• เจ้าของลิเวอร์พูลและแมนยูฯ จับมือผลักดันการปฏิวัติใหญ่วงการฟุตบอล ภายใต้โปรเจกต์ Project Big Picture
  • Project Big Picture : รายได้ 25% ต่อปีของพรีเมียร์ลีก ต้องส่งมอบให้เหล่าสโมสรสมาชิก EFL
  • Project Big Picture จะทำให้ "พรีเมียร์ลีก" อยู่ภายใต้การควบคุมโดย "สโมสร Big Six" อย่างสมบูรณ์

เฟนเวย์ สปอร์ต กรุ๊ป (Fenway Sports Group) เจ้าของทีมลิเวอร์พูล และตระกูลเกลเซอร์ (Glazer family) เจ้าของทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด กำลังอยู่ในระหว่างการทำงานร่วมกันเพื่อเดินหน้าผลักดัน "การปฏิวัติครั้งใหญ่" ให้กับวงการฟุตบอลอังกฤษ ภายใต้โปรเจกต์ที่มีชื่อเรียกว่า "Project Big Picture"

อะไรคือ Project Big Picture?

คำจำกัดความง่ายๆ คือ การทำให้อีกลีกกีฬาที่ทำกำไรมากที่สุดลีกหนึ่งของโลก อยู่ภายใต้การควบคุมของเหล่า "สโมสร Big Six" ซึ่งประกอบด้วยทีมระดับแม่เหล็กอย่าง แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, ลิเวอร์พูล, แมนเชสเตอร์ ซิตี้, อาร์เซนอล, เชลซี และทอตแนม ฮอตสเปอร์ อย่างสมบูรณ์

...

และในเมื่อมันคือ "การปฏิวัติครั้งใหญ่" ข้อเรียกร้องต่างๆ มันย่อม "ทะลุเพดาน" กฎเกณฑ์ในหลายๆ ข้อ นับตั้งแต่ "พรีเมียร์ลีก" ก่อตั้งเป็นครั้งแรกเมื่อปี 1992 แน่นอน

"Project Big Picture" ซึ่งอยู่ภายใต้การวาทยากรของ เฟนเวย์ สปอร์ต กรุ๊ป (Fenway Sports Group) และตระกูลเกลเซอร์ เจ้าของทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด มีการชูประเด็นหลักอะไรที่เรียกว่า นำไปสู่การปฏิวัติวงการฟุตบอลอังกฤษบ้าง?

รายได้ 25% ต่อปีของพรีเมียร์ลีก จะถูกส่งมอบให้กับเหล่าสโมสรสมาชิกของ EFL (ลีกรอง คือ เดอะแชมเปียนชิพ ลีกวัน และลีกทู) และเพื่อให้ข้อเสนอที่ว่านี้ได้รับการสนับสนุนจากทั้งเหล่าทีมเล็กและสมาคมฟุตบอลอังกฤษ หรือ FA ข้อเสนอนี้จึงจะมีการประเคนเงินช่วยเหลือก้อนโตล่วงหน้าจำนวนถึง 250 ล้านปอนด์ ให้กับ "สโมสรในลีกรอง" ที่กำลังประสบภาวะทางการเงินอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของ Covid-19 ทันที รวมถึงจะมีการทุ่มเงินอีก 100 ล้านปอนด์ สำหรับเอาใจ FA โดยเฉพาะ!

สถาปนาอำนาจอธิปไตยใหม่ ที่เรียกว่า "Big Six"

ฟังดูดีใช่ไหม? แต่สิ่งที่ต้องแลกมา คือ ระบอบประชาธิปไตย "หนึ่งเสียงหนึ่งสิทธิ" (One-Club One-Vote) จาก 20 สมาชิกของพรีเมียร์ลีก รวมถึงกฎ 14 เสียง สำหรับการผ่านการตัดสินใจใดๆ หรือการเปลี่ยนแปลงข้อบังคับต่างๆ ของพรีเมียร์ลีก ซึ่งสถิตอยู่กับพรีเมียร์มาตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง จะถูกขจัดออกไป และถูกแทนที่ด้วยการถือครองอำนาจการตัดสินใจเฉพาะในกลุ่ม Big Six และบวกอีก 3 สโมสรที่อยู่กับพรีเมียร์มายาวนาน อย่าง เอฟเวอร์ตัน, เซาแธมป์ตัน และเวสต์แฮมฯ โดย 9 สโมสรนี้จะมีอำนาจอธิปไตยในมืออย่างชนิดที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์วงการฟุตบอลอังกฤษ ในฐานะ "ผู้ถือหุ้นระยะยาว"

โดยสิทธิ์ขาดสำหรับการตัดสินใจในทุกๆ เรื่องนี้ ไม่เว้นแม้กระทั่งสามารถยับยั้ง (Veto) เจ้าของคนใหม่ที่จะเข้ามาเทคโอเวอร์สโมสรคู่แข่ง! ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยเพียง 6 เสียงโหวตเท่านั้นด้วย! (แล้วจะเอาอีก 3 สโมสรมาร่วมอีกทำไม?)

ประเด็นนี้มากกว่าหรือเปล่าที่เรียกว่า การปฏิวัติ?

อย่างไรก็ดี ทั้งเฟนเวย์ สปอร์ต กรุ๊ป และตระกูลเกลเซอร์ อ้างว่าข้อเสนอ "Project Big Picture" นี้ มุ่งหวังการ "ลดทอน" สิ่งที่เรียกว่า "ช่องว่างรายได้" จากสัญญาลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ ระหว่าง "พรีเมียร์ลีก" และ "สมาคมฟุตบอลลีกอังกฤษ" หรือ EFL เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้สโมสรจากลีกรองทั้งหลายเข้าไปข้องแวะกับ "วงการพนัน" โดยเฉพาะในช่วงการเตะเลื่อนชั้น (ฟังขึ้นไหมนี่?)

นอกจากนี้ มีอีกจุดหนึ่งที่น่าสังเกตคือ เงินช่วยเหลือกรณีตกชั้น หรือที่เรียกว่า The Parachute Payments ซึ่งแต่เดิมจะถูกมอบเป็นเงินก้นถุงให้กับ 3 ทีมจากพรีเมียร์ลีก ที่ตกชั้นลงสู่ "เดอะ แชมเปียนชิพ" ในแต่ละฤดูกาล จะถูกยกเลิกไปด้วย เพื่อสนับสนุนข้อเสนอ 25% ของรายได้ทั้งหมดจากพรีเมียร์ลีก ซึ่งจะถูกกระจายให้กับทุกสโมสรของลีกรองอย่างเท่าเทียม (จริงหรือ?)

...

และเพื่อให้เกิดความเลื่อมใสในแผนการดังกล่าว เฟนเวย์ สปอร์ต กรุ๊ป ยืนยันว่า การปฏิวัติครั้งนี้จะไม่มีการแบ่งรายได้ให้กับกลุ่ม "Big Six" มากกว่าสโมสรสมาชิกอื่นๆ แน่นอน นั่นเป็นเพราะเป้าหมายสำคัญสำหรับการทะลุเพดานครั้งนี้ คือ การขจัดช่องว่างรายได้ระหว่างพรีเมียร์ลีกและสโมสรในสังกัด EFL รวมถึงการกลับมามีอำนาจและควบคุมการตัดสินใจของพรีเมียร์ลีกได้มากขึ้น (เท่านั้นจริงๆ หรือ?)

"ลีกคัพ" และ "ฟุตบอลประเพณีโบราณ" ต้องถูกยกเลิก!

นอกจากนี้ ภายใต้ข้อเสนอดังกล่าวการจัดการแข่งขันฟุตบอลลีกคัพและการแข่งขันฟุตบอลประเพณีก่อนเปิดฤดูกาล อย่าง "คอมมูนิตี้ชิลด์" ก็จะต้องถูกยกเลิกไปด้วย อย่างไรก็ดี ในประเด็นนี้ ตามรายงานข่าวล่าสุดยังคงต้องมีการหารือเพิ่มเติม เนื่องจากส่วนหนึ่งมองว่า การจัดการแข่งขันฟุตบอลลีกคัพที่มีมาอย่างยาวนานนั้น ควรจะต้องมีอยู่ต่อไป เพียงแต่ทีมที่ได้แชมป์อาจจะไม่ได้รับสิทธิไปลงเล่นในฟุตบอลถ้วยยุโรป อย่าง ยูฟ่า, ยูโรปา ลีก เหมือนเช่นที่ผ่านมา

ส่วนกฎการเลื่อนชั้นจากแชมเปียนชิพสู่พรีเมียร์ลีกนั้น ทีมอันดับที่ 1 และอันดับที่ 2 จะได้เลื่อนชั้นอัตโนมัติ ส่วนอันดับที่ 3, 4 และ 5 จะต้องไปลงเตะเพลย์-ออฟพร้อมกับทีมลำดับที่ 16 ของพรีเมียร์ลีก ส่วนทีมลำดับที่ 17 และ 18 ของพรีเมียร์ลีกนั้น จะตกชั้นโดยอัตโนมัติ

โดย "Project Big Picture" นี้ เบื้องต้นได้รับการสนับสนุนจาก ริก แพร์รี (Rick Parry) ประธานสมาคมฟุตบอลลีกของอังกฤษ (English Football League หรือ EFL) แล้ว หลังจากได้มีการ (แอบหารือในทางลับ) ร่วมหารือกันมาตั้งแต่ปี 2017

ส่วนสาเหตุที่ "Project Big Picture" ได้รับการผลักดันอย่างหนักในช่วงเวลานี้ เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรค Covid-19 ทำให้สโมสรต่างๆ ในประเทศอังกฤษ โดยเฉพาะบรรดาลีกรองต้องเผชิญวิกฤติทางการเงินอย่างหนัก จากการที่ต้องสูญเสียรายได้ก้อนโตจากมาตรการ Lockdown ห้ามแฟนบอลเข้าสนามที่เริ่มมาตั้งแต่เดือนมีนาคมจนกระทั่งถึงปัจจุบัน (ตุลาคม 2020)

...

โดยเจ้าของทีมลิเวอร์พูลและแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ผู้ขับเคลื่อนโปรเจกต์ดังกล่าว มีความเห็นตรงกันว่า อยากให้ "Project Big Picture" นี้ สามารถดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมได้ตั้งแต่ฤดูกาล 2022-2023 เป็นต้นไป

ขณะที่ ริก แพร์รี (Rick Parry) ประธานสมาคมฟุตบอลลีกของอังกฤษ (English Football League หรือ EFL) ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ The Telegraph ว่า ปัจจุบัน "Project Big Picture" ได้รับการสนับสนุนจาก 72 สโมสร จากทั้งหมด 90 สโมสรที่อยู่ในสังกัด EFL แล้ว

"หากเราไม่ยอมเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง ก็เท่ากับปล่อยให้บรรดาสโมสรเล็กๆ ค่อยๆ ตายลงอย่างช้าๆ เอาล่ะ...ในมุมมองของบางสโมสรอาจคิดได้ว่า โปรเจกต์นี้กลุ่ม Big Six อาจได้รับผลประโยชน์บางอย่าง แต่หากทั้ง 72 สโมสรยินยอม ผมก็คิดว่า เราก็น่าจะพร้อมสำหรับมันได้

อย่างไรก็ดี ผมพร้อมที่จะยอมรับเสียงคัดค้านจากสโมสรในพรีเมียร์ลีกที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่ม Big Six ซึ่งอาจเป็นกังวลเรื่องผลประโยชน์ทางการเงินในอนาคต รวมถึงต้องเปลี่ยนสถานะกลายเป็นพลเมืองชั้นสอง ทั้งๆ ที่ก็เป็นสมาชิกในพรีเมียร์ลีกเช่นเดียวกันกับกลุ่ม Big Six เช่นกัน"

ข้อเสนอทั้งหมด ภายใต้ "Project Big Picture"

     1. เงินช่วยเหลือทันทีจำนวน 250 ล้านปอนด์ ให้กับ EFL (ลีกรอง) ซึ่งกำลังสูญเสียรายได้ก้อนโตจากค่าตั๋วเข้าชม ค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดที่ลดลง และเงินกู้ยืมของทีมลีกรองที่ไ้ด้จากพรีเมียร์ลีก

     2. กลุ่ม Big Six และอีก 3 สโมสร จะได้รับสถานะพิเศษในการบริหารจัดการกฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับพรีเมียร์ลีก รวมถึงตัดสินใจในทุกๆ เรื่อง เช่น กฎข้อบังคับ กติกา มารยาทของลีก การตกลงทำสัญญา การถอดถอนผู้บริหารสโมสร หรือแม้กระทั่ง การใช้สิทธิ ยับยั้ง การเปลี่ยนแปลงเจ้าของสโมสร

...

     3. ทีมในพรีเมียร์ลีกจะลดลงเหลือเพียง 18 ทีม จากเดิมที่มี 20 ทีม

     4. เงินสนับสนุน 100 ล้านปอนด์ ให้กับสมาคมฟุตบอลอังกฤษ ในฐานะที่ต้องดูแลการจัดการแข่งขันให้กับทีมนอกลีก ฟุตบอลลีกอาชีพหญิง

     5. 8.5% จากรายได้สุทธิของพรีเมียร์ลีกในแต่ละปี จะถูกนำไปเป็นต้นทุนสำหรับการดำเนินการและเงินบริจาคเพื่อพัฒนาสังคมฟุตบอลที่ไม่เกี่ยวข้องกับผลกำไร รวมถึงสมาคมฟุตบอลอังกฤษ

     6. 25% จากรายได้สุทธิของพรีเมียร์ลีกในแต่ละปี จะถูกนำไปแบ่งสันปันส่วนให้กับ EFL อย่างเท่าเทียม ส่วนอีก 6% จะถูกแจกจ่ายให้กับสโมสรในพรีเมียร์ลีก เดอะ แชมเปียนชิพ ลีกวัน และลีกทู เพื่อใช้สำหรับการปรับปรุงสนามเหย้า โดยใช้หลักการคำนวณ 100 ปอนด์ต่อที่นั่ง

     7. เปลี่ยนแปลงการจัดสรรรายได้จากค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด ซึ่งได้มาจากทั้งในและนอกประเทศ โดยอ้างอิงผลงานช่วง 3 ปีในลีก

    8. ยกเลิกการจัดการแข่งขันฟุตบอล ลีกคัพ และคอมมูนิตี้ชิลด์

    9. ฟุตบอลลีกอาชีพหญิงจะต้องเป็นอิสระจากพรีเมียร์ลีกหรือสมาคมฟุตบอลอังกฤษ

    10. จำนวนสโมสรใน เดอะ แชมเปียนชิพ ลีกวัน และลีกทู จะอยู่ที่ 24 สโมสร ซึ่งเป็นผลให้เกมฟุตบอลระดับลีกอาชีพในอังกฤษลดเหลือ 90 สโมสร จากแต่เดิมมีรวมกันทั้งสิ้น 92 สโมสร

    11. 2 ทีมลำดับท้ายสุดของพรีเมียร์ลีก จะตกชั้นโดยอัตโนมัติในทุกๆ ฤดูกาล และจะถูกทดแทนโดย 2 ทีมลำดับแรกสุดจากเดอะแชมเปียนชิพ ซึ่งจะเลื่อนชั้นขึ้นมาโดยอัตโนมัติ ส่วนทีมลำดับที่ 16 ของพรีเมียร์ลีก จะต้องลงไปเตะเพลย์ออฟกับทีมลำดับที่ 3 ลำดับที่ 4 และ ลำดับที่ 5 จากเดอะแชมเปียนชิพ

    12. ยึดกฎ Financial fair play ของสหพันธ์ฟุตบอลยุโรป หรือ "ยูฟ่า" และผู้บริหารทีมในพรีเมียร์ลีกสามารถเข้าถึงข้อมูลของสโมสรได้

    13. การจำหน่ายตั๋วเข้าชมการแข่งขันสำหรับแฟนทีมเยือนและนักท่องเที่ยวจะถูกจำกัดไว้ที่ราคาไม่เกิน 20 ปอนด์ และจะต้องถูกจัดสรรเอาไว้ไม่ต่ำกว่า 8% ของความจุสนามเหย้าของแต่ละทีม

    14. การจัดการแข่งขันพรีเมียร์จะเริ่มต้นในเดือนสิงหาคม เพื่อเปิดโอกาสให้แต่ละทีมสามารถจัดการแข่งขัน Pre-Season ได้อย่างเหมาะสม (เพื่อหาเงินจากบรรดาสปอนเซอร์และทำเงินจากตลาดในต่างแดน) และจะจัดพรีเมียร์ลีก ทัวร์นาเมนต์ ทุกๆ 5 ปี ช่วงก่อนเปิดฤดูกาล

    15. เปลี่ยนแปลงระบบการยืมตัวนักเตะ โดยจะอนุญาตให้แต่ละสโมสรสามารถปล่อยยืมนักเตะให้กับสโมสรในประเทศอังกฤษได้สูงสุดรวม 15 คน โดยในแต่ละครั้งที่ปล่อยยืม หนึ่งทีมในอังกฤษจะสามารถยืมนักเตะจากทีมเดียวกันได้สูงสุด 4 คน

โดยหลังจากข้อเสนอดังกล่าวถูกรายงานอย่างละเอียดยิบแบบ Exclusive จาก The Telegraph บรรดาสื่อในอังกฤษได้เรียงหน้าออกมาวิพากษ์วิจารณ์ถึงประเด็นนี้อย่างกว้างขวาง โดย Sky Sports ได้วิเคราะห์ความพยายามกินรวบพรีเมียร์จาก Big Six ไว้อย่างน่าสนใจว่า...

1. จำนวนทีมในพรีเมียร์ลีกที่อาจเป็นปัญหา?

ภายใต้แผนการดังกล่าว ทีมในพรีเมียร์ลีกจะลดลงเหลือเพียง 18 ทีม จากทั้งหมด 20 ทีม โดย 2 ทีมท้ายตาราง (อันดับที่ 18 และ 17) จะถูกลดชั้นอัตโนมัติ ส่วนทีมลำดับที่ 16 จะต้องลงไปเล่นเพลย์ออฟกับทีมในเดอะแชมเปียนชิพ

ปัญหาคือ ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องแผนการที่จะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงที่ว่านั้น มันจึงอาจมีความเป็นได้ในหลาย Scenarios ที่อาจจะเกิดขึ้น เพื่อนำไปสู่บทสรุปให้ทีมพรีเมียร์ลดจำนวนลงเหลือ 18 ทีม เช่น สมาคมฟุตบอลลีกอังกฤษ หรือ EFL อาจจะต้องยุติการเลื่อนชั้นจากเดอะแชมเปียนชิพ ขึ้นสู่พรีเมียร์ลีก หนึ่งหรือสองฤดูกาล หรือการปรับการตกชั้นจากพรีเมียร์ลีกทีเดียว 5 ทีม เพื่อให้สิทธิในการเลื่อนชั้นของเดอะ แชมเปียนชิพ ยังคงดำเนินอยู่ต่อไป

นอกจากนี้ การให้เดอะแชมเปียนชิพ ลีกวัน และลีกทู มีจำนวนทีมคงเดิม คือ ลีกละ 24 ทีม นั่นก็แปลว่า จะต้องมี 2 ทีม ที่ต้องกระเด็นออกไปเล่นนอกลีก ซึ่งจนถึงตอนนี้ยังคงไม่มีคำตอบที่ชัดเจนจาก Project Big Picture?

2. ชาวอังกฤษยอมรับการยกเลิกการแข่งขันลีกคัพและคอมมูนิตี้ชิลด์ได้จริงหรือ?

ทั้งลีกคัพและคอมมูนิตี้ชิลด์ถือได้ว่าเป็นประวัติศาสตร์ที่อยู่คู่กับฟุตบอลอังกฤษมายาวนาน คำถามสำคัญหากมีการยกเลิกการแข่งขันดังกล่าวไป แฟนบอลชาวอังกฤษ ซึ่งโดยปกติมักจะยึดติดกับ "อดีต" จะยินยอมพร้อมใจกับข้อเสนอแบบนี้ได้มากน้อยแค่ไหน?

3. มั่นใจได้แค่ไหนว่า Big Six จะไม่ใช้อำนาจจนเกินขอบเขต?

Project Big Picture ให้อำนาจสิทธิขาดแก่ Big Six ในหลายประเด็น คำถามคือ แล้วจะมั่นใจได้อย่างไรว่าอิทธิพลของพวกเขาจะไม่กระทบต่อความยุติธรรมที่อาจมีผลต่อการลงชิงชัยในพรีเมียร์ลีก รวมถึงผลประโยชน์อื่นๆ ที่จะตามมาในอนาคต โดยเฉพาะเรื่องการจัดสรรปันส่วน "รายได้" จากขุมทรัพย์ของพรีเมียร์ลีก ในเมื่ออำนาจการตัดสินใจไปกระจุกตัวอยู่กับกลุ่มสโมสรเพียงไม่กี่ทีม

โดยเฉพาะประเด็นเรื่องรายได้จากลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด ซึ่งบรรดา Big Six ต่างจ้องตาเป็นมันมาเนิ่นนาน ในเมื่อ Project Big Picture มีการสอดแทรกให้ทีมในพรีเมียร์ลีกทั้งหมดสามารถหารายได้จากการขายลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันของทีมตัวเอง ในรูปแบบ Digital Platforms ให้กับแฟนคลับนอกสหราชอาณาจักรได้โดยตรงสูงสุดถึง 8 เกม ซึ่งแน่นอนว่า ประเด็นนี้บรรดา Big Six ต้องได้ประโยชน์ไปเต็มๆ เนื่องจากมีฐานแฟนนอกประเทศหนาแน่น โดยเฉพาะลิเวอร์พูลและแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด ซึ่งอ้างว่า ปัจจุบันมีฐานแฟนคลับ 1,000 ล้านคนทั่วโลก ในขณะที่ทีมอื่นๆ จะได้รับประโยชน์จากจุดนี้น้อยมาก เพราะต้องยอมรับว่า รายได้จากลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด Digital Platforms นั้น นับวันมีแต่จะเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ เงินจากลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ ซึ่งเป็นรายได้ที่จะต้องนำมาแบ่งกันในสมาชิกพรีเมียร์ลีกนั้น ปัจจุบันกำลังลดน้อยลงเรื่อยๆ

ด้วยเหตุนี้ ในอนาคตจะมีใครกล้ารับประกันได้หรือไม่ว่า บรรดา Big Six จะไม่ขยายจำนวนนัดการถ่ายทอดสดเพิ่มขึ้นเป็น 16, 24 หรือ 36 เกม เพื่อหาเงินก้อนโตๆ ในเมื่ออำนาจการตัดสินใจก็อยู่ในมือตัวเองแล้วแบบนี้

4. แรงต่อต้านจากสมาคมพรีเมียร์ลีก?

แม้ว่า EFL (สมาคมฟุตบอลลีกอังกฤษ) จะมีท่าทีสนับสนุน Project Big Picture แต่สมาคมพรีเมียร์ลีก (The Premier League association) แสดงออกต่อสาธารณชนอย่างชัดเจนว่า "คัดค้าน" แผนการดังกล่าว โดยเน้นย้ำว่า พรีเมียร์ลีกและสมาคมฟุตบอลอังกฤษ หรือ FA ควรหารือร่วมกันสำหรับการหาแนวทางแก้ไขปัญหาเรื่องผลกระทบที่เกิดขึ้นจาก Covid-19 ในวงการฟุตบอลอังกฤษ พร้อม "ฟาดแรง" ใส่ข้อเสนอหลายๆ ข้อของ Project Big Picture ด้วยว่า "จะทำให้เกิดความเสียหายในวงกว้าง" สำหรับวงการฟุตบอลอังกฤษ รวมถึง "ความแตกแยกภายใน" ด้วย

5. การออกตัวแรงเกินไปของประธานสมาคมฟุตบอลลีกของอังกฤษ (EFL)?

การออกตัวเต็มที่ในการสนับสนุน Project Big Picture อาจทำให้เกิดปัญหาตามมา ทำให้เกิดความตึงเครียดระหว่างพรีเมียร์ลีกและ EFL ขึ้นอย่างช่วยไม่ได้ และหากโปรเจกต์นี้เกิดแท้งกลางคัน นั่นอาจหมายถึงความช่วยเหลือจากพรีเมียร์ลีกที่จะมีให้กับทีมลีกรองอาจได้รับผลกระทบต่อไปในอนาคต รวมถึงในช่วงวิกฤติจาก Covid-19 ด้วย

6. แรงต้านจากบรรดาสโมสรในพรีเมียร์ลีก?

Big Six + 3 จะมีอำนาจอย่างล้นเหลือตาม Project Big Picture เพราะจะอาศัยเพียง 6 เสียงในการผ่านความเห็นชอบต่างๆ แทนแต่เดิมที่จะต้องใช้ 14 เสียง จาก 20 สโมสรในพรีเมียร์ลีก

คำถามตอนนี้ เมื่อใดก็ตามที่ Project Big Picture เข้าสู่การพิจารณาของสมาชิกในพรีเมียร์ลีก ซึ่งแน่นอนว่ายังต้องใช้เสียงอย่างน้อย 14 เสียงเพื่อผ่านความเห็นชอบ บรรดาทีมเล็กๆ ซึ่งพออกพอใจอยู่กับแนวทาง "หนึ่งสิทธิ หนึ่งเสียง" จะยอมโหวตผ่านให้กระนั้นหรือ?

และประเด็นสำคัญอีกข้อ คือ สถานการณ์ปัจจุบันของแต่ละสโมสรในพรีเมียร์ลีกต่างสูญเสียรายได้ก้อนโตไปจาก Covid-19 กันทั่วหน้า ฉะนั้น มันจะมีเหตุผลอะไรที่ "พวกเขา" จะไปโหวตให้กับข้อเสนอที่ได้เงินน้อยลงกว่าเดิม แถมยังสุ่มเสี่ยงมากขึ้นกว่าเดิมในประเด็นการตกชั้นจากพรีเมียร์ลีก (หนึ่งในข้อเสนอของ Project Big Picture คือ ลดจำนวนทีมในพรีเมียร์ลีกเหลือ 18 จาก 20 ทีม)

แรงต่อต้านจากรัฐบาลอังกฤษ?

ล่าสุด โฆษกส่วนตัวของนายกรัฐมนตรี "บอริส จอห์นสัน" แห่งอังกฤษ ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ต่อต้าน Project Big Picture แล้ว

โดยกล่าวว่า เป็นที่ชัดเจนว่าข้อเสนอดังกล่าวไม่ได้รับการสนับสนุนจากสมาคมพรีเมียร์ลีก อีกทั้งข้อตกลงแบบลับๆ นี้ ได้ทำลายความน่าเชื่อถือสำหรับการกำกับดูแลวงการฟุตบอลในภาพรวมด้วย

ในขณะที่ กระทรวงดิจิทัล วัฒนธรรม สื่อ และกีฬา (Department for Digital culture Media & Sport) หรือ DCMS ออกแถลงการณ์ ระบุ "เราทั้งประหลาดใจและผิดหวัง นั่นเป็นเพราะในช่วงเวลาแห่งวิกฤติเช่นนี้ เราได้พยายามกระตุ้นสโมสรฟุตบอลอาชีพระดับแนวหน้ามาร่วมมือกันเพื่อพยายามหาทางให้ความช่วยเหลือสโมสรในลีกระดับล่าง แต่สิ่งที่ปรากฏ คือ มีการทำข้อตกลงลับๆ ซึ่งอาจจะนำสู่การมองไปที่เฉพาะผลประโยชน์ของกลุ่มทีมใหญ่ โดยไม่เหลียวแลบรรดาทีมขนาดเล็กๆ ที่ควรเป็นองค์ประกอบให้คำว่า ฟุตบอลเข้าสู่ความสมบูรณ์แบบ"

อ่านมาถึงบรรทัดนี้แล้ว คุณคิดเหมือนเราไหมว่า? บางที "ทุนนิยม" อาจใช้ "ธุรกิจ" เข้าบังหน้าเพื่อมุ่งกัดกิน "กีฬา" ไปจากคำว่า "สปิริต" ใช่หรือไม่?.

ผู้เขียน: นายฮกหลง
กราฟิก: เทพอมร แสงธรรมาพิทักษ์

ข่าวน่าสนใจ :