มันจะเกิดอะไรขึ้น เมื่อประธานาธิบดี "โดนัลด์ ทรัมป์" ของสหรัฐฯ เกิดติดเชื้อ COVID-19? ...โรคร้ายที่คร่าชีวิตชาวอเมริกันไปแล้วร่วม 200,000 ชีวิต และยังติดเชื้ออีกร่วม 7 ล้านคน ทั้งๆ ที่ท่านผู้นำย้ำแล้วย้ำอีกว่า โรคร้ายนี้ไม่ได้น่ากลัวอะไรสักนิด และไม่มีความจำเป็นอะไรที่จะต้องสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันมัน จนกระทั่ง...มันได้เกิดสิ่งนั้นกับ "ท่านผู้นำทรัมป์" เข้าเองจนได้
อย่างไรก็ดี จนถึง ณ เวลานี้ ทำเนียบขาวยังคงพยายามหลีกเลี่ยงที่จะระบุถึงสุขภาพของผู้นำสหรัฐฯ หลังการติดเชื้อ COVID-19 อย่างชัดเจน จนนำมาซึ่งความคลุมเครือในหลายๆ ประเด็น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจและการเมือง เนื่องจากมันเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายของการหาเสียงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่จะมีขึ้นในอีกไม่ถึง 1 เดือนข้างหน้าแล้ว
มันสามารถจะเกิด Scenario อะไรขึ้นได้บ้าง? เราค่อยๆ ไปร่วมสังเคราะห์กันทีละประเด็น!
"มันจะเกิดอะไรขึ้นก็ได้! ไม่ว่าจะเป็นภาวะชะงักงันที่อาจเกิดขึ้นชั่วคราว เรื่อยไปจนถึงวิกฤติรัฐธรรมนูญ ในช่วงเวลาแห่งการลงชิงชัยเพื่อสิทธิในเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ แต่ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ความชัดเจนว่า ใครคือผู้ถือสิทธิในการบังคับบัญชากองทัพ ไม่ว่าประเทศสหรัฐอเมริกาจะตกอยู่ภายใต้สถานการณ์รูปแบบใดก็ตาม
แต่ที่น่าเป็นกังวลคือ แม้ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ในทำเนียบขาวจะผ่านการฝึกซ้อมอยู่เป็นประจำ ทั้งในเรื่องวิธีปฏิบัติในกรณีเกิดการก่อการร้ายหรือถูกโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์ แต่กับสถานการณ์การแพร่ระบาดโรค COVID-19 เช่นที่กำลังเผชิญอยู่ ณ เวลานี้ น่าจะเป็นเรื่องที่แตกต่างออกไป
ส่วนระดับความรุนแรงที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและนโยบายระหว่างประเทศมากหรือน้อยนั้น จะขึ้นอยู่กับว่า ผู้นำสหรัฐฯ มีอาการเจ็บป่วยอยู่ในระดับใด และแน่นอนว่า มันต้องมองไปถึงขั้นกรณีเลวร้ายถึงขั้นที่ว่า...ประธานาธิบดีสหรัฐฯ อาจจะถึงขั้นกลายเป็นบุคคลไร้ความสามารถหรือไม่ด้วย" เดวิด แอ็กเซลรอด (David Axelrod) อดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงในทำเนียบขาวและที่ปรึกษาของอดีตประธานาธิบดี "บารัค โอบามา" วิเคราะห์สถานการณ์หลังท่านผู้นำทรัมป์ประกาศยอมรับต่อสาธารณชนว่า ติดเชื้อ COVID-19
...
หากประธานาธิบดีสหรัฐฯ กลายเป็นบุคคลไร้ความสามารถ รัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ได้บัญญัติถึงการเปลี่ยนถ่ายอำนาจเอาไว้อย่างไรบ้าง?
เมื่อครั้งที่นายกรัฐมนตรี "บอริส จอห์นสัน" ของอังกฤษ ต้องเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลจากการติดเชื้อ COVID-19 เมื่อเร็วๆ นี้ สิ่งที่ปรากฏออกสู่สาธารณชนอย่างชัดเจน คือ แม้จะไม่มีการระบุในรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจนว่า ใครควรจะเป็นผู้ทำหน้าที่แทน หรือมีขั้นตอนการถ่ายโอนอำนาจที่ชัดเจนในช่วงเวลาดังกล่าว แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นกลับไม่มีการตั้งคำถามที่จริงจังถึง "ช่องว่างทางกฎหมาย" ที่เกิดขึ้นเลย ด้วยเหตุนี้ นายกรัฐมนตรีอังกฤษจึงสามารถถ่ายโอนอำนาจไปยัง "โดมินิค ราบ" (Dominic Raab) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ สามารถทำหน้าที่แทนได้โดยที่แทบไม่เกิดเสียงคัดค้าน
แต่ในประเทศสหรัฐอเมริกา ไม่ว่าจะเป็นทั้งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย มีการระบุถึง "บุคคล" ที่จะเข้ามารับช่วงอำนาจต่อได้ทันทีในกรณีที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้
โดยบทแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่ 25 มาตรา 2 ข้อที่ 1-6 ระบุไว้ชัดเจนว่า ในกรณีที่ประธานาธิบดีถูกปลดออกจากตำแหน่ง เสียชีวิต ลาออก หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ รองประธานาธิบดี (Vice President) จะเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทน ไปจนกว่าจะถูกถอดถอนหรือจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ แต่หากรองประธานาธิบดีไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่แทนได้อีก ประธานสภาผู้แทนราษฎร (Speaker of the House) จะเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทน และหากประธานสภาผู้แทนราษฎรไม่สามารถทำหน้าที่ได้ ลำดับถัดไปคือ ประธานวุฒิสภาชั่วคราว (President pro tempore) หรือคือ ผู้ทำหน้าที่เป็นผู้นำของสภาสูง ซึ่งโดยปกติจะเป็นสมาชิกอาวุโสของพรรคที่มีเสียงส่วนใหญ่ในวุฒิสภา
ส่วนลำดับถัดไปนับจากประธานวุฒิสภาชั่วคราวแล้วก็คือ สมาชิกในคณะรัฐมนตรี โดยจะเรียงตามลำดับดังต่อไปนี้
1. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (Secretary of State)
2. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (Secretary of the Treasury)
3. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (Secretary of Defense)
4. อัยการสูงสุด (Attorney General)
5. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (Secretary of the Interior)
6. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร (Secretary of Agriculture)
7. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (Secretary of Commerce)
8. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (Secretary of Labor)
9. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและบริการประชาชน (Secretary of Health and Human Services)
10. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเคหะและพัฒนาเมือง (Secretary of Housing and Urban Development)
11. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงขนส่ง (Secretary of Transportation)
12. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน (Secretary of Energy)
13. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (Secretary of Education)
14. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทหารผ่านศึก (Secretary of Veterans Affairs)
15. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงความมั่นคงเพื่อมาตุภูมิ (Secretary of Homeland Security)
...
โดยในประวัติศาสตร์ของประเทศสหรัฐอเมริกาที่ผ่านมา มีรองประธานาธิบดีที่เข้าทำหน้าที่แทนประธานาธิบดีในกรณีที่เสียชีวิตขณะดำรงตำแหน่งทั้งสิ้น 8 คน และมีเพียงรองประธานาธิบดีคนเดียวเท่านั้นที่ได้ก้าวเป็นประธานาธิบดีด้วยเหตุผลต้องลาออกจากตำแหน่ง คือ ประธานาธิบดี "เจรัลด์ ฟอร์ด" (Gerald Ford) ที่เข้าดำรงตำแหน่งแทนประธานาธิบดี "ริชาร์ด นิกสัน" (Richard Nixon) ซึ่งลาออกจากคดีวอเตอร์เกตที่สุดอื้อฉาว
ตามบทแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่ 20 ระบุเอาไว้ว่า รองประธานาธิบดีที่ชนะการเลือกตั้งจะสามารถขึ้นเป็นประธานาธิบดีได้ หากประธานาธิบดีที่ชนะการเลือกตั้งเสียชีวิตก่อนวาระการดำรงตำแหน่งจะเริ่มต้น แต่ต้องเป็นหลังการเลือกประธานาธิบดีโดยคณะผู้เลือกตั้ง (Electoral Voter) เสร็จสิ้นลงแล้ว
...
วาระการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะสิ้นสุดลงในเวลาเที่ยงวันของวันที่ 20 มกราคมในปีถัดไป หลังการเลือกตั้ง
ในขณะที่ บทแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่ 25 อนุญาตให้ "รองประธานาธิบดี" ทำหน้าที่แทนประธานาธิบดีได้ชั่วคราว ในกรณีที่ประธานาธิบดีป่วยหรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นทางการได้ชั่วคราว เช่น เหตุการณ์เมื่อครั้งรองประธานาธิบดี "จอร์จ บุช" ทำหน้าที่เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ เป็นเวลา 8 ชั่วโมง ในวันที่ 13 กรกฎาคม ปี 1985 ขณะที่ ประธานาธิบดี "โรนัลด์ เรแกน" ต้องเข้ารับการผ่าตัด
...
ผลกระทบทางเศรษฐกิจ เมื่อผู้นำสหรัฐฯ ป่วยด้วยโรคระบาดในระดับอันตราย?
ด้าน เอียน เบรมเมอร์ (Ian Bremmer) ประธาน Eurasia Group บริษัทที่ปรึกษาด้านความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ วิเคราะห์ในแง่เศรษฐกิจเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า...
"ในแง่เม็ดเงินด้านการลงทุน ในเบื้องต้นตลาดหุ้นจะปรับตัวลดลงรับข่าวผู้นำสหรัฐฯ ติดเชื้อ COVID-19 แน่นอน แต่สิ่งที่เขาคาดหวังเอาไว้ คือ บรรดานักลงทุนน่าจะเรียนรู้กับวิกฤติในลักษณะที่ใกล้เคียงกันมาแล้ว อย่างกรณีนายกรัฐมนตรี "บอริส จอห์นสัน" ของอังกฤษ ที่ติดเชื้อ COVID-19 และต้องเข้ารับการรักษาตัวตั้งแต่เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา แต่ปัจจุบันได้หายจากอาการป่วยและสามารถกลับมาทำงานได้ตามปกติ
ล่าสุด ตลาดหุ้นไทย (5 ต.ค.) เคลื่อนไหวแดนบวกตลอดทั้งวัน ตอบรับข่าวประธานาธิบดีทรัมป์อาการติดเชื้อ COVID-19 ดีขึ้น
แต่ความคาดหวังนี้อาจจะไม่เกิดขึ้น หากในระหว่างการกักตัวภายใต้การดูแลของรัฐบาลสหรัฐฯ นั้น โดนัลด์ ทรัมป์ ยังคงสามารถทวีตข้อความที่ปราศจากความยั้งคิดได้อยู่ต่อไป ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง มันคงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงได้ยากที่ตลาดทุนจะไม่ได้รับผลกระทบใดๆ"
แล้วกรณีที่ "โดนัลด์ ทรัมป์" ป่วยหนัก จนไม่เหลือเรี่ยวแรงทวีตข้อความ สั่นคลอนตลาดหุ้นได้ล่ะ?
สำหรับประเด็นนี้ อิลยา โซมิน (Ilya Somin) ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายของมหาวิทยาลัยจอร์จเมสัน วิเคราะห์ว่า อาจถือเป็นเรื่องที่น่ากังวลน้อยกว่า เนื่องจากรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ เปิดทางให้ "มิสเตอร์ทรัมป์" ส่งมอบอำนาจการบริหารประเทศไปให้กับรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทำหน้าที่แทนได้ชั่วคราว และเมื่อใดก็ตามที่สามารถกลับมาทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ก็สามารถเรียกอำนาจการบริหารกลับคืนได้ทันที
โดยในอดีตที่ผ่านมา อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ หลายคนก็เคยใช้วิธีนี้ เช่น อดีตประธานาธิบดี "จอร์จ บุช" ในระหว่างที่ต้องเข้ารับการผ่าตัด 2 ครั้ง และอดีตประธานาธิบดี "โรนัลด์ เรแกน" ที่ใช้ครั้งหนึ่งระหว่างต้องเข้ารับการผ่าตัดลำไส้ แต่หากเป็นสถานการณ์ขั้นวิกฤติถึงขนาดที่ "ท่านผู้นำทรัมป์" ไม่รู้สึกตัวและถึงขั้นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจนั้น รัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ก็ยังเปิดทางให้รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ หรือคณะรัฐมนตรีสามารถดำเนินการถ่ายโอนอำนาจจากประธานาธิบดีได้เช่นกัน
แต่หากเป็นสถานการณ์วิกฤติขั้นสุด ซึ่งในทางสถิติมีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยมาก นั่นก็คือ ทั้งประธานาธิบดีทรัมป์และรองประธานาธิบดี "ไมซ์ เพนซ์" เกิดเสียชีวิตขึ้นมาพร้อมๆ กัน คู่กัดทางการเมืองของท่านผู้นำทรัมป์อย่าง นางแนนซี เปโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐฯ จะก้าวเท้าเข้าสู่อำนาจแทนทันที
อย่างไรก็ดี ความโกลาหลทางการเมืองอาจเกิดขึ้นในกรณีที่ทั้งประธานาธิบดี "โดนัลด์ ทรัมป์" และรองประธานาธิบดี "ไมค์ เพนซ์" ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ หรือกลายเป็นผู้ไร้ความสามารถไม่ว่ากรณีใดๆ จากโรค COVID-19 เนื่องจากในประเด็นนี้ รัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ยังมีบทบัญญัติที่คลุมเครือและไม่สามารถให้ความชัดเจนในกรณีเช่นนี้เอาไว้ ซึ่งทางที่ดีสำหรับประเด็นนี้ ควรเร่งขอความชัดเจนจากศาลสูงสุดสหรัฐฯ เอาไว้เสียแต่เนิ่นๆ นั่นเป็นเพราะการที่ไม่รู้ว่าใครคือ "ประธานาธิบดี" แม้แต่เพียง 1-2 ชั่วโมง ก็ถือเป็นเรื่องที่อันตรายอย่างยิ่งแล้ว - ไบรอัน คาลท์ (Brian Kalt) ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน ให้ความเห็น
เหตุใดหากเกิดกรณีที่ประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีกลายเป็น "ผู้ไร้ความสามารถ" จะทำให้เกิดความโกลาหลทางการเมืองได้ ในเมื่อตามรัฐธรรมนูญระบุไว้อย่างชัดเจนแล้วว่า ผู้ดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐฯ จะเป็นผู้ทำหน้าที่ในลำดับที่ 3 เอาไว้แล้ว?
ไบรอัน คาลท์ (Brian Kalt) วิเคราะห์ประเด็นนี้ได้อย่างเฉียบคมว่า
"มันอาจทำให้เกิดปัญหาได้ เพราะรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ไม่ได้ระบุถึงระเบียบขั้นตอนการพิจารณาความเป็นผู้ไร้ความสามารถของประธานาธิบดีเอาไว้อย่างชัดเจน และมันจะยิ่งเป็นปัญหามากขึ้นไปอีก เมื่อผู้ที่จะก้าวขึ้นมาสืบทอดอำนาจประธานสภาผู้แทนราษฎร คือ นางแนนซี เปโลซี ซึ่งนอกจากจะเป็นคู่อริตัวเอ้ของ "ทรัมป์" แล้ว ยังเป็นผู้แทนจากพรรคการเมืองคนละขั้วอย่างพรรคเดโมแครตด้วย"
ฉะนั้น ลองคิดดูเล่นๆ ว่าหาก นางแนนซี เปโลซี ประกาศว่าจะทำหน้าที่ประธานาธิบดี แต่ทางฝ่ายรีพับลิกันยืนยันว่า ทั้งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีของพรรคตัวเองไม่ได้เป็นผู้ไร้ความสามารถ มันจะเกิดอะไรขึ้น?
จากประวัติศาสตร์ทางการเมืองสหรัฐฯ ที่ผ่านมา ในช่วงระหว่าง 8 สัปดาห์ที่ประธานาธิบดี "ริชาร์ด นิกสัน" กำลังสรรหารองประธานาธิบดีแทน สปิโร แอกนิว (Spiro Agnew) ที่ตัดสินใจลาออกหลังเข้าสู่กระบวนการถูกสอบสวนคดีคอร์รัปชัน คาร์ล อัลเบิร์ต (Carl Albert) ประธานสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคเดโมแครตเวลานั้น ซึ่งอยู่ในฐานะตัวเลือกลำดับถัดไปที่อาจก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีได้ประกาศให้คำมั่นว่า หากได้เข้าสู่ทำเนียบขาว เขายินดีที่จะแต่งตั้งรองประธานาธิบดีที่เป็นคนจากพรรครีพับลิกันแล้วลาออกจากตำแหน่ง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการแย่งชิงอำนาจภายในประเทศ
แต่นั่นคือ...เรื่องที่เกิดขึ้นในอดีต ซึ่งผิดกับสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน ที่ยากจะคาดเดาได้ว่า มันจะมีเหตุการณ์ที่ไม่ทำให้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองเช่นในอดีตได้ ฉะนั้น สภาคองเกรสจึงควรแก้ไขบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญในประเด็นการสืบทอดอำนาจ ต่อจากรองประธานาธิบดีที่แต่เดิมเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรให้เปลี่ยนเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้แล้ว" ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน ตบท้ายด้วยความกังวล
แล้วการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะเดินหน้าต่อไปได้หรือไม่?
ต้องยอมรับว่า ในอดีตที่ผ่านมายังไม่เคยปรากฏว่า เกิดเหตุการณ์ผู้ลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ป่วยหนักจนไม่สามารถหาเสียงได้มาก่อนในกรณี "ท่านผู้นำทรัมป์" แต่อย่างไรก็ดี ปัญหาการแพร่ระบาดโรค COVID-19 ไม่น่าจะทำให้เป็นผลถึงขนาดให้การเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไปจากกำหนดเดิม เนื่องจากปัจจุบันมี 5 รัฐ (วอชิงตัน ออริกอน ยูทาห์ โคโลราโด และฮาวาย) ที่กำหนดให้การเลือกตั้งทั้งหมดเป็นการลงคะแนนทางไปรษณีย์ ในขณะที่ อีก 2 ใน 3 รัฐของประเทศ อนุญาตให้ประชาชนขอใช้สิทธิลงคะแนนโดยไม่ต้องไปที่หน่วยเลือกตั้ง โดยไม่จำเป็นต้องมีเหตุผล ส่วนอีก 16 รัฐ ต้องชี้แจงเหตุผล เช่น ต้องไปปฏิบัติหน้าที่ในกองทัพ ทุพพลภาพ หรือมีเหตุต้องเดินทาง ฉะนั้น ประเด็นนี้จึงน่าเป็นไปตามที่วางไว้ คือ เดินหน้าจัดการเลือกตั้งตามกำหนดเดิม
อย่างไรก็ดี หลังความพยายามโน้มน้าวให้ชาวโลกเชื่อมั่นว่า ไม่ได้ป่วยหนักจากการติดเชื้อ COVID-19 ด้วยการตัดสินใจนำขบวนรถแห่หน้าโรงพยาบาล Walter Reed National Military Medical Center พร้อมกับโชว์ภาพโบกมือให้กับบรรดาผู้สนับสนุนที่มาให้กำลังใจ เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ทำให้วานนี้ (5 ตุลาคม 2020) ตลาดหุ้นทั่วโลกรวมถึงสหรัฐอเมริกาปรับตัวขึ้นเล็กน้อย รวมถึงทำให้ความกังวลว่า อาจจะทำให้เกิดผลกระทบต่อการเลือกตั้งที่เหลืออีกประมาณ 4 สัปดาห์ ลดน้อยลงไปด้วย...
ว่าแต่คำถามที่ต้องถามต่อไปคือ...สิ่งที่ท่านผู้นำทรัมป์พยายามแสดงออกมานั้น มันเป็นเรื่องจริงหรือไม่?
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
กราฟิก: เทพอมร แสงธรรมาพิทักษ์
ข่าวอื่นๆ:
- TikTok โดนปล้น อลหม่านดีลแสนล้าน การเมืองยุ่งการค้า 2 มาตรฐานอินทรีรุมทึ้ง
- เหยียดผิว สร้างภาพ ย้อนวาทกรรมผู้นำสหรัฐฯ ไฟแค้นไม่เคยมอดดับ
- "ฆาตกามเกาหลี" สู่จับแพะยัดคุก ยุติธรรมอัปยศแห่ง "ฮวาซอง"
- iPhone 12 จ่อเปิดตัว 5G สีใหม่ ไม่แถมหูฟัง สายชาร์จ อ้างรักษ์โลก
- ภูเก็ตโมเดล แผนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ แค่กักตัวใช้เงิน 1-5 แสนบาท