14 ตุลาคม 2516 จากจุดเริ่มต้นสู่บทสรุป ตั้งแต่ชนวนเหตุจนถึงการพ่ายแพ้ของเผด็จการทหาร
เบื้องหลังแห่งชัยชนะของกลุ่มนักศึกษาใช่ว่า "ทหาร" ทุกคนจะเผด็จการ
จับตา 14 ตุลาคม 2563 กับท่าทีอดีตคนเดือนตุลาคม ที่เริ่มเปลี่ยนแปลงไป จากเหตุข้อเรียกร้องสุดโต่งที่ทำให้ลังเล
47 ปีมาแล้ว สำหรับ “วันมหาวิปโยค” 14 ตุลาคม 2516 กับเหตุการณ์เรียกร้องประชาธิปไตย ที่เปรียบเสมือนอีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ของการเมืองไทย เหตุการณ์ในครั้งนั้น มีผู้เสียชีวิต 71 ศพ บาดเจ็บ 857 คน จบลงด้วยความพ่ายแพ้ของฝ่ายเผด็จการ...แต่หาใช่จุดสิ้นสุดไม่ เพราะในปีนี้ เดี๋ยวนี้ ดูเหมือนเหตุการณ์จะเริ่มวนลูปมาอีกครั้งหนึ่ง เหมือน “เดจาวู”
ในฐานะทำหน้าที่สื่อมวลชนมายาวนาน ผ่านเหตุการณ์รุนแรงทางการเมืองมาหลายครา นายธงชัย ณ นคร บรรณาธิการข่าวหน้า 1 หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เล่าย้อนเรื่องเหตุการณ์ “วันมหาวิปโยค” ให้ฟังว่า ตอนนั้นผมเพิ่งจะจบใหม่ๆ เพิ่งจะเริ่มเป็นนักข่าว เรียกว่าถ้าจบช้ากว่านี้ก็คงไปร่วมอุดมการณ์กับเขา แต่เผอิญว่าเรียนจบก่อน เริ่มทำข่าวแล้ว ก็เลยต้องทำหน้าที่สื่อมวลชน
นายธงชัย กล่าวถึงความหลังวันเก่าสมัยหนุ่มๆ ที่กำลังอินกับการเมืองที่กำลังร้อนแรงในสมัยนั้น ที่บรรยากาศสังคมเวลานั้น เรียกว่า “คุกรุ่น” โดยก่อนถึง "วันมหาวิปโยค" จุดเริ่มต้นมาจากการรวมตัวของกลุ่มนักศึกษามาจากการเรียกร้องรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐบาลทหารสมัยนั้นได้ทำการร่างรัฐธรรมนูญมากว่า 10 ปี ก็ยังไม่แล้วเสร็จ
...
สิ่งที่ทำเหมือนกับตั้งเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญไว้บังหน้า เวลาผ่านไปกลุ่มนักศึกษาในเวลานั้นเริ่มไม่พอใจ กอปรกับสิ่งที่รัฐบาลทำในช่วงที่ผ่านมา อาทิ การใช้เฮลิคอปเตอร์ไปล่าสัตว์ป่าที่ทุ่งใหญ่นเรศวร การลบชื่อนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง และการต่ออายุราชการของ จอมพลถนอม กิตติขจร จอมพลประภาส จารุเสถียร และเมื่อมีการรวมตัวประท้วง รัฐในเวลานั้นก็ใช้อำนาจมาตรา 17 สั่งจับแกนนำ 13 คน ตั้งข้อหา “กบฏ” ตรงนี้เองที่ทำให้กลุ่มนักศึกษาและประชาชนเริ่มลุกฮือ
ด้วยเหตุนี้ กลุ่มนิสิตนักศึกษาจึงรวมตัวกันประท้วง โดยมีแกนนำหลายคน อาทิ ธีรยุทธ บุญมี เสกสรรค์ ประเสริฐกุล เสาวนีย์ ลิมมานนท์ จิระนันท์ พิตรปรีชา จากนั้นนักศึกษาทุกๆ มหาวิทยาลัยก็เริ่มก่อหวอดการชุมนุม ตั้งแต่วันที่ 12 ตุลาคม เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัว 13 คนที่ถูกตั้งข้อหากบฏ
“สิ่งที่ทำให้ม็อบจุดติดเพราะการปกครองในสมัยนั้น ทหารมีอำนาจสมบูรณ์แบบ 3 ผู้นำ คือ จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี พลเอกประภาส จารุเสถียร รมว.มหาดไทย และ พันเอกณรงค์ กิตติขจร (ลูกชายจอมพลถนอม) ได้ใช้อำนาจจับกุมคุมขังคนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลมากมาย เป็นการ “เพาะเชื้อความอยุติธรรม” ในหัวใจประชาชนมากมาย”
บ่มเพาะความอยุติธรรม ครบองค์ประกอบ “ม็อบจุดติด”
บรรณาธิการข่าวหน้า 1 หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เล่าว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำกลุ่มนักศึกษาที่เรียกร้องรัฐธรรมนูญ ต่อต้านเผด็จการ เป็นการไล่รัฐบาล เรียกว่า ครบองค์ประกอบทุกอย่าง โดยจะมีการเคลื่อนตัวในช่วงเช้าวันที่ 13 ตุลาคม
จากนั้นรัฐจึงส่งกำลังมาปราบ ด้วยการใช้กระสุนจริง ใช้เฮลิคอปเตอร์ แต่คนที่ออกมาประท้วงก็ไม่กลัว แถมยังได้มวลชนจากประชาชนทั่วไปมาร่วมด้วยเป็นเรือนแสนเรือนล้านคนมาร่วมด้วย
...
ในที่สุด...วันที่ 14 ตุลาคม รัฐบาลก็ยอมถอย 3 ผู้นำยอมลาออก และเดินทางไปต่างประเทศ หลังจากนั้นในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงได้มีประกาศทางโทรทัศน์และทรงแต่งตั้ง อ.สัญญา ธรรมศักดิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาเป็นนายกรัฐมนตรี
จากหน้าประวัติศาสตร์ในวันนั้น ภาพที่ออกมาคือชัยชนะของกลุ่มนิสิตนักศึกษา แต่เมื่อมองย้อนกลับไป มีการตั้งข้อสังเกตว่า “ชัยชนะ” ในวันนั้น ความจริงก็มีผู้อยู่เบื้องหลัง คือ มีทหาร ตำรวจ อีกกลุ่มหนึ่งในระดับรองลงมาจากผู้นำสูงสุด ไม่ได้สนับสนุนการกระทำของรัฐบาลในเวลานั้นอย่างเต็มที่ บางคนก็ทำตัวกึ่งวางเฉย เริ่มมีการเปิดทางให้กลุ่มนักศึกษา
“พูดตรงๆ ลำพังแค่กำลังประชาชนจริงๆ จะทำสำเร็จคงยาก เพราะปราบปรามจริงๆ คงมีคนเสียชีวิตล้มหายตายจากมากกว่านี้ แต่เมื่อทหารระดับรองมีจิตสำนึก เริ่มเห็นการล้มตายของประชาชน จึงวางเฉย ด้วยเหตุนี้ 3 ผู้นำในเวลานั้นจึงไม่มีทางออก สิ่งเดียวที่ทำได้คือการลาออก”
ทหารไม่ได้เผด็จการทุกคน เรื่องเล่าที่ถูกมองข้าม...
...
นายธงชัย กล่าวว่า “ทหาร” ไม่ได้เป็นเผด็จการทุกคน เพราะทหารบางคนก็มีจิตสำนึก บางคนถอยออกมาก้าวหนึ่งเพื่อมาอยู่ฝั่งประชาชน แต่ไม่ถึงขนาดสู้รบกับฝ่ายเดียวกันเอง แต่ก็มีส่วนไม่ให้สูญเสียไปมากขึ้น ตรงนี้เองคือมุมมองหนึ่งของเหตุการณ์ “14 ตุลาคม 2516” ที่คนไม่ค่อยได้พูดถึง ถึงแม้ภาพที่ออกมาจะเป็นภาพที่ประชาชนได้รับชัยชนะก็ตาม
“ความจริงไม่ได้เป็นอย่างเช่นภาพที่เห็นซะทีเดียว ถ้าอำนาจรัฐยึดกันเหนียวแน่นก็เชื่อว่าโค่นล้มไม่สำเร็จ และอาจจะมีคนตายมากกว่านี้”
47 ปีผ่านไป 14 ตุลาคม 2563
บรรณาธิการข่าวหน้า 1 หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ กล่าวถึง 14 ตุลาคม 2563 ว่า การจุดชนวนขึ้นมาอีกครั้ง มีสิ่งที่เป็นข้อสังเกตคือ คนที่อยู่ในการชุมนุมเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2516 บัดนี้บุคคลเหล่านั้นเป็นผู้อาวุโสในสังคมไทย ท่าทีของบุคคลเหล่านี้อาจจะเปลี่ยนไป ไม่ค่อยเหมือนเดิม
...
“ผมเชื่อว่า คนเหล่านั้นน่าจะจำความรู้สึกได้ แต่เมื่อเวลาผ่านไป บุคคลเหล่านี้เติบโตมาเป็นนักการเมืองบ้าง ทำอะไรเป็นของตัวเองบ้าง เมื่อก่อนเด็กไปประท้วงพ่อแม่เป็นห่วง แต่หัวใจก็สนับสนุน แต่คราวนี้บรรยากาศแตกต่างกัน ข้อเรียกร้องบางส่วนตรงกัน บางข้อแตกต่างกัน ด้วยที่มีข้อเรียกร้องบางข้อมีคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ส่งผลให้เกิดอาการ “ลังเล” ที่จะสนับสนุน ด้วยเหตุนี้ จึงเชื่อว่าม็อบครั้งนี้อาจจะเรียกคนมาได้ไม่เท่าตอน 14 ตุลาคม 2516 ถึงแม้คนจะอึดอัดกับรัฐธรรมนูญ การบริหารประเทศของรัฐบาล อึดอัดกับพฤติกรรมของสมาชิกวุฒิสภา”
นายธงชัย มีมุมมองในการประท้วงครั้งนี้ว่า สิ่งที่เป็นข้อเสนอของเด็กบางข้อมีเจตนาที่ดี แต่บางข้อก็ “สุดโต่ง” เกินไป ด้วยเหตุนี้สิ่งที่เรียกร้องในเวลานี้คาดว่าอาจจะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไร แต่การชุมนุมก็คงมีคนร่วม ขออย่างเดียว รัฐบาลต้องใจเย็น ห้ามใช้อำนาจในการปราบปรามให้เกิดความบาดเจ็บ ล้มตาย หากทำแบบนั้นจะเกิดความเสียหายกับบ้านเมือง
“ขอว่าอย่าให้เกิดแบบ 6 ตุลาคม 2519 ที่ใช้กระสุนจริง ยิงแก๊สน้ำตา จับมาฆ่ากลางเมือง เหตุการณ์แบบนี้ขอให้อย่าเกิดอีกเลยในประเทศไทย ถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา”
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เหมือนกับวนลูปมาซ้ำๆ สาเหตุเพราะประเทศไทยมีสิ่งที่ยังหนีไม่พ้น
1. นักการเมือง “มีความอดทนต่อการวิพากษ์วิจารณ์ต่ำ” และไม่ค่อยอดทนที่จะรอ ไม่เหมือนนักการเมืองต่างประเทศ ยกตัวอย่างสหรัฐฯ หรืออังกฤษ เมื่อประเทศมีประชาธิปไตยแล้ว เขาก็ไม่กลับเจอเรื่องแบบนี้อีกเลย หากเลือกตั้งแพ้เขาจะรอ
2. ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน การหาประโยชน์ให้พวกพ้อง และการใช้อำนาจที่เกินขอบเขต ไม่ว่าจะเป็นฝั่งไหนก็ตาม
3. เสรีภาพสื่อ หากผู้ปกครองไม่ปล่อยวาง หรือคอยจำกัดเสรีภาพสื่อ เมื่อนั้นประชาชนจะไม่มีทางเลือก เพราะไม่สามารถร้องเรียนผ่านสื่อได้ ก็จะแสดงออกด้วยตัวเอง
ทั้งหมดนี้คือความเห็นของผู้มีประสบการณ์ที่ทำหนังสือพิมพ์ มองการเปลี่ยนแปลงของการเมืองไทยมาอย่างยาวนาน ซึ่งในวันข้างหน้าจะเป็นอย่างไร คงต้องรอดูด้วยตัวคุณเอง
ผู้เขียน : อาสาม
กราฟิก : Supassara Traiyansuwan
อ่านข่าวที่น่าสนใจ