การศึกษาเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนควรได้รับ ทั้งยังเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาประเทศและการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ สร้างรายได้ และอาชีพมากมาย เรียกได้ว่า “การศึกษา” เป็นเรื่องที่ทุกประเทศทั่วโลกต่างให้ความสำคัญ แต่ทว่าในตอนนี้ทุกชาติกลับกำลังเผชิญกับปัญหาใหญ่ที่ซุกซ่อนอยู่ในสถานศึกษา ไม่เว้นแม้แต่ในประเทศแห่งความเจริญอย่าง ประเทศญี่ปุ่น...
ปัญหาใหญ่ที่ว่านั้นก็คือ การใช้ความรุนแรงและการกลั่นแกล้งกันในโรงเรียน หรือเรียกสั้นๆ ว่า “บูลลี่” (Bullying) นั่นแหละ จากเรื่องเล็กๆ ของเด็ก เช่น การล้อเลียนเรื่องรูปร่าง หน้าตา เพศ สีผิว การทำร้าย ชกต่อย สะสมนานวันเข้าจนกลายเป็นบาดแผลภายในจิตใจที่ไม่อาจรักษาหาย จนกลายเป็นโศกนาฏกรรมที่น่าเศร้า
จากสถิติพบว่าญี่ปุ่นมีเด็กตกเป็นเหยื่อถูกบูลลี่ในโรงเรียนมากที่สุด 612,496 ครั้ง จากการสำรวจโรงเรียนระดับชั้นประถมและมัธยมศึกษาทั่วประเทศ ปี 2019 โดยกระทรวงศึกษาธิการ แถมตัวเลขในปีนี้ยังเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 68,563 ครั้ง ที่น่าตกใจไปกว่านั้นคือ 8 ใน 10 ของโรงเรียนที่สำรวจมาทั้งหมด จะพบการทำบูลลี่ด้วยการทำร้ายร่างกายและจิตใจ อย่างน้อย 1 ครั้ง แบ่งออกเป็นกรณีที่เกิดขึ้นในโรงเรียนประถม 484,545 ครั้ง เพิ่มขึ้นจากเดิม 58,701 ครั้ง ในเด็กมัธยมต้น เพิ่มขึ้น 8,820 ครั้ง เป็น 106,524 ครั้ง และมัธยมปลาย 18,352 ครั้ง เพิ่มขึ้น 643 ครั้ง
และในปีนี้มีสถิติที่น่ากลัวเพิ่มมากขึ้น คือ กรณีการบูลลี่อย่างรุนแรง ที่ทำให้เด็กมีความเสี่ยงที่จะฆ่าตัวตาย เพิ่มขึ้น 20% จากปีก่อนเป็น 723 คดี แล้วในปีที่ผ่านมามีเด็กจำนวน 10 คน เลือกที่จะจบชีวิตตัวเอง!
...
กระทรวงศึกษาธิการของญี่ปุ่นได้สะท้อนปัญหานี้ว่า ถึงตัวเลขการกลั่นแกล้งในโรงเรียนในปีนี้จะเพิ่มขึ้น แต่นั่นหมายถึงครูได้ทำหน้าที่สอดส่องดูแลได้ทั่วถึง ส่งผลให้จำนวนเหตุการณ์ที่ได้รับรายงานมีเพิ่มขึ้นตามไปด้วย นอกจากนั้นญี่ปุ่นยังเสนอให้มีการอบรมครูผู้สอนให้สังเกตพฤติกรรมของเด็ก และวิธีรับมือหากพบการกลั่นแกล้งในโรงเรียน ทั้งยังมีการเสนอให้มีการลงโทษทางวินัยครูที่ละเลยหรือจงใจปกปิดเหตุการณ์ที่น่าสงสัยว่าจะเป็นการบูลลี่
ยิ่งไปกว่านั้น เด็กที่ถูกบูลลี่อาจจะเลือกทำร้ายคนใกล้ชิด คือ ญาติพี่น้อง เพราะพวกเขาถูกกระทำจนมีอาการป่วยทางจิตใจอย่างหนัก
18 ตุลาคม 2018 เกิดเหตุการณ์สลดขึ้น เมื่อเด็กชายวัย 15 ปี เรียนอยู่ชั้นมัธยมต้น ลงมือใช้มีดฆ่าตากับยายของตัวเอง ทั้งที่เขารักทั้งสองคนเป็นอย่างมาก สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ครอบครัวของเขาต่างสับสนและมึนงงกับเรื่องที่เกิดขึ้น และเมื่อเด็กชายวัย 15 ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมในวันถัดมา เด็กชายที่เริ่มจะเป็นวัยรุ่น ให้การสารภาพกับตำรวจว่า
“วันนั้นเขาเดินทางไปหาตากับยายที่จังหวัดไซตามะ เพื่อฆ่าตายายอันเป็นที่รัก เพราะไม่อยากให้ทั้งสองรับรู้และอับอายว่ามีหลานชายซึ่งกำลังจะเป็นฆาตกร เพราะเขาเตรียมวางแผนจะฆ่าเพื่อนร่วมห้อง ซึ่งเป็นเพื่อนที่เขา “ไม่อาจให้อภัยได้”
เหตุการณ์ร้ายที่เปรียบดั่งโศกนาฏกรรม..ทำไมถึงลงเอยแบบนี้
มิเอโกะ นากาบายาชิ ศาสตราจารย์ด้านสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยวาเซดะ ให้ความเห็นว่า การกลั่นแกล้งในโรงเรียนเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมญี่ปุ่นอยู่ตลอด มันไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น เพียงแต่ว่าเราเริ่มจะเห็นว่าการกลั่นแกล้งนั้นเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เด็กฆ่าตัวตาย เรื่องนี้จึงกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่โรงเรียน หน่วยงานการศึกษา และรัฐบาล ต้องให้ความสำคัญและหาทางแก้
การถูกบูลลี่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นธรรมดา ไม่ว่าจะประเทศไหนก็ตาม เพราะไม่ใช่เด็กทุกคนที่จะได้รับการสั่งสอนอย่างถูกต้อง ดังนั้นคนที่ “แปลกแยก” และแตกต่าง มักจะถูกกันออกจากกลุ่มในสังคม แต่ว่ามันต่างออกไปในสังคมญี่ปุ่น
ในความคิดของมิเอโกะ “เด็กที่มีความโดดเด่น เช่น เรียนเก่ง เล่นกีฬาดี ดนตรีก็ได้ หน้าตาดี หรือมีเชื้อสายต่างชาติ เด็กเหล่านี้มักจะถูกหมายหัว เหมือนกับการเป็นตะปูที่อยู่สูงกว่าเพื่อน ที่ต้องถูกตอกให้จมลง”
นอกจากนั้น การเลือกปิดปากเงียบยิ่งเป็นการผลักดันให้ปัญหามาสู่ทางตัน เมื่อเด็กที่ตกเป็นเหยื่อเลือกที่จะเก็บปัญหาที่โรงเรียนไว้กับตัวเอง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะวัฒนธรรมของญี่ปุ่นที่พวกเขาถูกสั่งสอนว่าจะต้องไม่สร้างปัญหาแก่ผู้อื่น จะต้องมีความอดทน เด็กจึงเลือกที่จะไม่บอกครอบครัว เพราะกลัวว่าตนเองจะสร้าง “ภาระ” และความยุ่งยากให้กับพวกเขา ทั้งยังไม่ต้องการบอกครูที่ปรึกษา เพื่อไม่ให้ตัวเองกลายเป็นจุดสนใจมากกว่าเดิม
สำหรับ “เอริค ฟิออ” คุณพ่อลูกสาม เจ้าของโรงเรียนสอนภาษาฝรั่งเศสในโยโกฮามา ในฐานะของผู้มีประสบการณ์ในระบบการศึกษาญี่ปุ่น เขากล่าวว่า สังคมโรงเรียนในญี่ปุ่นมีแรงกดดันมหาศาลที่ต้องการให้ทุกคน “กลมกลืนกัน”
...
วัฒนธรรมในโรงเรียนญี่ปุ่นมีการตั้งกฎเพื่อความเป็นระเบียบของนักเรียนอย่างเคร่งครัด บางแห่งให้สวมเครื่องแต่งกายเหมือนกันทุกกระเบียดนิ้ว แม้กระทั่งสีของกางเกงชั้นใน ยิ่งทำให้คนที่แปลกแยกจากกลุ่มถูกมองเห็นอย่างสะดุดตา
“เท่าที่ผมรู้ ลูกๆ ไม่เคยมีปัญหาการถูกกลั่นแกล้งในโรงเรียน แต่ปัญหาเหล่านั้นก็มีอยู่จริง ในบางครั้งเด็กๆ ก็มีพฤติกรรมที่รุนแรงและไม่เป็นมิตร ซึ่งดูเหมือนว่าในญี่ปุ่นจะเป็นแบบนั้นค่อนข้างมาก เด็กผู้ชายจะถูกผลักและทำร้ายร่างกาย ส่วนเด็กผู้หญิงจะถูกกันออกจากกลุ่มและโดนนินทา เป็นการทำร้ายทางจิตใจที่รุนแรงไม่ต่างอะไรกับความเจ็บปวดทางกาย”
ใช้ AI แก้ปัญหาบูลลี่ในโรงเรียน
แน่นอนว่าญี่ปุ่นไม่ได้นิ่งนอนใจกับปัญหาการบูลลี่ในโรงเรียน ที่เมืองโอสึ เมืองหลักของจังหวัดชิกะ ซึ่งอยู่ในภาคตะวันตกของประเทศญี่ปุ่น มีแผนการรับมือกับปัญหานี้ โดยนายกเทศมนตรี “นาโอมิ โคชิ” ประกาศว่าจะใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อวิเคราะห์และคาดการณ์เหตุกลั่นแกล้งในโรงเรียน “เราจะใช้เอไอ วิเคราะห์ข้อมูลเหตุการโดนบูลลี่ที่เคยเกิดขึ้น เพื่อเป็นแนวทางป้องกันและแก้ปัญหา นอกเหนือจากการใช้วิจารณญาณของครูผู้สอน โดยแผนการดังกล่าวจะเริ่มดำเนินโครงการในเดือนเมษายน ปีงบประมาณถัดไป
...
ทั้งนี้ จะมีการใช้ข้อมูลย้อนหลัง 6 ปี ตั้งแต่ปี 2012-2018 ซึ่งมีเหตุกลั่นแกล้งในโรงเรียนประถมและมัธยมในเมืองโอสึ รวมกว่า 9,000 ครั้ง ข้อมูลเหล่านี้จะถูกนำไปประมวลผลและวิเคราะห์เพื่อระบุกลุ่มเด็กที่อาจจะตกเป็นเหยื่อการถูกบูลลี่ เช่น เพศ ระดับการศึกษา ทั้งยังคาดการณ์ได้ว่าการกลั่นแกล้งนั้นจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาและสถานที่ใด รวมทั้งวิเคราะห์ปัจจัยอื่นที่เกี่ยวข้องกับการบูลลี่ เช่น ช่วงเวลาลาหยุด และผลการเรียน เพื่อเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงอย่างใกล้ชิด
“การบูลลี่อาจจะเริ่มจากความขัดแย้งเล็กๆ น้อยๆ ของเด็กๆ แต่มันอาจจะสะสมจนกลายเป็นวงจรที่เลวร้าย พวกเราจึงต้องตรวจสอบว่ามีกรณีใดบ้างที่การกลั่นแกล้งธรรมดาจะเริ่มหนักข้อขึ้น” หนึ่งในคณะกรรมการการศึกษาเมืองโอสึ กล่าว
ปัญหาการบูลลี่ไม่ใช่เรื่องเล็กที่จะมองข้ามได้ตลอดไป การบูลลี่ในประเทศไทยเองก็ครองอันดับที่ 2 ของโลก รองจากประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น ซึ่งหากไทยไม่มีวิธีการรับมือและทำความเข้าใจถึงต้นตอของปัญหานี้อย่างแท้จริง จากเรื่องเด็กๆ อาจกลายเป็นปัญหาที่สายเกินแก้.
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านข่าวที่น่าสนใจ
...