ในหลายๆ ประเทศก็ทำการบินภายในประเทศกันแล้ว และก็เตรียมพร้อมกลับมาเปิดการบินระหว่างประเทศในอนาคต แม้ว่าสถานการณ์ตอนนี้ "ผู้โดยสาร" จะยังไม่เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งหนึ่งในสาเหตุก็เพราะยังไม่เชื่อมั่นในความปลอดภัย ยังคงหวาดระแวงว่าจะติดเชื้อโควิด-19 (COVID-19) บนเครื่องบิน
แต่จากเรื่องนี้ ...หน่วยงานสาธารณสุขทั่วโลกก็ได้ทำวิจัยและศึกษาความเป็นไปได้ ว่า "เรามีโอกาสที่จะติดเชื้อโควิด-19 บนเครื่องบินหรือไม่?" ซึ่งผลที่ออกมาก็พบว่า โอกาสติดเชื้อบนเครื่องบิน "มี" ...แต่ก็เพียงเล็กน้อยเท่านั้น หรือเพียงแค่ 1%
เกิดเป็นคำถามตามมาอีกว่า "ทำไมบนเครื่องบินถึงมีโอกาสติดเชื้อโควิด-19 แค่ 1%?"
คำตอบจะเป็นอย่างไร...มาไล่เรียงกัน
ซึ่งก็คงต้องย้อนกลับไปช่วงต้นสัปดาห์ ที่ "ซีอีโอและผู้บริหาร" 4 สายการบินสัญชาติอเมริกัน มาร่วมกันแชร์ไอเดียฝ่าวิกฤติโควิด-19 (COVID-19) ให้กับ "อุตสาหกรรมการบิน" ที่กำลังร่อแร่อยู่ในเวลานี้ ไม่ว่าจะเป็นความเห็นเรื่อง...บล็อกที่นั่งแถวกลาง, อนาคตธุรกิจท่องเที่ยว ไปจนถึงผลกระทบต่อการบินที่นอกเหนือจากการแพร่ระบาดโควิด-19
โดยการแชร์ไอเดียครั้งนี้ เกิดขึ้นก่อนที่จะถึงกำหนดสิ้นสุด "โครงการสนับสนุนเงินเดือน" (Payroll Support Program - PSP) ของรัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้กฎหมายความช่วยเหลือโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่และส่งเสริมความมั่นคงทางเศรษฐกิจ (CARES Act) ในวันที่ 1 ตุลาคม ที่มีวงเงินรวม 8 แสนล้านบาท
...
แน่นอนว่า น้ำเสียงและอารมณ์ในวันนั้นย่อมมีความตึงเครียด...มากกว่าจะมองโลกในแง่ดี
แต่ก่อนที่เราจะไปตอบคำถามว่า "ทำไมบนเครื่องบินถึงมีโอกาสติดเชื้อโควิด-19 แค่ 1%?"
ภายในงาน Skift Global Forum ที่ 4 สายการบินสหรัฐฯ มาร่วมกันแชร์ไอเดียฝ่าวิกฤติโควิด-19 ก็มีสัญญาณเตือนถึง "คำสั่งฟ้าผ่า" ที่จะเกิดขึ้นหลังครบกำหนดสิ้นสุดโครงการสนับสนุนเงินเดือน (PSP) ซึ่งก็คือ "การปลดพนักงาน" นั่นเอง
จากสัญญาณเตือนที่ว่านี้ "สกอตต์ เคอร์บี" (Scott Kirby) ซีอีโอบริษัท ยูไนเต็ด แอร์ไลน์ส โฮลดิงส์ จำกัด (United Airlines Holding Inc) มองว่า พนักงานหรือลูกจ้างสายการบินต่างๆ ที่อยู่ใน "สถานะเสี่ยง" มีจำนวนสูงถึง 100,000 ราย
และมาถึงวันนี้ 2 ตุลาคม ที่เพิ่งพ้นกำหนดสิ้นสุด "โครงการสนับสนุนเงินเดือน" เพียง 1 วัน ก็มี "คำสั่งฟ้าผ่า" ออกมาดังที่เตือนไว้จริงๆ เมื่อรัฐสภา "ไม่บรรลุข้อตกลง" ที่ขอขยายโครงการฯ ออกไปอีก 6 เดือน หลังจากเจรจาต่อรองกันนานหลายชั่วโมงและลุ้นกันมาหลายวัน
...สุดท้ายก็นำมาซึ่งคำสั่งฟ้าผ่า "ปลดพนักงาน" ทันที
โดย 2 สายการบินที่ตอบสนองเร็วไว ...ก็ไม่ใช่ใครไหนไกล หนึ่งในนั้นก็คือ "ยูไนเต็ด แอร์ไลน์ส" (United Airlines) และอีกรายคือ "อเมริกัน แอร์ไลน์ส" (American Airlines)
เริ่มที่ "ยูไนเต็ด แอร์ไลน์ส" (United Airlines) กับการปรับลดพนักงานมากกว่า 13,000 ราย มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมเป็นต้นไป
แม้ว่า "ยูไนเต็ด แอร์ไลน์ส" จะออกมาแจ้งล่วงหน้าแล้วว่า อาจมีพนักงานราว 36,000 ราย ที่ต้องเผชิญกับความสุ่มเสี่ยงที่จะ "ตกงาน" ...แต่ท้ายที่สุดก็เหมือนว่าจะหารือและปรับลดมาเหลือแค่ 13,000 รายอย่างที่กล่าวไป ซึ่งหากย้อนไปก่อนที่จะเกิดวิกฤติโควิด-19 "ยูไนเต็ด แอร์ไลน์ส" มีพนักงานภายใต้สังกัดทั้งหมดมากถึง 100,000 ราย
ในส่วน "อเมริกัน แอร์ไลน์ส" (American Airlines) ก็ปรับลดพนักงาน "ลอตแรก" มากถึง 19,000 ราย
แต่ "คำสั่งฟ้าผ่า" ครั้งนี้ ไม่ได้สร้างความแปลกใจให้กับพนักงานมากนัก นั่นก็เพราะมีข่าวแว่วๆ มาแล้วตั้งแต่ช่วงกลางซัมเมอร์ ซึ่งหากประมาณคร่าวๆ คาดว่าจะมีพนักงาน "ตกงาน" จากวิกฤติโควิด-19 ครั้งนี้ อย่างน้อย 40,000 ราย
สำหรับ "อเมริกัน แอร์ไลน์ส" แอบน่าสงสารหน่อยๆ เพราะซีอีโอเพิ่งเขียนจดหมายถึงพนักงานด้วยความเชื่อมั่นไปเองว่า "การเจรจาขยายโครงการฯ จะสำเร็จแน่นอน!"
ซึ่งหากการเจรจาที่ว่านั้น "สำเร็จ" ตามที่หวัง "อเมริกัน แอร์ไลน์ส" ก็จะยกเลิกคำสั่งปรับลดพนักงาน แถมยังจะเรียกพนักงานที่ได้รับผลกระทบกลับมาคืนด้วย ...แต่ก็อย่างที่ทราบกัน ผลลัพธ์ที่ออกมา "ตรงกันข้าม" ทางซีอีโอจึงทำได้เพียงแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้ง
จากประมาณการปรับลดพนักงานของ "อเมริกัน แอร์ไลน์ส" ในเดือนสิงหาคม คาดว่าจะเป็น
...
1. พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน 27,000 ราย แบ่งเป็น ปลดออก 8,100 ราย, สมัครใจลาออก 4,500 ราย และสมัครใจเกษียณก่อนกำหนด 2,700 ราย
2. นักบิน 15,000 ราย แบ่งเป็น ปลดออก 1,600 ราย, ลาออกโดยสมัครใจ 700 ราย และสมัครใจเกษียณก่อนกำหนด 1,200 ราย
3. ช่างซ่อมบำรุง 800 ราย
4. ลูกจ้างในการบริการกองเรือ 2,225 ราย และการบริการผู้โดยสาร 1,275 ราย
5. พนักงานวางแผนเส้นทางการบิน 150 ราย
6. ครูฝึกอบรมลูกเรือเที่ยวบินและฝึกช่วยบิน 12 ราย
ปัจจุบัน "อเมริกัน แอร์ไลน์ส" ได้รับเงินช่วยเหลือแล้วประมาณ 1.3 แสนล้านบาท และเงินกู้รวมคร่าวๆ 2.2 แสนล้านบาท
คราวนี้... ถึงเวลาหา "คำตอบ" ของคำถาม "ทำไมบนเครื่องบินถึงมีโอกาสติดเชื้อโควิด-19 แค่ 1%?"
"คำตอบ" นี้ มาจากการวิจัยของวิทยาลัยสาธารณสุข ที.เฮช. ชาน ฮาร์วาร์ด (T.H. Chan School of Public Health) ซึ่งประธานสายการบิน "เจ็ทบลู แอร์เวย์ส" (JetBlue Airways) ถึงขนาดหยิบยกมาและเชื่อว่า นี่คือ "คำตอบ" ที่เป็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์เลยทีเดียว
...
ซึ่งผลการวิจัยฯ ให้ "คำตอบ" ออกมาว่า "ความเสี่ยงที่จะติดเชื้อโควิด-19 บนเครื่องบิน มีน้อยกว่า 1%!"
และผลลัพธ์ที่ออกมานั้น มีความเชื่อมโยงระหว่าง 2 สิ่ง นั่นคือ การสวม "หน้ากาก" ในที่ร่ม และระบบการฟอกอากาศที่มีประสิทธิภาพในการกรองฝุ่นสูงกว่าปกติ (High Efficiency Particulate Air - HEPA)
แม้ว่าจะมีผู้โดยสารบางรายที่มีอาการป่วยตามมาทีหลัง แต่ก็ไม่สามารถยืนยันได้ว่า "ติดเชื้อบนเครื่องบิน" และนั่นก็ไม่ได้หมายความว่า "มันไม่มีโอกาสเกิดขึ้นแน่นอน" ด้วย เพราะมีโอกาส...เพียงแต่น้อย หากเทียบกับความเสี่ยงในสถานที่อื่นๆ แล้ว "บนเครื่องบิน" ยังเสี่ยงน้อยกว่าการรวมตัวดื่มสังสรรค์ในบาร์ซะอีก
เพราะอะไร?...หน่วยงานสาธารณสุขของสหรัฐอเมริกา รวมถึงศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) ให้ความเห็นตรงกันว่า อากาศบนเครื่องบินผ่านการกรองหมดแล้ว อีกทั้งสายการบินมีการขอความร่วมมือไปจนถึงบังคับให้ "สวมหน้ากาก" ตลอดเวลาอยู่บนเครื่อง การที่ไวรัสโควิด-19 จะแพร่กระจายเชื้อย่อมเป็นไปได้ยากมาก แต่สถานที่อื่นๆ ที่มีการรวมตัวสังสรรค์กันมากๆ อากาศค่อนข้างอับ บางทีก็ไม่สวมหน้ากากด้วย
และนักจุลชีววิทยาและนักพยาธิวิทยา ประจำมหาวิทยาลัยแห่งเนบราสกา ยังยืนยันด้วยคำพูดหยอกล้อด้วยว่า "ถ้าให้เลือกระหว่างอยู่รวมกันในบาร์หรือขึ้นเครื่องบิน เขาเลือกขึ้นเครื่องบินดีกว่า"
นั่นจึงเป็นเหตุผลว่า การมีอยู่ของ 2 สิ่ง คือ "สวมหน้ากากและระบบฟอกอากาศ" เป็นสิ่งจำเป็นบนเครื่องบิน
ย้ำอีกครั้งว่า ถ้าอยากปลอดภัยเวลาขึ้นเครื่องบิน ต้อง "สวมหน้ากาก" ด้วยเท่านั้น แต่หากไม่สวมหน้ากาก...ก็เป็นไปได้ว่า คุณอาจจะเป็น 1% ที่ติดเชื้อนั้นก็ได้
...
ตัวอย่าง...
เที่ยวบินจากตอนเหนือของอิตาลีบินตรงไปยังเกาหลีใต้ ที่ตลอดการเดินทางที่อยู่บนเครื่องบิน ผู้โดยสารทั้งหมดต้องสวมหน้ากาก N95 ตลอดเวลา แต่กลับพบว่า หลังผ่านไป 8 วัน หญิงวัย 28 ปี เริ่มมีอาการป่วย และท้ายที่สุด ผลตรวจออกมาเป็น "บวก" ...เธอติดเชื้อโควิด-19!
จากการสอบสวนสรุปได้ว่า เธอติดเชื้อไวรัสบนเครื่องบิน ...ด้วยเหตุที่ "เธอถอดหน้ากากขณะใช้ห้องน้ำ" หรือเป็นไปได้ว่า เธออาจเผลอสัมผัสเชื้อในระหว่างการขึ้นเครื่องบิน
ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นเป็นข้อแนะนำได้ว่า ควรสวมหน้ากาก ล้างมือ และเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ขณะขึ้นและลงเครื่องบิน
ส่วนคำถามที่ว่า "ไวรัสเคลื่อนตัวเข้าไปภายในเครื่องบินอย่างไร?"
"คำตอบ" ยังคงไม่มี...แต่อีกไม่นานเราจะได้คำตอบ
เพราะกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ได้ทำวิจัยการปล่อยละอองลอยหรือ "แอโรซอล" (Aerosol) ทดสอบผ่านเที่ยวบินพาณิชย์ ที่ท่าอากาศยานนานาชาติวอชิงตัน ดัลเลส (Washington Dulles International Airport) เรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะมีการรายงานผลภายในเดือนตุลาคมนี้
"คำตอบ" จะว่าอย่างไร...เราจะมาอธิบายในโอกาสถัดไป
ข่าวน่าสนใจ :
- ทำไมคนรวย 13% ถึงผูกขาด "วัคซีนโควิด-19" ทั้งที่เผชิญหายนะทั้งโลก
- "โควิด-19" แฝงในฝูงชน ถึงจุดสิ้นสุด 100 วันไร้ผู้ป่วยในประเทศ
- "ยักษ์ใหญ่ธุรกิจ" ยื่นล้มละลาย จับตาอนาคต "ค้าปลีก" ฟื้นหรือปิดฉาก
- "ภูเก็ตโมเดล" แผนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ แค่กักตัวใช้เงิน 1-5 แสนบาท
- สตรีวัย 78 ผู้เข้มแข็ง ต้นแบบสืบทอด "ขันลงหิน" ภูมิปัญญาบรรพบุรุษกว่า 200 ปี