ตั้งแต่ที่ "ไวรัสโควิด-19" กลายเป็นโรคระบาดใหญ่ที่แพร่เชื้อไปทั่วโลกในเดือนมีนาคม จนวันนี้มีผู้ติดเชื้อร่วม 33.5 ล้านคน ซึ่งวิธีการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงการแพร่ระบาดที่ดีที่สุด คือ “การอยู่บ้าน” แต่ใครจะไปคิดว่าการใช้ชีวิตติดบ้านและเคลื่อนไหวร่างกายน้อยก็ทำให้ป่วยได้เช่นกัน
เรียกได้ว่า จะทำให้ร่างกายเปลี่ยนไปจนไม่เหลือเค้าเดิมเลยล่ะ หัวใจและปอดจะเริ่มอ่อนแอลง สมองทำงานบกพร่อง และผลของการใช้ชีวิตอย่างสันโดษเพื่อป้องกันโรคอาจอยู่กับเรากระทั่งหลังการระบาดใหญ่จบลง (ไม่ว่าเมื่อไหร่ก็ตาม)
มาดูกันว่า ช่วงครึ่งปีที่เราเริ่มสันโดษ อยู่กับบ้าน และไม่ค่อยเคลื่อนไหว ทำให้ร่างกายคุณพังได้แค่ไหน
นั่งนอนทั้งวัน จะสูญเสียกล้ามเนื้อ
หากคุณใช้เวลาอยู่บ้านนั่งๆ นอนๆ ตัวติดกับเตียงหรือโซฟาทั้งวัน ร่างกายที่เคยมีกล้ามเนื้อสวยงามจากความพยายามออกกำลังกายอย่างยากลำบากหลายเดือน ก็จะหายไปในระยะเวลาแค่หนึ่งสัปดาห์
“ความจริงที่โหดร้ายของร่างกายเราคือ ยิ่งมีอายุมากขึ้นร่างกายก็จะยิ่งสูญเสียกล้ามเนื้อเร็วขึ้น” คีท บาร์ ศาสตราจารย์ด้านสรีรวิทยาการออกกำลังกายระดับโมเลกุล มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียกล่าว
การสูญเสียกล้ามเนื้อไม่ได้แปลว่ามวลกล้ามเนื้อจะลดลง แต่สิ่งที่น่าเป็นกังวลคือมันจะทำให้ร่างกายสูญเสีย “ความแข็งแรง” ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดสำคัญที่จะบอกได้ว่าคุณจะมีอายุยืนยาวแค่ไหน
"ยิ่งร่างกายเราแข็งแรงมากเท่าไร ก็จะยิ่งมีชีวิตที่ยืนยาวมากเท่านั้น" คีท กล่าว
...
ไม่ออกกำลังกาย หัวใจและปอดอ่อนแอลง
หากอยู่บ้านโดยไม่ออกกำลังกายเลย อัตราการเต้นของหัวใจจะไม่ถูกกระตุ้นให้สูบฉีดอย่างหนัก นั่นหมายความว่า การทำงานของหัวใจจะเริ่มอ่อนแอลง
“เช่นเดียวกับปอด หากคุณมีพฤติกรรมเนือยนิ่ง ไม่ค่อยขยับเคลื่อนไหว คนไข้โรคทางเดินหายใจหลายคนมีระบบทางเดินหายใจที่ทรุดโทรมขึ้น เพราะพวกเขาเลิกออกกำลังกาย” ดร. พานากิส กาเลียทซาโทส แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินหายใจ ศูนย์การแพทย์จอห์น ฮอบกินส์ เบย์วิว กล่าว
คนที่มีสุขภาพปอดไม่ดีอยู่แล้ว จะมีความอ่อนไหวต่อเชื้อไวรัสโคโรนาเป็นพิเศษ เพราะเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจ ซึ่งพวกเขาควรจะอยู่บ้านเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ แต่ถ้าอยู่บ้านเฉยๆ โดยไม่เคลื่อนไหวร่างกายเพื่อกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดไปยังปอด อาการของโรคทางเดินหายใจที่เป็นอยู่จะทำร้ายพวกเขาอยู่ดี แม้จะไม่ติดโควิด-19 ก็ตาม
ดังนั้น การออกกำลังกายจึงเป็นหัวใจสำคัญของการสร้างความแข็งแรงให้กับหัวใจและปอด "ไม่มียาวิเศษตัวไหนช่วยได้" ดร. พานากิส กล่าวและว่า แต่ถ้าคุณอยู่ในพื้นที่เสี่ยงติดเชื้อและไม่ปลอดภัยที่จะออกจากบ้าน ให้ขยันทำงานบ้านเพื่อสร้างความแข็งแรงให้ร่างกาย
ของกินใกล้มือ ไขมัน น้ำหนักจะเพิ่มขึ้น
การอยู่บ้านหมายถึงการอยู่ใกล้ห้องครัวแค่เพียงเอื้อมมือ แล้วในความคิดของคุณ คิดว่านั่นเป็นไอเดียที่ยอดเยี่ยมหรือยอดแย่กันล่ะ
กิลส์ ดัฟฟิลด์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภาควิชากายวิภาคและสรีรวิทยา มหาวิทยาลัยนอเทรอดาม อธิบายว่า การอยู่ใกล้กับอาหารตลอดเวลาอาจทำให้มีเวลากินเพิ่มขึ้น ซึ่งปกตินับตั้งแต่ตื่นนอนจะมีเวลา 10-12 ชั่วโมง แต่เมื่ออยู่บ้านทำให้มีเวลากินเพิ่มขึ้นเป็น 15 ชั่วโมง เพราะเราไม่ได้ออกไปไหน แล้วการกินที่มากขึ้น จะส่งผลให้ระดับฮอร์โมนอินซูลินพุ่งทะยาน หน้าที่ของอินซูลิน คือควบคุมระบบการเผาผลาญของร่างกาย กักเก็บไขมัน และกระตุ้นให้เซลล์ต่างๆ ดูดไขมันไปสะสมไว้เป็นพลังงานสำรอง
การกินในปริมาณที่มากเกินไปจะกลายเป็นปัญหา โดยเฉพาะการกินอาหารแห้งที่ซื้อตุนไว้เผื่อกรณีของขาดตลาด เพราะอาหารแห้งทั้งหลายมีสารอาหารไม่เพียงพอทั้งยังมีปริมาณน้ำตาลและแป้งสูง
เป็นเรื่องปกติในภาวะเครียดที่เราจะกินจนน้ำหนักเพิ่มขึ้น แต่หากเราไม่ระวัง แล้วกินมากจนเป็นนิสัยก็จะส่งผลต่อสุขภาพ ร่างกายของคุณจะเริ่มต่อต้านอินซูลิน และเกิดปัญหาสุขภาพเรื้อรังอื่นๆ ตามมา เช่น ระบบเผาผลาญย่ำแย่ และโรคเบาหวานถามหา
ทุกๆ ชั่วโมงต้องขยับ ลดอาการปวดเมื่อย
นอกจากการกินแล้ว ท่านั่งก็สำคัญ เพราะมันส่งผลต่อสุขภาพ เคยสังเกตตัวเองบ้างไหม เวลาเรานั่งทำงาน อยู่บ้านดูทีวี หรือไถมือถือ เรานั่งกันท่าไหน งอตัวไปข้างหน้า ยกหัวไหล่ งอหลัง หรือก้มหน้าจนติดกับหน้าอก ซึ่งท่านั่งเหล่านี้ เรามักทำโดยไม่ตั้งใจ
“การนั่งหรือนอนทั้งวัน จะส่งผลต่อร่างกายทำให้เกิดอาการปวดเมื่อยตั้งแต่สะโพกขึ้นมาถึงดวงตา ทางแก้คือ ต้องลุกขึ้นเดินทุกๆ ชั่วโมง เดินไปรอบๆ และยืดเหยียดตัว หรือนอนราบไปกับพื้นเพื่อให้แผ่นหลังกลับมาตั้งตรง” แบรนดอน บราวน์ นักระบาดวิทยา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ในสถาบันสุขภาพชุมชน มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย กล่าว
...
ขลุกตัวอยู่บ้านนานไป วงจรร่างกายผิดเพี้ยน มีปัญหา จังหวะเซอร์คาเดียน
“หากคุณใช้เวลาอยู่แต่กับบ้านแล้วปิดม่านทึบจนแสงส่องไม่ถึง คุณจะขาดวิตามินดี วิตามินจำเป็นที่ช่วยให้กระดูกแข็งแรงและลดอาการเหนื่อยล้า” กิลส์ กล่าว
ร่างกายมนุษย์เองก็เป็นสิ่งมีชีวิตที่ต้องการแสงเหมือนกับพืชที่ต้องสังเคราะห์แสง ซึ่งการได้รับแสงแดดในตอนเช้าจะช่วยให้ร่างกายเริ่มทำงานตามวงจรของธรรมชาติ หรือที่เรียกว่า “จังหวะเซอร์คาเดียน”
นาฬิกาชีวิต คือ ร่างกายของเรามีเวลาที่ระบบต่างๆ จะเริ่มทำงาน เช่น การหลั่งฮอร์โมนเพื่อกระตุ้นให้หลับ ช่วงเวลาที่ลำไส้จะย่อยอาหาร เราเรียกวงจรนี้ว่า “นาฬิกาชีวิต” ซึ่งการจะกระตุ้นให้นาฬิกาของเราเริ่มทำงาน ร่างกายจะต้องได้รับแสงแดดและอุณหภูมิที่เหมาะสมเพื่อกระตุ้นให้เซลล์ประสาทที่คอยสั่งการเซลล์ต่างๆ ทำงานสอดประสานกัน เรียกว่า “จังหวะเซอร์คาเดียน” สมมติว่าเราเข้าไปติดอยู่ในถ้ำมืดๆ จะทำให้ช่วงเวลาการนอนและตื่นเริ่มช้าลงจากเดิม โดยตัวเราจะไม่รู้สึกถึงความผิดปกตินั้น การเจอแสงแดดจึงเป็นเรื่องสำคัญเพื่อให้ร่างกายทำงานได้ตามปกติ
...
“ดังนั้น ถ้าคุณอยู่แต่ในบ้านตลอดทั้งสัปดาห์ หรือทำงานแต่ในที่มืดจะส่งผลให้การนอนหลับของคุณเริ่มมีปัญหา” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภาควิชากายวิภาคและสรีรวิทยา มหาวิทยาลัยนอเทรอดาม กล่าว
ขณะที่ แบรนดอน นักระบาดวิทยา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ในสถาบันสุขภาพชุมชน มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย แนะนำว่า ตราบเท่าที่คุณออกกำลังกาย ทำงานในสวน หรืองานอะไรก็ได้ที่พาคุณออกมาข้างนอกบ้านบ้าง ก็จะไม่ต้องกังวลเรื่องการได้รับแดดให้เพียงพอ หรือถ้าออกไปไม่ได้เพราะอากาศไม่เป็นใจ ก็ให้เปิดไฟในบ้านบ้างเพื่อให้ร่างกายรับรู้ว่าเช้าแล้วและหลีกเลี่ยงแสงสีฟ้าจากการเล่นโทรศัพท์มือถือในตอนกลางคืน เพื่อให้ร่างกายพร้อมเข้านอน”
เนือยนิ่งนานไป ส่งผลให้สมองช้าลง
แบรนดอน กล่าวว่า การใช้ชีวิตแบบนั่งอยู่กับที่และมีพฤติกรรมเนือยนิ่ง เคลื่อนไหวน้อย สามารถทำให้สมองทำงานช้าลงได้ โดยปกติแล้ว การออกกำลังกายช่วยให้เกิดการสร้างสารเคมีในสมองที่ทำหน้าที่สลายสารพิษในกระแสเลือดและป้องกันไม่ให้เลือดที่มีพิษนั้นหล่อเลี้ยงไปยังสมอง แล้วไปฆ่าเซลล์ประสาท การไม่ออกกำลังกาย หมายถึง ร่างกายจะไม่สามารถสร้างสารเคมีดังกล่าวเพื่อทำลายกรดอะมิโนที่รวมตัวเป็นสารพิษต่อระบบประสาท
...
ผลกระทบของการอยู่ติดบ้านนั้นร้ายกาจกว่าที่คุณคิด แม้ว่าตอนนี้ร่างกายจะไม่มีอาการป่วย แต่มันจะสะสมอยู่ในร่างกายจนสุดท้ายแล้วมันจะเริ่มรุนแรงและเป็นอันตรายต่อสุขภาพ
“แน่นอนว่าเราสามารถหลีกเลี่ยงอาการเหล่านี้ได้ก่อนที่มันจะเริ่มกลายเป็นปัญหาใหญ่ ด้วยการให้ความสำคัญกับสุขภาพกายและจิตของตนเอง แม้จะอยู่บ้านก็ต้องทำกิจกรรมที่เคลื่อนไหวร่างกายเป็นประจำ เพื่อสร้างเกราะป้องกันให้ตัวเองดีกว่านิ่งนอนใจ เมื่อเราเป็นอิสระจากโรคระบาด ตอนนั้นร่างกายเราก็จะยังแข็งแรง” ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพกล่าวทิ้งท้าย
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านข่าวที่น่าสนใจ