• "อภิสิทธิ์" พร้อมให้คำแนะนำ หลังถูกทาบทามให้ร่วมถกแก้ปัญหาขัดแย้ง ระบุทุกอย่างจะไร้ผล หากคุยแล้วไม่มีผลลัพธ์ที่ส่งผลกับรัฐบาลหรือม็อบ

  • แนะ 2 แนวทางแก้ปัญหาเร่งด่วน คือ 1.แก้รัฐธรรมนูญ 2.ใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรม และได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย

  • เผยคาดไว้แต่แรกแล้ว วันหนึ่ง "ลุงตู่" อาจจะเป็นอุปสรรคในการแก้ปัญหาอื่นๆ 

เคยประกาศตัวอย่างชัดเจนว่า “ไม่เอาลุงตู่” ในช่วงโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 สำหรับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 27 ของไทย 

แต่เมื่อเวลาผ่านไปปีกว่าๆ (ลุงตู่อยู่มาเกือบ 7 ปีแล้ว) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็ถูกต่อต้านอย่างหนัก โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ และก็เหมือนเดจาวู วันนี้ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ต้องรับบทเป็นคนกลางหาทางไกล่เกลี่ย ด้วยการเดินหน้าตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ โดยจะเชิญทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมแก้ปัญหา รวมไปถึงการส่งเทียบเชิญอดีตนายกฯ ของไทย 5 คน ประกอบด้วย พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ นายอานันท์ ปันยารชุน นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มาร่วมถกหาทางออก

นายอภิสิทธิ์ เปิดเผยเบื้องหลังการพูดคุยหาทางออกประเทศกับนายชวน หลีกภัย ว่า ความจริงแล้ว ท่านชวนยังไม่ได้ทาบทามอะไรมากเป็นพิเศษ เพียงแต่โทรมาเพื่อพูดคุยเกี่ยวกับกระบวนการต่างๆ ที่นอกเหนือจากการมีส่วนร่วมในสภา แน่นอนตนพร้อมจะให้ข้อคิดและข้อเสนอแนะเพื่อหาทางออกประเทศอยู่แล้ว เพียงแต่ยังไม่ได้มีการพูดไปถึงจุดนั้น หรือการตั้งกรรมการแต่อย่างใด

...

“สิ่งที่อยากแนะนำคือ เราคงไม่สามารถไม่คลี่คลายประเด็นเหล่านี้ได้ หากเราไม่เอา “สาระ” ของข้อเรียกร้องต่างๆ มาเพื่อเผชิญหน้ากับมัน เช่น หากจะตั้งคณะกรรมการ หรือหารือข้อเรียกร้องต่างๆ จากเวทีใดเวทีหนึ่ง หากผลลัพธ์การพูดคุยหรือตั้งคณะกรรมการ ไม่มีผลอะไรกับผู้ชุมนุม หรือฝ่ายผู้มีอำนาจอีกฝ่ายหนึ่ง สุดท้ายมันจะทำงานได้ยาก”

นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า ถึงที่สุดแล้ว การแก้ปัญหาคงหนีไม่พ้นการหา “คำตอบ” จากข้อเรียกร้อง “คำตอบ” ที่ว่าไม่ได้หมายถึงต้องปฏิบัติตามเสียงเรียกร้องของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ต้องมีวิธีการที่จะเอาประเด็นข้อเรียกร้องมาพูดคุยกันด้วยเหตุด้วยผล ที่แม้บางเรื่องอาจจะไม่เห็นด้วยกันทั้งหมด แต่ก็ยังรับกันได้เกือบทุกฝ่าย

อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 27 ของไทย กล่าวถึงเรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลควรทำ 2 เรื่อง ได้แก่ เรื่องแรกเป็นเรื่องง่ายที่สุด คือ การเร่งจัดการแก้รัฐธรรมนูญ อย่างน้อยควรต้องแสดงออกด้วยการรับหลักการตามขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญฉบับใดที่เสนอมา นอกจากนี้ ก็ควรจะพูดคุยกับวุฒิสภาให้ยอมรับการแก้ไข

ข้อ 2 คือ การบังคับใช้กฎหมายในเรื่องคดีความต่างๆ กับผู้ชุมนุม ซึ่งหลังจากนี้จะมีความซับซ้อนและมากขึ้นเรื่อยๆ วิธีการแก้ปัญหาคือ ต้องทำความเข้าใจกับผู้ชุมนุมถึงแนวปฏิบัติให้ชัดเจน ใช้อำนาจทางกฎหมายอย่างเป็นธรรม ต้องได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย และไม่ถูกมองว่าเป็นการ “กลั่นแกล้ง” หรือไม่อำนวยความสะดวก

เมื่อถามว่า ครั้งหนึ่งนายอภิสิทธิ์เคยนั่งคุยกับนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ถึงประเด็นไม่สนับสนุนลุงตู่ เพราะเกรงว่าจะมีวันนี้ นายอภิสิทธิ์ กล่าวยอมรับว่า ตนได้เคยแสดงจุดยืนทางการเมืองไว้แล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรกคือ วันที่ไม่รับรัฐธรรมนูญ โดยบอกว่า การออกแบบรัฐธรรมนูญในลักษณะนี้มันจะทำให้เกิดความขัดแย้ง และ ส.ว. ที่ขณะนั้นอ้างว่าจะเป็นกลุ่มคนที่มาลดความขัดแย้ง กลับกลายเป็น “คู่ขัดแย้ง” เสียเอง ซึ่งมันชัดเจนขึ้นเมื่อพรรคพลังประชารัฐสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ขึ้นมา มันทำให้ปัญหาเห็นชัดขึ้น

“ครั้งที่สองที่ไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เพราะมองบรรยากาศในการหาเสียงเลือกตั้งในเวลานั้น ทำให้เรามองออกอยู่แล้วว่า พล.อ.ประยุทธ์ อาจจะกลายเป็น “จุดของความขัดแย้ง” เพิ่มขึ้นอีกครั้งหนึ่ง และอาจจะลุกลามไปอีกครั้ง”

...

วันนี้มีเสียงให้ พล.อ.ประยุทธ์ ลาออก นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า การเรียกร้องให้ลาออกนั้นเป็นเรื่องยากที่จะคุยกัน แต่สิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะทำหากไม่ลาออก ก็ต้องแสดงท่าทีที่ชัดเจนในการแก้ปัญหาตามข้อเรียกร้องต่างๆ ให้ชัดเจนว่าจะทำอย่างไร เพราะเสียงเรียกร้องที่ส่งไปถึงท่านบอกว่า ท่านคือ “อุปสรรค” ในการที่จะแก้เรื่องอื่นๆ หากท่านชัดเจน เช่น แก้รัฐธรรมนูญ เชื่อว่าจะคลายข้อเรียกร้องนี้ลงไปได้

การทาบทามอดีตนายกฯ ทั้ง 5 ถามว่าจะไปติดใจกับใครคนใดคนหนึ่งหรือไม่ อดีตนายกฯ คนที่ 27 ตอบว่า คงไม่มี แต่ผมเชื่อว่าทุกคนที่อยู่ในข่ายที่ถูกทาบทามต้องพิจารณาว่าขอบเขตคืออะไร จะทำงานลักษณะไหน เพราะอย่างที่บอกว่าปลายทาง มันก็ต้องเชื่อมกับผู้มีอำนาจ หรือเชื่อมกับทางผู้ชุมนุมได้ด้วย

“ผมเชื่อว่าผู้ชุมนุมก็คงไม่สนใจ ไม่อยากเกี่ยวข้องกับกระบวนการนี้ เพราะมันจะไม่มีผลอะไรเลยในทางปฏิบัติ หรือเขาคิดว่าเป็นการซื้อเวลา หรือเบี่ยงเบนอะไร เขาก็คงไม่สนใจ”

ถ้าสมมติลุงตู่ลาออก พร้อมกลับมาเป็นนายกฯ ไหม หากมีคนสนับสนุน นายอภิสิทธิ์ หัวเราะคำโต พร้อมกล่าวติดตลกว่า “ก็ท่านไม่ออกหนิครับ”

...

สุดท้ายอยากจะฝากให้ทุกฝ่ายลดในเรื่องของอารมณ์ แต่ต้องส่งเสริมถึงเนื้อหาสาระ เหตุและผลมากขึ้น ทุกวันนี้การปลุกระดมเกิดขึ้นในหลายจุดที่มุ่งหมายให้เกิดความเกลียดชัง แล้วมุ่งไปที่ตัวบุคคลมากกว่าสาระด้วยเหตุและผล ต้องปรับให้เรื่องข้อขัดแย้งกลับมาที่สาระ และกลับมาที่การใช้เหตุผลมากกว่า.

ผู้เขียน : อาสาม
กราฟิก : Supassara Traiyansuwan

อ่านข่าวที่น่าสนใจ