เมื่อชัยภูมิสำคัญอย่าง "ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้" กำลังกลายเป็น "โรงละครแห่งความขัดแย้ง" ระหว่าง 2 มหาอำนาจทางเศรษฐกิจโลก "สหรัฐอเมริกา" vs "จีน" สถานการณ์ตึงเครียดเสมือนถูกบีบให้เลือกข้าง พันธมิตรชาติ "อาเซียน" ที่มี "ไทย" อยู่ในนั้นควรตัดสินใจอย่างไร?

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ช่วง 2-3 ปีมานี้ ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนไม่ราบรื่นนัก จนแทบจะกลายเป็น "ศัตรูคู่แค้น" ในทุกๆ มิติเลยก็ว่าได้ ฟาดฟันกันมาตั้งแต่... สงครามการค้า, ความมั่นคงทางทะเล ลุกลามไปจนถึงการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ของไวรัสโคโรนา (โควิด-19) และการวางโครงข่าย 5G ที่การทะเลาะเบาะแว้งไม่ได้ตีวงอยู่แค่ 2 ประเทศมหาอำนาจโลกนี้เท่านั้น แต่ดันลากประเทศนู้น ประเทศนี้ มาเอี่ยวด้วยแบบงงๆ

แน่นอนว่า เมื่อ 2 มหาอำนาจโลกฟาดงวงฟาดงาใส่กันไม่ยั้งแบบนี้...ก็ต้องหาพรรคพวกสนับสนุน พวกฉัน พวกเธอ และเป้าหมายที่ถูกเลือกเป็นอันดับต้นๆ ก็หนีไม่พ้น 10 ชาติสมาชิกประชาคมอาเซียน ที่มีชื่อเต็มว่า สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of Southeast Asian Nations: ASEAN) ซึ่งไทยเองก็เป็นหนึ่งในนี้

และนั่นก็เกิดเป็นปัญหาว่า "อาเซียน" จะตัดสินใจเลือกอยู่ข้างใคร?

หากมองจากภาพรวมๆ เรียกว่า จีนทำคะแนนค่อนข้างดีกับบทบาทพันธมิตรที่ยอดเยี่ยม การลงทุนต่างๆ หลั่งไหลสู่อาเซียน หลายๆ ประเทศยอมรับจีนเข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้มาก นับตั้งแต่การแพร่ระบาดโควิด-19 จีนก็กลายเป็นคู่ค้าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียน โดยไตรมาสแรก 2563 การค้าขายระหว่างจีนกับอาเซียนเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 6% มูลค่ากว่า 4.35 ล้านล้านบาท นี่จึงอธิบายได้ว่า ทำไมเศรษฐกิจอาเซียนถึงไม่หดตัวรุนแรงเทียบเท่ากับฝั่งตะวันตกหรือประเทศอื่นๆ โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์การหดตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาว่าอาจจะอยู่ที่ -8%, สหภาพยุโรป -8.2%, สหราชอาณาจักร -8.4%, ญี่ปุ่น -5.4% และอินเดีย -5.6%

...

ซึ่งตัวเลขการเติบโตที่ติดลบของประเทศเหล่านี้ รวมถึงสหรัฐอเมริกา ก็บ่งชี้ได้ว่า อาเซียนอาจไม่ต้องพึ่งพากลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักๆ เหล่านี้เพื่อมาช่วยฟื้นฟูความทุกข์ระทมทางเศรษฐกิจเลยก็ได้

แต่ในทางกลับกัน ไตรมาส 2 จีนมีอัตราการเติบโตเป็นบวก 3.2% ซึ่งอาจเป็นเขตเศรษฐกิจเพียงแห่งเดียวที่ไม่ต้องจมลงสู่ภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจในปีนี้ และก็เป็นไปได้ว่า จีนจะสามารถดึงอาเซียนออกจากความตกต่ำทางเศรษฐกิจที่ถูกไวรัสโควิด-19 ทำลายจนย่อยยับนี้ได้

หากมองแค่ตัวเลขเศรษฐกิจก็น่าจะเลือกอยู่ข้าง "จีน" ใช่ไหม?

อย่าเพิ่งด่วนสรุปขนาดนั้น

เพราะอีกมุมหนึ่ง จีนกลับมีความสัมพันธ์ที่ไม่ค่อยดีนักกับสมาชิกบางรายในอาเซียน กับการอ้างสิทธิ์เหนืออาณาเขตทะเลจีนใต้ ที่กลายเป็นประเด็นร้อน และสหรัฐอเมริกาก็สบช่องเข้ามาเสนอตัวร่วมขัดขวางการรุกล้ำของจีนด้วย เรียกว่าตามตอแยไม่ปล่อย มีจีนที่ไหน มีสหรัฐอเมริกาที่นั่น

การเปิดฉากร่วมซ้อมรบระหว่างชาติอาเซียนและสหรัฐอเมริกา ที่เรียกว่า "ปฏิบัติการเสรีภาพการเดินเรือ" (Freedom of Navigation Operations) เป็นการส่งสัญญาณเล็กๆ ว่าจะเข้ามาช่วยพี่น้องอาเซียนขัดขวางจีนไม่ให้ลงเสาเข็มปักหมุดอ้างสิทธิ์อาณาเขตน่านน้ำ และยังกระตุ้นอารมณ์ให้กับสมาชิกอาเซียนบางราย เช่น อินโดนีเซีย และเวียดนาม ให้คุกรุ่นยิ่งกว่าเดิมและไม่ยอมประนีประนอมทางการเมืองเป็นแน่ จึงมีความเป็นไปได้ว่า หากต้องเลือกข้างจีนอาจไม่ได้เกิดขึ้น เพราะ 2 ชาตินี้คงไม่ยอมง่ายๆ

หรืออาเซียนจะเลือกอยู่ข้าง "สหรัฐอเมริกา" ?

ก็ดูเป็นไปไม่ได้อีก... เพราะการเข้ามาของสหรัฐอเมริกาก็ไม่ได้ดูจริงใจอยากช่วยเหลือขนาดนั้น จากท่าทีแล้วเพียงต้องการให้อาเซียน "ซื้ออาวุธ" จากสหรัฐอเมริกาเท่านั้น!

สรุป "อาเซียน" จะเอายังไง?

ลองไปดูผลสำรวจ State of Southeast Asia 2020 ของสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ยูโซฟ อิสฮัค (ISEAS-Yusof Ishak Institute) ที่สำรวจระดับมันสมอง (Think Tank), นักการเมือง รวมถึงภาคธุรกิจ และ NGO กว่า 1,308 คนจากประเทศสมาชิกอาเซียน พบว่า เลือกสหรัฐอเมริกา 54% และชอบจีนมากกว่า 46%

แต่เมื่อแยกดูรายประเทศแล้ว จีนได้รับเสียงสนับสนุนมากถึง 7 ประเทศจาก 10 ประเทศ แบ่งเป็น บรูไน 69%, กัมพูชา 58%, อินโดนีเซีย 52%, ลาว 74%, มาเลเซีย 61%, เมียนมา 62% และไทย 52%

ขณะที่ สหรัฐอเมริกากลับได้รับเสียงสนับสนุนเพียง 3 ประเทศ คือ ฟิลิปปินส์ 83%, เวียดนาม 86% และสิงคโปร์ 61% ซึ่งเหตุผลที่ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม เลือกสหรัฐอเมริกาก็มาจากประเด็นข้อพิพาททะเลจีนใต้นั่นเอง

...

แม้ว่าผลสำรวจจะแบ่งข้างกันแบบนี้แล้ว แต่หากต้องเลือกข้างจริงๆ กลับมีคำตอบว่า

"ไม่จำเป็นต้องเลือกข้าง!!"

อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแห่งอินเดีย "ซีฟ ซันการ์ เมนอน" (Shivshankar Menon) ส่งเสียงสนับสนุนการยืนหยัดอย่างแข็งกร้าว และเข้มแข็งของ "อาเซียน" ภายในงาน Asia Briefing Live 2020 โดยเขามองว่า "อาเซียนไม่จำเป็นต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะมี "จีน" เป็นศูนย์กลาง หรือการมีผู้นำเป็น "สหรัฐอเมริกา" ก็ตาม เพราะหากมองย้อนกลับไปในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่า มหาอำนาจระดับกลางทำอะไรได้มากกว่าการร่วมมือกันเฉยๆ และพวกเขาเคยทำสำเร็จมาก่อน"

และโดยที่ไม่รู้ตัว "อาเซียน" กำลังถูกทำให้กลายเป็น "โรงละครแห่งความขัดแย้ง!"

...

ศาสตราจารย์ เดวี ฟอร์ตูนา อันวาร์ (Dewi Fortuna Anwar) ประจำศูนย์ศึกษาวิจัยการเมือง สถาบันวิทยาศาสตร์อินโดนีเซีย (Politics Research Center, Indonesian Institute of Science) เน้นย้ำว่า พวกเขาพยายามมาตลอดที่จะขัดขวางไม่ให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องกลายไปเป็นโรงละครแห่งความขัดแย้งของ 2 มหาอำนาจโลก นั่นจึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมเราจึงจำเป็นต้องทำให้อาเซียนเข้มแข็งขึ้น

ในมุมมองนี้ รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการด้านเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศ ยอมรับกับ "ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์" ว่า ประชาคมอาเซียนไม่ได้รวมกันเป็น Supranational Union ยังเป็นกลุ่มประเทศที่รวมกันอย่างหลวมๆ ความร่วมมือยังไม่แน่นแฟ้นเหมือนกับสหภาพยุโรป (EU)

แต่หากถามว่า ในอนาคต "จีน" จะเข้ามาในอาเซียนมากขึ้นไหม?

รศ.ดร.สมชาย มองว่า "จีนมาแน่!!"

เหตุผลก็เพราะสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกายังไม่สงบ ทำให้บริษัทจีนจำเป็นต้องเปลี่ยนสัญชาติและค่าแรงของแรงงานอาเซียนก็ถูกกว่าจีน ในอนาคต ความสัมพันธ์ระหว่างจีน และอาเซียนจะเข้ามามีบทบาทหลายอย่าง โดยเฉพาะเรื่องของการค้า บอกได้เลยว่า จีนจะมีบทบาทกับอาเซียนมากขึ้น

...

แต่หากเทียบว่า "จีน" จะเหนือกว่าชาติตะวันตกหรือไม่?

ก็ลองคิดภาพตาม รศ.ดร.สมชาย ที่อธิบายได้ว่า ยุคความยิ่งใหญ่ของฝั่งตะวันตกมีการแข่งขันกันมากขึ้น สหรัฐอเมริกา หรือยุโรป ไม่ได้แย่ลง เพียงแต่โลกมันเปลี่ยนแปลง สหรัฐอเมริกาและตะวันตกขึ้นไประดับหนึ่ง จีนดีดขึ้นมาระดับหนึ่ง แต่ความแตกต่างยังมีอยู่ เพราะสหรัฐอเมริกาและตะวันตกยังคงนำอยู่ โดยเฉพาะในแง่เทคโนโลยี

ฉะนั้น นี่ก็อาจตอบได้ว่า ไม่ว่าจะเป็น "สหรัฐอเมริกา" หรือ "จีน" ...ก็ไม่จำเป็นต้องเลือกข้าง นี่คือ นโยบายที่ดีที่สุดของอาเซียน โดยเฉพาะชาติอาเซียนที่ได้ดุลการจากสหรัฐอเมริกา แถมยังได้ประโยชน์จากการลงทุนของจีนที่หนีสงครามการค้า

แม้ "อาเซียน" ไม่จำเป็นต้องเลือกข้าง แต่ "จีน" คงอยากเลือกข้าง

หมายความว่าอย่างไร?

นอกจากการกระชับความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจระหว่างอาเซียนแล้ว สิ่งที่จีนมุ่งหวังก็คือ อำนาจอธิปไตยเหนือน่านน้ำทะเลจีนใต้ ที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นขวากหนามชิ้นใหญ่ ดังนั้น ในห้วงเวลาของการแย่งชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 46 ครั้งนี้ จีนเลยมีความหวังลึกๆ ที่แอบเชียร์ให้ "โจ ไบเดน" คว้าชัย!

ทำไม "จีน" ถึงอยากให้ "โจ ไบเดน" ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ

คงต้องย้อนกลับไปในสมัยที่ "บารัค โอบามา" ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ และ "โจ ไบเดน" เป็นรองประธานาธิบดี ที่ครั้งนั้น จีนประสบความสำเร็จในการเข้าควบคุมน่านน้ำทะเลจีนใต้

ในปี 2556 จีนมีความพยายามในการเข้าไปฟื้นสภาพที่ดินในทะเลจีนใต้ ช่วงแรกก็ทำไปแบบช้าๆ และระมัดระวัง พร้อมๆ กับประเมินท่าทีของคณะบริหารโอบามา-ไบเดน ด้วยการส่งเรือขุดไปยังเกาะปะการังจอห์นสันเซาท์ ในหมู่เกาะสแปรตลี ซึ่งจีนใช้เวลาในการสร้างเกาะใหม่ขนาด 11 เฮกตาร์ ในระยะเวลาไม่ถึง 4 เดือน ภายใต้การคุ้มกันโดยเรือรบจีน

เมื่อจีนแน่ใจแล้วว่า คณะบริหารโอบามา-ไบเดน ไม่มีการตอบโต้อะไรรุนแรงกลับมา ก็เริ่มเคลื่อนไหวอีกครั้ง สร้างเกาะเพิ่มมากขึ้น โดยอ้างว่า การฟื้นสภาพที่ดินเหล่านี้ทำไปเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ เช่น การประมงและการสำรวจพลังงาน... แต่ภายหลังภาพถ่ายดาวเทียมกลับแสดงให้เห็นว่า เกาะที่จีนสร้างขึ้นนั้นมีทั้งรันเวย์, ท่าเรือ, โรงเก็บเครื่องบิน, อุปกรณ์เรดาร์ และเซนเซอร์ รวมถึงโรงเรือนทหาร

แต่เช่นเคย... คณะบริหารโอบามา-ไบเดน ไม่ได้แสดงท่าทีตอบโต้อะไรเป็นพิเศษ แถมยังไม่หยุดยั้งจีนที่พยายามขยายอาณาเขตเหนือน่านน้ำทะเลจีนใต้ จนกลายเป็นข้อพิพาทรุนแรงระหว่างจีนและชาติอาเซียนอย่าง ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม

จนกระทั่งการเข้ามาของคณะบริหาร "โดนัลด์ ทรัมป์" ที่ทำให้แผนการขยายอาณาเขตเหนือน่านน้ำทะเลจีนใต้ของจีนต้องหยุดลง

คณะบริหารทรัมป์ประกาศสนับสนุนคำวินิจฉัยของศาลอนุญาโตตุลาการถาวร ในกรุงเฮก ที่ยกคำร้องการอ้างสิทธิเหนือน่านน้ำทะเลจีนใต้ของจีน โดยระบุว่า ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และละเมิดสิทธิทางเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์อย่างชัดเจน และนั่นยังเป็นผลทำให้เกิดความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมต่อแนวปะการังใต้ทะเล ไม่เพียงเท่านั้น คณะบริหารทรัมป์ยังส่งเรือบรรทุกเครื่องบิน 2 ลำ เข้าไปยังน่านน้ำใกล้กับทะเลจีนใต้อีกด้วย

แม้ว่า ไบเดนอาจจะเลือกใช้วาทศิลป์ที่ดุดันในการต่อต้านจีนในอนาคต แต่จีนก็เลือกที่จะให้มองท่าทีที่ไม่แสดงท่าทีที่ผ่านมาของไบเดนมากกว่า

ดังนั้น หากไบเดนชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ จีนก็เชื่อว่าการทำธุรกิจร่วมกันน่าจะไปได้ดีกว่าทรัมป์ และคาดว่า ไบเดนจะทบทวนนโยบายที่แข็งกร้าวของคณะบริหารทรัมป์ใหม่

ยิ่งมีข่าวลือว่า จีนมีสัมพันธ์ลับๆ ที่ค่อนข้างไปได้ดีกับครอบครัวไบเดนมานานหลายทศวรรษ ก็มีความเป็นไปได้ว่า 4 ปี ของการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ของไบเดน นั้นเพียงพอต่อการทำให้ "สี จิ้นผิง" ประธานาธิบดีจีน เติมเต็มความทะเยอทะยานในการจัดระเบียบโลกใหม่โดยมีจีนเป็นศูนย์กลาง ก้าวสู่มหาอำนาจเทคโนโลยี ตลอดจนทำให้ Made in China 2025 ประสบความสำเร็จได้อย่างสวยงาม.

ข่าวน่าสนใจ: