รู้ไหมว่า นอกเหนือจากสถานที่ท่องเที่ยว, อาหาร และวัฒนธรรมแล้ว ไทยมีอีกหนึ่งสิ่งที่ดึงดูด "นักท่องเที่ยวต่างชาติ" ให้มาเยือนปีละหลายล้านคน นั่นก็คือ Medical & Wellness

"ไทยจะเป็น Hub ที่ไม่ใช่แค่เอเชีย แต่จะเป็นอะไรที่เหนือกว่านั้น... ในฐานะ Medical & Wellness Hub ของโลก"

คำกล่าวนี้ที่ระบุในเอกสารของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ในตอนแรกอาจจะมองว่าโม้เกินจริง แต่ถ้ามองภาพรวมทั้งหมด...ก็มีความเป็นไปได้ไม่น้อย

ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาใช้บริการดูแลสุขภาพและการบริการส่งเสริมสุขภาพ (Medical & Wellness) เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างในปี 2560 ก็สูงถึง 3.3 ล้านรายทีเดียว

หากถามว่า "ทำไมพวกเขาถึงเลือกมาปักหมุดที่ไทย?"

คำตอบสั้นๆ ของพวกเขา คือ คุณภาพการให้บริการกับราคาที่สมเหตุสมผลมากกว่าประเทศคู่แข่งอื่นๆ

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีอีกหลายปัจจัยที่นักท่องเที่ยวใช้ประกอบการตัดสินใจ ทั้งชื่อเสียงในระดับนานาชาติ การเอาใจใส่และการอำนวยความสะดวกในการให้บริการทางการแพทย์ระดับเวิลด์คลาส ทักษะอันเชี่ยวชาญทางการแพทย์ และที่ปรึกษาในการดูแลสุขภาพ

...

เหล่านี้ล้วนดึงดูดให้พวกเขาเลือกมาปักหมุดที่นี่... โดยจากรายงานดัชนีอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical Tourism Industry Index) ของ The International Healthcare Research Center ที่คำนวณจากข้อมูลคุณภาพการให้บริการทางการแพทย์และการรับรองคุณภาพในระดับนานาชาติ ในแง่ของโรงพยาบาลและการพัฒนาคุณภาพของบุคลากรทางการแพทย์ ไทยอยู่อันดับ 6 จาก 41 ประเทศ ส่วนในแง่ของคุณภาพและการบริการ อยู่อันดับ 18 จาก 41 ประเทศ

อันดับดัชนีเหล่านี้บ่งชี้ได้ว่า ไทยเป็นจุดมุ่งหมายปลายทางการท่องเที่ยวทางการแพทย์สำหรับประชากรทั่วโลก

และจาก 10 บริการที่รัฐบาลพยายามชูจุดขายและโปรโมตเป็น Medical & Wellness Hub ในระดับโลก อย่าง เวชศาสตร์การฟื้นฟูสภาวะเสื่อมและการชะลอวัย, การแพทย์ทางเลือก, คาร์ดิโอ, กระดูกและกล้ามเนื้อ, คลินิกทันทตกรรม, การทำเด็กหลอดแก้ว, การรักษาโรคมะเร็ง, การศัลยกรรม, จักษุแพทย์ (ต้อ) และการรักษาแบบแม่นยำและจำเพาะนั้น พบว่า บริการยอดฮิตที่นักท่องเที่ยวมองหามากที่สุด คือ การดูแลทางการแพทย์ทั่วไปและการศัลยกรรม, ศัลยศาสตร์ออร์โทพีดิกส์ (กระดูก), การทำเด็กหลอดแก้ว และทันตกรรม

แล้วไทยพร้อมรับนักท่องเที่ยวมากน้อยแค่ไหน...กับการก้าวสู่ Medical & Wellness Hub ของโลก?

หลายๆ คนคงพอนึกภาพออกบ้างแล้ว เพราะปัจจุบัน หากสังเกตดีๆ จะเห็นได้ว่า โรงพยาบาลและสถาบันทางการแพทย์หลายๆ แห่งของไทยเริ่มมีการนำเทคโนโลยีมานำเสนอในการให้ดูแลสุขภาพกับนักท่องเที่ยวบ้างแล้ว ทั้งการประมวลผลทางดิจิทัล, เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI และเทคโนโลยี Big Data ในการช่วยเป็นที่ปรึกษาทางการแพท, วินิจฉัยโรค และการบริการทั้งหมด

ในส่วนภาครัฐเอง...ก็เข็นมาตรการมานำเสนอเพื่อดึงดูดใจและอำนวยความสะดวกในการให้บริการทางการแพทย์แก่นักท่องเที่ยว แถมยังมีแนวคิดขยายเวลาการพำนัก และวีซ่าพำนักระยะยาวให้เพิ่มมากขึ้น

แต่การจะเป็น Medical & Wellness Hub ไม่ได้จำเพาะเจาะจงเพียงแค่ธุรกิจทางการแพทย์เท่านั้น ยังมีในมุมมองของ "ธุรกิจการท่องเที่ยว" ด้วย

เพราะอย่าลืมว่า การเป็น Hub ของโลก...ต้องคิดให้ล้ำมากกว่านั้น ไม่ใช่การดึงนักท่องเที่ยวที่มีเป้าหมายทางการแพทย์เท่านั้น แต่ยังมีกลุ่มนักท่องเที่ยวที่หวังมาเพื่อพักผ่อนหย่อนใจด้วย

เทรนด์ใหม่ Wellness กับ Circadian Travel

Circadian ถ้าแปลตรงตัวก็คือ รอบวัน (24 ชั่วโมง)

ซึ่ง "รอบวัน" (24 ชั่วโมง) นี้ เป็นเทรนด์ที่น่าสนใจที่ "อุตสาหกรรมท่องเที่ยว" ไม่ควรมองข้าม!

โรงแรม, รีสอร์ต และสายการบิน ต้องปรับเทรนด์ Wellness ใหม่ ไม่ใช่แค่การผ่อนคลายเมื่อนักท่องเที่ยวมาถึงเท่านั้น แต่ต้องดูแลตลอดการใช้ชีวิตของเขาที่มาอยู่กับเรา

เพราะตอนนี้พูดได้ว่า "อุตสาหกรรมท่องเที่ยว" มัวแต่มุ่งให้ความสนใจกับความเหนื่อยล้า และการนอนหลับของนักท่องเที่ยวเป็นหลัก

...

เคยมีอาการ Jet Lag กันไหม?

นี่คือ อาการอ่อนเพลียจากการเดินทางด้วยเครื่องบินที่เป็นผลจากนอนหลับและตื่นตลอด 24 ชั่วโมง ท่ามกลางแสงสว่างและความมืดที่ปรับเปลี่ยนไปมาแบบฉับพลัน เพราะไทม์โซนที่เปลี่ยนไปมา ซึ่งเหมือนจะเป็นเรื่องเล็กๆ แต่จริงๆ ไม่ใช่เลย... จากการสำรวจผู้โดยสารกว่า 448 ล้านราย ในปี 2561 พบว่า กว่า 93% มีอาการ Jet Lag กันทั้งนั้น

ทำไมถึงต้องใส่ใจกับอาการนี้... นั่นเพราะ Jet Lag ส่งผลต่ออารมณ์ การนอน และการย่อยอาหารของนักท่องเที่ยว และถ้าจัดการผิดวิธีก็ยิ่งทำให้อาการหนักกว่าเดิม ง่ายๆ ว่า เมื่อนักท่องเที่ยวไม่มีอารมณ์เที่ยว "อุตสาหกรรมท่องเที่ยว" ก็ขับเคลื่อนได้ไม่เต็มที่ แทนที่จะออกไปเที่ยว กลับอยู่แต่ในห้องพัก

นั่นจึงเป็นเหตุผลว่า ทำไม Circadian Travel จึงเป็นเทรนด์ Wellness ที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวต้องลงมาใส่ใจ

สิ่งสำคัญที่จะช่วยขจัดอาการ Jet Lag คือ การเปิดรับแสงสว่างอย่างถูกต้องและถูกเวลา

หมายความว่า เวลานั้นต้องอย่านอน อย่าออกกำลังกาย และอย่าทานอาหาร หรือดื่มกาเฟอีน และความยากของมันคือ นี่เป็นเทรนด์ที่ต้องใส่ใจเป็นรายบุคคล เท่ากับว่า เราต้องใส่ใจนักท่องเที่ยวเป็นรายคน จะออกโปรแกรมแบบเหมารวมไม่ได้

...

โรงแรม, รีสอร์ต และสายการบิน ต้องจัดตารางลำดับนักท่องเที่ยว ตั้งแต่ช่วงเวลารับแสงสว่าง ช่วงเวลาหลีกเลี่ยงแสงสว่าง ช่วงเวลาที่ควรกินอาหาร และช่วงเวลาที่ควรนอนหลับหรืองีบหลับ รวมถึงระยะเวลาที่เหมาะสมด้วย หรือบอกได้ว่า Circadian Travel ต้องยึดแสงสว่างเป็นศูนย์กลางตามพื้นฐาน Circadian Cycle ของนักท่องเที่ยวแต่ละคน

เท่าที่เห็นภาพตอนนี้ มีหลายบริษัทเริ่มหยิบ Circadian Travel มาใช้แล้ว

ยกตัวอย่างเช่น Lanserhof Tegernsee ของเยอรมนี ที่เปิดโปรแกรมการนอนหลับรูปแบบใหม่โดยมีการวิเคราะห์ทางการแพทย์ เรียกว่า Chronotherapie ที่จะคอยดูแลนักท่องเที่ยวตั้งแต่จังหวะการนอนหลับ-ตื่นนอน, การบำบัดด้วยแสงสว่างและกระจกกรองแสงสีฟ้าตอนกลางคืน การใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และชุดนอนอัจฉริยะที่ปรับอุณหภูมิให้เหมาะสมสำหรับการนอนหลับ รวมถึงฟังก์ชัน Kill-Switch ที่คอยปิด Wi-Fi แสงไฟ และ Electro Smog

สำหรับ "ธุรกิจสายการบิน" เทรนด์ Wellness: Circadian Travel ก็ต้องเริ่มตั้งแต่การทำ Booking ตั๋วเครื่องบิน ที่นอกจากจะมีตัวเลือกราคาประหยัด เร็วที่สุด และความบันเทิงแล้ว ยังต้องเพิ่มตัวกรอง Jet Lag เป็นตัวเลือกพิเศษด้วย เช่น การมีระบบบอกว่า เวลาใดควรงีบหลับ, มอง และหลีกเลี่ยงแสงไฟ และอาหาร ตามแต่คุณลักษณะของนักท่องเที่ยวแต่ละคน

บางคนอาจจะคิดว่า เทรนด์ Wellness: Circadian Travel ต้องลงทุนสูงคงไม่คุ้ม แต่หากสังเกตดีๆ เราจะเห็นได้ว่า หลายๆ เทรนด์ในปัจจุบัน นักท่องเที่ยวเองกำลังมุ่งไปหาการดูแลแบบ Circadian Health โดยไม่รู้ตัว

...

และขอแถมท้ายอีกเทรนด์ Wellness ที่ไม่ควรทำแบบครึ่งๆ กลางๆ นั่นก็คือ Aging หรือเทรนด์ของคนสูงวัย เพราะในอนาคต กลุ่มๆ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปนี้ จะกลายเป็นตลาดหลักที่มีอิทธิพลมาก โดยจากการคาดการณ์ขององค์การอนามัยโลก (WHO) คาดว่า ปี 2593 ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปนี้ จะขยายเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า จากสัดส่วน 12% เป็น 22%

กลุ่มนี้มีอะไรที่ต้องดูแลเป็นพิเศษกว่ากลุ่มอื่นๆ ...ตามจริงก็ไม่ต่างกันมาก ทางการแพทย์ก็ต้องดูแลเหมือนกัน แต่ต้องเพิ่มการดูแลประเภทอาการเจ็บป่วยโรคเรื้อรังเข้าไปด้วย เช่น โรคเบาหวานหรือโรคหัวใจ และเทรนด์ Circadian ก็ยังจำเป็นมากๆ อยู่ แต่สำหรับธุรกิจโรงแรม อาจจะต้องเพิ่มตัวเลือกพิเศษ เช่น การให้บริการที่ปรึกษาในรูปแบบพนักงานที่ตอบสนองอย่างรวดเร็วหากเกิดเหตุฉุกเฉิน หรือการนำเทคโนโลยีมาเป็นเชื่อมโยงการสื่อสารระหว่างการพักที่โรงแรมกับโรงพยาบาล

เหล่านี้เชื่อว่า หากกระทรวงสาธารณสุขและการท่องเที่ยวฯ วางแนวทางที่สอดรับกัน ไทยจะมีโอกาสเป็น Medical & Wellness Hub ของโลกอย่างที่ตั้งใจ.


@@@@@@@@@

ร่วมติดตามงานเสวนาเพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน ในงาน "Sharing Our Common Future : ร่วมแรง เปลี่ยนแปลง แบ่งปัน" ในวันพุธที่ 11 พฤศจิกายน 2563 เวลา 18:30-21:00 น.
ผ่าน Live ทุกช่องทางของไทยรัฐ ได้แก่

Facebook: Thairath - ไทยรัฐออนไลน์
Facebook: ThairathTV
YouTube: Thairath

ติดตามรายละเอียดได้ที่
https://www.thairath.co.th/news/business/1970951