ฟุตบอลพรีเมียร์อังกฤษและลีกอื่นๆ ทั่วยุโรปยังคงต้องเปิดฤดูกาล 2020-21 ในแบบที่นักเตะต้องเล่นกันสุดเหงา ไร้เสียงเชียร์กึกก้องไว้คอยปลุกเร้าให้พวกเขาไล่เตะกันแบบลืมตาย เช่นเดียวกับในช่วงปลายฤดูกาลก่อน (ฤดูกาล 2019-20) ท่ามกลางความหวังอันน้อยนิดที่ว่า รัฐบาลอังกฤษ ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี "บอริส จอห์นสัน" จะค่อยๆ คลายผ่อนปรนมาตรการ Shutdown ด้วยการให้แฟนบอลค่อยๆ ทยอยเข้าสู่สนามทีละเล็กทีละน้อย จนกระทั่งเต็มความจุของแต่ละสนามในที่สุด หากสถานการณ์การแพร่ระบาดโรค Covid-19 ในอังกฤษดีขึ้น ซึ่งตามแผนการณ์ที่วางไว้ ควรจะเริ่มต้นได้ในเดือนตุลาคมนี้

แต่แล้ว...ความเป็นจริงของชีวิตก็ปรากฏให้เห็นแบบความชัดระดับ 8K นั่นเป็นเพราะนอกจากสถานการณ์การแพร่ระบาด Covid-19 จะไม่ดีขึ้นแม้เพียงเล็กน้อยแล้ว มันยังลุกลามเพิ่มขึ้นจนน่าวิตก จนถึงขนาดอาจจะต้องมีการ Shutdown เมืองรอบที่ 2 ด้วยเหตุนี้ แผนผ่อนปรนให้แฟนบอลค่อยๆ ทยอยกันเข้าสนาม ต้องถูกเลื่อนออกไปอย่างช่วยไม่ได้

ซึ่งจนถึง ณ วินาที ยังไม่มีใครบอกได้ว่า บรรดานักเตะค่าจ้างแพงระยับจะต้องลงเล่นกันแบบเหงาๆ ด้วยหน้าตาไร้ Passion ประกอบเสียงเชียร์กึกก้องจากเกมฟุตบอลสุดฮิตตระกูล FIFA ซึ่งจะได้ยินเฉพาะแฟนบอลหน้าจอโทรทัศน์ไปจนถึงเมื่อไหร่?

นั่นอาจคือ...ความวิตกของแฟนบอล แต่ความจริงที่น่ากลัวกว่านั้น คือ บรรดาทีมในพรีเมียร์ลีกจะต้องเผชิญหน้ากับ "ภาวะขาดทุน" จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ Covid-19 ไปอีกถึงเมื่อไหร่ และทีมเหล่านั้นสูญเสียเม็ดเงินที่ควรจะได้ไปมากน้อยเท่าไรกันแล้ว?

ดีลอยท์ (Deloitte) บริษัทผู้ตรวจสอบบัญชีระดับโลก เคยประเมินผลกระทบการแพร่ระบาดโรค Covid-19 ที่มีต่อวงการฟุตบอลอังกฤษเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า ทีมในพรีเมียร์ลีกอาจต้องสูญเสียรายได้รวมมากกว่า 1,000 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 4 หมื่นล้านบาทในช่วงการแพร่ระบาดโรค Covid-19 ที่เริ่มต้นมา ตั้งแต่ฤดูกาล 2019/20 จนถึงปัจจุบัน

...

โดย 500 ล้านปอนด์แรก ซึ่งสูญเสียไปแล้วคือ รายได้ที่หดหายไปจากค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด และรายได้จากการจัดการแข่งขันในแต่ละแมตช์เมื่อฤดูกาลที่ผ่านมา ส่วนอีก 500 ล้านปอนด์หลัง ที่อาจจะต้องสูญเสียไป คือ กรณีที่การแข่งขันในฤดูกาลนี้ (2020-21) ไม่สามารถลงฟาดแข้งได้จนกระทั่งจบฤดูกาล

ด้วยเหตุนี้ Deloitte จึงเตือนให้สโมสรต่างๆ ในพรีเมียร์ลีก ควรปรับลดประมาณการรายได้จากค่าบัตรเข้าชมฤดูกาลนี้ให้ลดลงเหลือเพียงครึ่งหนึ่งของรายได้ปกติ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการรับมือในกรณีที่เกิดเหตุการณ์เลวร้ายที่สุด คือ การที่รัฐบาลอังกฤษยังคงไม่อนุญาตให้แฟนบอลกลับเข้าไปเชียร์เต็มความจุของสนามแต่ละแห่งได้ตลอดทั้งฤดูกาล

ราคาที่ทีมใน "พรีเมียร์ลีก" ต้องสูญเสียไปในแต่ละนัดที่ต้องลงเล่นภายใต้สนามที่ว่างเปล่า?

ด้าน "คีแรน แม็คไกวร์" (Kieran Maguire) นักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญวงการฟุตบอลอังกฤษ ได้วิเคราะห์และประเมินถึงราคาที่ทีมในพรีเมียร์ลีกต้องจ่ายในแต่ละนัดที่ต้องลงเล่นโดยปราศจากกองเชียร์เอาไว้อย่างน่าสนใจว่า...

เหล่าทีม "Big Six" ขาใหญ่ประจำพรีเมียร์ลีก อาร์เซนอล, เชลซี, ลิเวอร์พูล, แมนเชสเตอร์ ซิตี้, แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และทอตแนม ฮอตสเปอร์ มีรายได้เฉพาะจากค่าบัตรผ่านประตูรวมกัน 495 ล้านปอนด์ ในฤดูกาล 2018-19 หรือเท่ากับ 73% ของยอดรวมรายได้ค่าบัตรผ่านประตูทั้งหมดของทุกสโมสรในพรีเมียร์ลีก!

โดยหากอ้างอิงตัวเลขรายได้จากค่าบัตรเข้าชมการแข่งขันในฤดูกาล 2018/19 ซึ่งเป็นฤดูกาลที่พรีเมียร์ลีกทำเงินจากส่วนนี้ได้มากที่สุด แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด คือ ทีมที่สูญเสียรายได้ในส่วนนี้มากกว่าที่สุดอย่างไม่ต้องสงสัย เนื่องจากสนามโอลด์แทรฟเฟิร์ด คือ สนามของทีมฟุตบอลที่สามารถจุแฟนบอลได้มากที่สุดในสหราชอาณาจักร

ที่ผ่านมา มีการประเมินว่า สโมสรปิศาจแดง สามารถทำเงินจากบัตรเข้าชมการแข่งขันได้ประมาณ 4.2 ล้านปอนด์ในทุกนัดที่ The Red Devils ลงฟาดแข้ง ส่วนลำดับถัดมาคือ อาร์เซนอล, ทอตแนม ฮอตสเปอร์ และลิเวอร์พูล อยู่ที่ประมาณเกือบ 3 ล้านปอนด์ต่อหนึ่งนัด ด้านเชลซีและแมนเชสเตอร์ ซิตี้ อยู่ที่ประมาณ 2 ล้านปอนด์ต่อหนึ่งนัด ส่วนเวสต์แฮมฯ และนิวคาสเซิล และทีมอื่นๆ ที่เหลือ อยู่ที่ประมาณ 1.2 ล้านปอนด์ต่อนัด

แต่หากนำ 91 สโมสรฟุตบอลอาชีพในประเทศอังกฤษและเวลส์มารวมกันแล้ว รายได้เฉลี่ยจากค่าบัตรเข้าชมการแข่งขันต่อฤดูกาลจะอยู่ที่ประมาณ 677 ล้านปอนด์ ซึ่งจำนวนเงินที่หายไปนี้ ยังไม่ได้รวมรายได้จากอาหารและเครื่องดื่มที่สโมสรแต่ละแห่งสามารถทำเงินจากแฟนบอลได้อีกจำนวนหนึ่งด้วย

ส่วนสโมสรฟุตบอลอาชีพในระดับแชมเปียนชิพ ลีกวันและลีกทู หรือ Lower-League นั้น จากรายงานการประเมินสถานะทางการเงินของ Deloitte แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ต้องอาศัยรายได้จากค่าบัตรเข้าชมการแข่งขันเป็นเส้นเลือดสำคัญในการหล่อเลี้ยงสโมสร เนื่องจากรายได้ในส่วนนี้คิดเป็นตัวเลขสูงถึง 21% จากรายได้ทั้งหมดของแต่ละสโมสร ถึงแม้ว่าหากนับเฉพาะลีกวันและลีกทู ค่าเฉลี่ยรายได้ค่าบัตรเข้าชมการแข่งขันจะอยู่ที่ประมาณเพียง 30,000-100,000 ปอนด์ต่อนัดก็ตาม โดยทีมในระดับ Lower-League ที่ทำเงินจากส่วนนี้ได้มากที่สุดเมื่อฤดูกาล 2018/19 คือ สโมสรลีดส์ ยูไนเต็ด หลังสามารถทำเงินจากค่าบัตรเข้าชมการแข่งขันได้รวม 18 ล้านปอนด์ตลอดทั้งฤดูกาล

พรีเมียร์ลีก: รายได้ Big Six (Ref.Deloitte)
พรีเมียร์ลีก: รายได้ Big Six (Ref.Deloitte)

...

รายได้จากค่าบัตรเข้าชมการแข่งขันสำคัญแค่ไหน?

เมื่อเริ่มต้นก่อตั้งพรีเมียร์ลีกครั้งแรก เมื่อฤดูกาล 1992-93 รายได้จากค่าบัตรเข้าชมการแข่งขันเพิ่มขึ้นทันที 89 ล้านปอนด์ (สูงขึ้น 43% เมื่อเทียบกับฤดูกาลก่อนหน้านั้น) โดยเมื่อสิ้นสุดฤดูกาล 1992-93 ยอดรวมจากรายได้ค่าบัตรเข้าชมการแข่งขันอยู่ที่ 205 ล้านปอนด์ อย่างไรก็ดี แม้ปัจจุบันค่าเฉลี่ยรายได้จากค่าบัตรเข้าชมการแข่งขันจะเพิ่มขึ้นเพียง 13% แต่ยอดรายได้รวมทั้งหมดนั้นสูงถึง 677 ล้านปอนด์เข้าไปแล้ว และเงินจำนวนนี้ยังไม่ได้รวมรายได้ต่างๆ ที่เกิดจากแฟนบอล เข้าไปจับจ่ายใช้สอยในระหว่างเข้าไปดูฟุตบอลเพลินๆ ในสนามด้วย

และหากใครยังไม่รู้ อาร์เซนอล สามารถทำรายได้ถึง 1 ใน 4 ของรายได้ทั้งหมดจากค่าตั๋วเข้าชมเมื่อฤดูกาลที่ผ่านมา ฉะนั้น บางทีไอ้ปืนใหญ่อาจจะเป็นทีมที่เดือดเนื้อร้อนใจมากกว่าสโมสรอื่นใดในกลุ่ม "Big Six" ก็เป็นได้ หากท่านนายกรัฐมนตรี "บอริส จอห์นสัน" ยังไม่ยอมให้แฟนบอลกลับเข้าสนาม

เมื่อรายได้จากตั๋วเข้าชมสัมพันธ์กับค่าเหนื่อยนักเตะที่แพงแสนแพง!

ค่าเหนื่อยนักเตะพรีเมียร์ลีก (Ref.Deloitte)
ค่าเหนื่อยนักเตะพรีเมียร์ลีก (Ref.Deloitte)

...

รายได้จากตั๋วเข้าชมเกมในแต่ละนัด เมื่อนำมาคิดเป็นค่าเฉลี่ยสำหรับเงินรายได้ทั้งหมดที่แต่ละสโมสรจะต้องนำไปจ่ายค่าเหนื่อยแสนแพงให้กับเหล่านักเตะในปัจจุบันแล้ว คุณรู้หรือไม่ว่า...มันคิดเป็นค่าเฉลี่ยที่สูงถึง 22% จากจำนวนเงินทั้งหมดที่ทุกสโมสรจ่ายเงินรวมให้กับนักเตะเลยทีเดียว

แต่เดี๋ยวก่อน...ตัวเลข 22% ที่ว่านั้น เป็นค่าเฉลี่ยเมื่อนำทุกทีมในพรีเมียร์มาคำนวณเท่านั้น เพราะหากจะลงลึกไปในรายละเอียดแล้ว แต่ละทีมจะมีต้นทุนในส่วนนี้แตกต่างกันอยู่ งงใช่ไหม งั้นค่อยๆ กวาดสายตามาในบรรทัดถัดไป

ในกรณีสโมสรใหญ่ๆ เช่น อาร์เซนอลและทอตแนม ฮอตสเปอร์ ซึ่งมีสนามเหย้าที่สามารถจุแฟนบอลทั้งขาประจำและขาจร รวมถึงนักท่องเที่ยวที่อยากจะเข้ามาสัมผัสบรรยากาศการเชียร์ของฟุตบอลอังกฤษอยู่ที่ประมาณ 60,000 คน

รายได้จากค่าบัตรผ่านประตูในส่วนนี้ หากนำไปคิดเป็นค่าเฉลี่ยที่ทั้ง 2 สโมสรจะต้องจ่ายเป็นค่าเหนื่อยให้กับบรรดานักเตะแข้งทองทั้งหลายจะอยู่ที่ประมาณ 40 เพนนีในทุกๆ 1 ปอนด์ของเงินที่เหล่านักเตะได้รับ หรือพูดง่ายๆ เงินรายได้จากแมตช์การแข่งขันในแต่ละนัดต้องนำไปจ่ายค่าเหนื่อยนักเตะสูงถึง 40% โดยเฉลี่ย!

ในขณะที่ บรรดาสโมสรขนาดเล็กในพรีเมียร์ลีกที่มีสนามที่มีความจุไม่มากนัก ซึ่งมีอยู่ประมาณ 7 สโมสรนั้น ตัวเลขค่าเฉลี่ยจะอยู่ที่ 10 เพนนีในทุก 1 ปอนด์ หรือ 10% โดยเฉลี่ย

ทั้งนี้ จำนวนเงินรวมที่แต่ละสโมสรจ่ายค่าเหนื่อยให้กับนักเตะ เมื่อฤดูกาล 2018-19 พุ่งทะลุถึง 3,000 ล้านปอนด์ หรือเพิ่มขึ้นถึง 2,811% หากเทียบกับค่าเหนื่อยนักเตะเมื่อฤดูกาล 1992-93 หรือเมื่อพรีเมียร์เพิ่งเริ่มต้น อย่างไรก็ดี หากนำตัวเลขดังกล่าวมาคิดเป็นอัตราเงินเฟ้อในปัจจุบันจะอยู่ที่ประมาณ 108%

ค่าจ้างสตาฟฟ์ที่แต่ละสโมสรต้องจ่ายสำหรับจัดการแข่งขันในแต่ละนัด?

...

หากรัฐบาลอังกฤษเกิดตัดสินใจใช้มาตรการ Shutdown ห้ามแฟนบอลเข้าสนามไปจนตลอดทั้งฤดูกาลขึ้นมาจริงๆ ส่วนหนึ่งที่จะทำให้แต่ละทีมในพรีเมียร์สามารถประหยัดรายจ่ายลงได้ ก็คือ ค่าจ้างของบรรดาสตาฟฟ์ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการแข่งขัน เช่น เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย หรือฝ่ายจัดเลี้ยงต่างๆ แต่อย่างไรก็ดี รายจ่ายในส่วนนี้ถือว่าเป็นต้นทุนที่น้อยนิดมากหากนำไปเทียบกับต้นทุนอื่นๆ สำหรับค่าใช้จ่ายในแต่ละนัด

ยกตัวอย่างเช่น แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ต้องจ้างสตาฟฟ์อย่างน้อย 3,340 คนต่อหนึ่งแมตช์ในสนามโอลด์แทรฟเฟิร์ด จากนั้นหากเรานำจำนวนนี้ไปเทียบกับอัตราค่าแรงขั้นต่ำของอังกฤษ ซึ่งตามสถิติพบว่าอยู่ที่น้อยกว่า 5 ล้านปอนด์ต่อปี นั่นเท่ากับว่า สโมสรจุดโทษยูไนเต็ด เอ๊ย! สโมสรปิศาจแดง จะมีต้นทุนในส่วนนี้อยู่ที่ประมาณ 332 ล้านปอนด์ในฤดูกาล 2018-2019

ความท้าทายของพรีเมียร์ลีกสำหรับการฝ่ามรสุมเอาตัวรอดจาก Covid-19

พรีเมียร์ลีก: รายได้ค่าผ่านบัตรประตู (Ref.Deloitte)
พรีเมียร์ลีก: รายได้ค่าผ่านบัตรประตู (Ref.Deloitte)

ปัจจุบัน พรีเมียร์ลีกกำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายจากความมั่งคั่งที่ค่อยๆ ลดลง จนอาจถึงขั้นอาจมีนัยสำคัญสำหรับบางสโมสรที่มีรายได้จำกัดจำเขี่ยเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว นั่นเป็นเพราะเม็ดเงินคร่าวๆ ที่อาจจะต้องหายไปในกรณีที่เลวร้ายที่สุด คือ ห้ามแฟนบอลเข้าสโมสรตลอดฤดูกาลนี้ มันมีตัวเลขรวมที่อาจจะสูงถึง 677 ล้านปอนด์ (ตัวเลขรวมจากค่าบัตรผ่านประตูในฤดูกาล 2018-2019)

คำถามที่ตามมาคือ...แต่ละสโมสรได้มีแนวคิดสำหรับโมเดลธุรกิจใหม่ๆ รวมถึงมีการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายภายใน โดยเฉพาะการขอลดค่าเหนื่อยนักเตะ และแน่นอน จำกัดนักเตะส่วนเกินเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับรองรับรายได้ที่ (อาจจะ) หายไปก้อนนี้แล้วหรือยัง เพราะนี่คือ...สิ่งที่แต่ละสโมสรจะต้องรีบคิดกันเอาไว้ล่วงหน้า ก่อนที่หายนะจะมาเยือน

เพราะความจริงวันนี้คือ ธุรกิจฟุตบอลพรีเมียร์ลีกนั้น ไม่มีวัคซีนคุ้มกันจากไวรัส Covid-19

End Credit:

เมื่อฤดูกาล 2019-20 ที่ผ่านมาในช่วงที่เกิดกระแสข่าวแพร่สะพัดว่า ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก อาจจะต้องตัดจบการแข่งขันที่เหลือจากการแพร่ระบาด Covid-19 เมื่อช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยสำนักข่าว Daily Mail ได้ทำงานวิจัยเพื่อประเมินความเสียหายด้านรายได้ของ "ทีม Big Six" โดยมีตัวเลขดังต่อไปนี้...

1. แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด

- รายได้จากลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ 48 ล้านปอนด์
- ค่าตั๋วเข้าชม 17.6 ล้านปอนด์
- รายได้อื่นๆ ในช่วงระหว่างการแข่งขัน 50.8 ล้านปอนด์
- ตัวเลขรวม 116.4 ล้านปอนด์

2. แมนเชสเตอร์ ซิตี้

- รายได้จากลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ 53.6 ล้านปอนด์
- ค่าตั๋วเข้าชม 13.9 ล้านปอนด์
- รายได้อื่นๆ ในช่วงระหว่างการแข่งขัน 41.7 ล้านปอนด์
- ตัวเลขรวม 109.3 ล้านปอนด์

3. ลิเวอร์พูล

- รายได้จากลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ 55.2 ล้านปอนด์
- ค่าตั๋วเข้าชม 13.6 ล้านปอนด์
- รายได้อื่นๆ ในช่วงระหว่างการแข่งขัน 33.8 ล้านปอนด์
- ตัวเลขรวม 102.6 ล้านปอนด์

4. เชลซี

- รายได้จากลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ 49.3 ล้านปอนด์
- ค่าตั๋วเข้าชม 10.9 ล้านปอนด์
- รายได้อื่นๆ ในช่วงระหว่างการแข่งขัน 30.9 ล้านปอนด์
- ตัวเลขรวม 91 ล้านปอนด์

5. ทอตแนม ฮอตสเปอร์

- รายได้จากลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ 41.9 ล้านปอนด์
- ค่าตั๋วเข้าชม 16.8 ล้านปอนด์
- รายได้อื่นๆ ในช่วงระหว่างการแข่งขัน 24.3 ล้านปอนด์
- ตัวเลขรวม 83 ล้านปอนด์

6. อาร์เซนอล

- รายได้จากลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ 40 ล้านปอนด์
- ค่าตั๋วเข้าชม 15.4 ล้านปอนด์
- รายได้อื่นๆ ในช่วงระหว่างการแข่งขัน 19.4 ล้านปอนด์
- ตัวเลขรวม 74.8 ล้านปอนด์

ข่าวน่าสนใจ: