- TPP เริ่มต้นโดยแนวคิด ยุทธศาสตร์ปักหมุดเอเชีย ในสมัยประธานาธิบดี "บารัค โอบามา"
- TPP ปิดฉากในสมัยประธานาธิบดี "โดนัลด์ ทรัมป์" หลังเข้ารับตำแหน่งได้เพียง 3 วัน
- CPTPP โจทย์ใหม่ "โจ ไบเดน" ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 46 ปัดฝุ่น TPP กลับมาอีกครั้ง
ณ เวลานี้ ก็มาถึงการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคของ "ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา คนที่ 46" เรียบร้อยแล้ว หลังผลการเลือกตั้งเห็นได้ชัดแล้วว่า "โจ ไบเดน" ผู้ท้าชิงจากพรรคเดโมแครต คือ คนที่ชาวอเมริกันเลือก ส่วน "โดนัลด์ ทรัมป์" ผู้ท้าชิงจากพรรครีพับลิกัน แม้จะออกมาโหวกเหวกโวยวาย แต่สุดท้าย...ก็ต้องเก็บของออกจากทำเนียบขาวไปตามกติกา
และเมื่อผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ออกมาแล้ว หลังจากนี้ เราก็ต้องมาตามกันต่อว่า สหรัฐฯ จะวางบทบาทตัวเองในประชาคมโลกในรูปแบบไหน?
เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า "สหรัฐอเมริกา" ภายใต้การนำของ "ประธานาธิบดีทรัมป์" นั้นมีแต่ความเลือดร้อน มุทะลุดุดัน ฟาดงวงฟาดงากับชาติอื่นๆ ไปทั่ว โดยเฉพาะมหาอำนาจโลกคู่ปรับอย่าง "จีน" ที่ประธานาธิบดีทรัมป์เพ่งเล็งเป็นพิเศษ เปิดศึก "สงครามการค้า" ท้าชนประธานาธิบดี "สี จิ้นผิง" ชนิดที่ว่ากัดไม่ปล่อย
มาตอนนี้ ยุคสมัยประธานาธิบดีทรัมป์ปิดฉากลงแล้ว แน่นอนว่า สปอตไลต์ทั่วทุกมุมโลกต่างก็สาดไปที่ "โจ ไบเดน" จับตาท่าทีว่าจะเดินหน้าสานต่อเกม America First ที่ประธานาธิบดีทรัมป์แสนภูมิใจ หรือจะโละทิ้งแล้วยกเครื่องใหม่ เดิมเกม By America
...
ซึ่งหนึ่งในเกมที่น่าสนใจ คือ เกม CPTPP ที่แรกเริ่มเดิมทีเป็นนโยบายที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 44 อย่าง "บารัค โอบามา" หมายมั่นปั้นมือ ก่อนจะถูกเททิ้งอย่างไม่ไยดีในยุคสมัยประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 45 "โดนัลด์ ทรัมป์"
นั่นจึงน่าตามติดว่า ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 46 "โจ ไบเดน" จะหยิบความฝันประธานาธิบดีโอบามามาปัดฝุ่นใหม่ หรือจะเลือกเดินเส้นทางเดียวกับประธานาธิบดีทรัมป์...
Chapter 1: เริ่มต้นที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 44
TPP [Made in America]
The Trans-Pacific Partnership หรือ ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก ต้นกำเนิด CPTPP ที่เป็นหนึ่งในนโยบายหลักของ "ยุทธศาสตร์ปักหมุดเอเชีย" ที่ประธานาธิบดีโอบามาย้ำนักหนาว่า "หาก TPP ไม่เกิด สหรัฐฯ ไม่ได้เป็นคนเขียนกติกา ในอนาคต กติกาเหล่านั้นจะถูกเขียนโดยจีน!"
แน่นอนว่า...แม้ในวันที่ "โอบามา" ต้องอำลาตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เขาก็ยังยืนหยัดสนับสนุน TPP
ในวันนั้น เขาคาดหวังว่าจะได้อะไรจาก TPP?
ประธานาธิบดีโอบามามีความเชื่อมั่นว่า หากสหรัฐฯ เป็นผู้กำหนดกติกา "ถนนการค้าแห่งศตวรรษที่ 21" ด้วยตัวเอง ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก จะนำผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและกำไรมาให้แก่แรงงานและธุรกิจชาวอเมริกันอย่างมหาศาล
ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ที่ประธานาธิบดีโอบามาพูดถึงมีทั้งหมด 11 ประเทศ คือ ออสเตรเลีย, บรูไน, แคนาดา, ชิลี, ญี่ปุ่น, มาเลเซีย, เม็กซิโก, นิวซีแลนด์, เปรู, สิงคโปร์ และเวียดนาม หากรวมสหรัฐฯ เข้าไปด้วยก็จะเป็น 12 ชาติ ที่มีขนาดเศรษฐกิจรวมกันเกือบ 40% ของเศรษฐกิจโลกทั้งหมด หรือมูลค่ากว่า 3,396 ล้านล้านบาท
หาก TPP ถูกขับเคลื่อน นั่นเท่ากับว่า สหรัฐฯ จะส่งออกไปทั่วโลกได้มากขึ้น รวมถึงมาตรฐานการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาและนวัตกรรมก็จะแข็งแกร่งขึ้น นำไปสู่การจ้างงานที่จ่ายค่าแรงสูงขึ้น ซึ่งประธานาธิบดีโอบามาบอกว่า การผูกเศรษฐกิจกับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกผ่าน TPP จะทำให้สหรัฐฯ ทั้งปลอดภัยและแข็งแกร่ง
...
แต่หาก TPP ไม่เกิดขึ้น...
"เราสามารถเป็นผู้นำ และเราก็สามารถนั่งอยู่ริมสนามมองความสำเร็จผ่านเราไป..."
ประธานาธิบดีโอบามาตอบตรงไปตรงมาในเรื่องนี้ เมื่อครั้งที่ถูกตั้งคำถามจากชาวอเมริกันและสื่อมวลชน "หาก TPP ไม่สำเร็จจะเกิดอะไรขึ้น?" ว่า หาก TPP ไม่สำเร็จ... สินค้าอเมริกันก็ต้องเผชิญกับอุปสรรคการค้าและอัตราภาษีศุลกากรที่สูงในภูมิภาคนี้ต่อไป ไม่เพียงเท่านั้น ธุรกิจอเมริกันก็อาจสูญเสียการแข่งขันในการเข้าถึงตลาดเอเชียด้วย นั่นหมายความว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ก็อาจเติบโตเล็กน้อย สินค้าเกษตร-ปศุสัตว์ก็ต้องเจออุปสรรคในการส่งออก รวมถึงเจ้าของธุรกิจขนาดเล็กที่เคยมีความหวังว่าจะขายสินค้าไปทั่วโลก ก็อาจต้องพบว่า ตัวเองกำลังตกหลุมกติกาที่เข้มงวด
"การสร้างกำแพงเพื่อโดดเดี่ยวตัวเองจากเศรษฐกิจโลก...อาจทำให้เราพลาดโอกาสที่ยากจะเกิดขึ้นได้ ประเทศอื่นๆ ควรลงเล่นภายใต้กติกาที่สหรัฐฯ และพันธมิตรเป็นผู้กำหนด..."
แต่สุดท้าย... TPP ก็ไม่ได้เกิดขึ้นจริง จากไปพร้อมกับการอำลาตำแหน่งของประธานาธิบดีโอบามา
Chapter 2: ฉีกทิ้งอย่างไม่ไยดี...ด้วยมือประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 45
...
3 วันหลังจากสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 45 "โดนัลด์ ทรัมป์" ก็ทำตามที่หาเสียงไว้ทันที ด้วยการลงนามคำสั่งคณะบริหาร ถอนสหรัฐฯ ออกจากข้อตกลงการค้าเสรี TPP พร้อมย้ำเสียงดังฟังชัดว่า "TPP เป็นอันตรายต่อสหรัฐฯ อย่างยิ่ง นี่เป็นการฉกฉวยประโยชน์จากประเทศของเรา"
การกระทำนี้ของประธานาธิบดีทรัมป์ถูกเรียกขานว่าเป็น นโยบายแรกของ American First และเป็นหนึ่งในนโยบายที่เขาทำสำเร็จตามที่หาเสียงไว้
ทำไมประธานาธิบดีทรัมป์ถึงมองว่า TPP อันตรายต่อสหรัฐฯ?
หนึ่งในความเชื่อของประธานาธิบดีทรัมป์ คือ เขาเชื่อว่า TPP จะขโมยงานชาวอเมริกัน ขณะที่ สร้างกำไรมหาศาลให้กับบริษัทขนาดใหญ่
แต่ความเชื่อของประธานาธิบดีทรัมป์ก็ไม่ได้ผิดซะทีเดียว หากมองไปที่ "ญี่ปุ่น" หนึ่งในประเทศพัฒนาแล้วที่ลงนามในข้อตกลง TPP ก็มีการจ้างงานในประเทศกำลังพัฒนาที่มีแรงงานต้นทุนต่ำและกฎหมายแรงงานค่อนข้างเปราะบาง เช่น เวียดนาม ซึ่งผลจากเรื่องนี้ย่อมส่งผลให้การว่างงานในประเทศที่พัฒนาแล้วสูงขึ้น
...
สุดท้าย...แม้ TPP ไม่ได้ไปต่อ แต่ 11 ประเทศที่เหลือยังไม่จบ ก้าวสู่ข้อตกลงการค้าเสรีที่ไร้สหรัฐฯ เป็นผู้นำ เปิดเจรจาข้อตกลงการค้าใหม่ ที่ยังคงเงื่อนไขส่วนใหญ่ของ TPP ไว้ เว้นแต่ที่เกี่ยวข้องกับสหรัฐฯ เพราะมองว่าไม่จำเป็น โดยเรียกข้อตกลงใหม่นี้ว่า "ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก" (Comprehensive and Progressive Trans-Pacific Partnership) หรือ CPTPP
และการตัดสินใจของประธานาธิบดีทรัมป์ครั้งนี้ ก็ได้สร้างโอกาสอันยิ่งใหญ่ให้แก่มหาอำนาจเศรษฐกิจอย่าง "จีน" ผู้ที่ไม่ได้มีส่วนร่วมอะไรกับเขาเลยมาตั้งแต่ต้น
Chapter 3: ปัดฝุ่นอีกครั้ง...ในยุคสมัยประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 46
มีการกล่าวไว้ว่า การตัดสินใจของประธานาธิบดีทรัมป์ Making China Great Again
นั่นเพราะการถอนสหรัฐฯ ออกจากภูมิภาคนี้ เปิดโอกาสให้เงาของจีนครอบคลุมเหนือภูมิภาคนี้ ทั้งการเข้ามาเติมเต็มช่องว่างต่างๆ รวมถึงการใช้อำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจในการสร้างผลประโยชน์ทางการค้า
หากจะว่ากันตามตรง การมีจีนอยู่ใน CPTPP อาจเป็นประโยชน์ต่อสมาชิกและเศรษฐกิจโลกในวงกว้าง แถมยังชดเชยตลาดผู้บริโภคที่เคยเสียไปตอนสหรัฐฯ ถอนตัว โดยอาจมีขนาดเศรษฐกิจรวมกันมากกว่า 28% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมโลก และอาจทำกำไรเพิ่มขึ้น 4 เท่า เป็น 19 ล้านล้านบาท ไม่เพียงเท่านั้น การเข้าสู่ CPTPP ของจีนจะช่วยให้บริษัทเทคโนโลยีของจีนก้าวไปสู่ระดับโลกได้อย่างที่ตั้งใจไว้ได้
ในระยะยาว มีการมองว่า CPTPP อาจขยายไปสู่พิมพ์เขียวการปฏิรูปองค์การการค้าโลก (WTO) และวาระการค้าเสรีทั่วโลก ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงมากว่า "โจ ไบเดน" ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 46 จากพรรคเดโมแครต จะกลับไปเข้าร่วมข้อตกลง CPTPP อีกครั้ง
หนึ่งในเหตุผลคือ ว่าที่ประธานาธิบดี "ไบเดน" เป็นหนึ่งในผู้สนับสนุน TPP เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีในสมัยประธานาธิบดีโอบามา และก่อนหน้านี้ยังมีรายงานว่า เขาจะเจรจาข้อตกลงการค้าใหม่หากได้รับเลือกตั้ง และยังบอกกับ Think Tank ของ Council on Foreign Relations ว่า แม้ TPP จะไม่ใช่ข้อตกลงที่สมบูรณ์แบบ แต่ก็เป็นวิธีที่ดีสำหรับการรวมตัวกันของประเทศต่างๆ เพื่อควบคุมความตะกละของจีน
ดังนั้น จึงมีโอกาสที่เราจะได้เห็น "จีนและสหรัฐอเมริกา" อยู่ภายใต้ร่มเดียวกันที่เรียกว่า CPTPP
และไม่ว่าในท้ายที่สุด สหรัฐฯ จะตัดสินใจอย่างไร ...การตัดสินใจของจีนครั้งนี้ก็อาจมีส่วนช่วยลดความขัดแย้งได้ โดยการทำให้จีนเข้าใกล้บรรทัดฐานการค้าโลกที่ก้าวหน้าขึ้น
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ความยากในฐานะประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 46 ก็คือ ต้องสร้างสมดุลระหว่างผลประโยชน์ภายในประเทศและการเจรจา TPP ให้เป็นไปในวิถีทางที่คล้ายคลึงกับเวอร์ชันเดิม... ซึ่งนั่นก็ไม่รู้ว่า 11 ประเทศที่สานต่อ CPTPP ให้มาไกลขนาดนี้และว่าที่สมาชิกใหม่เช่น "จีน" จะยอมหรือไม่.
ผู้เขียน: เหมือนพระอาทิตย์
กราฟิก: Supassara Traiyansuwan
ข่าวน่าสนใจ:
- รู้จัก CPTPP ได้หรือเสีย "เวียดนาม" รอเสียบ จับตา "จีน" ดุลอำนาจเศรษฐกิจ
- "ทรัมป์" ทิ้งทวน สหรัฐฯ ตัดสิทธิ์ GSP ไทย รอบ 2 เจ็บแค่ไหน?
- "อาเซียน" โรงละครแห่งความขัดแย้ง ไม่จำเป็นต้องเลือกข้าง สหรัฐฯ vs จีน
- ขายวิญญาณให้ "ปิศาจ" หรืออคติเหยียดสีผิว เปิดความจริง "ตำนานบลูส์"
- เทรนด์ล้ำอนาคต ท่องเที่ยวผนึกการแพทย์ สู่ Medical & Wellness Hub ของโลก