ในอีก 30 ปีข้างหน้า องค์การสหประชาชาติ (UN) คาดการณ์ว่า ประชากรโลก 72% จะเลือกอาศัยอยู่ใน "เมือง" เพื่อโอกาสด้านความเป็นอยู่ การทำมาหากิน โหยหา "ชีวิตดีๆ ที่ลงตัว" แต่จากการศึกษาวิจัยกลับพบว่า "การอาศัยอยู่ในเมือง" เป็นตัวการสำคัญทำให้ผู้คนมีสภาพร่างกายย่ำแย่ หรือ "ป่วย" มากขึ้น!

ทำไมเป็นอย่างนั้น? ผู้ไขคำตอบในเรื่องนี้ คือ "เซอร์วินสตัน เชอร์ชิล" บุรุษเหล็กแห่งอังกฤษ ที่เคยกล่าวไว้ว่า "เราเป็นผู้สร้างอาคาร หลังจากนั้นอาคารจะหล่อหลอมเรา"

"เซอร์วินสตัน" ได้อธิบายความว่า หลังเหตุระเบิดเมื่อปี 1943 ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลอังกฤษตัดสินใจก่อสร้างที่ประชุมรัฐสภาแห่งใหม่ โดย "วินสตัน" ต้องการให้มีการออกแบบห้องรัฐสภาเป็น "ห้องสี่เหลี่ยมผืนผ้า" อย่างที่เคยเป็นมาเอาไว้ แม้จะมีการเสนอให้เปลี่ยนเป็นแบบครึ่งวงกลมหรือทรงเกือกม้า เพราะเขาเชื่อว่าห้องรูปทรงเดิมมีส่วนทำให้เกิดระบบ "สองสภา" ซึ่งจำเป็นต่อการสร้างประชาธิปไตยแบบอังกฤษ

เมื่อเวลาผ่านไปเกือบ 80 ปี คำพูดของ "เซอร์วินสตัน" มีน้ำหนักมากขึ้นจากผลการศึกษาที่ผสานองค์ความรู้ระหว่าง 2 ศาสตร์ คือ ประสาทวิทยาศาสตร์และสถาปัตยกรรม เรียกรวมกันว่า "ประสาทสถาปัตยกรรม" หรือ "Neuroarchitecture" ช่วยยืนยันว่าสิ่งก่อสร้าง อาคาร และทิวทัศน์ของเมืองส่งผลต่ออารมณ์ ความเป็นอยู่ และเซลล์ประสาทในสมองส่วนฮิปโปแคมปัส

ทำความเข้าใจ...อะไรคือ "Neuroarchitecture"

การศึกษา "Neuroarchitecture" สามารถแบ่งออกเป็นหลายระดับ ตั้งแต่ระดับโมเลกุล เซลล์ ระบบร่างกาย ไปจนถึงการแสดงออกเป็นพฤติกรรม เพื่อพยายามทำความเข้าใจสภาพแวดล้อมทางกายภาพว่ามันส่งผลต่อแต่ละบุคคลอย่างไร ตัวอย่างเช่น การหลั่งสารเคมีในสมอง ฮอร์โมนหรือสารสื่อประสาท การถ่ายทอดข้อมูลทางพันธุกรรม การเปลี่ยนแปลงเซลล์ประสาทในสมอง การเปลี่ยนแปลงของสภาพจิตใจ อารมณ์ และพฤติกรรม

...

ในทางประสาทวิทยาศาสตร์ไม่มีกฎตายตัวที่สถาปนิกต้องปฏิบัติตาม เป็นเพียงชุดความคิดที่อธิบายคุณสมบัติของสมองมนุษย์ ซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากสภาวะแวดล้อมบางอย่างเพื่อกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมบางอย่าง เช่น ความคิดสร้างสรรค์ ความมุ่งมั่นตั้งใจ ส่งเสริมการเรียนรู้การเข้าสังคม ช่วยให้ผ่อนคลาย ให้เกิดความรู้สึกเคารพยำเกรง และอื่นๆ ขึ้นอยู่กับสถาปนิกและนักออกแบบเมืองว่า พวกเขาจะเลือกองค์ประกอบอะไร นำไปใช้ตอนไหน และนำไปใช้อย่างไร

"อลิสัน บรูคส์" สถาปนิกผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบบ้านและออกแบบสังคม ให้ความเห็นว่า การออกแบบที่คำนึงถึงปัจจัยด้านจิตวิทยาจะเข้ามาเปลี่ยนวิธีคิดในการสร้างเมือง และถ้าวิทยาศาตร์สามารถช่วยให้นักออกแบบปรับมุมมองการให้คุณค่างานออกแบบว่าสิ่งไหนดี ไม่ดี จะกลายเป็นเครื่องมือที่ทรงประสิทธิภาพในการเปลี่ยนแปลงคุณภาพของสิ่งแวดล้อม

บทเรียนจาก "ยุคโมเดิร์น"

การทำความเข้าใจจิตใจผู้อยู่อาศัยจะช่วยลดโอกาสในการเกิดโศกนาฏกรรมทางสถาปัตยกรรมอย่างที่เคยเกิดขึ้นในช่วงปี 1950 ที่ Pruitt-Igoe Housing Complex อาคารที่พักอาศัยในเมืองเซนต์หลุยส์ รัฐมิสซูรี ประเทศสหรัฐฯ อาคารหลังดังกล่าวกลายเป็นสถานที่สุดฉาวโฉ่ และที่เกิดเหตุอาชญากรรมซ้ำซาก โดยนักวิจารณ์ให้ความเห็นว่า การออกแบบพื้นที่ว่างระหว่างอาคารสูงทำให้ลดความเป็นชุมชน ท้ายที่สุด...รัฐก็ได้ทำลายอาคารเหล่านั้นทิ้ง หลังสร้างเสร็จได้เพียง 20 ปี

โครงการที่พักอาศัยสไตล์โมเดิร์นในยุคนั้นมีแนวคิดการออกแบบที่ต้องการแยกตัวเองออกจากชุมชน สร้างโดยที่ไม่ได้คำนึงถึงการมีพื้นที่สาธารณะร่วมกัน ทำให้ผู้อยู่อาศัยรู้สึกว่า "ออกแบบมาเพื่อให้คุณไม่ประสบความสำเร็จ"

ลายเส้นของเมืองที่ทำให้ "ปวดไมเกรน"

ตามกฎธรรมชาติ สมองคนเราจะไม่เห็นเส้นลายที่ถูกซุกซ่อนในทิวทัศน์ตามธรรมชาติ ในทางกลับกัน หากเรามองตึกหรือสิ่งก่อสร้าง เราจะเห็นเป็นเส้นลายมีรูปแบบที่ซ้ำซาก ซึ่งผลวิจัยพบว่ารูปแบบและแพตเทิร์นซ้ำซากของป่าคอนกรีตจะไม่มีที่ให้พักสายตาได้เลย

นั่นเป็นเพราะว่า หลายหมื่นปีที่ผ่านมา สมองของมนุษย์มีการวิวัฒนาการเพื่อประมวลผลภาพธรรมชาติต่างๆ และส่งต่อสารพันธุกรรมจากรุ่นสู่รุ่น แต่ร้อยกว่าปีที่ผ่านมาเริ่มเกิดการขยายตัวของเมือง สมองจึงเริ่มเรียนรู้ทิวทัศน์ใหม่นี้ นับเป็นความท้าทายต่อระบบประมวลผลของสมอง

จากการทดลองของ "พอล ฮิบบาร์ด" มหาวิทยาลัยเอสเซ็ก ที่ร่วมกับ "หลุยส์ โอแฮร์" มหาวิทยาลัยลินคอล์น โดยการสร้างแบบจำลองเซลล์ประสาทที่กำลังประมวลผลในสิ่งที่เห็น แสดงให้เห็นว่า เมื่อสมองประมวลผลรูปภาพที่ทำลายกฎธรรมชาติ เซลล์ประสาทจะทำงานเพิ่มขึ้น มีการกระจายตัวน้อยลง หรือแปลง่ายๆ ว่า "รูปภาพเมือง" ทำให้เราต้องใช้สมองมากขึ้นเพื่อประมวลผล

...

นอกจากนี้ "โอลิเวอร์ พีนัคคีโอ" จากมหาวิทยาลัยเซนต์แอนดรูว์ และ "อาร์โนลด์ วิลคินส์" มหาวิทยาลัยเอสเซ็ก ที่ร่วมออกแบบโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อใช้วัดระดับรูปภาพที่จะใช้ในการทดลองว่าเป็นไปตามกฎของธรรมชาติมากเพียงใด ซึ่งพวกเขาค้นพบว่า ยิ่งรูปนั้นไม่สอดคล้องกับกฎของธรรมชาติจะยิ่งทำให้รู้สึกอึดอัดเมื่อมองภาพนั้นมากขึ้น ไม่ว่ารูปนั้นจะเป็นรูปตึกหรือเป็นงานศิลปะก็ตาม

พวกเขาจึงได้นำรูปภาพของอาคารที่อยู่อาศัยในอดีตมาเข้าโปรแกรมวิเคราะห์และพบว่า 100 ปีที่ผ่านมา การออกแบบอาคารยิ่งไกลห่างจากกฎของธรรมชาติมากขึ้นเรื่อยๆ มีการสร้างเส้นลายขวาง ลายทางเพิ่มขึ้น จนทำให้การมองอาคารไม่น่าอภิรมย์อีกต่อไป

อีกวิธีหนึ่งในการวัดประสิทธิภาพของสมองในการประมวลผลภาพคือการวัดการใช้ออกซิเจนของสมอง พบว่า สมองจะต้องการออกซิเจนมากขึ้นเมื่อประมวลผลรูปภาพเมือง ซึ่งในความเป็นจริง อาการปวดหัวโดยปกติแล้วจะเกี่ยวข้องกับการใช้ออกซิเจนมากเกินไป จึงเป็นข้ออธิบายได้ว่า ทำไมงานออกแบบบางอย่างถึงทำให้คนดูเกิดอาการปวดหัว

ทั้งนี้ คนที่ป่วยโรคไมเกรนมักจะมีความอ่อนไหวและรู้สึกอึดอัดจากการมองแพตเทิร์นซ้ำซาก เนื่องจากรูปแบบนั้นเพิ่มการใช้ออกซิเจนในสมอง ทั้งที่คนป่วยโรคไมเกรนจะมีการใช้ออกซิเจนในสมองมากอยู่แล้ว ทำให้ผู้ป่วยไมเกรนบางคนไม่สามารถทำงานได้ในออฟฟิศสไตล์โมเดิร์น เพราะแพตเทิร์นของอาคารทำให้พวกเขาอาการกำเริบ

"บางทีคงจะถึงเวลาแล้วที่กฎของธรรมชาติ จำเป็นที่จะต้องใส่เข้าไปในการออกแบบอาคารและสำนักงาน หรือนักออกแบบภายในจะลดการใช้เส้นลายทาง ลายขวาง บนกำแพงหรือพรม มีหลายครั้งที่การเพิ่มเส้นมันไม่จำเป็นแต่ทำเพื่อเพิ่มความสะดุดตา แต่จะกลายเป็นเจ็บตาแทนน่ะสิ" Arnold J Wilkins กล่าว

...

ความโดดเดี่ยวใน "สังคมเมือง"

มีงานวิจัยหลายชิ้นที่พบว่า การเติบโตในเมืองมีโอกาสการเป็นโรคทางจิตเภทมากกว่าคนที่เติบโตในชนบทถึง 2 เท่า ทั้งยังเสี่ยงจะเกิดอาการป่วยทางจิตใจ เช่น โรคซึมเศร้า และโรควิตกกังวลเรื้อรัง

สาเหตุหลักที่เป็นตัวกระตุ้นการเกิดปัญหาทางจิต คือ "ความเครียดทางสังคม" การขาดปฏิสัมพันธ์ในสังคมและการติดต่อกับเพื่อนบ้าน "แอนเดรียส์ เมเยอร์-ลินเดนแบร์ก" พบว่า การอาศัยอยู่ในเมืองสามารถเปลี่ยนโครงสร้างในสมอง ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับประสบการณ์ความเครียดในช่วงวัยแรกรุ่น

ซึ่งผลวิจัยดังกล่าวอาจดูเหมือนไม่น่าเป็นไปได้ เพราะโดยปกติแล้วคนก็มีปฏิสัมพันธ์กันตลอดเวลา แต่ในความเป็นจริงการมีปฏิสัมพันธ์กับสังคมที่ลึกซึ้งไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ ในเมือง การอยู่อย่างโดดเดี่ยวในเมืองเรียกได้ว่าเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพ.

...

ข่าวน่าสนใจ: