อีกเพียงไม่กี่วันก็จะถึง "วันเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ" ที่ทั่วโลกเฝ้าจับตา เรียกได้ว่าเป็นการตัดสินใจครั้งสำคัญของชาวอเมริกัน ว่า สุดท้ายแล้ว พวกเขาอยากจะมีประธานาธิบดีที่ชื่อ "โดนัลด์ ทรัมป์" ต่อไป หรืออยากเปลี่ยนไปสู่ความหวังใหม่...กับการมีประธานาธิบดีที่ชื่อ "โจ ไบเดน"
แต่ก่อนจะถึง "วันเลือกตั้งสหรัฐฯ" 3 พฤศจิกายนนี้... เราก็จะมาหาคำตอบของคำถามกันเช่นเคย ซึ่งหากใครที่ติดตามข่าวสารของสหรัฐฯ อยู่เป็นประจำ ก็คงจะเห็นภาพกันว่า วิกฤติโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ย่ำแย่และเลวร้ายแค่ไหน ธุรกิจยักษ์ใหญ่ยื่นล้มละลายนับร้อย คนตกงานเป็นล้านๆ
คำถามจึงจะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ ถ้าไม่ใช่ "นโยบายเศรษฐกิจและการจ้างงาน" ที่เราจะมาไล่เรียงว่า ระหว่าง "ทรัมป์" กับ "ไบเดน" เลือกใครจะได้อะไร?
อันดับแรก...ต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า "การเลือกตั้งสหรัฐฯ" ครั้งสำคัญนี้ มี "การลงคะแนนเสียงทางไปรษณีย์" ด้วย เหตุผลก็เพราะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังไม่สงบ
ซึ่ง "การลงคะแนนเสียงทางไปรษณีย์" ที่ว่านี้ คงไม่มีปัญหาอะไรมากนักกับหลายๆ รัฐที่คุ้นเคยอยู่แล้ว เช่น แอริโซนาและฟลอริดา แต่บางรัฐที่ประสบการณ์น้อย โดยเฉพาะสมรภูมิสำคัญอย่าง นอร์ทคาโรไลนา และเพนซิลวาเนีย ก็น่ากังวลพอสมควร และอาจกลายเป็น "บัตรเสีย" ที่เกิดจากความผิดพลาดง่ายๆ เช่น ลืมเซ็นชื่อบนซองจดหมาย หรือส่งไปรษณีย์ช้าไป
...
ทำไม "การลงคะแนนเสียงทางไปรษณีย์" ถึงกลายมาเป็นประเด็นสำคัญ?
นี่คงเป็นคำถามที่หลายๆ คนคิดในใจ...
ซึ่งปกติแล้ว "การลงคะแนนทางไปรษณีย์" จะได้รับความนิยมกับแค่บางรัฐเท่านั้น ยิ่งมีผลสำรวจออกมาว่า "ผู้สนับสนุนทรัมป์" ส่วนใหญ่วางแผนไปลงคะแนนเสียงด้วยตัวเองในวันเลือกตั้ง ต่างกับ "ผู้สนับสนุนไบเดน" ที่ส่วนใหญ่วางแผนลงคะแนนทางไปรษณีย์ ก็ทำให้ความกังวลเพิ่มขึ้นไปอีก เพราะพวกเขากลัวว่า นี่อาจเป็นปัญหาในอนาคต และเกิดปรากฏการณ์ "Blue Shift" ได้
สมมติว่า "ไบเดน" ชนะ ไม่ว่าจะเป็นแอริโซนา หรือฟลอริดา สมรภูมิสำคัญที่มีกระบวนการลงคะแนนเสียงทางไปรษณีย์เป็นไปอย่างรวดเร็ว และไม่รับบัตรลงคะแนนที่มาถึงหลังวันเลือกตั้ง โอกาสที่ "ไบเดน" จะคว้าชัยชนะประธานาธิบดีสหรัฐฯ ก็มีสูง แต่หากว่า "ไบเดน" แพ้ เขาก็อาจต้องไปลุ้นรัฐอื่นๆ ที่มีการนับคะแนนช้า เช่น มิชิแกน
และจาก "การลงคะแนนเสียงทางไปรษณีย์" นี้ ก็กลายเป็นปัญหาลุกลามไปจนถึงขั้นยื่นฟ้องร้อง จนอาจนับได้ว่า "การเลือกตั้งสหรัฐฯ ปี 2020" เป็นการเลือกตั้งที่ถูกฟ้องร้องมากที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ
โดยรายงานของ Healthy Elections Project ที่ร่วมกับมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด และสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ เปิดเผยว่า มีการยื่นฟ้องแล้วมากกว่า 300 คดีความใน 44 รัฐ
และอีกประเด็นของ "การลงคะแนนเสียงทางไปรษณีย์" คือ การที่ศาลสูงรัฐเทกซัสจำกัดกล่องรับบัตรลงคะแนน 1 กล่องต่อเขตปกครอง
ซึ่งนี่ก็เป็นข้อกังวลตามมาว่า การจัดส่งบัตรลงคะแนนเสียงทางไปรษณีย์ของพวกเขาอาจมาถึงไม่ทันเวลาการนับคะแนน
1 กล่อง 1 เขตปกครอง ตัวอย่างภาพง่ายๆ ว่า ไม่ว่าจะเป็น แฮร์ริส เคาน์ตี หรือฮิวส์ตัน ที่มีประชากรมากกว่า 4 ล้านคน หรือจะเป็นเลิฟวิง คาน์ตี ที่มีประชากร 169 คน ก็จะได้เพียงกล่องเดียวเท่ากัน
คราวนี้มาถึงคำถามที่ว่า ทรัมป์ vs ไบเดน เลือกใครได้อะไร?
ขอเริ่มในส่วนของ "ทรัมป์"
...
ที่ชู "กฎหมายปฏิรูปภาษี" ขึ้นมานำเสนออีกครั้ง โดยบอกว่า นี่เป็นการลงนามปฏิรูปภาษีครั้งใหญ่ครั้งแรกในรอบ 30 ปีของสหรัฐฯ
"ปฏิรูปภาษี" อย่างไรบ้าง?
หาก "ทรัมป์" ชนะ เขาจะยกเว้นภาษีสำหรับครอบครัวชนชั้นกลาง จะเพิ่มเครดิตทางภาษีสำหรับเด็กเป็น 2 เท่า ให้อีก 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 30,000 บาท ต่อเด็ก 1 คน ในการยกเว้นภาษีสำหรับผู้ปกครองที่กำลังทำงานอย่างหนัก และจะหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาจ่ายให้อีกเกือบ 2 เท่า แถมปรับขั้นตอนยื่นภาษีให้ยุ่งยากน้อยลงเพื่อชาวอเมริกันนับล้านคน
สำหรับธุรกิจต่างๆ "ทรัมป์" บอกว่า จะลดภาษีธุรกิจขนาดเล็ก 20% และกำลังจัดหาอีก 4.15 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 12 ล้านล้านบาท ในการยกเว้นภาษีให้กับธุรกิจขนาดเล็ก รวมถึงบรรเทาภาระทางภาษีมากกว่า 500 บริษัท เพื่อให้เก็บเงินไว้สำรองจ่ายโบนัส และเพิ่มค่าแรงให้แรงงาน 4.8 ล้านราย
...
มุมมองภาพใหญ่ "ทรัมป์" บอกว่า จะกระตุ้นการลงทุนใหม่ๆ เข้าสู่เศรษฐกิจสหรัฐฯ หลังอนุมัติการลงทุนทางธุรกิจกว่า 4.82 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 15 ล้านล้านบาท ในการเข้าสู่โครงการใหม่ๆ ของสหรัฐฯ ไปแล้ว และสัญญาว่า เขาจะทำให้บริษัทสหรัฐฯ สามารถแข่งขันบนเวทีโลกได้ และลดหย่อนอัตราภาษีนิติบุคคลจากที่สูงที่สุดเป็นอันดับ 1 ในโลกอุตสาหกรรม จาก 35% เป็น 21%
ที่สำคัญ "ทรัมป์" ย้ำว่า เขาจะยกเลิกภาระของ "โอบามาแคร์" ที่บังคับให้ต้องมีทุกคน
ด้านการจ้างงาน "ทรัมป์" อ้างว่า นับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งมีการสร้างงานไปแล้วกว่า 625,000 ตำแหน่ง และอัตราการว่างงานของชาวลาตินอเมริกา, เอเชีย และแอฟริกันอเมริกันก็ลดตำ่ลง หากได้นั่งตำแหน่งต่อไป เขาบอกว่าจะขับเคลื่อนโปรแกรมการฝึกอบรมและทำให้การเข้าถึงการศึกษามีราคาที่เอื้อมถึง นำไปสู่การได้รับค่าตอบแทนการจ้างงานที่มากขึ้น
มาต่อในส่วนของ "ไบเดน"
...
หาก "ไบเดน" ชนะ เขาจะจัดหาแพ็กเกจฟื้นคืนความสำเร็จให้กับธุรกิจถนนสายหลักและผู้ประกอบการทั้งหลาย และจะระดมกำลังชาวอเมริกันในอุตสาหกรรมการผลิตและนวัตกรรม ในการก้าวสู่อนาคต Made in America หลังจากที่ได้เห็นว่า วิกฤติโควิด-19 มีผลกระทบที่เป็นอันตรายต่อห่วงโซ่การผลิตของสหรัฐฯ ซึ่งเขาจะสร้างฐานอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่ง และธุรกิจขนาดเล็กจะเป็นผู้นำห่วงโซ่การผลิตที่จะคงการจ้างงานและสร้างงานที่มีค่าแรงดีนับล้านตำแหน่งในสหภาพอุตสาหกรรมการผลิตและเทคโนโลยีทั่วประเทศ
ที่สำคัญ "ไบเดน" บอกว่า เขาเตรียมร่างโครงการ "เศรษฐกิจพลังงานสะอาด" เพื่อให้ความสำคัญกับความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อม
และอีกสิ่งหนึ่ง ที่ "ไบเดน" มองเห็นจากวิกฤติโควิด-19 ครั้งนี้ คือ การสร้างงานดูแลคนป่วยหรือคนสูงอายุที่บ้าน (Caregiving) และการศึกษาแห่งศตวรรษที่ 21 ที่จะช่วยลดภาระการดูแลสำหรับผู้ปกครองที่กำลังทำงานอยู่ โดยเฉพาะผู้หญิง ที่จะมีการยกระดับค่าจ้าง ผลประโยชน์ที่ได้รับ และโอกาสของมืออาชีพในการดูแลผู้ป่วยและคนสูงอายุ รวมถึงนักการศึกษา เพื่อฟื้นเศรษฐกิจให้กลับมาเติบโตอย่างเข้มแข็ง
ด้านความเท่าเทียมในการจ้างงาน "ไบเดน" บอกว่า เขาจะเพิ่มค่าแรงให้กับทุกคนอย่างเท่าเทียมทุกเชื้อชาติในสหรัฐฯ ขยายการเข้าถึงที่พักอาศัย สนับสนุนการลงทุนของผู้ประกอบการชาวผิวสี ลาติโน และนาทีฟอเมริกัน รวมถึงปฏิรูประบบยุติธรรมทางอาชญากรรม พร้อมให้คำมั่นสัญญาว่า เขาจะเปิดโอกาสทางการศึกษาโดยไม่คำนึงถึงเชื้อชาติ หรือรหัสไปรษณีย์
แต่ที่ "ไบเดน" ฉีกจาก "ทรัมป์" มากๆ ก็คือ "การจ่ายส่วนแบ่งทางภาษี" ที่เขาอ้างว่า คณะบริหารทรัมป์อุ้มแต่นายทุน ที่มีการจัดหาเครื่องมือจำเป็นมากมายเพื่อช่วยเหลือบริษัทยักษ์ใหญ่และวอลล์สตรีท รวมถึงพวกพ้องที่มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ขณะที่ ธุรกิจขนาดเล็กกลับตกอยู่ในบ่วงและเข้าไม่ถึงเงินอุดหนุนจำนวนมาก ซึ่งเขาสัญญาว่า จะนำพาธุรกิจขนาดเล็กผ่านพ้นวิกฤติโควิด-19 นี้ไปให้ได้ และจะฟื้นกลับสู่สภาพปกติ ผู้ประกอบการเหล่านี้จะมีโอกาสกลับเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้อีกครั้งในอนาคต
และ "ไบเดน" ย้ำว่า เขาจะเรียกเก็บภาษีที่สมเหตุสมผล เพื่อให้แน่ใจได้ว่า มหาเศรษฐีชาวอเมริกันจะจ่ายส่วนแบ่งที่เหมาะสม
คำมั่นสัญญาที่ว่ามาทั้งหมดนี้ หากคุณมีสิทธิ์ลงคะแนนเสียง...จะเลือกใคร?
ปิดท้ายสัปดาห์นี้ ก่อนถึง "วันเลือกตั้ง" 3 พฤศจิกายน มาลองเช็กคะแนนเสียง "กลุ่มคนรุ่นใหม่" ในสหรัฐฯ กันสักหน่อย
ที่จากภาพรวมการสำรวจหลายๆ สำนัก เห็นได้ว่า "ชาวอเมริกันรุ่นใหม่" มีความกระตือรือร้นสูงเทียบเท่า "การเลือกตั้งเมื่อปี 2551" ...ซึ่งนี่อาจเป็นทางแยกครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ เหมือนสมัยที่ "บารัค โอบามา" ได้เป็นประธานาธิบดีผิวสีคนแรก
ผลสำรวจของสถาบันการเมืองฮาร์วาร์ด เห็นได้ว่า 63% ของชาวอเมริกันอายุ 18-29 ปี ยืนยันว่าจะไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งสหรัฐฯ อย่างแน่นอน และมากกว่า 47% ของช่วงอายุ 18-29 ปี ก็ระบุแบบเดียวกันกับผลการสำรวจเมื่อปี 2559
ซึ่งหากเป็นไปตามผลการสำรวจจริงๆ ก็นับว่าเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับ "ไบเดน" เพราะผลสำรวจแสดงให้เห็นว่า คนรุ่นใหม่มีแนวโน้มที่จะลงคะแนนเสียงสนับสนุน "ไบเดน" มากกว่า "ทรัมป์"
ในช่วงสัปดาห์หน้า ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาด...เราก็คงได้ทราบกันแล้วว่า ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 46 จะเป็นใคร แน่นอน เราจะมาติดตามกันต่อ...
ข่าวน่าสนใจ :
- "ประธานาธิบดีสหรัฐฯ" มีอำนาจสั่งแจก วัคซีนโควิด-19 หรือไม่?
- "มหาเศรษฐีพันล้าน" รวยไม่หยุด โควิด-19 ไม่ระคาย ความมั่งคั่งทุบสถิติปี 60
- "ฮ่องกง" Top 3 ค่าเช่าบ้านแพงสุดในโลก ต้องลี้ภัยไป "แมคโดนัลด์"
- ด.ญ.รัตนา คนระลึกชาติ กับศาสนาและวิทยาศาสตร์
- มุมมืดโรงเรียนญี่ปุ่น บูลลี่ปีละ 6 แสนครั้ง สลดเด็ก 15 ก่อเหตุสะเทือนขวัญ