ม็อบการเมืองดุเดือด คณะราษฎร 2563 ประท้วงไล่รัฐบาลรายวัน ส่งผลให้คนเสพข่าวตึงเครียด แนะ 3 ข้อเช็กสภาพร่างกายตัวเอง ว่าเครียดเกินไปหรือไม่ พร้อมแนะนำวิธีแก้ไข
คำแนะนำบุคคล 2 วัย คุยเรื่องการเมือง ต้องเน้นรับฟัง และ respect ซึ่งกันและกัน
เชื่อประเทศไทยจะมีทางออกของปัญหา ถึงแม้จะขัดแย้งกัน แต่เชื่อว่าทุกฝ่ายรักประเทศไทย
เรียกว่าเป็นช่วงที่กำลังดุเดือดจริงๆ สำหรับสถานการณ์ทางการเมืองในขณะนี้ หลังมีกลุ่มผู้ชุมนุมหลายกลุ่ม แต่นำโดยกลุ่ม คณะราษฎร 2563 รวมตัวขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยมีข้อเรียกร้องทั้งหมด 3 ข้อ
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเริ่มตึงเครียดมากขึ้น หลังรัฐบาลใช้มาตรการ “สลายการชุมนุม” ในวันที่ 16 ตุลาคมที่ผ่านมา ที่ย่านปทุมวัน ส่งผลให้อารมณ์ความรู้สึกของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มนิสิต นักศึกษา รวมถึงประชาชนทั่วไปที่เริ่มแบ่งฝักแบ่งฝ่าย และระบายอารมณ์ลงโซเชียลมีเดีย ซึ่งถ้าใครหลายคนได้ติดตามคงหนีไม่พ้น “ความเครียด”
พญ.มธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล เข้าอกเข้าใจในเรื่องนี้เป็นอย่างดี พร้อมให้คำแนะนำกับผู้ที่เสพข่าว ผู้ชุมนุม และคนไทยทุกคน ทุกรุ่น ไม่ว่าจะเชียร์ใครก็ตาม
...
คุณหมอมธุรดา กล่าวว่า หลังเราระทมทุกข์กับโควิด-19 มาเกือบปี บวกกับความเครียดเรื่องปัญหาเศรษฐกิจ และล่าสุด ยังมีการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เป็นนิสิตนักศึกษาถึงแม้จะมี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็ตาม
“แต่ในโซเชียลมีเดีย ถือเป็นสถานที่ทุกคนสามารถแสดงความคิดเห็นได้ภายใต้กรอบแนวคิดของตัวเอง ซึ่งมีบางประเด็นที่มีการถกเถียง โดยเฉพาะประเด็นที่อ่อนไหว ส่งผลผู้เสพบางคนที่คิดคล้อยหรือคิดเห็นต่างเกิดความสะเทือนใจ”
เราห้ามความรู้สึกไม่ได้..แต่ที่ทำได้คือ ประมาณความรู้สึกของตนเอง เพราะต่างฝ่ายต่างอยากเห็นประเทศพัฒนา
นี่คือเสียงสะท้อนจากทั้งสองฝ่าย ที่ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูลรับรู้ ดังนั้น จึงได้แนะนำหลักการที่สำคัญสำหรับผู้ชุมนุมและเสพข่าวการเมืองที่กำลังร้อนแรง
ผู้ชุมนุมต้อง safety first เสพข่าวหนัก ต้องหมั่นเช็กร่างกาย
พญ.มธุรดา แนะนำว่า ผู้ที่จะไปชุมนุมควรยึดหลักการ safety first ด้วยการตรวจเช็กสุขภาพตัวเองให้ดีเสียก่อน ยิ่งตอนนี้มีฝนตก อีกทั้งการระบาดของโควิด-19 ยังอยู่ สิ่งสำคัญคือต้องเช็กตัวเองว่ามีสุขภาพดีเพียงพอหรือไม่...
สำหรับคนที่เสพสื่อต่างๆ ไม่ว่ากระแสหลักหรือกระแสรอง ต้องเช็กระดับความเครียด 3 ข้อ ประกอบด้วย
1. ร่างกายอะเลิร์ตมากไปหรือไม่ สังเกตง่ายๆ คือ ถ้าเริ่มไม่กินข้าวหรือละทิ้งในกิจวัตรประจำวันแล้ว เรียกว่าเสพข่าวจนเมามันเกินไป แบบนี้แสดงว่าเริ่มเครียดแล้ว ดังนั้น จึงควรลดปริมาณการเสพข่าวลงมา
2. หลับไม่สนิท หากเรารู้สึกว่าหลับไม่สนิท หรือคิดว่าต้องคอยตื่นมาติดตามตลอดเวลา
3. ยังอยากไปทำงานอยู่ไหม ลองถามตัวเองดูว่าเริ่มเบื่อ ไม่อยากไปทำงานหรือไม่ ถ้าเป็นลักษณะนี้ทางออกคือ สามารถโทรหาสายด่วนสุขภาพจิตได้ ที่เบอร์ 1323
“เวลาที่เราเห็นคล้อยหรือเห็นต่างจากสิ่งที่เสพนั้นมากๆ ร่างกายของคนจะมีปฏิกิริยาด้วยการหลั่งอะดรีนาลีนออกมา เหมือนกับว่าร่างกายพร้อมที่จะปะทะหรือเผชิญเหตุอะไรบางอย่าง สำหรับคนที่สุขภาพไม่ดีอยู่ เช่น ผู้สูงอายุ แนะนำว่าให้เบี่ยงประเด็น ด้วยการชวนคุยเรื่องอื่นๆ เช่น คุยเรื่องทำบุญ ซึ่งช่วงนี้มีการจัดทอดกฐินอยู่
...
ความขัดแย้ง 2 GEN แก้ปัญหาด้วยการรับฟัง และ respect
ต้องยอมรับว่า ปัจจุบันปัญหาทางการเมืองส่งผลให้เกิดความขัดแย้งระหว่างบุคคล 2 รุ่น ก็คือรุ่นผู้ใหญ่หรือปู่ย่าตายาย แต่สถาบันครอบครัวสามารถช่วยได้ โดยผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล กล่าวว่า ปัจจุบันม็อบรุ่นใหม่ไม่มีแกนนำ ซึ่งจะคล้ายเมื่อปี 2516 หรือ 47 ปีที่แล้ว แต่สิ่งที่ต่างออกไป คือ เด็กรุ่นใหม่สมัยนี้โตกว่ารุ่นก่อน มีความคิดเห็นที่ค่อนข้างเป็นตัวของตัวเอง ดังนั้น ผลกระทบที่อาจจะเกิดคือปัญหาในครอบครัว
“หมอก็มีลูกเป็นวัยรุ่น ประมาณมัธยมต้น เขาก็อยากไปม็อบ เราก็ถามว่าอยากไปแม่จะพาไป... สิ่งที่ทำคือ การเปิดโอกาสให้เขาแสดงความคิดเห็นเต็มที่ ให้เขาตัดสินใจด้วยตัวเอง ว่าจะแสดงออกอย่างไร หรือแม้แต่กลุ่มนักศึกษารุ่นใหม่ที่ทำหน้าที่แพทย์พยาบาล เราก็ได้พูดคุย น้องๆ เหล่านี้ก็อยากจะไปร่วม แต่ด้วยภาระหน้าที่ก็ต้องทำหน้าที่ของตัวเอง ด้วยการแสดงออกในทางอื่น เช่นการช่วยเหลือต่างๆ”
สำหรับพ่อแม่ที่มีลูกวัยรุ่น และอยากจะไปร่วมชุมนุม สิ่งที่พ่อแม่ต้องทำ คือ ต้องทำตัวเป็นกลาง ต้อง “รับฟัง” และ respect เขา แต่สามารถแสดงความคิดเห็นได้ คุณพ่อและคุณแม่ อาจจะคิดแบบหนึ่งได้ แน่นอนมันอาจจะมีความคิดเห็นต่างหรือแย้งได้ แต่สถาบันครอบครัวก็จะเป็น safety zone ได้
...
ที่บ้านหมอมีทั้งลูกและคุณยาย คุณยายกับหลานมีความคิดเห็นแตกต่างกัน คุณยายเองเคยเห็นบ้านเมืองเคยสงบมาก่อน ส่วนหลานก็มีเหตุผล สิ่งที่ต้องทำ คือต้องเปิดโอกาสให้ทั้งยายและหลานได้พูด ต้อง respect ซึ่งกันและกัน ถือโอกาสทำความเข้าใจกันและกัน ซึ่งก็มีมุมมองหลายด้านที่ทั้งสองฝ่ายยังไม่เห็น
คุณหมอมธุรดา เชื่อว่า ที่สุดแล้วประเทศไทยจะมีทางออก เพราะประเทศเรามีความไม่เหมือนชาติใดในโลก ถึงแม้จะมีความคิด ความเชื่อแตกต่างกัน แต่ก็อยู่บนพื้นฐานเหมือนกัน คือ ความรักชาติ เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ห้ามกันไม่ได้
สำหรับ สิ่งที่ห่วงที่สุด คือ ไม่อยากให้เกิดความรุนแรง เพราะที่ผ่านมาเรามีเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองมาแล้วหลายครั้ง บางครั้งรุนแรงทำให้เกิดความสูญเสีย การสูญเสีย จะส่งผลกระทบกับญาติที่น้องคนที่ยังอยู่ ฉะนั้น อยากให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ตั้งแต่ผู้ชุมนุม เจ้าหน้าที่ หรือแม้แต่รัฐบาล เพราะความสูญเสีย
“คนที่เสียชีวิตไปแล้ว เขาก็ไม่รู้เรื่องอะไรแล้ว แต่มันจะสร้างบาดแผลให้กับคนที่ยังอยู่...” คุณหมอมธุรดา กล่าวทิ้งท้าย เพื่ออยากให้ทุกฝ่ายตระหนักไว้
ผู้เขียน : อาสาม
กราฟิก : Taechita Vijitgrittapong
อ่านข่าวที่น่าสนใจ
...