ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่เคยป่วยเป็นโรคอีสุกอีใส และหายดีแล้วอย่าชะล่าใจ เพราะเชื้อโรคยังแฝงอยู่ในตัวเราโดยที่ไม่รู้ตัว จงระวังอย่าให้ร่างกายอ่อนแอ มิเช่นนั้นจะเป็นโอกาสให้ภัยเงียบโรคร้ายที่คนมองข้ามความน่ากลัวอย่าง “โรคงูสวัด” (Herpes Zoster) คุกคามป่วยไข้โดยไม่คาดคิด และความรุนแรงของโรคจะเพิ่มขึ้นตามอายุที่มากขึ้นด้วย
เชื่อว่ามีไม่น้อยที่ยังไม่รู้ที่มาที่ไปของโรคงูสวัดกันสักเท่าไร และโรคอีสุกอีใสกับโรคงูสวัดเกี่ยวข้องกันอย่างไร นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ โฆษกกระทรวงสาธารณสุข หัวหน้าสำนักวิชาการสาธารณสุข ที่ปรึกษาระดับกระทรวง นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ ให้ข้อมูลที่เป็นความรู้อย่างละเอียด และมีประโยชน์ยิ่งในการดูแลสุขภาพ
: เคยเป็นโรคอีสุกอีใสเสี่ยงป่วยงูสวัด ระเบิดเวลาซ่อนร่างกาย 30-40 ปี :
โรคงูสวัดเป็นโรคติดเชื้ออย่างหนึ่ง เกิดจากการติดเชื้อไวรัสวาริเซลล่า ซอสเตอร์ (varicella zoster virus) หรือ วีซีวี เป็นเชื้อไวรัสชนิดเดียวกับที่ทำให้เกิดโรคอีสุกอีใส ซึ่งเมื่อหายจากโรคอีสุกอีใส แต่เชื้อไวรัสซอสเตอร์จะหลบซ่อนอยู่ในร่างกายตามปมประสาทอย่างสงบนิ่ง โดยไม่มีอาการผิดปกติใดๆ หรือเจ็บป่วยแต่อย่างใดเลยเป็นเวลา 30-40 ปี
...
หากเมื่อไหร่ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่ำ ไวรัสร้ายที่แฝงอยู่จะแบ่งเซลล์เพิ่มจำนวนขึ้น และแพร่กระจายเชื้อในปมประสาทจนอักเสบ ทำให้ มีอาการปวดตามแนวเส้นประสาท เกิดผื่นคัน จากนั้นเป็นตุ่มใสเรียงเป็นแนวยาวตามเส้นประสาท มีอาการปวดแสบปวดร้อน กลายเป็นโรคงูสวัด
ทั้งนี้ การติดเชื้อไวรัสโรคงูสวัด มี 2 ช่องทาง คือ ผ่านทางการหายใจ หรือสัมผัสตุ่มน้ำใสผู้เป็นโรค สำหรับผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง คือ คนที่มีภูมิคุ้มกันต่ำกว่าปกติ ร่างกายอ่อนเพลียสะสมเป็นเวลานาน และพักผ่อนไม่เพียงพอ นอกจากนี้เพราะเชื้อหลบซ่อนในร่างกายหลายสิบปี โรคงูสวัดจึงมักเกิดในผู้สูงอายุ ผู้ติดเชื้อเอชไอวี หรือผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ได้รับยากดภูมิต้านทาน ก็เป็นอีกกลุ่มเสี่ยงอาจเป็นโรคงูสวัดได้ง่าย
: อาการโรค "งูสวัด" มีภาวะแทรกซ้อนมากตามอายุที่มากขึ้น :
วิธีสังเกตอาการว่าเราเป็นโรคงูสวัดหรือไม่นั้น จากประสบการณ์ที่เคยรักษาผู้ป่วย นพ.รุ่งเรือง เปิดเผย อาการเริ่มต้น จะปวดแปลบ คันหรือแสบร้อนเหมือนถูกไฟลวกบริเวณเส้นประสาทเป็นพักๆ หรือบางรายอาจเกิดอาการนี้ตลอดเวลา บริเวณชายโครง ใบหน้า แขน หรือขาเพียงข้างเดียว ทั้งนี้บางรายอาจมีอาการไข้ หนาวสั่น คลื่นไส้ และท้องเสียร่วมด้วย
หลังจากนั้นจะมีผื่นแดงขึ้นตรงบริเวณปวดแสบ ปวดร้อน โดยผื่นขึ้นขวางลำตัว บริเวณชายโครง ใบหน้า แขน เรียงกันเป็นกลุ่มหรือเป็นแนวยาวตามเส้นประสาท ดูคล้ายรอยงูเลื้อย และกลายเป็นตุ่มน้ำใสภายใน 1-3 วัน แล้วจะค่อยๆ แห้งตกสะเก็ดหายได้ด้วยตัวเองภายใน 7-10 วัน เมื่อสะเก็ดแผลหลุดออก
โรคงูสวัดสามารถหายไปได้ด้วยตัวเองภายในเวลา 10-15 วัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของผู้ป่วยด้วย หากมีภูมิคุ้มกันไม่แข็งแรงพอ อาจทำให้อาการของโรคยาวนานขึ้น ต้องใช้เวลาหลายเดือนหรือนานนับปี กว่าจะหายสนิท โดยส่วนใหญ่พบได้ในผู้ป่วยที่อายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น บางรายแม้ตุ่มน้ำยุบแล้วก็อาจจะมีอาการปวดตามแนวเส้นประสาท การติดเชื้อแบคทีเรีย ตาอักเสบ แผลที่กระจกตา ภาวะแทรกซ้อนที่หู
สำหรัปความเชื่อที่ว่า งูสวัด พันรอบตัวทำให้เสียชีวิตนั้น เป็นความเชื่อผิด เพราะรอยโรคงูสวัดจะเป็นเรียงกันเป็นกลุ่มตามแนวยาวของเส้นประสาท แต่ก็เกิดขึ้นเฉพาะซีกใดซีกหนึ่งของร่างกายเท่านั้น เว้นแต่ในกรณีผู้ป่วยร่างกายอ่อนแอมากก็อาจมีอาการลุกลามมากกว่าปกติ
...
: 9 วิธีการรักษา ดูแลตนเอง จากโรคงูสวัด :
การรักษาโรคงูสวัดเพื่อยับยั้งการเพิ่มขึ้นของเชื้อไวรัสและลดการลุกลามของอาการต้องรีบพบแพทย์เพื่อให้แพทย์สั่งยาต้านเชื้อไวรัสชื่อ “อะซัยโคลเวียร์” (acyclovir) ยาวาลาซิโคลเวียร์ (valaciclover) และยาแฟมซิโคลเวียร์ (famciclovir) ให้รับประทาน ด้านการปฏิบัติ ดูแลตนเอง เพื่อให้หายจากโรคงูสวัด ตามคำแนะนำของ นพ.รุ่งเรือง ระบุไว้เป็นข้อๆ ดังนี้
1. ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันปกติ หากมีอาการปวด สามารถรับประทานยาแก้ปวดได้ตามแพทย์สั่ง
2. ประคบแผลด้วยน้ำเกลือวันละ 3-4 ครั้ง ครั้งละประมาณ 10 นาที เพื่อช่วยให้แผลแห้งเร็วขึ้น
3. กรณีมีอาการปากเปื่อยลิ้นเปื่อย ควรบ้วนปากด้วยน้ำเกลือเพื่อรักษาอาการ
4. อาบน้ำให้สะอาด รักษาความสะอาดของตัวเองให้มาก หมั่นล้างมือทุกครั้งที่สัมผัสกับตุ่มน้ำ เพื่อไม่ให้เชื้อแพร่กระจาย
5. ตัดเล็บให้สั้น ห้ามแกะเกาบริเวณแผลตกสะเก็ด หรือใช้ของแหลมคมเจาะตุ่มน้ำเด็ดขาด จะทำให้ติดเชื้อและเป็นแผลเป็น
...
6. หลีกเลี่ยงการใช้ของร่วมกับผู้ที่ไม่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อน
7. หากป่วยอยู่ในระยะสามารถแพร่กระจายเชื้อได้ทางการหายใจ ควรแยกตัวให้ห่างจากผู้อื่น
8. หากเกิดอาการคัน ควรใช้ยาทาแก้คัน หรือทาคาลาไมน์ เพื่อบรรเทาอาการ หรืออาจจะรับประทานยาแก้คันร่วมด้วย แต่ทั้งนี้ก็ควรปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรก่อน
9. สวมใส่เสื้อผ้าโปร่งสบาย เพื่ไม่ให้เนื้อผ้าโดนตุ่มน้ำจนเกิดการอักเสบ
: 1 เข็มคุ้มกันนาน 10 ปี วัคซีนป้องกันโรคงูสวัด คนอายุ 50-60 ควรฉีด:
ทีนี้ก็มาถึงการป้องกันไม่ให้เป็นโรคงูสวัดที่สามารถเกิดขึ้นได้ทุกวัย ควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ พักผ่อนให้เพียงพอ หมั่นออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรงแล้ว ผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และไม่จำเป็นมีประวัติเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อนควรรับวัคซีนป้องกันการเกิดโรคงูสวัด ซึ่งคุ้มกันโรคได้นานถึง 10 ปี
...
วัคซีนป้องกันโรคงูสวัดในประเทศไทยเร่ิมใช้เมื่อปลายปี 2557 นอกจากช่วยป้องกันผู้สูงอายุลดความเสี่ยงในการเกิดโรคงูสวัดแล้ว หากโชคร้ายป่วยเป็นโรคงูสวัด ก็จะช่วยลดความเจ็บปวดรุนแรงเมื่อผื่นงูสวัดหายด้วย ในการรับวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด ผู้ที่ต้องการฉีดวัคซีนต้องปรึกษาแพทย์ทุกครั้ง เพราะอาจมีผลข้างเคียง หรือบางรายอาจมีอาการแพ้และสามารถใช้บริการใน สถานเสาวภา สภากาชาดไทย รพ.ต่างๆ ของทั้งภาครัฐและเอกชน โดยต้องเสียค่าใช้จ่ายเองในราคาเข็มละประมาณ 3,000-7,000 บาท ขณะนี้ภาครัฐฯ ยังไม่ได้สนับสนุน ต้องเสียค่าใช้จ่ายเองหลักพัน
อย่างไรก็ตาม หากผู้ที่ต้องการรับวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด แต่มีประวัติแพ้ส่วนประกอบตัวใดตัวหนึ่งของวัคซีน, มีประวัติแพ้ยานีโอมัยซินอย่างเฉียบพลัน (Anaphylactic/Anaphylactoid), หญิงตั้งครรภ์, ผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง และโรคอื่นๆ ที่มีผลต่อการทำงานของไขกระดูกและระบบภูมิคุ้มกัน ผู้มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องจากโรคเอดส์ และผู้ที่ได้รับการรักษาด้วยยากดภูมิคุ้มกันชนิดต่างๆ ไม่ควรรับวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด
อ่านข่าวที่น่าสนใจ