การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่จะมีขึ้นในวันที่ 3 พ.ย. 2563 นี้ ใครจะเป็นผู้ชนะระหว่างประธานาธิบดี "โดนัลด์ ทรัมป์" จากพรรครีพับลิกัน หรือ "โจ ไบเดน" จากพรรคเดโมแครต อะไรคือจุดที่ต้องจับตา หรือจุดชี้ขาดชัยชนะที่จะนำพาคนใดคนหนึ่งไปสู่ประตูทำเนียบขาว

และคำถามที่ท้าทายหลังการเลือกตั้งครั้งนี้มากกว่า คือ ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ซึ่งเสื่อมทรามลงภายใต้การบริหารงานของท่านผู้นำทรัมป์ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา จะได้รับการปรับปรุง เพื่อหลีกเลี่ยงทั้งความขัดแย้งในเชิงของสงครามการค้า หรือเลวร้ายไปกว่านั้น คือ สงครามเย็นครั้งใหม่ ภายใต้ฉากหลังที่ยังคงเต็มไปด้วยความหายนะอันเกิดจากการแพร่ระบาดของโรค Covid-19 ไปทั่วโลก ที่จนถึงบัดนี้ยังไม่รู้ว่ามันจะสิ้นสุดลงเมื่อไหร่ หรือไม่?

รวมถึงคำถามที่ใครก็อยากรู้? คดีความต่างๆ ที่เกิดขึ้นมากมายของท่านผู้นำทรัมป์จะได้รับการชำระสะสางหรือไม่ หากผู้นำผู้เกรี้ยวกราดคนนี้เกิดพลาดพลั้งตกทำเนียบขาวในเทอมที่ 2

ทั้งหมดนี้เรามีคำตอบที่พยายามสรุปสาระสำคัญในประเด็นต่างๆ มาให้ทุกท่านได้ร่วมกันสังเคราะห์ นับจากบรรทัดนี้เป็นต้นไป...

"ผมมั่นใจว่า โจ ไบเดน จะเป็นผู้ชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในวันที่ 3 พ.ย.นี้" ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์และการเมืองของสหรัฐอเมริกา ฟันธงแบบไม่มีกั๊กกับ "ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์" ในประเด็น "ใครคือผู้ชูธงที่ทำเนียบขาวคนต่อไป?"

เหตุผลประการแรก คือ ปัจจุบันสำนักโพลหลายแห่งยังคงได้ข้อสรุปที่ตรงกันว่า ไบเดนจะเป็นผู้ชนะในครั้งนี้ อีกทั้งคะแนนตามโพลที่นำอยู่ยังมากกว่าที่ นางฮิลลารี คลินตัน เคยนำ โดนัลด์ ทรัมป์ ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปี 2016 อีกด้วย

...

ประการที่ 2 คราวนี้พรรคเดโมแครตมีการทำการบ้านเพื่อแก้ไขข้อผิดพลาดคราวที่แล้วมาเป็นอย่างดี โดยเฉพาะการลงพื้นที่หาเสียงอย่างหนัก เพื่ออุดช่องโหว่ที่เคยพลาดพลั้งเสียคะแนนกลุ่มผู้หญิง กลุ่มผู้สูงวัยทั้งหญิงและชาย รวมถึงกลุ่มคนผิวขาวที่การศึกษาต่ำกว่าระดับปริญญาตรีในแถบมิสเวสต์ รวมถึงรัฐ Swing State ไปให้กับ โดนัลด์ ทรัมป์ จนทำให้พ่ายแพ้อย่างเหลือเชื่อในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา

ประการที่ 3 การแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดโรค Covid-19 ที่ผิดพลาดของ โดนัลด์ ทรัมป์ จนกระทั่งทำให้ชาวอเมริกันติดเชื้อและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ทำให้กลุ่มที่เคยให้การสนับสนุนทรัมป์เริ่มเปลี่ยนใจมากขึ้น ซึ่งประเด็นนี้ส่วนตัวมองว่ามีส่วนสำคัญมาก เพราะหากไม่มีการแพร่ระบาด Covid-19 บางทีโอกาสที่ทรัมป์จะแพ้อาจจะอยู่ที่ประมาณ 50% เท่านั้น เพราะปัจจัยอื่นๆ ยังส่งผลลบต่อคะแนนเสียงของทรัมป์ไม่มากนัก อีกทั้งไบเดนเองก็ใช่ว่าจะเป็นคู่แข่งที่น่าเกรงขามสักเท่าไรด้วย

ประการที่ 4 ตัวเลขผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าทางไปรษณีย์สูงอย่างชนิดที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน โดยล่าสุดมีรายงานว่า ตัวเลขผู้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้ามีจำนวนมากถึง 90 ล้านกว่าคะแนนเสียงแล้ว ซึ่งมากเกือบครึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิเลือกตั้งแล้ว ส่วนหากถามว่า เหตุใดเรื่องนี้จึงเป็นจุดที่น่าจะบ่งบอกถึงชัยชนะของไบเดน นั่นก็เป็นเพราะที่ผ่านมา โดนัลด์ ทรัมป์ ได้พยายามสื่อสารกับผู้สนับสนุนตลอดเวลาว่า การลงคะแนนทางไปรษณีย์นี้มีความเป็นไปได้ว่าอาจจะเกิดความคลาดเคลื่อนในการนับคะแนนได้ เพราะฉะนั้น ทรัมป์จึงเรียกร้องให้บรรดาผู้สนับสนุนจากพรรครีพับลิกันออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งในวันที่ 3 พ.ย.

ด้วยเหตุนี้ มันจึงมีความเป็นไปได้สูงมากว่า ผู้ที่มาใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าที่มีตัวเลขสูงมากขนาดนี้จึงน่าจะเป็นผู้สนับสนุนพรรคเดโมแครต!

นอกจากนี้ ตัวเลขผู้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งที่สูงมากขนาดนี้น่าจะเกิดจากความสำเร็จที่พรรคเดโมแครตสามารถปลุกระดมให้บรรดาผู้สนับสนุน ซึ่งเคยวางใจจากโพลการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาว่า ฮิลลารี คลินตัน จะชนะการเลือกตั้งแน่นอน จนเพิกเฉยที่จะออกมาใช้สิทธิและนำไปสู่ความพ่ายแพ้แบบพลิกล็อก ตัดสินใจออกมาใช้สิทธิในการเลือกตั้งครั้งนี้แบบชนิดถล่มทลายด้วย

อะไรคือ...จุดชี้ขาดการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ?

"ควรจับตาไปที่เพนซิลเวเนีย มิชิแกน วิสคอนซิน โอไฮโอ 4 รัฐนี้ หากผู้ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีคนใดสามารถคว้าชัยชนะได้ คนนั้นจะได้เป็นประธานาธิบดีคนต่อไปแน่นอน" ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ แนะนำจุดชี้ขาดในศึกเลือกตั้งครั้งนี้

ตัวเลขผู้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าทางไปรษณีย์นัยสำคัญทางการเมืองที่ไม่ควรมองข้าม...

...

จากรายงานล่าสุด พบว่า ก่อนการเลือกตั้งในวันที่ 3 พ.ย. เพียง 3 วัน มีชาวอเมริกันมากกว่า 91.6 ล้านคน ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ แล้ว ซึ่งตัวเลขดังกล่าว ถือเป็นการใช้สิทธิล่วงหน้าที่สูงเป็นประวัติการณ์ ถึงแม้ว่าอาจจะคาดเดาได้ยากว่า ผลการเลือกตั้งจะออกมาเป็นอย่างไร แต่ในเบื้องต้นมันแสดงให้เห็นว่า ชาวอเมริกันมีความกระตือรือร้นอย่างเต็มที่ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ถึงแม้ว่ามันจะอยู่ในช่วงการแพร่ระบาดโรค Covid-19 ก็ตาม โดยตัวเลขผู้ขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้านี้ คิดเป็น 43% ของจำนวนผู้ลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งทั่วประเทศ

โดยจากการสำรวจพบว่า จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งมากกว่าครึ่งใน 16 รัฐ ลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าผ่านไปรษณีย์ก่อนวันเลือกตั้งในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 ในขณะที่ ตัวเลขรวมทั่วประเทศมีผู้ขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้ามากกว่า 91.6 ล้านคน หรือคิดเป็น 67% ของ 135 ล้านเสียง ที่ออกมาใช้สิทธิในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อปี 2016 และล่าสุดมีรายงานว่า รัฐเทกซัสและฮาวายมีจำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้ามากกว่าการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ครั้งที่ผ่านมาแล้ว

ในขณะที่ อีก 35 รัฐ และวอชิงตัน ดี.ซี. มีประชาชนออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าผ่านทางไปรษณีย์เกินกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนผู้มาใช้สิทธิในการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปี 2016 เช่นกัน ซึ่งในจำนวนนี้มี 13 รัฐจากทั้งหมด 16 รัฐ ที่ถือเป็นรัฐที่มีการแข่งขันกันสูงและจะเป็นตัวชี้ขาดการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในครั้งนี้ อย่าง เทกซัส, จอร์เจีย, นอร์ทแคโลไลนา, เนวาดา, ฟลอริดา, แอริโซนา, โคโลราโด, วิสคอนซิน เมน, ไอโอวา, มิชิแกน, มินนิโซตา และเนแบรสกา รวมอยู่ด้วย

ทั้งนี้ จากการสำรวจของสำนักข่าว CNN เห็นได้ชัดว่า ผู้สนับสนุนพรรคเดโมแครตส่วนใหญ่ต้องการออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าผ่านทางไปรษณีย์ ในขณะที่ บรรดาผู้ให้กับสนับสนุนพรรครีพับลิกันส่วนใหญ่แสดงความชัดเจนว่า ต้องการออกไปใช้สิทธิในวันเลือกตั้งมากกว่า (3 พ.ย. 63)

...

ความหวังของชาวโลกความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ อนาคตที่ต้องจับตาหลังการเลือกตั้ง

ไม่ว่าผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะออกมาเป็นอย่างไร ไม่ว่า โดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกัน หรือ โจ ไบเดน จากพรรคเดโมแครต จะได้สาวเท้าเข้าสู่อำนาจในทำเนียบขาว สิ่งหนึ่งที่ท้าทายอย่างยิ่งสำหรับการขับเคลื่อนไปข้างหน้าของสหรัฐอเมริกา ณ ปัจจุบัน คือ ระดับความสัมพันธ์กับประเทศจีน ภายใต้โจทย์การเมืองระหว่างประเทศที่เริ่มเปลี่ยนไป นั่นเป็นเพราะ สหรัฐอเมริกามิใช่ประเทศอภิมหาอำนาจแต่เพียงผู้เดียวอีกต่อไปแล้ว

ปัจจุบัน ประเทศจีนได้ก้าวขึ้นมาท้าทายสหรัฐอเมริกาและชาติพันธมิตร ทั้งทางเศรษฐกิจและพลังอำนาจทางการทหาร จนถึงกับทำให้บรรดานักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงเห็นตรงกันว่า การเผชิญหน้ากัน ณ จุดที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน อาจทำให้เกิดสงครามเย็นครั้งใหม่ที่ถึงขั้นการเปิดศึกการทำสงครามตัวแทนเช่นที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต

...

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นอกจากการพุ่งขึ้นมาอย่างรวดเร็วและทรงพลานุภาพของจีน ทั้งเรื่องเศรษฐกิจและการทหารแล้ว อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ระดับความสัมพันธ์ระหว่างวอชิงตันและปักกิ่ง เสื่อมทรามลง ก็คือ เพราะประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ออกมาแสดงท่าทีวิพากษ์วิจารณ์และกดดันรัฐบาลจีนในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการประกาศทำสงครามทางการค้า การเข้าแทรกแซงฮ่องกงด้วยการให้การสนับสนุนกลุ่มนักศึกษาที่ต่อต้านรัฐบาลจีน การแสดงท่าทีสนับสนุนความพยายามแยกตัวเป็นเอกราชของไต้หวัน และการย้ำแล้วย้ำอีกว่า รัฐบาลปักกิ่งต้องรับผิดชอบการแพร่ระบาดของโรค Covid-19 รวมไปจนกระทั่งถึงขั้นการปิดสถานกงสุล

ดร.ไรอัน เอ็มมานูเอล (Ryan Manue) นักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญจากเว็บไซต์ Official China ให้ความเห็นถึงเรื่องนี้ว่า "ปัจจุบัน ปักกิ่งกำลังพยายามสงวนท่าที หรือตอบโต้สหรัฐฯ ตามสมควรเพื่อรอดูผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ และเมื่อใดก็ตามที่มีความชัดเจนว่า ผู้นำสหรัฐฯ คนใหม่เป็นใคร การดำเนินยุทธศาสตร์ทางการเมืองที่มีต่อสหรัฐฯ ก็จะเริ่มต้นขึ้นใหม่อีกครั้ง"

นายซุย เทียนไค (Cui Tiankai) เอกอัครราชทูตจีนประจำกรุงวอชิงตัน เพิ่งออกมากล่าวเมื่อเร็วๆ นี้ ว่า ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างจีนและสหรัฐฯ กำลังประสบกับความยากลำบากที่สุดเท่าที่เคยมีมาในรอบ 41 ปี โดยสิ่งที่เกิดขึ้นนี้กำลังบ่อนทำลายผลประโยชน์พื้นฐานของทั้งชาวจีนและชาวอเมริกันอย่างร้ายแรง และจุดยืนที่ชัดเจนของรัฐบาลปักกิ่ง คือ การคัดค้านอย่างหนักแน่น เพื่อไม่ให้เกิดสงครามเย็น หรือการทำสงครามทางการค้าครั้งใหม่ และที่ผ่านมา รัฐบาลจีนแสดงออกให้เห็นอย่างชัดเจนแล้วว่า ต้องการให้ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศมีความเติบโตและมั่นคง

อย่างไรก็ดี การแสดงออกดังกล่าวกลับสวนทางกับท่าทีของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ในช่วงหลังนี้อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการสั่งเพิ่มงบประมาณด้านการทหาร การเคลื่อนไหวของกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน หรือ PLA ในทะเลจีนใต้ และบริเวณเทือกเขาหิมาลัย รวมไปจนกระทั่งถึงการแสดงท่าทีคุกคามต่อไต้หวัน พันธมิตรสำคัญของสหรัฐอเมริกา หรือแม้แต่กระทั่งการลุกขึ้นมาขนานนามการครบรอบ 70 ปี สงครามเกาหลีว่าเป็นสงครามเพื่อต่อต้านการรุกรานของสหรัฐฯ เพื่อช่วยเหลือชาวเกาหลี โดยไม่ไยดีต่อคำข่มขู่ของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ที่ว่ารัฐบาลปักกิ่งจะต้องจ่ายราคาแพงกับท่าทีแข็งกร้าวที่ว่านั้น

โดย เจฟฟ์ มูน (Jeff Moon) นักวิเคราะห์ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีน มองความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีน หลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เอาไว้อย่างน่าสนใจว่า "แทบไม่มีความเป็นไปได้ที่สหรัฐฯ และจีนจะสามารถ Reset ความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศ ให้กลับไปดีดั่งเดิมเช่นในยุคของประธานาธิบดี บารัก โอบามา ได้อีกต่อไป นั่นเป็นเพราะทัศนคติต่อต้านชาวจีนได้ก่อตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในประเทศสหรัฐอเมริกาแล้ว จากการที่รัฐบาลปักกิ่งใช้ท่าทีแข็งกร้าวกับวอชิงตันในระดับที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน"

ขณะที่ นิค มาร์โล (Nick Marro) ผู้เชี่ยวชาญชาวจีนจาก Economist Intelligence Unit หรือ EIU เห็นพ้องกับ เจฟฟ์ มูน ถึงความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่กำลังเกิดขึ้นในอนาคตว่า เป็นเรื่องยากที่จะคืนกลับมาที่จุดเดิม ส่วนหนึ่งเป็นเพราะทั้งสองฝ่ายต่างใช้ความแข็งกร้าวเข้ามาหากัน

"แม้ปักกิ่งจะพยายามรักษาความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศไม่ให้เสื่อมทรามลง แต่ก็ไม่ได้พยายามที่จะแสดงออกในเวทีระดับประเทศเพื่อปรับปรุงความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ให้ดีขึ้น โดยสิ่งที่แสดงออกถึงประเด็นดังกล่าวอย่างชัดเจน คือ การประกาศห้ามล้ำเส้นในสิ่งที่จีนพยายามเรียกร้อง ทั้งประเด็นปัญหาเรื่องฮ่องกง ไต้หวัน หรือแม้กระทั่งปัญหาในทะเลจีนใต้ ซึ่งการแสดงออกที่แข็งกร้าวนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสื่อในประเทศจีน ซึ่งมักเร่งเร้าในคนในชาติมีความเป็นชาตินิยมอย่างสูงนั้น ได้ผูกมัดให้ผู้นำจีนห้ามแสดงท่าทีที่ดูเหมือนเป็นการอ่อนข้อต่อแรงกดดันต่อตะวันตกไปโดยปริยาย"

ด้วยเหตุนี้ บรรดานักวิเคราะห์ส่วนใหญ่จึงเห็นไปในทางเดียวกันว่า มันมีความเป็นได้มากกว่าที่จะนำไปสู่การปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ ครั้งใหม่ หากนายโจ ไบเดน ได้ก้าวเท้าเข้าสู่ทำเนียบขาว ถึงแม้ว่าผู้แทนจากพรรคเดโมแครตอาจจะยังดูมีท่าทีหวาดระแวงต่อรัฐบาลปักกิ่งอยู่บ้างก็ตาม

"หากเป็นไบเดน เขาน่าจะกลับไปใช้แนวทางทางการทูตในแบบที่สหรัฐฯ เคยใช้มา นั่นก็คือ การใช้เครือข่ายของหน่วยงานต่างๆ ที่เชื่อมโยงกับรัฐบาลสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรดั้งเดิม สำหรับการตัดสินใจอย่างชัดเจนและรอบคอบเกี่ยวกับปัญหาระหว่างสหรัฐฯ และจีน ซึ่งจะตรงกันข้ามกับความไม่แน่นอนต่างๆ นานา ที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ทำมาตลอด 4 ปีในการบริหารความสัมพันธ์กับรัฐบาลปักกิ่ง" เจฟฟ์ มูน ให้ทัศนะที่สนับสนุนไบเดนอย่างเต็มที่

อย่างไรก็ดี เจฟฟ์ มูน เชื่อมั่นว่า การปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีนอย่างเต็มรูปแบบ อาจยังเกิดขึ้นได้ยาก เนื่องจากหลายทศวรรษที่ผ่านมาการเจรจาความร่วมมือระดับทวีภาคระหว่างวอชิงตันและปักกิ่งนั้น มักจะได้รับการปฏิเสธจากฝ่ายจีนในหลายๆ ประเด็น โดยเฉพาะในประเด็นที่สหรัฐฯ แสดงความวิตกกังวล

ซึ่งความเห็นนี้ สอดคล้องกับความเห็นของ ดร.ไรอัน เอ็มมานูเอล ที่มองว่า ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ น่าจะกลับมาอยู่ในระดับปกติได้ยาก ถึงแม้ว่านายโจ ไบเดน จะได้บริหารงานในทำเนียบขาว นั่นเป็นเพราะนโยบายหลักของไบเดน คือ การสนับสนุนอุตสาหกรรมภายในประเทศและการผลักดันให้ชาวอเมริกันใช้สินค้าที่ผลิตในประเทศมากขึ้น รวมถึงจะมีการประสานงานกับชาติพันธมิตรในประเด็นที่มีข้อโต้แย้งทางการค้ากับรัฐบาลจีนด้วย

ส่วนจะมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนที่ความสัมพันธ์ระหว่างปักกิ่งและวอชิงตันจะได้รับการปรับปรุงในกรณีที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ได้เข้าบริหารงานทำเนียบขาวเป็นเทอมที่ 2 นั้น นิค มาร์โล ให้ความเห็นในประเด็นนี้เอาไว้อย่างน่าสนใจว่า มันเป็นเรื่องที่ไม่น่าเป็นไปได้!

"การจัดทำข้อตกลงทางการค้าเฟส 1 ซึ่งมีขึ้นเพื่อหาทางยุติข้อพิพาทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา เห็นได้ชัดว่า เต็มไปด้วยความรัดกุม เนื่องจากทรัมป์เกรงว่าจะมีผลต่อการเลือกตั้งในเทอมที่ 2 มากกว่าจะมุ่งไปที่การสร้างสัญลักษณ์เพื่อการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างทั้งสองประเทศ

แต่กลับกัน หากประธานาธิบดีทรัมป์ได้บริหารงานเป็นเทอมที่ 2 ข้อจำกัดทางการเมืองที่ว่าก็จะหมดไป คราวนี้เขาจะสามารถเพลิดเพลินไปกับการกระทำที่รุนแรงขึ้นกับฝ่ายรัฐบาลปักกิ่ง ไม่ว่าจะเป็น การเพิ่มมาตราการต่างๆ สำหรับการกีดกันการลงทุนและทำการค้าระหว่างบริษัทสัญชาติสหรัฐฯ และจีน ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง จะส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจในวงกว้างระหว่างทั้งสองประเทศอย่างแน่นอน ฉะนั้น หากเป็นเช่นนั้นขึ้นมาจริงๆ เราอาจลืมเรื่องการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่อาจจะเกิดขึ้นในปีหน้าไปได้เลย"

สิ่งที่ใครๆ ก็อยากรู้ อะไรจะเกิดขึ้น หาก โดนัลด์ ทรัมป์ เกิดพ่ายแพ้การเลือกตั้ง!

คุณรู้หรือไม่ว่า...หาก โดนัลด์ ทรัมป์ ไม่ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ สมัยที่ 2 เขาอาจจะต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่เลวร้ายยิ่งกว่าการต้องหยุดทำงานในทำเนียบชาวเสียอีก!

นั่นเป็นเพราะเมื่อไร้ตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งสหรัฐฯ คุ้มกัน โดนัลด์ ทรัมป์ ก็จะถูกรุมทึ้งสอบสวนจนแทบไม่ได้หยุดพักจากหลากหลายข้อหาที่กำลังรอการสอบสวน ไม่ว่าจะเป็นข้อหาโกงภาษี ที่ซุกอยู่ภายใต้ข้อตกลงธุรกิจการเงินของเขา ทั้งรายบุคคลและบริษัท ไม่เพียงเท่านั้น เขายังจะต้องเผชิญกับคดีหมิ่นประมาทมากมาย ที่เป็นประเด็นร้อนแรงก็คงหนีไม่พ้นการออกมาปฏิเสธข้อกล่าวที่ถูกผู้หญิงปรักปรำว่า เขาข่มขืนพวกเธอ! หนึ่งในนั้นก็คือ จีน แคร์โรล อดีตคอลัมนิสต์นิตยสาร ที่กล่าวหาว่าถูก โดนัลด์ ทรัมป์ ข่มขืน และกล่าวอ้างว่า โดนัลด์ ทรัมป์ ใช้ตำแหน่งประธานาธิบดีติดสินบน ทุจริต เรียกรับผลประโยชน์ส่วนตัว

และเพราะการมีตำแหน่งประธานาธิบดีนี้เอง ที่ทำให้ โดนัลด์ ทรัมป์ ใช้อำนาจขัดขวางและถ่วงเวลาการสอบสวนและการฟ้องร้องคดีต่างๆ ได้ ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ การต่อสู้กับหมายศาลในกรณีขอคืนภาษีที่ส่อเค้าไม่โปร่งใสและอาจเข้าสู่กระบวนการฟ้องร้อง ไม่ว่า โดนัลด์ ทรัมป์ จะได้รับเลือกตั้งอีกครั้งหรือไม่ก็ตาม

อย่างไรก็ดี เอริค สวาลเวล จากพรรคเดโมแครต กล่าวว่า มีข้อบ่งชี้บางอย่างที่จะใช้ในการสอบสวน เมื่อ โดนัลด์ ทรัมป์ พ้นตำแหน่ง นั่นก็คือ Presidential Crimes Commission คือ การมอบอำนาจให้พนักงานอัยการไต่สวนสาธารณะนอกกระบวนการสภาคองเกรส กรณีที่เกี่ยวกับอาชญากรรม หากว่าพวกเขาพบการทุจริตของประธานาธิบดี ตัวอย่างเช่น ทวีตเมื่อเดือนสิงหาคม ที่ระบุว่า มีการทุจริตเรื่องบัตรลงคะแนนเลือกตั้งทางไปรษณีย์

นอกจากนี้ อัยการแห่งรัฐแมนฮัตตันจะดำเนินการสอบสวนการเงินใน Trump Organization ซึ่งบ่งชี้ว่า การยื่นฟ้องร้องต่อศาลเพื่อดำเนินการสอบสวนไม่ว่าจะเป็นในนามประธานาธิบดีหรือในนามบริษัทของเขาก็ตาม ทั้งในกรณีการฉ้อโกงธนาคาร, หลอกเอาเงินประกัน, ทุจริตโกงภาษี และปลอมแปลงรายงานธุรกิจ

ที่ผ่านมา โดนัลด์ ทรัมป์ คัดค้านหมายศาลเรื่องการเรียกสอบบัญชีการเงินของบริษัทในเครือย้อนหลัง 8 ปี ทั้งในส่วนของการคืนภาษีและรายงานทางการเงิน แต่ศาลยืนยันว่า หมายศาลที่ออกมานั้นถูกต้องตามกฎหมาย และเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดนัลด์ ทรัมป์ ก็ต้องเผชิญกับความพ่ายแพ้อีกครั้ง เมื่อศาลอุทธรณ์และศาลสูงสุดได้ยกคำร้องเช่นกัน

ซึ่งนั่นเท่ากับว่า นอกจากผลการเลือกตั้งที่ต้องจับตาแล้ว ชะตากรรมของท่านผู้นำทรัมป์ก็ยังเป็นอีกส่ิงหนึ่งที่ควรค่าแก่การให้ความสนใจด้วยเช่นกัน...

ข่าวน่าสนใจ: