เวลานี้เหมือนกับ “อุณหภูมิทางการเมือง” เริ่มลดลงมาแล้วเล็กน้อย หลังทะลักจุดเดือดในช่วงเดือนตุลาคม โดยเฉพาะวันที่ 16 ตุลาคม ที่การฉีดน้ำใส่ กลายเป็นราดน้ำมันบนกองเพลิง ส่งผลให้มีการยกระดับการชุมนุมไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งแต่นั้น
อย่างไรก็ตาม ทางรัฐบาลกำลังเดินหน้าแก้ปัญหา ด้วยการเสนอคณะปรองดองสมานฉันท์ แต่...ดูเหมือนจะเป็นการ “ตบมือข้างเดียว” เพราะแกนนำม็อบก็แสดงออกอย่างชัดเจนว่า “ไม่เอาด้วย”
ในนาทีนี้ยังมีทางออกอีกหรือไม่ แล้วออกอย่างไร การเมือง THE SERIES โดย ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้ร่วมพูดคุยกับ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ที่ปรึกษา อนุทิน ชาญวีรกูล รมว.สธ. และ 1 ในผู้ก่อตั้ง CARE กลุ่มเคลื่อนไหวทางสังคมและเศรษฐกิจ
นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในรอบ 3 เดือนที่ผ่านมา เป็นสถานการณ์ที่ประหลาดใจ เพราะหากย้อนเวลากลับไปต้นปี แล้วมาบอกว่าช่วงเวลาตั้งแต่เดือนกรกฎาคมจนถึงตุลาคมจะมีการประท้วงใหญ่ เชื่อว่าไม่มีใครคิดว่าจะเป็นไปได้
“ผมได้มีโอกาสพูดคุยกับคนที่ทำตำราด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ก็บอกว่า 2-3 ปีที่ผ่านมา เด็กรุ่นใหม่เริ่มอ่านหนังสือที่เกี่ยวข้องกับทางด้านสังคมศาสตร์ ประวัติศาสตร์ มนุษยศาสตร์มากขึ้น ซึ่งแปลกใจมาก แต่พอเกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า การระเบิดทางปัญญาขึ้นมา จึงเห็นชัดว่าเพราะคนรุ่นใหม่เขาไม่ได้กลวง ไม่ได้มองอะไรดักดาน ไม่มีความลุ่มลึกเลย เขาศึกษาเรื่องเหล่านี้มามากพอสมควร”
...
หมอเลี้ยบ มองว่าทางออกปัญหาในเรื่องนี้คนเสนอหลายรูปแบบ ทั้งการรัฐประหารอีกรอบ ซึ่งเป็นข้อเสนอที่สุดโต่งนี้แน่นอนคือ “ผมไม่เอาด้วย” และคนในประเทศก็ไม่เห็นด้วย หรือแม้แต่ตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ ซึ่งมันไม่ตอบโจทย์อะไร
“สิ่งที่ต้องทำคือการปลดชนวนของปัญหาคือ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องลาออก โดยมีทางเลือกอยู่ 2 ทางคือ 1. เสียสละตนเองด้วยการลาออก วิธีนี้อาจจะได้รับคำชื่นชมว่าเป็นผู้ปลดล็อกวิกฤติครั้งนี้ และ 2. หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี เฉกเช่นเดียวกับสมัยของ ดร.ทักษิณ ชินวัตร ในช่วงปี 2549 ที่หยุดปฏิบัติหน้าที่ 2 เดือน เพื่อมีโอกาสมาทบทวนกัน”
รัฐบาลแห่งชาติ เป็นไปไม่ได้ ทางที่ควรจะเป็นคือ รัฐบาลเฉพาะกิจ
อดีตรัฐมนตรีหลายสมัย กล่าวถึงความเป็นไปได้ในทางแก้ปัญหาว่า การตั้งรัฐบาลแห่งชาติถือเป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้ เพราะรัฐบาลแห่งชาติแปลว่าไม่มีฝ่ายค้าน ไม่มีการตรวจสอบ แต่ทางที่ดีคือ นายกฯ ต้องลาออกแล้ว ก็อาจจะตั้งใครขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีก็ได้ ซึ่งแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี 5 คนที่ผ่านมา คือ คนจากพรรคเพื่อไทย 3 คน ได้แก่ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ คุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ คุณชัยเกษม นิติสิริ หรือ คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จากพรรคประชาธิปัตย์ คุณอนุทิน ชาญวีรกูล จากพรรคภูมิใจไทย
ใครก็ได้ใน 5 คนนี้ เพื่อมาทำงานเป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อตั้ง “รัฐบาลเฉพาะกิจ” จากนั้นก็เข้ามาแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ลดอำนาจ ส.ว.ในการโหวตนายกรัฐมนตรี มาตรา 91-93 ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งโดยใช้บัตร 2 ใบ และแก้มาตรา 256 เพื่อจะให้มีการตั้ง ส.ส.ร. จากนั้นก็ยุบสภา ระหว่างนั้น ส.ส.ร.ก็ร่างรัฐธรรมนูญไป และรอให้มีการตั้งรัฐบาลใหม่
ซึ่งหนทางที่ นพ.สุรพงษ์ กล่าว จะเป็นไปได้หรือไม่ มีปัจจัยอะไรรองรับ ลองติดตามรับชมในคลิปนี้ได้เลย
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ