• ความมั่งคั่งรวมกันของ "มหาเศรษฐีพันล้าน" ทำลายสถิติสูงสุดเมื่อปี 2560
  • "หุ้นเทคโนโลยี" มาแรงฉุดไม่อยู่ ฝ่าโควิด-19 โกยเงินเข้ากระเป๋า ดันกลุ่ม FAANG โตเด่น
  • นายทุนธุรกิจ Technology และ Health Care มาแรง ความมั่งคั่งพุ่งช่วงโควิด-19

ในห้วงเวลานับตั้งแต่โควิด-19 (COVID-19) แพร่ระบาด จนมีผู้ป่วยติดเชื้อสะสมทั่วโลกรวมกันกว่า 39 ล้านราย เสียชีวิตอีกกว่าล้านราย หลายพื้นที่ล็อกดาวน์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า บางพื้นที่ค่อยๆ ลุก ค่อยๆ ฟื้น ปิดกิจการนับไม่ถ้วน ตกงานเป็นล้านๆ ...แต่กลับมีคนกลุ่มหนึ่งที่รวยเอาๆ กลุ่มคนเหล่านั้นเรียกว่า Billionaire หรือ "มหาเศรษฐีพันล้าน"

พวกเขาเหล่านี้...แม้จะต้องเผชิญโควิด-19 ที่กำลังแพร่ระบาดหนักเหมือนเช่นกับเรา แต่ "ความมั่งคั่ง" ที่มีมหาศาลอยู่แล้ว กลับทวีขึ้นและทำลายสถิติความร่ำรวยใหม่อีกครั้ง

จุดสายปลายเหตุที่ทำให้พวกเขาร่ำรวยขึ้นเช่นนี้ คือ "หุ้นเทคโนโลยี"

คุณผู้อ่านคิดว่า "มหาเศรษฐีพันล้าน" มีความมั่งคั่งรวมกันเท่าไร?

10.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 319 ล้านล้านบาท

นี่คือตัวเลขความมั่งคั่งรวมกันของมหาเศรษฐีพันล้าน 2,189 ราย ณ สิ้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยบันทึกในรายงานของธนาคาร UBS สถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ของสวิตเซอร์แลนด์ และ PwC (PricewaterhouseCoopers) บริษัทสอบบัญชีระดับโลก

ซึ่งตัวเลข 10.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ว่านี้เป็นความมั่งคั่งที่ทำลายสถิติใหม่จากจุดสูงสุดเดิมเมื่อปี 2560 ที่มหาเศรษฐีพันล้าน 2,158 ราย มีความมั่งคั่งรวมกัน 8.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 278 ล้านล้านบาท

...

เพียง 3 ปี "มหาเศรษฐีพันล้าน" เพิ่มขึ้นถึง 31 ราย ความมั่งคั่งรวมกันเพิ่มกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

หากถามว่า อะไรที่ทำให้ "ความมั่งคั่ง" ของพวกเขาสร้างสถิติใหม่ได้ คำตอบก็อย่างที่บอกไปข้างบน คือ "หุ้นเทคโนโลยี"

รู้จัก FAANG กันไหม?

FAANG คือ ชื่อย่อ 5 ยักษ์ใหญ่เทคโนโลยีของสหรัฐอเมริกา ที่หากเอ่ยออกมาทีละตัว ทุกคนก็ต้องร้องอ๋อ...

F - เฟซบุ๊ก (Facebook: FB), A - อเมซอน (Amazon: AMZN), A - แอปเปิล (Apple: APPL), N - เน็ตฟลิกซ์ (Netflix: NFLX) และ G - กูเกิล (Google: GOOG ที่มี Alphabet เป็นบริษัทแม่)

แค่นี้...ก็น่าจะนึกภาพออกว่าทำไมพวกเขาถึงมีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้น

อย่าง A - Amazon ที่ความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นเพราะคำสั่งให้อยู่บ้าน หรือ Stay-at-Home เมื่อการช็อปปิ้งในห้างสรรพสินค้ากลายเป็นเรื่องยาก จนทำให้ดัชนียอดขายปลีกตกต่ำจนน่าสะพรึงกลัว ช็อปปิ้งออนไลน์เหมือนเป็นแสงสว่างผลักดันยอดขายอย่างมหาศาล ไม่เพียงเท่านั้น การที่ลูกจ้างหลายล้านคนต้องทำงานที่บ้าน ธุรกิจต่างๆ ก็ต้องอาศัยการทำงานผ่าน "คลาวด์" (Cloud) แพลตฟอร์มคอมพิวเตอร์ที่ขับเคลื่อนโดย Amazon และบริษัทเทคโนโลยีอื่นๆ เช่น ไมโครซอฟท์ (Microsoft: MSFT) ก็เป็นตัวเลือกที่คนหันมาใช้

หรืออย่าง N - Netflix ที่ยอดการรับชมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น กรณีชาวอเมริกันที่ต้องอยู่กับบ้านและไม่มีการถ่ายทอดสดกีฬาให้ได้ดู ก็หันไปรับชมสารคดี Tiger King, รายการ Love is Blind และซีรีส์ Ozark จนทำยอดผู้ชมสูงสุดแบบท่วมท้น

A - Apple ก็ไม่ต่างกัน ที่แม้ว่า Supply Chain ที่อยู่ในเอเชียจะสะดุด ความต้องการซื้อ iPhone หรือ Gadget ลดลง ด้วยราคาที่สูงขึ้น แต่รายได้ก็ยังเพิ่มขึ้น ถึงจะเพียงแค่ 1% ก็ตาม เช่นเดียวกับ G - Google และ F - Facebook ที่กำลังเจ็บปวดกับยอดโฆษณาที่หดหายอย่างรุนแรง แต่ก็ยังอยู่ในระดับที่เรียกว่าเติบโต เพียงแต่ไม่มากเท่ากับที่ผ่านมา

เห็นภาพเพียงเท่านี้ "นักลงทุน" ก็ยอมหอบเงินกรูไปซื้อหุ้นกลุ่ม FAANG กันแล้ว เรียกว่ามีบทบาทสำคัญในการชักจูง "ตลาดกระทิง" (Bull Market) ที่ไม่เพียงสะท้อนความเชื่อมั่น แต่ยังบ่งบอกถึงกำลังเงินที่มากพอจะฟันฝ่าวิกฤติโควิด-19 ได้ของกลุ่ม Big Tech ด้วย

คิดดูว่า 5 หุ้นเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุด อย่าง Apple, Amazon, Microsoft, Alphabet และ Facebook เมื่อรวมกันแล้วมีสัดส่วนถึง 21% ของมูลค่าตลาด S&P 500 ทั้งหมด นั่นหมายความว่า เพียงแค่ 5 บริษัทรวมกันก็มีน้ำหนักคร่าวๆ เทียบเท่ากับการรวมกันของ 3 กลุ่มที่เปราะบางที่สุดในตลาดหุ้นอย่าง การเงิน (10%), อุตสาหกรรม (8%) และพลังงาน (3%)

...

FAANG และเหล่า Big Tech ไม่ได้เป็นเพียงแค่ "ผู้รอดชีวิต" จากวิกฤติโควิด-19 เท่านั้น แต่พวกเขายังเป็น Big Tech ที่แสนจะเฟื่องฟู หนุนเงินในกระเป๋าให้ "มหาเศรษฐีพันล้าน" ทำลายสถิติใหม่

แล้วมีใครกันที่ "ความมั่งคั่ง" เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล?

มหาเศรษฐีพันล้าน รวยทุบสถิติ โควิด-19 ก็ฉุดไม่อยู่

ช่วงปี 2561 ถึงเดือนกรกฎาคม 2563 ความมั่งคั่งรวมของ "มหาเศรษฐีพันล้านกลุ่มเทคโนโลยี" เพิ่มขึ้นถึง 43% อยู่ที่ 1.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 56 ล้านล้านบาท ส่วน "มหาเศรษฐีพันล้านกลุ่มเฮลท์แคร์" (Health Care) ก็มีความมั่งคั่งรวมกันเพิ่มขึ้นถึง 50% อยู่ที่ 6.59 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 21 ล้านล้านบาท ขณะที่ กลุ่มการเงิน, ความบันเทิง, อสังหาริมทรัพย์ เพิ่มขึ้นเพียง 10% หรือน้อยกว่านั้น

แต่หากมาย้อนดูในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ก็ต้องบอกว่า "มหาเศรษฐีพันล้าน" ในจีนแผ่นดินใหญ่ มีความมั่งคั่งรวมกันเพิ่มขึ้นมากกว่า 9 เท่า เทียบกับสหรัฐอเมริกาที่มีเพียง 2 เท่า ซึ่งเหตุผลหลักๆ ที่ทำให้ความมั่งคั่งเติบโตขนาดนี้ก็มาจากการเคลื่อนเข้าสู่นโยบาย "เศรษฐกิจดิจิทัล" นั่นเอง ที่มองเห็นได้ชัดเจนก็อย่างเช่น แจ็ค หม่า (Jack Ma) ผู้ก่อตั้งอาลีบาบา (Alibaba: BABA) และโพนี่ หม่า (Pony Ma) แห่งเทนเซ็นต์ (Tencent: TCEHY)

...

และในห้วงวิกฤติโควิด-19 ที่กำลังยุ่งเหยิงอีรุงตุงนังนี้ จากรายงาน Billionaire Bonanza ของ The Institute for Policy Studies ฉบับล่าสุด เห็นได้ว่าแค่เพียงช่วงวันที่ 18 มีนาคม ถึง 15 กันยายนที่ผ่านมา มหาเศรษฐีอเมริกัน 643 ราย โกยเงินไปมหาศาลกว่า 8.45 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 26 ล้านล้านบาท เติบโตถึง 29% หรือคิดเป็นเกือบ 1 ใน 3 ของความมั่งคั่งเดิม และหากนับ "มหาเศรษฐีพันล้าน" อย่างน้อย 8 ราย ก็พบว่าโควิด-19 ไม่ได้มีผลใดๆ ต่อพวกเขาเลย ความมั่งคั่งเพิ่มอีกราวๆ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 3 หมื่นล้านบาท

ใดๆ ก็แล้วแต่...ก็ไม่มี "มหาเศรษฐีพันล้าน" คนไหนมีกำไรมหาศาลเท่าเขาคนนี้

"เจฟ เบซอส" (Jeff Bezos) แห่ง Amazon

ที่นับตั้งแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ หุ้น Amazon เพิ่มขึ้นมากกว่า 60% ทำให้ความมั่งคั่งสุทธิของเขาเพิ่มขึ้นประมาณ 5.52 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 1.72 ล้านล้านบาท โดยมีความมั่งคั่งสุทธิทั้งหมดกว่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 6.32 ล้านล้านบาท ยืนหนึ่ง "บุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลก"

...

และเมื่อความร่ำรวยของพวกเขา "บรรดามหาเศรษฐี" ยิ่งเพิ่มสูงขึ้นในห้วงวิกฤติโควิด-19 นี้ก็ยิ่งทำให้ "ช่องว่าง" มากขึ้นไปอีก โดยเฉพาะในอเมริกา

จมลึกสู่...ความเหลื่อมล้ำ

กว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมา การเติบโตของความมั่งคั่งใน "มหาเศรษฐีพันล้านอเมริกัน" มากกว่าค่าเฉลี่ยความมั่งคั่งถึง 200 เท่า

ซึ่งตลอดกว่า 10 เดือนที่เข้าสู่การแพร่ระบาดครั้งใหญ่ของโควิด-19 ก็เห็นได้ว่า ความไม่เท่าเทียมในคนจนและชนชั้นกลาง vs. คนรวยในอเมริกากำลังเดินไปสู่เส้นทางแห่งความเลวร้าย โดยจากรายงาน Billionaire Bonanza มีความกังวลกันว่า ในอนาคตข้างหน้า บนถนนสายหลักอาจไม่มีร้านค้ากว่า 100 แห่งเรียงรายอยู่แล้ว แต่จะเหลือเพียงคลังเก็บสินค้าของ Amazon เท่านั้น

ด้วยโควิด-19 ที่ยังไม่มีทีท่าจะสิ้นสุด บวกกับเศรษฐีที่ใกล้ตาย ซึ่งตกค้างมาตั้งแต่ปี 2551 จะมีเพียงครัวเรือนอเมริกันระดับบน 20% เท่านั้น ที่สามารถฟื้นคืนความมั่งคั่งกลับสู่สภาพปกติได้อย่างสมบูรณ์ก่อนที่พวกเขาจะเจอภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่

ง่ายๆ ว่า ในช่วงระยะสั้นๆ คนอเมริกันส่วนใหญ่จะซวนเซเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเศรษฐีที่เลวร้ายที่สุดยิ่งกว่าการพังทลายครั้งไหนๆ ในทศวรรษที่ผ่านมา แต่จะมี "มหาเศรษฐีพันล้าน" (หัวขโมย) จำนวนเล็กๆ ที่ประสบความสำเร็จ

และนั่นจึงเป็นที่มาของข้อเสนอต่อสภาคองเกรสของศูนย์นโยบายภาษี ที่ให้จัดเก็บภาษีเสริมกับบรรดาเศรษฐีที่มีรายได้มากกว่า 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 62 ล้านบาท ซึ่งจะก่อให้เกิดรายได้ประมาณ 6.35 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 20 ล้านล้านบาท ในอีก 10 ปีข้างหน้า รวมถึงจัดเก็บภาษีความมั่งคั่งและภาษีมรดกเพิ่มขึ้น

หากถามว่า ทำไมต้องมุ่งเก็บภาษีจากแค่ "มหาเศรษฐีพันล้าน" เหล่านี้

คำตอบง่ายๆ ก็เพราะแม้ "มหาเศรษฐีพันล้าน" หรือ "นายทุน" เหล่านี้จะเป็นเพียงกลุ่มเล็กๆ แต่กลับเป็นกลุ่มที่มีอำนาจและอิทธิพลต่อการเมืองและเศรษฐกิจอย่างมาก ไม่ใช่แค่อเมริกาหรือชาติใด ...ไทยเองก็ไม่ต่างกัน.

ผู้เขียน: เหมือนพระอาทิตย์
กราฟิก: Varanya Phae-araya

ข่าวน่าสนใจ: