• ณ งบประมาณปี 2562 มีบริษัทมาลงทุนจริงในพื้นที่ "อีอีซี" 380 ราย มูลค่าลงทุนรวม 3.68 แสนล้านบาท
  • นักลงทุนให้ความสนใจซื้อ/เช่าพื้นที่ใน "อีอีซี" แล้ว 44,726 ไร่ หรือกว่า 70% ของพื้นที่ทั้งหมด
  • รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดกว่า 7,853 ไร่ (ตลอดแนวดอนเมือง-อู่ตะเภา พื้นที่พัฒนามักกะสันและศรีราชา)

"อีอีซี" คืออะไร?

จากวันแรกจนมาถึงวันนี้ เชื่อว่าหลายคนยังมีคำถามแบบข้างต้นอยู่ แม้ว่าจะมีข่าวบนหน้าสื่อให้ได้เห็นมาตลอด ทั้ง "ต่างชาติแห่ลงทุนอีอีซี" หรือ "ที่ดินอีอีซีฮอต" แต่...ก็ยังไม่มีใครเห็นภาพว่า "อีอีซี" (EEC) ที่ว่านั้นเป็นอย่างไร

ยิ่งพอมี "โควิด-19" (COVID-19) จากที่มองไม่เห็นภาพอยู่แล้ว ก็ขมุกขมัวเข้าไปใหญ่ หาเค้าโครงแทบไม่เจอ แถมยังโดนข่าวถาโถมซ้ำไปอีกว่า "ทุนญี่ปุ่นกำลังย้ายฐานหนี" งานนี้ดูแววแล้ว "อีอีซี" ท่าจะเกิดยาก แต่หากอยากจะให้เกิดก็ใช่ว่าเป็นไปได้ เพียงแต่...ต้องแก้ "ปัญหา" ให้ได้ซะก่อน

แต่ก่อนจะไปว่ากันถึง "ปัญหา" ที่ทำให้ "อีอีซี" เกิดไม่ได้สักที

ไปดูกันก่อนว่า "อีอีซี" (EEC) หรือโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor) นั้นคืบหน้าถึงไหนแล้ว

ซึ่งหากดูตามกรอบเวลาการพัฒนา "อีอีซี" ปี 2563 นี่ก็ถือเป็นปีแห่งการเจรจาต่อรองกันอยู่ หากจะได้เห็นภาพสมบูรณ์จริงๆ ก็ต้องนู่นเลย...ปี 2568 ไล่เรียงไทม์ไลน์กันทีละโครงการไป

เริ่มจากปี 2565 โครงการเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EEcd) โดยบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด

...

ปี 2566 ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานฯ โดยบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)

ปี 2567 ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา โดยกองทัพเรือ

และปี 2568 ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 โดยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, ท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 โดยการท่าเรือแห่งประเทศไทย, รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย

ทั้ง 5 โครงการที่ว่านั้น หลายๆ คนคงคุ้นชื่อคุ้นหูกันเป็นอย่างดี โดยเฉพาะรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่มี "เจ้าสัวซีพี" เข้ามาแจมด้วยจนเป็นข่าวครึกโครมกันไป แต่...เราจะยังไม่ขยายความในส่วนนี้ ขอยกไปช่วงท้าย มาว่ากันด้วยภาพรวมความคืบหน้ากันก่อน

ที่นับตั้งแต่ปี 2560 ในพื้นที่ "ระยอง, ชลบุรี, ฉะเชิงเทรา" 3 จังหวัดภาคตะวันออก "อีอีซี" ได้ประกาศเขตส่งเสริมไปแล้วถึง 23 เขต เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมาย 21 เขต และอุตสาหกรรมเฉพาะด้าน 2 เขต รวมทั้งหมดมีนักลงทุนซื้อ/เช่าพื้นที่แล้ว 44,726 ไร่ จากพื้นที่ 64,487 ไร่ หรือคิดเป็นกว่า 70% และจากการชักจูงการลงทุนใน 10 ประเทศ (21 ครั้ง) ก็มีการลงนามความร่วมมือ (MOU) ไปแล้ว 3 ประเทศ แน่นอนว่า 1 ใน 3 ประเทศ คือ "จีน"

สรุปมีบริษัทลงทุนจริงใน "อีอีซี" 380 ราย มูลค่ารวม 3.68 แสนล้านบาท โดย จ.ชลบุรี มีการลงทุนสูงที่สุด 172 ราย มูลค่า 2.28 แสนล้านบาท รองลงมาเป็น จ.ระยอง 143 ราย มูลค่า 1.22 แสนล้านบาท และ จ.ฉะเชิงเทรา 65 ราย มูลค่า 1.79 หมื่นล้านบาท

มาถึงตรงนี้...บางคนคงจะสงสัย "ไหนว่าอีอีซีไม่เกิด?"

มีเม็ดเงินลงทุนสูงถึงแสนล้านขนาดนี้ "อีอีซี" จะไม่เกิดได้อย่างไร

ก็ต้องขอตอบว่า ที่หลายๆ คนบอกว่า "อีอีซี" ไม่เกิดนั้น นั่นก็เพราะเม็ดเงินลงทุนส่วนใหญ่เป็น "การขยายลงทุนจากบริษัทเดิม" หน้าใหม่เขาไม่ค่อยมา และรายเดิมๆ ที่ว่านั้นก็เสียวๆ อยู่ว่าจะ "ย้ายฐานหนี" เหมือนอย่างบางรายที่อาศัยใช้จังหวะโควิด-19 ชิ่งไปหาเพื่อนบ้านเราก่อนแล้ว

ทำไม "เขา" ถึงไม่มาอีอีซี?

ถึงเวลาจนบัดนี้ "อีอีซี" ยังไม่เกิด

หากย้อนดูข้างต้น สิ่งที่เกิดคือ "รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน" กับ "สนามบินอู่ตะเภา" ที่เป็นการเตรียมพร้อมโครงสร้างพื้นฐานรองรับ "อีอีซี" ...และในเมื่อโครงสร้างพื้นฐานไทยไม่ได้เลวร้าย แทบจะดีกว่าหลายๆ ประเทศในอินโดจีน แต่ทำไม "อีอีซี" คนถึงไม่มา?

...

ก่อนหน้านี้ได้มีโอกาสสนทนากับหลายๆ ท่าน มอง "ปัญหา" ตรงกันว่า จุดอ่อนของ "อีอีซี" คือ "ไม่มีน้ำ!!"

ซึ่งหนึ่งในคนที่มองเห็นจุดอ่อนนี้ คือ ดร.วีรพงษ์ รามางกูร อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ยืนยันเสียงแข็งว่า "อีอีซี" ไม่มีทางเกิด ถ้าตราบใดไม่ให้ความสำคัญกับปัญหา "น้ำ"

แล้ว "ท่านๆ ที่ดูแลอีอีซี" มองเห็น "ปัญหา" นี้ไหม? (ไม่รู้...)

แต่อย่าเพิ่งคิดว่ามีแค่ "ปัญหาน้ำ" ปัญหาเดียว

ยังมีอะไรลงลึกไปอีก...

"อีอีซี...มีอะไรให้เขา?"

ดร.ทนง พิทยะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้คำตอบด้วย "คำถาม" คำถามที่มาจาก "ทุนญี่ปุ่น" (ที่สะท้อนมารอ "ท่านๆ" ตอบ) ก่อนจะไล่เรียงให้ได้เห็นภาพ...ถึง "ปัญหา" คาใจนั้น

"อีอีซี" ...มี "ไฟ" โอเคราคามาตรฐานไม่เป็นไร "ถนนหนทาง" ดีกว่าคนอื่นอยู่แล้ว 2 อย่างนี้ไทยได้เปรียบคนอื่นอยู่เยอะ "ที่ดิน" แค่จะเริ่ม "อีอีซี" ราคาขึ้นไปแล้ว 2-3 เท่าตัว สมมติว่าที่ดินไม่แพงกว่า แต่..."เขา" ก็ยังไม่มา ...ทำไม?

...

"เขาต้องการที่ดินและโครงสร้างพื้นฐาน (จากเรา) ทุนเป็นของเขาเอง เครื่องมือ เครื่องจักรทั้งหลาย เทคโนโลยีก็ของเขาเอง สิ่งที่ขาดจริงๆ คืออะไร? ...ทรัพยากรมนุษย์"

ในเมื่อ "อีอีซี" จะกลายเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่หลอมรวม Hi-Tech Industry แต่ "แรงงาน" ที่เรามีกลับไม่ตอบสนองความต้องการเขา นี่คือคำตอบ "ทรัพยากรมนุษย์" ที่ ดร.ทนง กำลังจะอธิบายให้ได้เข้าใจ

"เป็น 'ไก่กับไข่' แล้ว มหาวิทยาลัยบอก 'ก็ยังไม่มีเลย Hi-Tech Industry แล้วจะทำไปทำไม สอนคนทำ Robotic ทำไม...ออกมาแล้วไม่มีงานทำ' ส่วนคนที่ต้องการคนทำ Robotic เพื่อส่งออก ก็บอกว่า 'ไม่มีทรัพยากรมนุษย์ให้เขาเลย' ปัญหาทุกอย่างเป็น 'ไก่กับไข่' จะทำอย่างไรที่จะสร้าง 'ไข่' ออกมาก่อนเพื่อเป็น 'ไก่' ให้ได้"

แล้วทำไมเขาไม่ขน "แรงงาน" เข้ามา? ...เชื่อว่านี่คือคำถามที่หลายคนอยากย้อนถามกลับไป ซึ่ง ดร.ทนง ก็ให้ "คำตอบ" ที่ชัดเจน คือ 1.เราไม่ค่อยอนุญาต อยากให้ใช้แรงงานไทย 2.ถึงให้เขาขนคนเข้ามา ค่าใช้จ่ายก็สูงมากๆ จากญี่ปุ่นมาไทยต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายอีกเท่าไร เอามาเยอะไม่ได้

...

สรุปภาพง่ายๆ ว่า "อีอีซี" จะเกิดได้ ปัจจัยการผลิตทั้ง 4 ต้องมีพร้อม สมัยก่อนมีความพร้อม เพราะมีที่ดินถูก แรงงานถูก เทคโนโลยีเขาเอาเข้ามาเอง เครื่องจักรทนมือทนเท้า คนไทยกดผิดกดถูกก็ไม่เสียหาย แต่อิเล็กทรอนิกส์สมัยใหม่ ดิจิทัลสมัยใหม่ กดผิดพังเลย นี่คือสิ่งที่ต้องการการศึกษาเพื่อดิจิทัลเทคโนโลยี ...กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษา คิดอะไรบ้างกับเรื่องพวกนี้...

"อีอีซีผ่านมากว่า 5 ปีแล้ว Hi-Tech Industry ยังไม่สนใจมาลงทุนเลย ในส่วนอุตสาหกรรมเดิมก็มีการปรับปรุงเทคโนโลยีบ้าง แต่ว่าอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่หวังจะให้เกิด 4-5 อย่าง ...มันไม่เกิด"

หากเป็นอย่างที่ว่านั้น...ก็คงคาดว่ากว่า อีอีซี จะเกิดจริงๆ ก็คงใช้เวลาลากยาวไปอีกหลายปี เพราะที่ว่าๆ มาทั้งหมดนี้ ทั้ง "น้ำ" ทั้ง "คน" ...ก็ยังไม่เห็น "ท่านๆ" ออกมาให้ความสนใจเป็นจริงเป็นจังสักเท่าไร...

มาว่ากันต่อที่ "รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน" หนึ่งในโปรเจกต์ของ "อีอีซี"

ที่ว่ากันว่ามาเพื่อ "แก้รถติด!"

"รถไฟความเร็วสูง" ขนคน ย้ายคน

อะไรคือ ขนคน ย้ายคน ...?

หากคนที่ติดตาม "รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน" ก็คงจะพอรู้คร่าวๆ ว่าคืออะไร แต่ใครที่ไม่ค่อยได้ตาม หรือตามผ่านๆ เรามาไล่เรียงไปด้วยกัน

"รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน" เรียกว่าล่าช้าไปกว่าที่วางเอาไว้หลายปี แถมยังเป็นที่ถกเถียงในวงกว้าง ที่ปัจจุบันกำลังอยู่ในขั้นตอนการดำเนินงาน หลังจากได้ผู้ชนะประมูล คือ กลุ่มบริษัทที่นำโดยเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ "ซีพีกรุ๊ป" (CP Group) ร่วมด้วยบริษัทก่อสร้างเส้นทางรถไฟจีน (China Railway Construction Corp.) และได้ลงนามสัญญากับการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ไปเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2562 คาดการณ์ว่าจะเปิดดำเนินการได้ในปี 2568 อย่างที่บอกไปตอนต้น โดยครอบคลุมการลงทุนกว่า 2.24 แสนล้านบาท ภายใต้เงื่อนไขอสังหาริมทรัพย์และใบอนุญาตดำเนินการเส้นทางรถไฟ 50 ปี!

แม้ว่าจะใช้ "รถไฟความเร็วสูง" ที่เป็นเทคโนโลยีจีน และไทยยังปฏิเสธเงินกู้จากจีน แต่โปรเจกต์นี้ก็นับเป็นส่วนหนึ่งของ "โครงการเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21" หรือที่เรียกว่า Belt and Road Initiative (BRI) ที่จะเชื่อม "จีน" ไปยังประเทศอื่นๆ ในเอเชีย ผ่านโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งแบบใหม่

ในส่วนไทยเอง "รถไฟความเร็วสูง" จะเชื่อม 2 สนามบินของกรุงเทพฯ คือ สุวรรณภูมิ และดอนเมือง กับ 3 จังหวัดภาคตะวันออก โดยเส้นทางเริ่มจาก "ดอนเมือง" ผ่านไปยัง "บางซื่อ" และหยุดที่ "มักกะสัน" ที่จะเป็นศูนย์กลางกรุงเทพฯ (ในอนาคต...ขอให้จับตาให้ดี) ก่อนจะเดินทางต่อไปยังฉะเชิงเทรา, ชลบุรี, ศรีราชา และพัทยา เส้นทางกว่า 137 ไมล์นี้ จะสิ้นสุดที่ "สนามบินอู่ตะเภา" ในระยอง

สำหรับ "สนามบินอู่ตะเภา" มีแพลนว่าอาจจะย้าย 10% ของเที่ยวบินไปอยู่ที่นี่ เพื่อลดความแออัดของสนามบินสุวรรณภูมิ และดอนเมือง (ก็ต้องรอดู...หากมีโอกาสจะพาทุกท่านไปส่องทำเล)

รถไฟความเร็วสูง...ขนคน

จากการคาดการณ์น่าจะอยู่ที่ 1.47 แสนคนต่อเที่ยวต่อวัน ซึ่งการ "ขนคน" ของรถไฟความเร็วสูงนี้ หวังกันไว้ว่าจะช่วยลดการจราจรบนทางหลวง รวมถึงอุบัติเหตุ ที่ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการเสียชีวิตบนถนนสูงที่สุดในโลก

หากถามว่า "รถไฟความเร็วสูง" นี่จะเร็วแค่ไหน คำตอบก็คือ จากสนามบินดอนเมืองไปสุวรรณภูมิอาจจะใช้เวลาเพียงแค่ 20 นาทีเท่านั้น และการไปพัทยาก็อาจใช้เวลาไม่ถึงชั่วโมง

แต่รถไฟความเร็วสูง...ที่ขนคน ยัง "ย้ายคน" ด้วย

"ย้ายคน" ที่ว่าก็คือ การย้ายคนที่เกิดจากการ "เวนคืนที่ดิน" ตลอดเส้นทางรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่คาดการณ์ว่าอาจมีบ้านเรือนถูกรื้อถอนกว่า 3,000 หลังคาเรือน

แต่การจะย้ายคนจำนวนมากขนาดนั้นมันไม่ง่าย (โดยเฉพาะทำเลศูนย์กลาง...) บางทีอาจต้องเข้าสู่กระบวนการศาลและใช้เวลานาน

นี่คือ "ปัญหา" ที่น่าเป็นห่วง จะสามารถเวนคืนได้ตามเป้าหมายแค่ไหน และหลังจากเวนคืนเรียบร้อยแล้ว สองข้างทางจะเป็นอย่างไร แรงดึงดูดสองข้างทางจะเพียงพอไหม หรือแค่รถไฟความเร็วสูงผ่านมาแล้วก็ผ่านไป จากนี้คงได้เห็นการเปลี่ยนแปลง "ชุมชนเมือง" ในหลายๆ จุด ...แล้ว "ย้ายคน" ที่ว่านั้น พวกเขาจะไปอยู่ตรงไหนต่อ?

ผู้เขียน: เหมือนพระอาทิตย์
กราฟิก: Supassara Traiyansuwan

ข่าวอื่นๆ :

ข้อมูลอ้างอิง :

  • รายงานประจำปี 2562 โดย สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.)