• อี กอน ฮี ชายผู้ปลุกปั้น SAMSUNG จากอดีตบริษัท CopyCat ให้กลายเป็นผู้ผลิตสมาร์ทโฟนยักษ์ใหญ่ เสียชีวิตอย่างสงบในวัย 78 ปี
  • Frankfurt Declaration สุนทรพจน์ที่ซึมซาบทั่วทุกเซลล์ในร่างกายพนักงาน SAMSUNG และกลายเป็นจุดเริ่มต้นปฏิวัติ
  • SAMSUNG ELECTRONICS มีสัดส่วนมากถึง 20% ของมูลค่าโดยรวมในตลาดหลักทรัพย์เกาหลีใต้ KOSPI

"Change Everything Except Your Wife And Children"

"ต้องเปลี่ยนแปลงทุกสิ่ง ยกเว้นเมียและลูกของคุณ"

คำพูดปลุกเร้าพนักงานให้ฟื้นตื่นจากความคิดที่ว่า "มันเป็นไปไม่ได้ ให้กลายเป็นมันต้องทำได้" เพื่อนำไปสู่ "Quality first" เน้นคุณภาพมาเป็นอันดับแรก กุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมาย โค่นล้มยักษ์ใหญ่แห่งอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าสัญชาติญี่ปุ่น อย่าง อาณาจักร Sony Corp. ในลำดับต่อไป

โดยคำประกาศนั้น หาใช่มีเพียงแต่ลมปาก แต่มันมีฉากหลังที่เป็นเปลวไฟซึ่งโหมลุกขึ้นจากการเผาโทรศัพท์มือถือ 150,000 เครื่อง เครื่องแฟกซ์ และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ของบริษัทอีกจำนวนมาก ซึ่งมูลค่ารวมกันถึง 50 ล้านเหรียญสหรัฐ ท่ามกลางใบหน้าอันตกตะลึงของพนักงานกว่า 2,000 คน ในโรงงาน

โดย "ผู้พูด" ให้เหตุผลถึงการกระทำอย่างไม่ยี่หระนี้ว่า ผลิตภัณฑ์ที่กลายเป็นเพียงเศษซากในกองเพลิงเหล่านั้น "คือสินค้าที่คุณภาพไม่ผ่านมาตรฐาน!" เพื่อแสดงออกถึงเจตนาแห่งความมุ่งมั่นที่จะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงที่ว่า "Quality first" ให้ได้อย่างแท้จริงๆ

...

ซึ่งทั้งคำพูดและการกระทำอันห้าวหาญแบบนี้เอง ได้เปลี่ยนอดีตบริษัทจอมก็อปปี้ (Copycat) สัญชาติเกาหลีใต้ ให้กลายเป็นมหึมาผู้ผลิตสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ Memory Chips บริษัทประกัน และอื่นๆ อีกมากมาย ที่สุดไฉไลเป็นบ้า ณ ปัจจุบัน

และชายผู้เป็นเจ้าของคำปลุกเร้าที่เรียบง่ายแต่สุด Touch ใจนั้น มีนามว่า "อี กอน ฮี" (Lee Kun-hee) หนึ่งใน CEO ที่ร่ำรวยที่สุดคนหนึ่งของประเทศเกาหลีใต้ ด้วยมูลค่าทรัพย์สินถึง 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐ! รวมถึงยังเป็นหนึ่งใน ICON คนสำคัญของประเทศด้วย

อืม...หากอ่านมาถึงบรรทัดนี้ คุณยังไม่แน่ใจว่า เรากำลังพูดถึงใคร?

อึม...งั้นคุณลองมองไปที่ Smartphone หรือโทรทัศน์ของคุณดูสิว่า มันยี่ห้อ Samsung หรือเปล่า?

ใช่แล้ว...อี กอน ฮี คือ ผู้ที่นำพา Samsung ไปอยู่ในจุดที่ทำให้ผู้คนยอมเปลี่ยนใจจากโทรทัศน์สี Sony และสมาร์ทโฟนก้องโลกอย่าง iPhone มาลองใช้นวัตกรรมภายใต้แบรนด์ Samsung แทน ซึ่งบางทีหากจะว่าไป... "คุณ" อาจคือหนึ่งในจำนวนนั้นใช่ไหม?

อย่างไรก็ดี วันที่ 25 กันยายน 2563 ตำนานอีกบทของเกาหลีใต้ท่านนี้ก็ถึงคราวต้องรูดม่านลง หลัง Samsung ได้ออกแถลงการณ์อย่างเป็นทางการว่า ประธาน "อี กอน ฮี" วัย 78 ปี ได้เสียชีวิตลงอย่างสงบที่โรงพยาบาลในกรุงโซล โดยแถลงการณ์ดังกล่าวระบุเพียงว่า ทางครอบครัวจะขอจัดพิธีศพเป็นการภายใน แต่ไม่ได้มีการระบุถึงสาเหตุของการเสียชีวิต อย่างไรก็ดี ในอดีตที่ผ่านมา มีรายงานว่า CEO ผู้ยิ่งใหญ่ท่านนี้เคยมีประวัติต้องเข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลจากโรคหัวใจเมื่อปี 2014 และในปี 1990 เคยต้องเข้ารับการรักษาโรคมะเร็งปอดมาก่อน

"ประธานอี เป็นผู้มีวิสัยทัศน์อย่างแท้จริง เขาคือ ผู้เปลี่ยน Samsung จากธุรกิจภายในประเทศไปสู่การเป็นผู้นำด้านนวัตกรรม และอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าโลก และมรดกทั้งมวลที่ท่านประธานทิ้งไว้นี้ จะกลายเป็นนิรันดร์" บทสดุดีถึงท่านประธานผู้ล่วงลับในบรรทัดท้ายๆ ของแถลงการณ์

เหตุใดชายผู้นี้ จึงสามารถ "เปลี่ยนแปลง" ไม่ใช่สิ...ควรต้องเรียกมันว่า "การปฏิวัติ" ให้กับวงการอุตสาหกรรมเทคโนโลยีของประเทศเกาหลีใต้ได้สำเร็จ วันนี้เราจะพาคุณไปทบทวนตำนานที่ว่านั้นกันดู...

บทที่ 1 ก่อกำเนิด ICON แห่งเกาหลีใต้

ประธาน "อี กอน ฮี" เกิดเมื่อวันที่ 9 มกราคม 1942 ที่เมืองแทกู ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากกรุงโซลไปทางใต้ประมาณ 240 กิโลเมตร เป็นลูกคนที่ 3 ของนายอี บยอง ชอล (Lee Byung-chull) เจ้าของร้านขายผลไม้และปลาแห้ง ขนาด 4 ชั้น ในเมืองแทกู ซึ่งต่อมากลายเป็นสถานที่ก่อร่างสร้างอาณาจักรที่เรียกว่า Samsung Group ในปัจจุบันนั่นเอง

โดยในช่วงวัยรุ่น ประธาน "อี กอน ฮี" มีความชื่นชอบภาพยนตร์และรถยนต์ซุปเปอร์คาร์เป็นพิเศษ แต่ด้วยนิสัยเป็นคนชอบเก็บตัว ในช่วงเรียนมัธยมเขาจึงต้องใช้การเล่นรักบี้ เพื่อต่อสู้กับความเหงาภายในใจของตัวเอง นอกจากนี้ เขายังมีสัตว์เลี้ยงแสนรักอย่างสุนัขพันธ์ุปักกิ่งเป็นเพื่อนด้วย

กระทั่งจบชั้นมัธยมจึงได้ไปศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี สาขาเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยวาเซดะ (Waseda University) ในกรุงโตเกียว จากนั้นเมื่อจบการศึกษาที่ประเทศญี่ปุ่นจึงได้บินไปเรียนต่อปริญญาโทสาขาบริหารธุรกิจ ที่มหาวิยาลัยจอร์จ วอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา

ปี 1966 ประธานอี ได้บินกลับมาเริ่มต้นการทำงานกับบริษัทของครอบครัว ที่บริษัท ทงยัง บรอดคาซท์ (Tongyang Broadcasting Co.) หรือ TBC ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ Samsung Group (ปัจจุบันถูกยุบรวมเป็น Korean Broadcasting System หรือ KBS ไปแล้ว) จากนั้นจึงค่อยๆ ขยับไปสู่บริษัทอื่นๆ ในเครือ อย่างบริษัทก่อสร้างและบริษัทการค้าต่างๆ ที่อยู่ภายใต้ปีกแบรนด์ Samsung C&T

...

ปี 1971 เมื่อบิดาได้ตัดสินใจเลือกประธานอี เป็นผู้สืบทอดอาณาจักร Samsung Group ของครอบครัว ซึ่ง ณ เวลานั้น ถูกมองว่าเป็นเพียงผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าแบรนด์โลคอลราคาถูกแต่คุณภาพต่ำเตี้ย ซึ่งคำครหาเช่นนี้ติดอยู่ภายในใจของประธานอีมาโดยตลอด

และเมื่อบิดาของเขาเสียชีวิตลง และทำให้ประธานอีได้ขึ้นผงาดเป็นผู้นำของ Samsung Group อย่างเต็มตัว ในปี 1987 เวลาของการปฏิวัติวัฒนธรรมองค์กรครั้งยิ่งใหญ่จึงเริ่มต้นนับหนึ่งทันที!

ประธานอีได้เริ่มปักธงที่ปูทางไปสู่อนาคตครั้งสำคัญ ด้วยการนำบริษัทเข้าสู่อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ด้วยการเข้าไปซื้อหุ้นถึง 50% ของบริษัท ฮันกุกเซมิคอนดักเตอร์ (Hankook Semiconductor) ที่ก่อนหน้านี้แทบไม่เคยทำกำไรมาก่อน อย่างไรก็ดี ภายใต้การบริหารของเขา บริษัทฮันกุกเซมิคอนดักเตอร์สามารถพลิกฟื้นกลับมามีผลกำไรได้ในปี 1988 โดยผลิตภัณฑ์สร้างชื่อให้กับบริษัทแห่งนี้ คือ การผลิตชิพ Dynamic Random-Access Memory หรือ DRAM ที่มีประสิทธิภาพสูง

บทที่ 2 Frankfurt Declaration จุดเริ่มต้นการปฏิวัติ

ปี 1993 คือ จุดที่นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของ Samsung เมื่อประธานอีออกเดินทางไปทั่วโลก เพื่อหวังค้นหาโมเดลสำหรับการพาองค์กรไปสู่การแข่งขันในระดับนานาชาติ และได้แวะที่รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา

ซึ่ง ณ ที่นั้น...เขาได้พบความจริงที่น่าเศร้าว่า ตามห้างร้านต่างๆ โทรทัศน์สีของ Sumsung ถูกบรรดาลูกค้าชาวอเมริกันหมางเมินจนถึงขั้นมีฝุ่นเกาะเต็มชั้นวางขายสินค้า ในขณะที่ โทรทัศน์แบรนด์ญี่ปุ่นอย่าง Sony และ Panasonic กลับถูกกระหน่ำซื้อจนแทบจะเหมือนการแจกฟรี

...

ความหน้าอับอายที่ประจักษ์แก่สายตานี้ ทำให้ประธานอีเปลี่ยนมันให้เป็นแรงขับเคลื่อนองค์กรครั้งสำคัญทันที เพราะเป้าประสงค์ของเขานั้นอยู่ที่การนำพา Samsung ให้ยิ่งใหญ่บนเวทีระดับอินเตอร์ เช่นเดียวกับที่ General Electric หรือ G.E. ยักษ์ใหญ่แห่งโลกอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ เป็นอยู่ ณ ช่วงเวลานั้น และทั้งหมดที่ว่าไป ประธานอีได้ขีดเส้นใต้เอาไว้ว่าจะต้องเกิดขึ้นก่อนปี 2000! หรืออีกเพียง 7 ปีข้างหน้าให้จงได้

ทั้งๆ ที่ข้อเท็จจริง ณ ปี 1993 ตามหนังสืออัตชีวประวัติของประธานอีระบุเอาไว้อย่างชัดเจนถึงคุณภาพอันย่ำแย่ของผลิตภัณฑ์ Samsung ว่า "เราต้องส่งคนถึง 6,000 คน เข้าไปซ่อมผลิตภัณฑ์ที่ถูกสร้างขึ้นโดยคนงาน 30,000 คน" ก็ตาม

แต่เพราะ "เป้าหมายมีเอาไว้พุ่งชน" ด้วยเหตุนี้ หลังเสร็จสิ้นภารกิจการเดินทางรอบโลกเพื่อค้นหาการพัฒนา ประธานอีตัดสินใจแวะพักที่เมืองแฟรงก์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนี จากนั้นเขาได้เรียกทีมผู้บริหารของบริษัทเกือบ 200 คน ให้เดินทางมาร่วมประชุมใหญ่ทันที

เมื่อทุกคนมาถึงประธานอีใช้เวลาถึง 3 วันเต็มๆ สำหรับการกล่าวสุนทรพจน์แสดงวิสัยทัศน์สำหรับอนาคตของซัมซุง นั่นก็คือ ต้องเปลี่ยนจาก "การขายผลิตภัณฑ์คุณภาพต่ำแต่ราคาถูก ไปเป็นการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์คุณภาพสูง ถึงแม้ว่ายอดขายจะต้องลดลงก็ตาม" เพื่อเปลี่ยนฐานะจากผู้ผลิตโทรทัศน์ชั้น 2 ไปสู่การผู้นำวงการอุตสาหกรรมผู้ผลิตโทรทัศน์ในอนาคต โดยเขายอมปล่อยให้กลุ่มผู้บริหารร่วม 200 คน มีเวลาเบรกงีบหลับเพียงเฉพาะช่วงเย็นเท่านั้น!

ซึ่งหนึ่งในวรรคทองที่ชาวโลกต้องจดจำ ที่ว่า "ต้องเปลี่ยนแปลงทุกสิ่ง ยกเว้นเมียและลูกของคุณ" ก็ได้ถูกกล่าวขึ้น ณ ที่นั้นเป็นครั้งแรกด้วย

...

รวมถึงวรรคทองอื่นๆ ที่น่าจดจำ เช่น...

"เราจะไม่รอด หากปราศจากซึ่งความเปลี่ยนแปลงที่เจ็บปวด บรรดาชาติอุตสาหกรรม และหลากหลายบริษัทข้ามชาติ กำลังรุกคืบเพื่อเข้ามาครองตลาดภายในประเทศเกาหลีใต้ในอีก 4-5 ปีข้างหน้า หากเรายังไม่ยอมเปลี่ยนไปสู่อุตสาหกรรมที่ใช้เงินทุนและเทคโนโลยีชั้นสูง"

ซึ่งการแสดงสุนทรพจน์อันดุเดือด และทนทรหดแต่เต็มไปด้วยความมุ่งมั่นนี้ ในเวลาต่อมา มันได้ถูกจดบันทึกเป็นหนังสือความยาวกว่า 200 หน้า เพื่อแจกจ่ายให้กับพนักงานซัมซุงทุกคน นอกจากนี้ มันยังถูกจัดทำเป็นเวอร์ชั่นการ์ตูนเพื่อให้สามารถเข้าใจง่ายขึ้น สำหรับพนักงานที่ผ่านหนังสือไม่ออกอีกด้วย ทำให้ชาวซัมซุงเรียกขานสุนทรพจน์นี้ว่า "Frankfurt Declaration"

และเพื่อให้ Frankfurt Declaration มีความเข้มขลังและซึมซาบไปทั่วทุกเซลล์ในร่างกายของพนักงาน Samsung ทุกคนมากยิ่งขึ้น บริษัทสัญชาติเกาหลีใต้แห่งนี้ จึงได้ซื้อเฟอร์นิเจอร์รวมถึงของตกแต่งทุกชิ้นในห้องประชุมของโรงแรมที่ประธานอี กล่าวสุนทรพจน์ดังกล่าวมาทำการจำลองไว้ที่สำนักงานใหญ่ของบริษัท เพื่อให้พนักงานทุกคนได้เห็นอีกด้วย และห้องจัดแสดงนี้ถือเป็นสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ของพนักงานซัมซุงทุกคน จนถึงขนาดที่เรียกว่า การถ่ายรูปหรือแม้แต่เพียงทำเสียงกระซิบกระซาบ เมื่อเข้าไปภายในถือเป็นสิ่งต้องห้าม!

ขณะเดียวกัน เพื่อให้องค์กรขับเคลื่อนตาม Frankfurt Declaration อย่างจริงจัง ประธานลีได้เรียกร้องให้พนักงานซัมซุงทุกคนเปลี่ยนเวลาเข้างาน จาก 08.30 น. มาเป็นเวลา 07.00 น. เพื่อให้พนักงานได้บรรลุสิ่งที่เขาเรียกว่า "ซึมซับการปฏิวัติการนอนของตัวเอง (soak up reform in their slumber)"

แต่แล้วเมื่อทุกอย่างยังไร้ซึ่งสัญญาณแห่งการขยับเขยื้อนไปข้างหน้าตามเป้าหมายในปี 1995 "เหตุการณ์เผาอันเป็นประวัติศาสตร์ของการตลาดยุคใหม่" ตามบรรทัดแรกสุดที่คุณได้อ่านจึงถือกำเนิดขึ้น!

เมื่อประธานอีเดินทางไปยังโรงงานหลักของ Samsung ในเมืองคูมิ (Gumi) แล้วพบว่า โทรศัพท์มือถือที่ผลิตขึ้นจากโรงงานดังกล่าวมีข้อบกพร่องมากมาย ประธานอีจึงได้เรียกพนักงานในโรงงานที่มีอยู่เกือบ 2,000 คน ซึ่งถูกสั่งให้สวมป้ายที่มีคำว่า "Quality First" เอาไว้บนศีรษะ มารวมตัวกันที่ลานกว้างภายในโรงงาน จากนั้นประธานอี และคณะทีมผู้บริหารได้ปรากฏตัวขึ้นแล้วไปนั่งอยู่บนป้ายขนาดใหญ่ ที่มีข้อความว่า "Quality Is My Pride" ก่อนจะประกาศก้องขึ้นว่า "ต้องเปลี่ยนแปลงทุกสิ่ง ยกเว้นเมียและลูกของคุณ" หลังสิ้นคำนั้น กองสินค้าที่มีทั้งโทรศัพท์มือถือ แฟกซ์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ที่มีมูลค่าถึง 50 ล้านเหรียญสหรัฐ ก็กลายเป็นเศษซากในกองเพลิงทันที

นอกจากนี้ หลังเหตุการณ์เผาครั้งประวัติศาสตร์เพียงไม่กี่วัน ประธานอียังได้มีคำสั่งให้นำหลากหลายผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าจากประเทศจีน มาจัดแสดงที่สำนักงานใหญ่ของ Samsung เพื่อให้บรรดาพนักงานของบริษัททุกคนได้เห็นด้วยตาของตัวเองว่า ณ เวลานั้น สินค้า Made in China นั้น มีคุณภาพที่ใกล้จะไล่ตามผลิตภัณฑ์ของ Samsung ณ ค.ศ. นั้น มากแค่ไหนแล้วด้วย!

เรียกง่ายๆ ว่า ประธานอีลากเอาบรรดาพนักงานประเภทเช้าชามเย็นชาม คล้ายๆ เจ้าหน้าที่ราชการของประเทศๆ หนึ่งแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มาตบประจานกลางสี่แยกเหม่งจ๋ายเลยก็ว่าได้ และนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา Samsung จึงได้เริ่มต้นการทุ่มเททั้งกำลังคนและเงินทุนก้อนมหาศาลไปกับ การทำวิจัยและการพัฒนาดิจิทัลเทคโนโลยีเพื่อการปฏิวัติองค์กรทั้งระบบ!

ซึ่งผลของเปลวไฟแห่งการปฏิวัติวัฒนธรรมองค์กรครั้งยิ่งใหญ่และเด็ดขาดนี้เอง ทำให้ Samsung Electronics สามารถก้าวข้ามยักษ์ใหญ่แห่งวงการอย่าง Sony จนสามารถครองยอดขายโทรทัศน์จอแบนเป็นอันดับหนึ่งของโลกในปี 2006 ได้สำเร็จ โดยในปีนั้น SamSung สามารถทำยอดขายทีวีจอแบนสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ!

ต่อมาในปี 2010 เมื่อ Samsung พาตัวเองเข้าสู่ตลาด Smartphone ด้วยแบรนด์ Galaxy ภายใต้การสนับสนุนของ Alphabet Inc. ซึ่งได้มอบดาบศักดิ์สิทธิ์ที่มีชื่อว่า Android software มาให้เป็นอาวุธ Samsung สามารถทำสิ่งที่เหลือเชื่อขึ้นอีกครั้ง ด้วยการทำยอดขาย Smartphone แซงหน้ายักษ์ใหญ่แห่งวงการอย่าง Apple ได้สำเร็จในปี 2011 และในปีเดียวกันนั้นเอง Samsung ยังได้นำเสนอนวัตกรรมใหม่เข้าสู่ตลาดที่ในเวลาต่อมาถูกเรียกว่า "Phablet" ซึ่งเป็นลูกผสมของ Smartphone และ Tablet Hybrid ภายใต้แบรนด์ Galaxy Note เข้าสู่ตลาดอีกด้วย ซึ่งจนถึงปัจจุบันมันได้กลายเป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่ขายดิบขายดีของบริษัทยักษ์ใหญ่ของประเทศเกาหลีใต้

ซึ่งตำนานแห่งความสำเร็จทั้งหมดนี้ หากมองย้อนกลับไป มันคงจะเกิดขึ้นไม่ได้หากคนในองค์กร Samsung ไม่ถูกติดตั้งไบเบิลธุรกิจที่มีชื่อว่า Frankfurt Declaration เอาไว้ในสมอง นั่นเป็นเพราะสุนทรพจน์ดังกล่าว นอกจากจะเป็นการยกเครื่ององค์กรโดยรวมทั้งหมดแล้ว มันยังถือเป็นการ พลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสด้วย

"นับตั้งแต่มีการประกาศ Frankfurt Declaration เราได้แสดงให้เห็นถึงการเติบโตอย่างแข็งแกร่งและต่อเนื่อง ฉะนั้น ปัจจุบันมันจึงถึงเวลาแห่งการเริ่มต้นความท้าทายใหม่ๆ เพื่อเผชิญหน้ากับความจริงที่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในเชิงรุกแล้ว" ผู้นำบริษัทไฮเทคสัญชาติเกาหลีกล่าว

บทที่ 3 จุดตกต่ำ เมื่อหยกงามใช่ว่าจะไร้ซึ่งรอยตำหนิ

ไม่ต่างจากบรรดาอภิมหาเศรษฐีนักธุรกิจจากทั่วทุกมุมโลก ประธานอีหาใช่หยกที่ปราศจากรอยตำหนิ การทำธุรกิจที่ต้องอาศัย Connection ทางการเมืองทั้งระดับประเทศและระดับท้องถิ่นมากหน้าหลายตาในแบบฉบับโลกคู่ขนาน สีขาวขุ่นๆ กระทั่งค่อนไปทางสีเทาๆ ทำให้ชื่อเสียงของประธานอีต้องมัวหมอง จากการถูกตัดสินว่า มีความผิดในข้อหาติดสินบนอดีตประธานาธิบ "ดี โน แทอู" (Roh Tae-wo) 1 ครั้ง (ถูกตัดสินจำคุก 2 ปี) ในปี 1996 และอีกครั้ง จากข้อหาหลีกเลี่ยงภาษีในปี 2008 (ถูกตัดสินจำคุก 3 ปี และต้องจ่ายค่าปรับถึง 93 ล้านเหรียญสหรัฐ)

อย่างไรก็ดี ทั้ง 2 คดีที่สุดอื้อฉาวนี้ ประธานอีกลับเข้ารับโทษทัณฑ์ในเรือนจำเพียงไม่นานเท่านั้น เนื่องจากประธานาธิบดีของเกาหลีใต้ถึง 2 คน คือ 1. ประธานาธิบดี คิม มยอง ซัม (Kim Young-sam) 2.ประธานาธิบดี อี มยอง บัก (Lee Myung-bak) ซึ่งได้ตัดสินใจ อภัยโทษ (Presidential Pardons) ให้กับเขา ในฐานะที่เป็นผู้ทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศเกาหลีใต้ เช่น การผลักดันให้ประเทศเกาหลีใต้ได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาวในปี 2018 ได้เป็นผลสำเร็จ อย่างไรก็ดี แม้จะรอดพ้นคุกตารางมาได้ แต่มันได้ทำให้เสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องความเหลื่อมล้ำขึ้นบนดินแดนโสมขาวอย่างอื้ออึง!

โดยเฉพาะเมื่อในเวลาต่อมา...อดีตประธานาธิบดี อี มยอง บัก ถูกตัดสินจำคุก 15 ปี หลังยอมรับว่า รับเงินสินบน 5.4 ล้านเหรียญสหรัฐ จาก Samsung เพื่อแลกเปลี่ยนกับการ "อภัยโทษ" ให้กับประธานอี

หากแต่ความมัวหมองที่เกิดขึ้น กลับกลายเป็นอีกครั้งหนึ่งที่ประธานอีได้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพพิเศษเฉพาะบุคคล ในการผลักดันองค์กรไปข้างหน้าในยามวิกฤติอีกครั้ง!

นั่นเป็นเพราะในปี 2008 หลัง Samsung ต้องเผชิญวิกฤติจากคดีหลีกเลี่ยงภาษี จนเขาต้องรับผิดชอบด้วยการลาออกและต้องรับโทษทัณฑ์ในเรือนจำ เมื่อได้กลับมารับหน้าที่กุมบังเหียนอีกครั้งในเดือนมีนาคม ปี 2010 ประธานอีสื่อสารอย่างตรงไปตรงมากับพนักงาน Samsung ทันทีว่า...

"ธุรกิจของบริษัทกำลังเผชิญหน้ากับวิกฤติอย่างแท้จริง ภายในอีก 10 ปี ข้างหน้า ผลิตภัณฑ์ที่แสดงถึงความเป็นตัวตนของ Samsung อาจไม่เหลืออยู่อีกต่อไป เราจึงต้องเริ่มต้นกันใหม่อีกครั้ง และมันไม่เหลือเวลาสำหรับการลังเลอีกต่อไปแล้ว"

หลังคำประกาศนั้น อีกเพียง 2 เดือนต่อมา Samsung Group ประกาศให้ชาวโลกได้รับรู้ว่า พวกเขาจะลงทุนด้วยเม็ดเงินถึง 23 ล้านล้านวอน เพื่อขยายงานด้านการดูแลสุขภาพและแบตเตอรี่พลังงานแสงอาทิตย์ ภายในปี 2020 ทันที!

ที่ผ่านมา ประธานอีเป็นคนที่ไม่ชอบให้สัมภาษณ์ออกสื่อมากนัก ฉะนั้น โอกาสพิเศษที่เขามักจะแสดงความเจนจบในกระบวนยุทธทางธุรกิจ จึงมักจะเป็นช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลอง เช่น การกล่าวปราศรัยในช่วงเทศกาลปีใหม่ หรือการพบปะกับบรรดาผู้บริหารของบริษัท

อย่างไรก็ดีในทุกๆ ครั้งที่ประธานอีพูด สิ่งหนึ่งที่สามารถสังเกตเห็นได้อย่างเด่นชัด คือ การให้ความสำคัญกับผู้มีความสามารถพิเศษในองค์กร เพื่อนำไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ เช่น...

"ไม่สำคัญว่ามันจะเกิดอะไรขึ้น เพราะไม่มีอะไรที่ต้องหวาดหวั่น หากเรามีพรสวรรค์ที่สุดพิเศษ"

"ในยุคแห่งการแข่งขันที่ไร้ขีดจำกัด การชนะหรือแพ้ มันขึ้นอยู่กับคนอัจฉริยะกลุ่มเล็กๆ เพราะอัจฉริยะเพียงหนึ่งคน สามารถเลี้ยงดูคนได้ถึง 100,000 คน"

บทส่งท้าย เมื่อความชอบส่วนตัว ไม่ได้ช่วยให้ทำธุรกิจสำเร็จได้เสมอไป

เกือบ 30 ปี นับตั้งแต่ประธาน "อี กอน ฮี" สืบทอดตำแหน่งผู้นำของ Samsung ต่อจากบิดา ชายผู้นี้ได้ผลักดันบริษัทผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าระดับท้องถิ่นไปสู่การเป็นแบรนด์ระดับโลก จากสินค้าไฮเทคชั้นนำมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Smartphone, Smart TV หรือชิพคอมพิวเตอร์ ที่มีประสิทธิสูงจนถึงขั้นคู่แข่งสำคัญในตลาด Smartphone อย่าง Apple ยังต้องเรียกใช้บริการ

นอกจากนี้ Samsung ยังช่วยทำให้เศรษฐกิจของเกาหลีใต้ใหญ่เป็นลำดับที่ 4 ของเอเชีย ผ่านเครือข่ายธุรกิจมากมายถึง 62 บริษัท เช่น ธุรกิจการต่อเรือ ธุรกิจประกันชีวิต ธุรกิจก่อสร้าง ธุรกิจโรงแรม ธุรกิจสวนสนุก และอื่นๆ อีกมากมาย

และหากนับเฉพาะบริษัท Samsung Electronics เพียงบริษัทเดียว ก็คิดเป็นสัดส่วนถึง 20% ของมูลค่าโดยรวมในตลาดหลักทรัพย์ของเกาหลีใต้ หรือ KOSPI Market. แล้ว

อ่านมาถึงบรรทัดนี้ เราอาจแทบจินตนาการไม่ออกเลยว่า ประธานอีเคยล้มเหลวเหมือนใครๆ เขาบ้างไหม เพราะไม่ว่าจะทำธุรกิจอะไรก็ดุจะประสบความสำเร็จไปเสียหมด แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว ความล้มเหลวของผู้นำ SamSung มันมีอยู่นะ แถมมันยังคือ หนึ่งในสิ่งที่ประธานอีหลงรักมาตั้งแต่วัยเยาว์ นั่นก็คือ รถยนต์ซุปเปอร์คาร์นั่นเอง แถมมันยังเป็นความล้มเหลวภายในระยะที่แสนสั้นอย่างเหลือเชื่อเสียด้วย!

หลังความพยายามขยายธุรกิจไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ ภายใต้แบรนด์ Samsung Motor Inc. ในช่วงต้นยุค 90 และมีการการเปิดตัวรถยนต์คันแรกออกสู่ตลาดด้วยความภาคภูมิในปี 1998 แต่ผลลัพท์ที่ได้มันกลับสวนทางกับความหลงใหลในรถยนต์สุดหรูของประธานอีอย่างสิ้นเชิง รถยนต์แบรนด์ Samsung ไร้ซึ่งแรงดึงดูดสำหรับบรรดาผู้บริโภค ทุกอย่างจึงต้องยุติลง จากนั้น Samsung Motor Inc. ที่เจียนล้มละลาย จึงถูกบริษัท Renault เข้าซื้อกิจการในปี 2000

อึม…อีกเรื่องที่ไม่ควรลืม คือ ความรักที่มีต่อโลกภาพยนตร์ โดยความจริงจังในเรื่องนี้ได้รับการยืนยันจากพ่อมดแห่งฮอลลีวูด อย่าง สตีเวน สปีลเบิร์ก ที่เคยให้สัมภาษณ์สื่อเมื่อปี 1995 ว่า ในระหว่างการดินเนอร์กับประธานอีครั้งหนึ่ง

"มันมีความชัดเจนว่า ผู้นำของ Samsung มีแนวคิดที่อยากจะลงทุนในสตูดิโอผลิตภาพยนตร์สักแห่ง เพียงแต่บรรดาผู้บริหารคนอื่นๆ ที่ร่วมวงด้วย ดันเอาแต่หมกมุ่นอยู่กับคุยเรื่องการผลิตไมโครชิพอยู่ได้ มื้อค่ำมื้อนั้น จึงกลายเป็นเรื่องที่เสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์!" สตีเวน สปีลเบิร์ก พูดถึงการพูดคุยในค่ำคืนนั้น เรียกว่า จบเร็วไม่ต่างจาก Samsung Motor Inc.

อนาคตใหม่ของ Samsung ที่อยู่ภายใต้ความท้าทาย

การสูญเสียบุคคลผู้เป็นดั่งหัวใจขององค์กรอย่างประธานอี ย่อมไม่อาจหลีกเลี่ยงเสียงวิพากษ์วิจารณ์ และการถูกตั้งคำถามอันท้าทายที่ว่า ก้าวต่อไปของ Samsung จะพ้นร่มเงาที่ทอดยาวจนแทบไร้จุดสิ้นสุดของประธานอีได้หรือไม่?

โดยเฉพาะเมื่อการเสียชีวิตของเขา เกิดขึ้นในช่วงเวลาแห่งความสลับซับซ้อนที่ Samsung กำลังเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นทั้งจากปัจจัยภายนอก คือ ธุรกิจ Smartphone ซึ่งทำเงินทำทองให้กับอาณาจักรมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา กำลังเผชิญหน้ากับการรุกคืบอย่างเอาเป็นเอาตายของสารพัดแบรนด์จีนที่นับวันจะยิ่งเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องและกำลังอยู่ในช่วงการระเบิดศึกครั้งใหม่ จากเทคโนโลยี 5G นอกจากนี้ การแพร่ระบาดโรค Covid-19 ที่จะยิ่งทำให้การแข่งขันเพิ่มความดุเดือดมากขึ้นไปอีกเท่าทวี โดยเฉพาะเมื่อคู่แข่งสำคัญอย่าง Apple เพิ่งเปิดตัว iPhone 12 เข้าสู่ตลาด

ส่วนปัจจัยภายใน คือ ความพยายามเร่งปฏิรูปวัฒนธรรมองค์กรเดิมที่เต็มไปด้วยลำดับชั้นมากมายไม่ต่างจากระบบราชการ การถูกเร่งเร้าให้สร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อรักษาความเป็นผู้นำในตลาดสินค้าไฮเทค และการสร้างความโปร่งใสให้กับองค์กร เพื่อลบภาพที่มัวหมองจากเรื่องที่เกิดขึ้นในอดีต แต่ที่ดูจะเป็นประเด็นสำคัญที่สุดเรื่องหนึ่ง คือ การที่ Samsung ถูกวิพากวิจารณ์หลายต่อหลายครั้ง เรื่องการไม่เคารพสิทธิของพนักงานในองค์กร โดยมักจะใช้นโยบายขั้นเด็ดขาดกับพนักงานที่พยายามจัดตั้งสหภาพขึ้นมาต่อรองกับบริษัท

ซึ่งปัญหาดังที่กล่าวไปทั้งหมดนี้ได้ตกอยู่ภายใต้อุ้งมือความรับผิดชอบอันใหญ่ยิ่งของหนุ่มอี แจยง (Lee Jae-yon) ทายาทของประธานอี ซึ่งเพิ่งเข้ารับตำแหน่งรองประธาน Samsung Electronics เมื่อเดือนธันวาคม ปี 2012

ที่ผ่านมาวิสัยทัศน์ของ หนุ่มอี แจยง สามารถสร้างความปลาบปลื้มให้กับนักลงทุนได้อยู่ไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นการตัดสินใจทุ่มเงินกว่า 8,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เข้าซื้อกิจการ Harman บริษัทอิเล็กทรอนิกส์ยานยนต์สัญชาติสหรัฐฯ เพื่อหาทางเชื่อมโยงไปสู่ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ ยังมีแผนที่ทุ่มเงินอีกถึง 160,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับการเร่งปรับปรุงและพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) การพัฒนาเครือข่าย 5G ชีวเวชภัณฑ์ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวไปล้วนแล้วแต่เป็นธุรกิจที่ได้รับการจับตา สำหรับยุคสมัยแห่งการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ทั้งสิ้น

นอกจากนี้ เขายังวางวิสัยทัศน์สำหรับอนาคตของ Samsung ไปถึงปี 2030 แล้ว ด้วยการเตรียมลงทุนด้วยเม็ดเงินถึง 133 ล้านวอน เพื่อปรับปรุงความสามารถในการแข่งขันเรื่องระบบ LSI (large-scale integration) หรือการผลิตชิพเทคโนโลยีขั้นสูง หลัง Samsung Electronics เริ่มมองว่าตัวเองกำลังล้าหลังคู่แข่งในตลาดเซมิคอนดักเตอร์

แต่อย่างไรก็ดี ปัญหาของผู้กุมบังเหียนคนใหม่ของยักษ์ใหญ่แห่งอุตสาหกรรมสัญชาติเกาหลีใต้ อาจไม่ใช่เรื่องวิสัยทัศน์ แต่อาจเป็นปัญหาการถูกฟ้องร้องจากข้อกล่าวหามากมาย ไม่ว่าจะเป็น ความผิดเรื่องการเข้าควบรวมกิจการ การตกแต่งบัญชี รวมถึงการถ่ายโอนหุ้นและการละเมิดกฎหมาย และข้อบังคับของตลาดหลักทรัพย์ที่กำลังอยู่ระหว่างการตรวจสอบ

และทั้งหมดที่กล่าวไปนั้น ยังไม่รวมการถูกดำเนินคดีในข้อหาติดสินบนเพื่อให้พ่อของเขาได้รับการ อภัยโทษ จนพ้นคุกพ้นตาราง รวมถึงการถูกตั้งข้อหาติดสินบนเพื่อนสนิทของอดีตประธานาธิบดี พัค กึน ฮเย (Park Geun-hye) เพื่อตอบแทนการที่รัฐบาลให้การช่วยเหลือการดำเนินธุรกิจของ Samsung ด้วย

นี่จึงเป็นจุดที่ต้องจับตามองต่อไปว่า ปัญหาอันเกิดจากการดำเนินกลยุทธ์ทางธุรกิจที่ดูหมิ่นเหม่ในอดีต จะทำให้ยักษ์ใหญ่แห่งเกาหลีใต้บริษัทนี้ ก้าวเดินไปข้างหน้าหรือติดหล่มที่ตัวเองเป็นผู้ขุดไว้เสียเอง...

ผู้เขียน: นายฮกหลง
กราฟิก: Pradit Phulsarikij

ข่าวน่าสนใจ: