สมกับเป็น "โดนัลด์ ทรัมป์" จริงๆ กับการทิ้งทวนตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ด้วยการประกาศตัดสิทธิ์ GSP สินค้าไทย รอบที่ 2 จำนวน 231 รายการ มูลค่ารวม 817 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 2.51 หมื่นล้านบาท...จนเกิดเป็นคำถามตามมาว่า "GSP คืออะไร?" และ "ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะทำให้ไทยเจ็บแค่ไหน?"
GSP ที่ว่านี้ คือ สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (Generalized System of Preferences) โดย "สหรัฐอเมริกา" จะให้สิทธิ์แก่ประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนา ที่มีรายได้ประชาชาติต่อหัวไม่เกิน 12,345 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 3.79 แสนบาท และมีคุณสมบัติตรงตามที่กำหนด ในเรื่องของการเปิดตลาดสินค้าและบริการ, คุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา, คุ้มครองสิทธิ์แรงงาน, กำหนดนโยบายลงทุนที่ชัดเจนและลดข้อจำกัดทางการค้า และสนับสนุนสหรัฐฯ ต่อต้านการก่อการร้าย
ซึ่งทางสหรัฐฯ ให้เหตุผลในการเริ่มโครงการ GSP ไว้ว่า จะช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจให้กับประเทศที่ได้รับสิทธิ์ และยืนยันว่า GSP ไม่ใช่โครงการต่างตอบแทนที่สหรัฐฯ จะใช้เป็นข้อต่อรองนำเข้าสินค้าไปประเทศเหล่านี้แน่นอน
...
แน่นอนว่า "ไทย" ก็เป็นหนึ่งใน 121 ประเทศที่ได้รับสิทธิ์ GSP จากสหรัฐฯ
แล้วไทยได้สิทธิ์ GSP มากแค่ไหน?
สหรัฐฯ ให้สิทธิ์ GSP กับสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมของไทย รวมกว่า 3,500 รายการ โดยสินค้าเหล่านี้จะได้รับประโยชน์จากการปรับลดอัตราภาษีศุลกากร หรือบางรายการอาจเป็น 0% ซึ่งสินค้าส่งออกสำคัญของไทยที่ได้รับสิทธิ์ GSP ก็อย่างเช่น อุปกรณ์ชิ้นส่วนยานยนต์, ชิ้นส่วนประกอบเครื่องปรับอากาศ, ถุงมือยาง, อาหารแปรรูป ฯลฯ
รวมทั้งหมดแล้ว ปี 2562 ส่งออกไทยใช้สิทธิ์ 1,109 รายการ เป็นประเทศที่ได้รับประโยชน์จากโครงการ GSP มากที่สุดเป็นอันดับ 2 เลยทีเดียว
แล้วทำไมอยู่ดีๆ ไทยถึงถูกตัดสิทธิ์ GSP?
การตัดสิทธิ์ GSP สินค้าไทยทั้ง 2 รอบนั้น มีสาเหตุแตกต่างกัน... ที่สหรัฐฯ อ้างว่า "ไทยขาดคุณสมบัติ!"
รอบแรก สหรัฐฯ อ้างว่า ขาดคุณสมบัติข้อ 4 คือ การคุ้มครองสิทธิแรงงาน ที่กล่าวหาว่า มาตรฐานแรงงานไทยไม่เป็นไปตามหลักสากล โดยตัดสิทธิ์ GSP สินค้าไทย 573 รายการ เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา มูลค่ากว่า 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 3.98 หมื่นล้านบาท ส่งผลกระทบเพียงเล็กน้อย หรือ 0.5% ของมูลค่าการส่งออกรวม แต่จาก 573 รายการนั้น ไทยใช้สิทธิ์ไปเพียง 315 รายการเท่านั้น
ผลกระทบจากการตัดสิทธิ์ GSP รอบแรก มีการคาดการณ์ในเบื้องต้นว่า อาจทำให้มูลค่าการส่งออกประจำปี 2563 ลดลงกว่า 32.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 1.01 พันล้านบาท
ส่วนรอบ 2 นี้ สหรัฐฯ อ้างว่า ขาดคุณสมบัติข้อ 2 คือ การเปิดตลาดสินค้าและบริการ ที่มีสาเหตุมาจาก "หมู"
โดยกล่าวหาว่า ไทยไม่มีการเปิดตลาดสินค้าและผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับหมูอย่างเป็นธรรม แม้ไทยจะแย้งว่า ที่ไม่เปิดตลาดนำเข้าเนื้อหมูของสหรัฐฯ ก็เพราะกรณีการใช้สารเร่งเนื้อแดง (Ractopamine) แต่สหรัฐฯ ก็ประกาศตัดสิทธิ์ GSP เพิ่มอีก 231 รายการ มีผลบังคับใช้ 30 ธันวาคม 2563 เป็นต้นไป มูลค่ากว่า 817 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 2.51 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 0.3% ของมูลค่าการส่งออกรวม
และจาก 231 รายการที่ถูกตัดสิทธิ์เพิ่มในรอบ 2 นี้ นับตั้งแต่เดือนมกราคม-สิงหาคม ไทยใช้สิทธิ์ไปเพียง 147 รายการ ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องกลับมาเสียภาษีอัตราปกติเฉลี่ย 3-4% เท่ากับว่า ไทยจะมีภาระเพิ่มประมาณ 19 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 582 ล้านบาท และสินค้าที่ถูกตัดสิทธิ์จะมีต้นทุนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นประมาณ 3.1% ซึ่งกระทบยอดขายสินค้าส่งออกโดยรวมไม่มากนัก อาจลดลงราว 3.2-6.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 98-193 ล้านบาท
...
ซึ่งสินค้าที่มีความเสี่ยงน่าจับตาว่าจะได้รับผลกระทบสูง ได้แก่ ผักดองเปรี้ยว, ผักแห้ง, ไฟประดับต้นคริสต์มาส เป็นต้น
รวมแล้วสหรัฐฯ ตัดสิทธิ์ GSP ทั้ง 2 รอบ ไทยเจ็บแค่ไหน?
มูลค่ารวมการส่งออกสินค้าไทยที่ถูกตัดสิทธิ์ GSP ทั้ง 2 รอบ อยู่ที่ราว 1.92 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 5.87 หมื่นล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 0.8% ของการส่งออกรวมเท่านั้น แต่หากเมื่อเทียบกับปี 2562 ก็อาจทำให้มูลค่าการส่งออกสินค้าไทยที่ได้รับสิทธิ์ GSP หายไปราว 40%
หากย้อนกลับไปเมื่อปี 2562 "ทามารา มาสท์ เฮนเดอร์สัน" นักเศรษฐศาสตร์ด้านอาเซียนของ Bloomberg เคยวิเคราะห์ไว้ว่า ไทยอาจไม่ใช่เป้าหมายสุดท้ายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่สหรัฐฯ จะทำสงครามการค้าด้วย เพราะหากมองไปลึกๆ แล้ว สหรัฐฯ มีความกังวลว่า จีนจะเบี่ยงเบนเส้นทางสินค้าไปอาเซียนมากกว่า เพราะนั่นหมายความว่า จีนกำลังพยายามหลบหลีกบทลงโทษทางภาษีของสหรัฐฯ
แม้ว่า GSP จะให้สิทธิพิเศษภาษีศุลกากร แต่ก็มีข้อกังขาในบรรดานักเศรษฐศาสตร์ ว่า โครงการ GSP ของสหรัฐฯ อาจไม่ใช่นโยบายที่ใจกว้างนัก
...
นั่นเพราะว่า การจะให้สิทธิ์ GSP หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของสหรัฐฯ แต่เพียงฝ่ายเดียว! ...อยู่ดีๆ ก็อาจขาดคุณสมบัติได้ หากสหรัฐฯ มองว่า ตัวเองกำลังเสียเปรียบ! เรียกได้ว่า การเข้าถึงอัตราภาษี 0% ภายใต้โครงการ GSP นั้นมี "ต้นทุน" ที่ต้องแลก
เช่นไทย หากยอมนำเข้า "เนื้อหมู" จากสหรัฐฯ คนที่จะได้รับผลกระทบเป็นด่านแรกคงหนีไม่พ้น "เกษตรกรไทย" เพราะต้นทุนการเลี้ยงหมูของสหรัฐฯ ต่ำกว่าไทยมาก ที่สำคัญหากนำเข้าเนื้อหมูที่มีสารเร่งเนื้อแดงก็อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพ
แต่กับประเทศยากจนแล้ว ก็ยากที่จะปฏิเสธข้อเสนอลดกำแพงภาษีการค้าเหล่านี้ได้ ต้องตกอยู่ใน "ภาวะจนมุม"
สำหรับภาพรวมการค้ากับ "สหรัฐฯ" นั้น ไทยก็ค่อนข้างได้เปรียบ...
...
ปี 2562 สหรัฐฯ ส่งออกมาไทย มูลค่า 1.33 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 4.08 แสนล้านบาท ส่วนไทยส่งออกไปสหรัฐฯ มูลค่า 3.35 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 1.03 ล้านล้านบาท รวมแล้วสหรัฐฯ ขาดดุลสะสม 2.02 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 6.18 แสนล้านบาท
และปี 2563 นับตั้งแต่เดือนมกราคม-กันยายน สหรัฐฯ ส่งออกมาไทย มูลค่า 8.36 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 2.57 แสนล้านบาท ส่วนไทยส่งออกไปสหรัฐฯ มูลค่า 2.74 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 8.4 แสนล้านบาท รวมแล้วสหรัฐฯ ขาดดุลสะสม 1.9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 5.83 แสนล้านบาท
โดยไทยเป็นประเทศที่สหรัฐฯ ขาดดุลสะสมมากที่สุดเป็นอันดับ 11 และแน่นอนว่า อันดับ 1 คือ จีน
จากเสียงส่งท้ายของบรรดาผู้ส่งออก ยอมรับว่า "ยังไงวันนี้ก็ต้องมาถึง..."
ดังนั้น ผู้ส่งออกจึงต้องปรับตัวและค้นหาตลาดใหม่ๆ เพื่อกระจายความเสี่ยง และหนทางที่ดีอีกทางหนึ่ง คือ การเปิดเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี หรือ FTA
และหนึ่งในความหวังจาก ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา บรรดาผู้ส่งออกก็มองว่า หาก "โจ ไบเดน" ตัวแทนจากพรรคเดโมแครตที่สนับสนุนการค้าเสรีได้รับชัยชนะ ก็มีความเป็นไปได้ว่า ไทยอาจได้รับการทบทวนสิทธิ์ GSP อีกครั้ง...
ข่าวน่าสนใจ:
- เทรนด์ล้ำอนาคต ท่องเที่ยวผนึกการแพทย์ สู่ Medical & Wellness Hub ของโลก
- ถึงเวลาปฏิวัติ จะเป็น "แรงงาน" คุม "หุ่นยนต์" หรือถูกแทนที่แล้วตกงาน
- 'ทรัมป์' vs 'ไบเดน' ประชันนโยบายเศรษฐกิจ-จ้างงาน เลือกใครได้อะไร
- "อาเซียน" โรงละครแห่งความขัดแย้ง ไม่จำเป็นต้องเลือกข้าง "สหรัฐฯ" vs "จีน"
- "สงครามการค้า" ในสมรภูมิเลือกตั้ง จีนลุ้น 'ทรัมป์' vs 'ไบเดน'