที่พูดกำลังจะสูญเสียเก้าอี้ในห้องทำงานรูปไข่ไปให้กับคู่แข่งที่เขามักจะชอบดูแคลนเสียแล้ว!
นอกจากนี้ ว่าที่ผู้นำคนต่อไปของสหรัฐฯ ยังได้กล่าวถ้อยคำอันน่าจับใจต่อไปว่า...
"ถึงเวลาสำหรับการวางโวหารส่อเสียดและก้าวร้าว เพื่อลดอุณหภูมิความขัดแย้ง เพราะเราต้องพบเจอเพื่อพูดคุยและรับฟังกันอีกครั้ง ซึ่งการที่จะทำให้มันสามารถก้าวไปข้างหน้าได้ เราต้องหยุดปฏิบัติกับฝ่ายตรงข้ามว่าเป็นศัตรูเสียก่อน เพราะพวกเขาเหล่านั้นไม่ใช่ศัตรู พวกเขาเป็นชาวอเมริกัน"
...
ในทางตรงกันข้าม สิ่งที่ท่านผู้นำทรัมป์มักพูดถึงฝ่ายตรงกันข้าม มันแตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง หากใครจำได้ กรณีพิพาทระหว่างประธานาธิบดีทรัมป์และพรรคเดโมแครต เรื่องการแต่งตั้งผู้พิพากษา "เบรทท์ คาวานอห์" (Brett Kavanaugh) เป็นคณะตุลาการศาลสูงของสหรัฐฯ เมื่อช่วงปลายปี 2018 มิสเตอร์ทรัมป์ใช้คำพูดกับผู้ที่เห็นต่าง (พรรคเดโมแครต) ว่า...
"ผมรู้จักสหายชาวอเมริกันที่ชั่วร้าย และผมก็ยังรู้จักกับเพื่อนชาวอเมริกันบางคนที่ค่อนข้างชั่วร้ายด้วยเช่นกัน"
จากคำพูดเพียงเท่านี้ น่าจะทำให้เห็นได้ถึงโลกทัศน์ที่ตัดกันอย่างสิ้นเชิงระหว่างว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่กับผู้ที่กำลังจะกลายเป็นอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในขณะที่ ท่านผู้นำทรัมป์พยายามขับเคลื่อนวาทะแห่งความเกลียดชังเป็นอาวุธทางการเมืองเพื่อสร้างผลประโยชน์ให้กับตัวเอง แต่ "โจ ไบเดน" กลับทำในสิ่งที่แตกต่างออกไป อย่างน้อยที่สุดในช่วงของการเริ่มต้นสหรัฐอเมริกาในยุคใหม่นี้ เขาได้พยายามเตือนผู้คนให้คำนึงถึงความเป็นมนุษย์ร่วมโลก โดยไม่มีการแบ่งแยกว่าเป็น "เดโมแครต" หรือ "รีพับลิกัน" หรืออะไรก็สุดแล้วแต่ นั่นเป็นเพราะไม่ว่าอย่างไรที่สุดแล้ว ทั้งหมดก็คือ ชาวอเมริกันเหมือนๆ กันทั้งสิ้น
ซึ่งประเด็นการนำพาชาวอเมริกันซึ่งแตกแยกเป็นเสี่ยงๆ จากความขัดแย้งภายใต้การบริหารงานของท่านผู้นำทรัมป์มาถึง 4 ปี ให้กลับมาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอีกครั้งนี้ เป็นเพียงหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้บุรุษผู้พ่ายแพ้มาตลอด 5 ทศวรรษ พลิกชีวิตกลับมาเป็นผู้ชนะได้สำเร็จเท่านั้น ส่วนปัจจัยอื่นๆ ประกอบชัยชนะอันแสนน่าจดจำนี้ คุณสามารถเหวี่ยงสายตาลงไปอ่านในบรรทัดต่อไปได้เลย
อะไรคือ ปัจจัยสำคัญอื่นๆ นอกจากการสร้างความปรองดองในชาติ ที่ทำให้ "โจ ไบเดน" สามารถโน้มน้าวใจชาวอเมริกันได้สำเร็จ?
สถานีโทรทัศน์ CBS ของสหรัฐอเมริกา ได้ลองนำฐานข้อมูลที่ได้จากการทำ Exit Poll มาวิเคราะห์ถึงชัยชนะของว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ ออกมาเป็นข้อๆ ดังต่อไปนี้...
...
1. ความต้องการให้จัดการปัญหาการแพร่ระบาดโรค Covid-19 อย่างเร่งด่วน
ข้อมูลจาก Exit Poll พบว่า 51% ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เชื่อมั่นว่า ไบเดนจะสามารถจัดการกับปัญหาการแพร่ระบาดของโรค Covid-19 ได้ดีกว่า ในขณะที่ 43% ยังเชื่อมือมิสเตอร์ทรัมป์ในการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้
นอกจากนี้ อีกกว่า 80% ยังมองว่า การเร่งจัดการแก้ไขปัญหา Covid-19 ถือเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วนมากกว่าการฟื้นฟูเศรษฐกิจตามแนวทางของไบเดน ในขณะที่ มีเพียง 18% ที่เห็นด้วยกับทรัมป์ว่า ควรเร่งแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจก่อน Covid-19
2. ทัศนคติของผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มีต่อ "ไบเดน" และ "ทรัมป์"
เมื่อ 4 ปีที่แล้ว เห็นได้ชัดว่า คู่ชิงชัยระหว่าง "ฮิลลารี คลินตัน" และ "โดนัลด์ ทรัมป์" ต่างไม่เป็นที่ชื่นชอบของบรรดาผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งในสหรัฐอเมริกามากนัก ผิดกับในปีนี้ "โจ ไบเดน" สามารถสร้างความน่าประทับใจให้กับบรรดา Voters ได้เป็นอย่างมาก และถึงแม้ว่า "โดนัลด์ ทรัมป์" จะทำได้ดีขึ้นกว่าเมื่อ 4 ปีที่แล้วเล็กน้อย แต่โดยภาพรวมแล้วบรรดาผู้มีสิทธิเลือกตั้งยังคงมีมุมมองในเชิงลบกับตัวเขามากกว่าเชิงบวก
โดยผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 52% "ชื่นชอบ" ไบเดน ในขณะที่ ผู้ชื่นชอบทรัมป์อยู่ที่ 45%
ขณะที่ ประเด็น "ไม่ชื่นชอบ" นั้น ไบเดนได้ไป 46% ส่วนทรัมป์ได้ไป 53%
...
3. คุณสมบัติและวุฒิภาวะที่เหมาะสมสำหรับการเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ
ไบเดนได้รับคะแนนมากกว่าทรัมป์ ทั้งในแง่ของวุฒิภาวะและคุณสมบัติที่เหมาะสมสำหรับการดำรงตำแหน่งเป็นผู้นำสหรัฐฯ เนื่องจากชาวอเมริกันผู้มีสิทธิเลือกตั้งกำลังมองหาใครสักคนที่จะเข้ามาสยบความขัดแย้งภายในประเทศ อันเกิดจากการบริหารงานของทรัมป์ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา
โดยประเด็นวุฒิภาวะ ไบเดนได้ไป 53% ส่วนทรัมป์ได้ไป 44%
ส่วนในประเด็นเรื่องคุณสมบัติเฉพาะบุคคล ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ข้อ ผลลัพธ์ที่ได้ คือ
1. การตัดสินใจที่เหมาะสม ไบเดนได้ไป 68% ส่วนทรัมป์ได้ไป 27%
2. การสร้างความปรองดอง ไบเดนได้ไป 76% ในขณะที่ทรัมป์ได้ไปเพียง 23%
4. กลุ่มอิสระทางการเมืองเปลี่ยนใจมาเลือก "ไบเดน"
กลุ่มอิสระทางการเมืองที่เคยเลือกทรัมป์ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อปี 2016 เปลี่ยนใจมาเลือกไบเดนอย่างชนิดถล่มทลาย โดยเฉพาะในรัฐที่แข่งขันกันสูง (Battleground States) อย่างแอริโซนา, ฟลอริดา, จอร์เจีย, ไอโอวา, มิชิแกน, มินนิโซตา, เนวาดา, นอร์ทแคโลไลนา, เทกซัส และวิสคอนซิน
โดยเหตุผลหลักที่ทำให้เหล่าผู้เป็นกลางทางการเมืองตัดสินใจเลือกไบเดน ก็คือ ความล้มเหลวในการสกัดกั้นการแพร่ระบาดโรค Covid-19 ของทรัมป์ ทั้งๆ ที่กลุ่มคนเหล่านี้หากเทียบเป็นอัตราส่วน คือ 4 ใน 10 คน ไม่ได้โหวตเลือก "ฮิลลารี คลินตัน" เมื่อปี 2016 นอกจากนี้ ในจำนวนดังกล่าว 1 ใน 10 คน เคยเลือก "ทรัมป์" ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาด้วย
โดยผล Exit Poll ของ CBS ในประเด็นนี้
ไบเดนได้รับคะแนนจากกลุ่มอิสระทางการเมือง 54% ส่วนทรัมป์ได้ไป 40%
...
5. บรรดาผู้เคยนอนหลับทับสิทธิออกมาเลือก "ไบเดน"
1 ใน 10 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั่วประเทศที่ไม่ได้ไปใช้สิทธิในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อปี 2016 และ 6 ใน 10 จากกลุ่มคนเหล่านั้นตัดสินใจสนับสนุนไบเดน
นอกจากนี้ 4 ใน 10 คนของจำนวนเหล่านั้น ซึ่งมีอายุต่ำกว่า 25 ปี รวมถึงอีกเกือบครึ่งหนึ่งซึ่งเป็นผู้สูงอายุและสามารถใช้สิทธิเลือกตั้งเมื่อปี 2016 ได้ ยอมรับว่า กลับมาตัดสินใจใช้สิทธิเลือกตั้งในครั้งนี้ เพราะไม่มีความสุขกับการทำงานของรัฐบาลภายใต้การบริหารของทรัมป์
6. ผู้ชายชาวอเมริกันเลือก "ทรัมป์" ลดลง
ในประวัติศาสตร์การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ผ่านมา กลุ่มผู้ชายชาวอเมริกันส่วนใหญ่มักจะตัดสินใจเลือกโหวตให้กับผู้สมัครจากพรรครีพับลิกัน โดยในการเลือกตั้งปี 2016 ทรัมป์ได้คะแนนจากส่วนนี้มากกว่า "ฮิลลารี คลินตัน" ถึง 11%
แต่ในการเลือกตั้งครั้งนี้ กลุ่มชายชาวอเมริกันที่เคยให้การสนับสนุนทรัมป์กลับลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยกลุ่มชายชาวอเมริกันผิวขาวซึ่งเคยโหวตเลือกทรัมป์มากกว่าฮิลลารีถึง 31% ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2016 มาคราวนี้กลับลดลงเหลือเพียง 18%
ส่วนกลุ่มชายชาวอเมริกันผิวขาวที่จบปริญญาตรีที่เคยโหวตเลือกทรัมป์มากกว่าฮิลลารีถึง 14% แต่ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ตัวเลขดังกล่าวกลับมีจำนวนลดลงเหลือเพียง 2% เท่านั้น
และที่สำคัญไปกว่านั้น คือ คนจากทั้งสองกลุ่มที่กล่าวไป กลับมีทัศนคติในแง่บวกกับ "ไบเดน" มากกว่า "ทรัมป์" อีกด้วย
สำหรับกลุ่มชายชาวอเมริกันที่การศึกษาต่ำกว่าระดับปริญญาตรี ซึ่งถือเป็นคะแนนเสียงที่สำคัญของทรัมป์ในการเลือกตั้งเมื่อ 4 ปีก่อนนั้น ในศึกเลือกตั้งครั้งนี้ ยังคงให้การสนับสนุนอย่างแข็งแกร่งต่อไป
เพียงแต่ในรัฐมิชิแกนและวิสคอนซินที่ไบเดนพลิกกลับมาชนะทรัมป์ได้ในบั้นปลายนั้น ไบเดนได้รับคะแนนจากกลุ่มคนเหล่านี้ สูงกว่า "ฮิลลารี คลินตัน" ประมาณ 10%
ผู้ชายชาวอเมริกันเลือกทรัมป์ 49% เลือกไบเดน 48%
7. กลุ่มผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป ตัดสินใจเลือก "ไบเดน" ในรัฐชี้ชะตา
ในรัฐที่เป็นจุดตัดสินว่าใครจะได้ก้าวเท้าเข้าสู่ทำเนียบขาวอย่าง "มิชิแกน" และ "เพนซิลเวเนีย" บรรดากลุ่มผู้สูงอายุที่ออกมาใช้สิทธิมากกว่ากลุ่มวัยรุ่น และมองประเด็นเรื่องการแก้ไขปัญหา Covid-19 เป็นปัญหาเร่งด่วนที่ต้องรีบแก้ไข เปลี่ยนใจจากที่เคยเลือกรีพับลิกันในการเลือกตั้งปี 2016 มาสนับสนุนพรรคเดโมแครตแทน
ส่วนที่แอริโซนา กลุ่มผู้สูงอายุที่มีสิทธิเลือกตั้งปีนี้ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 3 ใน 10 กระจายคะแนนเสียงให้กับทั้งไบเดนและทรัมป์ ทั้งๆ ที่ในการเลือกตั้งคราวก่อน ทรัมป์เคยได้คะแนนจากกลุ่มผู้สูงอายุในรัฐนี้สูงกว่า "ฮิลลารี คลินตัน" ถึง 13% จนได้รัฐนี้ไปครอบครองเมื่อ 4 ปีก่อน
ในขณะที่ ภาพรวมทั้งประเทศกลุ่มผู้สูงอายุที่เคยโหวตให้กับ "ทรัมป์" มากกว่า "ฮิลลารี คลินตัน" ในปี 2016 ถึง 7% มาครั้งนี้ กลับลดลงเหลือเพียง 3% เท่านั้น
กลุ่มผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป ในรัฐมิชิแกนเลือกไบเดน 54% ทรัมป์ 46%
กลุ่มผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป ในรัฐเพนซิลเวเนีย เลือกไบเดน 51% ทรัมป์ 48%
กลุ่มผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป ในรัฐแอริโซนา เลือกไบเดน 50% ทรัมป์ 50%
8. พลังเสียงกลุ่มคนรุ่นใหม่ พร้อมใจเทคะแนนให้ "ไบเดน" แบบถล่มทลาย
ไม่ใช่เพียงกลุ่มผู้สูงอายุ แต่กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีอายุต่ำกว่า 30 ปี ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนถึง 17% ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด ต่างพร้อมใจเทคะแนนให้กับไบเดนมากกว่าที่เคยเทคะแนนให้กับ "ฮิลลารี คลินตัน" เมื่อ 4 ปีก่อนเสียอีก
โดยในปีนี้ ไบเดนได้คะแนนจากกลุ่มคนรุ่นใหม่มากกว่าทรัมป์ถึง 27% ในขณะที่ "ฮิลลารี คลินตัน" เคยได้คะแนนจากคนกลุ่มนี้มากกว่าทรัมป์เพียง 19% เมื่อ 4 ปีก่อน
ขณะที่ ในภาพรวมทั่วประเทศพบว่า กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีอายุต่ำกว่า 30 ปี โหวตสนับสนุนไบเดน 62% ซึ่งตัวเลขนี้แม้จะลดลงจากที่อดีตประธานาธิบดี "บารัค โอบามา" เคยได้รับถึงจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ถึง 66% เมื่อปี 2008 แต่มันก็ยังคงสูงกว่าทรัมป์ที่ได้รับคะแนนโหวตจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ไปเพียง 35% อยู่ดี
และยิ่งเฉพาะในรัฐที่มีการแข่งขันกันสูงอย่างรัฐวิสคอนซิน ไบเดนได้คะแนนจากคนรุ่นใหม่ในสัดส่วนที่มากกว่าทรัมป์ถึง 20% ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่มากกว่าที่ "ฮิลลารี คลินตัน" เคยเอาชนะทรัมป์ได้เพียง 3% จากคนกลุ่มนี้ เมื่อปี 2016 อีกด้วย
นอกจากนี้ 13% จากผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั่วประเทศที่ได้ใช้สิทธิของตัวเองเป็นครั้งแรก หรือ New Voters ยังโหวตให้กับไบเดนถึง 66% ในขณะที่ ทรัมป์ได้ไปเพียง 32% อีกด้วย
กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีอายุต่ำกว่า 30 ปี เลือกไบเดน 62% เลือกทรัมป์ 35%
9. กลุ่มพลังหญิงยังคงให้การสนับสนุนเดโมแครตอย่างแข็งแกร่ง
ผลคะแนนในกลุ่มพลังหญิง ชี้ชัดว่า ไบเดนเอาชนะทรัมป์ได้แบบขาดลอยถึง 13% ซึ่งเป็นตัวเลขค่าเฉลี่ยเดียวกับที่คลินตันได้รับในการเลือกตั้งเมื่อปี 2016
นอกจากนี้ กลุ่มผู้หญิงผิวขาวที่การศึกษาสูงกว่าระดับปริญญาตรียังถือเป็นกำลังหลักที่ช่วยให้ไบเดนคว้าชัยชนะที่รัฐมิชิแกนด้วย โดยไบเดนได้คะแนนนำจากคนกลุ่มนี้มากกว่าทรัมป์ชนิดถล่มทลายถึง 20% ซึ่งสูงกว่าที่ "ฮิลลารี คลินตัน" เคยเอาชนะทรัมป์ที่ 6% เมื่อ 4 ปีก่อน อย่างชนิดไม่เห็นฝุ่น
กลุ่มพลังหญิง เลือกไบเดน 56% เลือกทรัมป์ 43%
10. กลุ่มคนอเมริกันเชื้อสายละตินและคนผิวสียังคงสนับสนุนเดโมแครต
เป็นที่ทราบกันดีว่า กลุ่มคนผิวสีให้การสนับสนุนอย่างแข็งแกร่งกับพรรคเดโมแครตมาอย่างเหนียวแน่นและยาวนาน
อย่างไรก็ดี แม้ปีนี้ 87% ของคนผิวสี จะโหวตเลือกไบเดน แต่มันก็ยังเป็นตัวเลขที่ลดต่ำลงเล็กน้อย หากเปรียบเทียบกับ 89% ที่ฮิลลารีเคยได้รับจากคนผิวสีเมื่อ 4 ปีก่อน
ในขณะที่ ทรัมป์ ซึ่งแม้จะได้ไปเพียง 12% แต่มันคือ ตัวเลขที่สูงขึ้นจากเมื่อ 4 ปีที่แล้วที่ได้ไปเพียง 8%
แต่สิ่งที่น่าจับตา คือ คะแนนนิยมของทรัมป์ในกลุ่มผู้ชายผิวสีทั่วประเทศกลับดีขึ้น โดยเขาได้รับการสนับสนุนถึง 18% ซึ่งดีกว่า 4 ปี ก่อนที่ได้รับจากคนกลุ่มนี้ไปเพียง 13% โดยคนกลุ่มนี้ที่โหวตให้ทรัมป์ ให้เหตุผลว่า พวกเขาเป็นผู้สนับสนุนพรรครีพับลิกันและมีความเป็นอนุรักษนิยม
ด้านกลุ่มคนอเมริกันเชื้อสายละตินโหวตให้ไบเดน 66% ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยที่เท่ากับคะแนนที่ "ฮิลลารี คลินตัน" ได้รับเมื่อ 4 ปีก่อน
อย่างไรก็ดี ในรัฐที่มีการแข่งขันกันสูงหรือ Battleground states โดยเฉพาะรัฐฟลอริดาและรัฐเนวาดา ซึ่งมีชาวอเมริกันเชื้อสายละตินอยู่เป็นจำนวนมากนั้น แม้สุดท้ายไบเดนจะคว้าชัยชนะไปได้ แต่มันเป็นชัยชนะที่ห่างกันเล็กน้อยเพียง 5% เท่านั้น
ทั้งๆ ที่เมื่อ 4 ปีก่อน ฮิลลารีได้รับคะแนนโหวตจากคนกลุ่มนี้ จนได้รับชัยชนะเหนือทรัมป์ได้อย่างขาดลอยถึง 27%
นอกจากนี้ที่รัฐฟลอริดา ซึ่งจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เป็นชาวอเมริกันเชื้อสายละตินถึง 1 ใน 3 มีเชื้อสายคิวบานั้น กลับโหวตเลือกทรัมป์ เนื่องจากมองว่า ทรัมป์น่าจะทำงานเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจได้ดีกว่าไบเดนเสียด้วย!
กลุ่มคนผิวสี โหวตไบเดน 87% โหวตทรัมป์ 12%
กลุ่มเชื้อสายละติน โหวตไบเดน 66% โหวตทรัมป์ 32%
กลุ่ม LGBT โหวตไบเดน 61% โหวตทรัมป์ 28%
จากผลสำรวจนี้ อะไรคือ สิ่งที่กำลังรอคอยว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่อยู่?
ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองที่แบ่งแยกประเทศออกเป็นเสี่ยงๆ จนดูเหมือนไม่น่าเป็นไปได้ ที่ชัยชนะของ "โจ ไบเดน" จะทำให้สหรัฐอเมริกากลับคืนสู่ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ง่ายๆ
นั่นเป็นเพราะจากผลสำรวจดังกล่าวพบว่า กลุ่มผู้ที่ให้การสนับสนุน "โดนัลด์ ทรัมป์" เพียง 5% เท่านั้น ที่มีทัศนคติที่ดีกับ "โจ ไบเดน" นอกจากนี้ อีก 9 ใน 10 คน ยังยอมรับอีกด้วยว่า รู้สึกกังวลหรือหวาดวิตกกับการก้าวเท้าสู่ทำเนียบขาวของผู้แทนจากพรรคเดโมแครตด้วย
ด้วยเหตุนี้ บางทีอนาคตในอีก 4 ปีข้างหน้าของดินแดนแห่งเสรีภาพและภราดรภาพ อาจยังตกอยู่ภายใต้เครื่องหมายคำถาม หากไบเดนไม่สามารถทำสิ่งที่เขาพูดเอาไว้ในวันแห่งการประกาศชัยชนะของตัวเอง
ข่าวน่าสนใจ:
- ศิลปิน Hell No แต่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ Ignored เมื่อเพลงกลายเป็นความขัดแย้ง
- เมื่อ "ดาบพิฆาตอสูร" จ่อขึ้นแท่นอนิเมะเบอร์1 ล้ม Spirited Away
- ขายวิญญาณให้ "ปิศาจ" หรืออคติเหยียดสีผิว เปิดความจริง "ตำนานบลูส์"
- คุยกับ "อภิสิทธิ์" ในวันที่ "ลุงตู่" คืออุปสรรค แนะ 2 ข้อแก้เร่งด่วน
- หยุดปฏิบัติหน้าที่ ตั้งรัฐบาลเฉพาะกิจ ทางออกลุงตู่?