อย่ารอให้ป่วยเเล้วจึงมาให้ความสำคัญ เพราะถึงแม้ “โรคกรดไหลย้อน” ไม่อันตรายถึงชีวิต แต่หากใครเป็นแล้ว บอกเลยว่าจะมีอาการทรมานสุดๆ กว่าจะหายต้องใช้เวลารักษานานหลายสัปดาห์
ฉะนั้น กันไว้ดีกว่าแก้ ถ้าแย่เดี๋ยวจะแก้ไม่ทัน โรคกรดไหลย้อนนี้เป็นกันได้ทุกวัย แต่จะพบมากในวัยทำงาน เพราะฉะนั้นเรามาทำความรู้จักโรคกรดไหลย้อนกันอย่างละเอียด จาก พญ.กัลยาณี พรโกเมรกุล หรือ คุณหมอกัล รพ.ยันฮี แพทย์ผู้มีความรู้ความชำนาญ สาขาอายุรศาสตร์โรคทางเดินอาหารและตับ มากว่า 10 ปี กันเลย
: โรคกรดไหลย้อนคืออะไร รู้หรือไม่ ไม่ได้มีแค่กรดที่ย้อน :
โรค (Gastro-Esophageal Reflux Disease; GERD) หรือ “โรคกรดไหลย้อน” เป็นโรคที่เกิดจากภาวะกรดหรือสารอาหารต่างๆ ในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับไปที่หลอดอาหาร กลไกการเกิดโรคจาก หูรูดหลอดอาหารส่วนล่างที่กั้นระหว่างกระเพาะกับหลอดอาหารอาจไม่แข็งแรง หรือทำหน้าที่ลดลง ทำให้การกั้นอาหารหรือสารต่างๆ ในกระเพาะ เช่น กรดอ่อน ด่าง อาหาร แก๊สที่อยู่ในกระเพาะแล้วทวนขึ้นไปที่หลอดอาหาร
...
: โรคกรดไหลย้อนเกิดจากอะไร 8 พฤติกรรมเสี่ยงที่ต้องระวัง :
จากประสบการณ์การรักษาผู้ป่วย คุณหมอกัลเปิดเผยว่า คนไทยป่วยด้วยโรคกรดไหลย้อนกันมาก โดยเฉพาะวัยทำงาน โรคกรดไหลย้อนสามารถเกิดในทุกวัย ทุกเพศ แม้ในเด็กทารกแรกเกิดที่ยังหูรูดไม่แข็งแรง และสตรีมีครรภ์ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมและปัจจัยกระตุ้น สาเหตุการเกิดโรคกรดไหลย้อน มีดังนี้
1. พฤติกรรมกินอาหารที่ทำให้หูรูดถูกกระตุ้นได้ง่าย เช่น อาหารรสจัด เผ็ด เค็ม หมักดอง ของมัน ของทอด อาหารย่อยยาก ทำให้หูรูดปิดลำบาก เกิดการกระตุ้นทำให้เกิดการระคายเคือง หรือหลังรับประทานอาหารแล้วนอนทันที
2. การรับประทานอาหารมื้อใหญ่ กินอิ่มเกิน กระเพาะรับได้ในปริมาณจำกัด
3. การดื่มสุรา สูบบุหรี่ ชา กาแฟ น้ำอัดลม จะไปกระตุ้นการทำงานของกรดในกระเพาะอาหารมากขึ้นจากเดิมที่มีกรดในกระเพาะอาหารในระดับหนึ่งตามปกติของร่างกาย
4. ภาวะอ้วน เนื่องจากคนอ้วนจะมีแรงดันในช่องท้องมาก ทำให้การเคลื่อนตัวของระบบอาหารได้ช้า อาหารแทนที่จะลงจากกระเพาะไปลำไส้ ทำให้เกิดการดีเลย์ ตีกลับขึ้นหลอดอาหาร
5. ความเครียด
6. พักผ่อนไม่เต็มที่ กรดหลั่งเยอะทำให้มีภาวะกรดไหลย้อนได้ง่าย
7. ภาวะหูรูดหย่อนกว่าคนอื่น เช่น ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ในระยะแรกๆ และใกล้คลอด เพราะร่างกายมีการปรับตัวเพื่อรองรับลูก เพราะฉะนั้นในช่องท้องแรงดันจะสูงขึ้น ทำให้หูรูดหลอดอาหารไม่แข็งแรง
8. คนไข้บางชนิดที่ทำให้หูรูดไม่กระชับ ปิดไม่สนิท เช่น ยาขยายหลอดลมในคนไข้กลุ่มที่เป็นโรคหอบหืด
: 6 อาการโรคกรดไหลย้อนที่ต้องพบแพทย์ :
อาการกรดไหลย้อน เป็นอย่างไร แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่า กำลังเป็นโรคกรดไหลย้อนอยู่ มีวิธีสังเกตอาการต่างๆ และสัญญาณเตือนดังนี้
อาการจำเพาะ พบบ่อย คือ แสบร้อนกลางอก, เรอเปรี้ยว
อาการที่พบได้น้อย แต่เป็นอาการคาบเกี่ยวโรคอื่นที่คาดไม่ถึง อาทิ เจ็บหน้าอกที่ไม่ได้เกิดจากโรคหัวใจ, ไอเรื้อรังเพราะกรดไหลย้อนบางครั้งขึ้นย้อนไปถึงกล่องเสียงด้านบนไประคายเคืองทำให้ไอได้ง่าย, กล่องเสียงอักเสบ, ฟันผุ ฟันกร่อน มีกลิ่นปาก เพราะกรดไหลย้อนขึ้นไปที่ช่องปากตอนนอน, กลืนติดขัดเหมือนมีก้อนจุกในคอ
อาการที่ต้องพบแพทย์ รวม 6 อาการ ดังนี้
- อาเจียนบ่อย หรือมีเลือดปน
- กลืนติด กลืนลำบาก
- อุจจาระมีเลือดปน
- อ่อนเพลีย ซีด
- น้ำหนักลดลงอย่างต่อเนื่องโดยไม่มีสาเหตุ
- กินยาตามหมอสั่งแล้วอาการไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง
...
: 3 วิธีรักษาโรคกรดไหลย้อน :
แนวทางการรักษาโรคกรดไหลย้อน คุณหมอกัลอธิบายว่า ใช้วิธีรักษาด้วยยาร่วมกับการปรับพฤติกรรม
โดยหากมีอาการให้มาพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยรักษา และให้ยาลดกรด ยากลุ่มกระตุ้นให้มีการเคลื่อนไหวของทางเดินอาหาร และยากลุ่มยับยั้งการหลั่งกรด ซึ่งยากลุ่มนี้ให้ผลการรักษาได้ดี และต้องรับประทานยานี้ติดต่อกัน 6-8 สัปดาห์ หรืออาจนานกว่านั้นขึ้นอยู่กับการวินิจฉัขของแพทย์ เมื่ออาการดีขึ้นแพทย์อาจปรับลดขนาดยาลงทีละน้อยจนหยุดยาได้
อย่างไรก็ตามหากรักษาแล้วอาการไม่ดีขึ้น ต้องตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม ด้วยการส่องกล้องทางเดินอาหารด้านบน เพื่อดูตำแหน่งหลอดอาหารว่าหูรูดผิดปกติมากแค่ไหน หลอดอาหารอักเสบรุนแรงแค่ไหน เพื่อประเมินและรักษาอาการได้อย่างถูกต้อง แต่หากอาการยังไม่ดีขึ้น จะมีนวัตกรรมใหม่ในการรักษาคือ วัดค่าความเป็นกรดในหลอดอาหาร ด้วยสายวัดระดับค่าความเข้มข้น
อาการกรดไหลย้อนห้ามกินอะไร?
ในการปรับพฤติกรรมและหลีกเลี่ยงอาหารที่กระตุ้นให้เกิดอาการโรคกรดไหลย้อน ได้แก่ ของทอด มัน เผ็ด รสจัด ของเปรี้ยว ผลไม้กลุ่มส้ม มะนาว มะขาม มะยม ของหมักของดอง เลี่ยงชนิดอาหารที่ทำให้หูรูดปิดไม่กระชับ หรือปิดไม่สนิท เช่น หอมหัวใหญ่ สะระแหน่ เปปเปอร์มินต์ งดชา กาแฟ น้ำอัดลม, แบ่งการกินอาหารเป็นมื้อเล็กๆ แต่รับประทานบ่อย ไม่รับประทานอาหารอิ่มเกินไป จะทำให้หูรูดหลอดอาหารเปิดง่ายขึ้น และทำให้เกิดการย้อนของกรดได้ง่ายขึ้นด้วย
...
การนอนควรยกศีรษะและลำตัวให้สูงขึ้นประมาณ 6 นิ้ว จะช่วยป้องกันการไหลย้อนกลับของกรดในกระเพาะอาหารได้ โดยไม่ควรใช้วิธีหนุนหมอนหลายๆ ใบ เพราะอาจทำให้กล้ามเนื้อหน้าท้องเกร็งตัว ซึ่งจะทำให้แรงดันจากในท้องสูงขึ้น และดันให้กรดย้อนขึ้นไปในหลอดอาหารได้ง่ายขึ้น
: แนวทางป้องกัน ไม่ให้ซ้ำรอยป่วย โรคกรดไหลย้อน :
แม้การเป็นโรคกรดไหลย้อนจะมีวิธีรักษาและไม่เป็นโรคร้ายแรง แต่หากรักษาโรคกรดไหลย้อนหายดีแล้ว คุณหมอกัลบอกว่าอาจย้อนกลับมาเป็นได้อีก เพราะฉะนั้นการป้องกันและดูแลตัวเองไม่ให้เกิดโรคขึ้นย่อมเป็นสิ่งที่ดีกว่า วิธีการดูแลตนเองเพื่อป้องกันไม่ให้ป่วยซ้ำ ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และลดปัจจัยเสี่ยงโรคกรดไหลย้อนดังนี้
1. หลีกเลี่ยงอาหารที่กระตุ้นให้เกิดโรคกรดไหลย้อน ดังที่กล่าวไปข้างต้น อาทิ ชา กาแฟ น้ำอัดลม อาหารทอด อาหารไขมันสูง อาหารรสจัด รสเผ็ด
2. หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่
3. รับประทานอาหารให้ครบทุกมื้อ ไม่รับประทานให้อิ่มจนเกินไป เพื่อให้ร่างกายย่อยอาหารได้หมดก่อนเข้านอน และหลังรับประทานอาหารเสร็จควรอย่างน้อย 3 ชั่วโมง จึงเอนตัวนอน
4. ลดน้ำหนัก คุมน้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ที่ดี และหมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
5. พักผ่อนให้เพียงพอ หาเวลาทำกิจกรรมยามว่างเพื่อคลายเครียด
...
เพียงเท่านี้ก็จะช่วยให้ห่างไกลจากโรคกรดไหลย้อน ซึ่งสิ่งสำคัญคุณหมอกัลเน้นย้ำ ให้ระวังพฤติกรรมการกิน เพราะโรคกรดไหลย้อนพบมากในวัยทำงานมากกว่าวัยอื่นๆ อันเนื่องจากการใช้ชีวิตที่เร่งรีบในทุกเรื่องทั้ง รีบกิน รีบไปทำงาน ทำให้มีพฤติกรรมการกินอาหารที่ไม่ถูกต้อง ไม่ตรงเวลา กินหนักมื้อดึก กินดึกแล้วนอนเลย
“โรคกรดไหลย้อน เกิดจากพฤติกรรม หายแล้วก็ป่วยอีกได้ แต่ถ้าไม่อยากป่วยโรคกรดไหลย้อนต้องปรับพฤติกรรมตัวเอง อย่ากินอิ่มเกิน หรือกินแล้วนอน โดยปกติหลังรับประทานอาหาร ควรเว้นการเอนกายลงทันทีอย่างน้อย 2-3 ชั่วโมง ถ้ารับประทานอาหารประเภทที่ย่อยยาก เช่น โปรตีน หลังรับประทาน 3 ชั่วโมงจะเอนหลังได้ หรือหากรับประทานของเหลว เช่น น้ำผลไม้ จะเอนหลังได้หลังเวลาผ่านไป 2 ชั่วโมง ถ้าป่วยแล้วไม่รักษา ก็อาจเป็นแผลในกระเพาะอาหาร รักษาไม่ถูกวิธีก็จะทำให้เป็นพังผืด อาจเป็นมะเร็งหลอดอาหารได้ แต่พบน้อย” คุณหมอกัลกล่าวแนะนำ.