หญิงไทยใจแกร่ง กว่า 50 ปี มุ่งมั่นสืบทอดอนุรักษ์อาชีพ "ช่างขันลงหิน" ที่กำลังจะหายไปจากสังคมไทยในอีก 2-3 ปี ด้วยเหตุปัจจัยเดียวที่ยากยิ่งเพราะ "ไร้ผู้สืบทอด" 

ช่างน่าใจหายอย่างยิ่งที่เสียงฆ้อนกระทบโลหะใน "ชุมชนบ้านบุ" ริมคลองบางกอกน้อย กทม. ซึ่งดังก้องกังวานมาหลายชั่วอายุคนใกล้อวสานไปพร้อมลมหายใจรุ่นสุดท้ายของ “ช่างขันลงหิน” หรือขันบุ อาชีพเก่าแก่ที่ทำกันในครัวเรือน สืบทอดจากบรรพบุรุษมานานกว่า 200 ปี นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2310 ที่อพยพมาจากอยุธยาหลังจากเหตุการณ์การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 และมาตั้งถิ่นฐานในชุมชนนี้

“ตอนนี้ทำได้อย่างเดียว คือ ทำใจ เราทำเองไม่ได้ เราเป็นผู้ดูแลสืบทอด สนับสนุนให้งานดำเนินต่อไป เพื่ออนุรักษ์ไว้มากว่า 50 ปี รักมาก แต่ถ้าไม่มีช่างสืบทอดก็จนใจและคงต้องจบ ไม่ได้จบที่เรา จบที่ช่าง” างเมตตา เสลานนท์ หรือ ครูต้อย วัย 78 ปี ผู้มุ่งมั่นสืบทอดการทำ "ขันลงหิน" โรงงานเจียม แสงสัจจา เป็นรุ่นที่ 6 ต่อจากมารดา มากว่า 50 ปี เป็นโรงงานแห่งเดียวในประเทศไทยและหนึ่งเดียวในโลกที่ยังคงผลิตขันลงหิน และสืบทอดกันมากว่า 200 ปี เอ่ยด้วยน้ำเสียงละห้อยที่อาชีพเก่าแก่มาตั้งแต่สมัยอยุธยากำลังใกล้สูญหาย

...

: ทำตำราสอน ไม่เกิดผล เท่าลงมือปฏิบัติ :

แต่เดิมโรงงาน “เจียม แสงสัจจา” มีช่างทำขันลงหิน 40 คน ปัจจุบันเหลือเพียง 6 คนเท่านั้นและอายุมาก 70 กว่า ในอดีตมีเตาสำหรับตีขึ้นรูป 13 เตา ปัจจุบันเหลือเพียง 2 เตา อีกไม่นานคงเหลือเพียงเตาเดียว เนื่องจากช่างกำลังจะเกษียณ เพราะอายุ 70 กว่าแล้ว ทุกคนเริ่มมีโรคประจำตัวและกำลังเริ่มถดถอย แต่ยังทำอาชีพนี้อยู่ต่อ นอกจากเพื่อความอยู่รอดแล้ว สิ่งสำคัญคืออนุรักษ์สืบทอดให้ยาวนานที่สุดจนกว่าจะหมดลมหายใจเพื่อลูกหลานรู้จักวัฒนธรรมไทยอันทรงคุณค่า

“ช่างที่นี่ยังเป็นรุ่นลูกของช่างเก่า สืบทอดต่อกันมาหลายรุ่น ลูกเรียนรู้จากแม่ พ่อ หัดกันเอง ไม่มีตำรา มีแต่ภาคทฤษฎี ถ้าจะทำเป็นตำรา อ่านแล้วก็ทำไม่ได้ ต้องลงมือปฏิบัติอย่างเดียว ตอนนี้ช่างเริ่มสุขภาพไม่ดี ช่างกลึงอายุ 70 ไม่มีลูกหลานทำต่อ อีก 2-3 ปี คงจบ เพราะกว่าคนหนึ่งจะเป็นช่างได้ ต้องฝึกหัดนาน 2-3 ปีถึงจะเป็น”

: 6 ขั้นตอนสุดลำบาก กว่า "ขันลงหิน" ผลิตได้ 1 ชิ้น : 

ด้วยวัยและสังขารที่ไม่เอื้ออำนวยของช่างนี้เอง ทำให้ครูต้อยจึงรู้สึกกังวลไม่น้อย และกว่าจะได้ “ขันลงหิน” 1 ชิ้น ต้องอาศัยช่างที่มีทั้งความรู้ และทักษะฝีมือความชำนาญที่สั่งสมสืบทอดกันมาเป็นระยะเวลายาวนานทั้ง 6 ขั้นตอน และทุกขั้นตอนครูต้อยบอก ต้องทำด้วย “มือ” จาก 6 ช่าง

ซึ่งในแต่ละขั้นตอนมีความยุ่งยาก ต้องใช้ทักษะ ความอดทนสูงและใช้พละกำลังแรงกายสูง ทำงานท่ามกลางความร้อนของเปลวไฟ ครูต้อยบอก นี่จึงเป็นอีกเหตุผลที่ทำให้ไร้คนรุ่นใหม่สานต่ออาชีพ “ขันลงหิน” กรรมวิธี 6 ขั้นตอนทำ “ขันลงหิน” ประกอบด้วยช่างฝีมือต่างๆ ดังนี้

...

1. ช่างตี เพื่อขึ้นรูปขัน ซึ่งต้องเชี่ยวชาญ แม่นยำ และประณีต โดยหลอมส่วนผสมโลหะทั้งหมด คือ ทองแดง 7 ส่วน ดีบุก 2 ส่วน และเศษสัมฤทธิ์ 1 ส่วน ซึ่งเป็นสูตรที่ครูต้อยและแม่ช่วยกันคิดค้นด้วยไฟแรงสูงต่อเนื่องจนโลหะหลอมละลาย เข้าเป็นน้ำทองเนื้อเดียวกัน ทิ้งให้เย็นเป็นก้อน จากนั้นนำมาเผาไฟจนแดงแล้วตี ดัด จนได้รูปทรงตามต้องการ เป็นขั้นตอนที่ใช้แรงงานและทักษะสูงสุด

2. ช่างลาย เป็นการตีลายขันบนกระล่อนด้วยค้อน ตีแต่งให้งดงาม ให้เนื้อภาชนะเรียบเสมอกัน โดยก่อนตีลายต้องทาดินหม้อให้ทั่วภาชนะ เพื่อให้ผิวลื่น ไม่ฝืดเวลาตี เป็นขั้นตอนที่ต้องมีความละเอียด สูง
3. ช่างกลึง เพื่อให้เรียบเสมอกัน และเป็นการขัดสีดำที่ติดอยู่บนขันให้ออกกลายเป็นสีทอง จะกลึงเฉพาะด้านนอก ด้านในหรือทั้งด้านนอกและด้านใน สมัยก่อนคนโบราณใช้ภมรแบบคันชักโยก โดยใช้คนสองคน ปัจจุบันใช้มอเตอร์ไฟฟ้าที่ติดกับภมรกลึงขัน โดยทาชันติดขันเข้ากับหน้าภมร ใช้เหล็กกลึงจนเห็นสีผิวทองสุกปลั่ง ซึ่งต้องใช้กำลังแขนอย่างหนัก

...

4. ช่างกรอ เดิมเรียก ช่างตะไบ เพราะใช้ตะไบเป็นเครื่องมือตกแต่งผิว ปัจจุบันแต่งขอบปากขันให้กลมด้วยเครื่องกรอไฟฟ้าแต่ก็ยังใช้มือตะไบในส่วนที่ละเอียด
5. ช่างเจีย สมัยก่อนไม่มีขั้นตอนนี้ แต่เพื่อเพิ่มความประณีตสวยงาม และเงางาม จึงมีการเพิ่มขั้นตอนนี้โดยใช้เครื่องเจียไฟฟ้า ตกแต่งรอยตำหนิต่างๆ บนผิวขัน

หินเนื้อละเอียดขัดที่ใช้ขัด
หินเนื้อละเอียดขัดที่ใช้ขัด "ขัน" เพื่อให้ขึ้นเงา ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ "ขันลงหิน"

...

6. ช่างขัด เป็นขั้นตอนรองสุดท้าย โดยใช้หินเนื้อละเอียดขัดเพื่อให้ขึ้นเงา พื้นเรียบเสมอกัน เป็นขั้นตอนสุดประณีต แม้ไม่ใช้แรงมาก แต่ใช้เวลามากประมาณ 4 วัน เพื่อให้มีคุณภาพตามมาตรฐานโรงงาน ขั้นตอนนี้หากไม่แกะลายจะถือเป็นขั้นตอนสุดท้าย สามารถนำ “ขันลงหิน” ไปใช้งานได้ แต่หากอยาก “สลักลาย” ให้โดดเด่นและทรงคุณค่าความเป็นไทย จะส่งไปให้ “ช่างแกะลาย” ใน จ.ฉะเชิงเทรา สลักลายโบราณ 2 แบบ คือ ลายน้ำมะลิวัลย์ และลายกนก

เนื่องจากเป็นงานที่หนักในทุกขั้นตอน ผู้ที่จะมาสืบทอดอนุรักษ์ “ช่างขันลงหิน” ได้ จึงต้องเป็นคนที่รักงานนี้จริงๆ เท่านั้น ซึ่งปัจจุบันยังไร้วี่แววผู้สืบทอด

“ขันลงหิน เป็นงานฝีมือและทำงานหนัก ต้องอยู่หน้าเตาตั้งแต่ 2 โมงเช้าจนถึง 4 โมงเย็น งานนี้ไม่มีสังคม คบกันเฉพาะช่าง แต่งตัวสวยไม่ได้ มอมแมมทั้งวัน เพราะอยู่กับฝุ่น มีหลายปัจจัยทำให้หน่วยงานของรัฐถอย กระทรวงวัฒนธรรมพยายามช่วยส่งเสริมเด็กรุ่นใหม่มาดูงาน จะจ้างเด็กมาเรียน แต่กว่าจะเป็นนาน 2-3 ปีแล้วแต่ภูมิปัญญา บางคนก็เร็ว บางคนก็ช้า และค่าใช้จ่ายสูง หลายคนชอบแต่ถอย เพราะมีงานอื่นเลือกทำง่ายกว่านี้ คนรุ่นใหม่ไม่รับก็ต้องจบ” ครูต้อยกล่าวด้วยความรู้สึกกังวล

นางเมตตา เสลานนท์ หรือ ครูต้อย วัย 78 ปี ผู้มุ่งมั่นสืบทอดการทำ
นางเมตตา เสลานนท์ หรือ ครูต้อย วัย 78 ปี ผู้มุ่งมั่นสืบทอดการทำ "ขันลงหิน" รุ่นที่ 6 ต่อจากมารดา มากว่า 50 ปี

: สตรีผู้มุ่งมั่น ช่างขันลงหินถึงคราวอวสาน ยืนหยัดสู้จนวาระสุดท้ายของชีวิต : 

การใช้ขันลงหินในสมัยกรุงศรีอยุธยามักใช้ในราชสำนักในกลุ่มเจ้าขุนมูลนาย พ่อค้า คหบดี นิยมใช้เป็นขันล้างหน้า ขันใส่น้ำดื่มทำให้น้ำเย็นชื่นใจ ขันน้ำมนต์ หรือใช้ในงานพิธีมงคลต่างๆ หากไม่หล่นบนปูนแข็งๆ ก็สามารถใช้งานได้ยาวนาน

ชิ้นงานแต่ละชิ้นของ “ขันลงหิน” ที่สำเร็จได้ ต้องใช้ระยะเวลานานและทุ่มเทแรงกายและแรงใจ ทำให้ราคา “ขันลงหิน” เริ่มต้นใบละพัน สูงสุด 2 แสน ซึ่งครูต้อยประเมินตามราคาฝีมือ และขนาดของ “ขันลงหิน” ที่มีตั้งแต่ 3-10 นิ้ว และขันชุดใส่บาตร (ขัน ทัพพี พานรอง) ขนาด 7-10 นิ้ว ช่างขันลงหินจะทำในขั้นตอนของตัวเองได้กี่ใบต่อวันนั้น ขึ้นอยู่กับขนาดของขัน หากขันมีขนาด 10 นิ้ว ผลิตได้วันละ 2 ใบเท่านั้น ส่วนขันลงหินขนาด 8 นิ้ว ผลิตได้วันละ 3 ใบ

 “ขันลงหินขนาด 3 นิ้ว ผลิตได้วันละ 10 กว่าใบ ค่าแรงช่างแต่ละขั้นตอนได้ต่างกัน เช่น ค่าจ้างขนาด 4 นิ้ว ช่างตีได้ใบละ 160 บาท ช่างลายใบละ 20 บาท ช่างกรึง 20 บาท ช่างขัด 60 บาท ช่างเจีย 10 บาท ราคาไม่ตายตัว ค่าแรงต่อวันได้ตามจำนวนชิ้นที่ผลิตได้ แต่ก่อนเคยมีออเดอร์มากสุด 100 ชิ้น

ปัจจุบันออเดอร์เงียบตามโควิด เดือนละไม่กี่สิบชิ้น น้อยลงมากๆ ตอนนี้เหลือแค่ทำอนุรักษ์ รู้สึกเสียดายมากๆ ที่อาชีพมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมไทยกำลังจะสูญหาย ไม่ได้จบที่เราเพราะลูกๆ หลานๆ ที่จะมาทำต่อก็มี แต่จบที่ช่าง เพราะลูกหลานช่างไม่ทำต่อครูต้อยกล่าวทิ้งท้าย และถึงแม้สุดแสนเสียดาย แต่ครูต้อยไม่คิดถอดใจ ยังยึดมั่นในอุดมการณ์ที่จะสืบทอด "ขันลงหิน" งานของบรรพบุรุษตามแบบโบราณต่อไปจนวาระสุดท้ายของ "ช่าง"

เหล็กที่ใช้กลึงขันลงหิน
เหล็กที่ใช้กลึงขันลงหิน

: ความในใจ 2 ช่างขันลงหินวัย 70 รุ่นสุดท้ายของไทย :

หากอาชีพขันลงหินสูญหายไปจากสังคมไทยจริงๆ ไม่เพียงแต่ครูต้อยเท่านั้นที่รู้สึกใจหายและเสียดาย ยายนัน หรือ นางสุนันทา ญาณสุภาพ วัย 69 ปี ช่างกลึงมากว่า 50 ปี ฝึกหัดจากคนที่เคยทำอยู่ก่อน โดยเริ่มจากช่างขัดเงา เมื่อช่างกลึงไม่มาทำให้งานสะดุด ขาดรายได้ จึงหันมาทำช่างกลึง และ ยายเล็ก หรือ นางบุญเรือน สุขชูศรี วัย 70 ปี ยึดอาชีพนี้มากว่า 40 ปี ตั้งแต่สาวแรกรุ่นตามสามี โดยยายเล็กก่อนหน้านี้เป็นช่างตีคู่กับสามี อาศัยครูพักลักจำและเรียนรู้จากสามี เมื่ออายุมากขึ้น กำลังเริ่มถดถอยจึงหันมาเป็นช่างลาย ทั้งสองช่างขันลงหินก็รู้สึกเสียดายเช่นกัน

ยายเล็ก หรือ นางบุญเรือน สุขชูศรี วัย 70 ปี ยึดอาชีพ
ยายเล็ก หรือ นางบุญเรือน สุขชูศรี วัย 70 ปี ยึดอาชีพ "ช่างขันลงหิน" มาตั้งแต่สาวแรกรุ่นตามสามี

แม้อายุมากขึ้น บางทีเลิกงานแล้วนอนยังปวดแขนที่ต้องใช้แรงในการตีลาย แต่ยายเล็กก็ยืนหยัดจะอนุรักษ์อาชีพ "ขันลงหิน" ต่อไป โดยให้เหตุผลที่ฟังแล้วรู้สึกเศร้าใจว่า

"แก่ป่านนี้ก็ไม่รู้จะไปทำอาชีพอะไร ก็ต้องทำต่อไปจนกว่าทำไม่ไหว บางทีก็ปวดแขน เวลาเห็นผลงานตัวเองก็รู้สึกดีใจ กว่าจะสำเร็จได้ 1 ชิ้นต้องใช้ความร่วมมือกันทำกับช่างคนอื่นๆ อีก 5 คน เสียดายนะถ้าไม่มีคนสืบทอด คนรุ่นใหม่หันไปทำงานอื่นกันหมด" 

ยายนัน หรือ นางสุนันทา ญาณสุภาพ วัย 69 ปี ช่างกลึง
ยายนัน หรือ นางสุนันทา ญาณสุภาพ วัย 69 ปี ช่างกลึง "ขันลงหิน" มากว่า 50 ปี

ด้านยายนันก็บอกเล่าความรู้สึกหาก "ช่างขันลงหิน" ต้องอวสานจริงๆ ว่า "เป็นห่วงที่ไม่มีคนมาทำต่อ แต่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ลูกคนเล็กเคยมาช่วยทำ แต่แพ้ฝุ่น เลยไม่ได้มาทำ"

“ขันลงหิน” งานหัตถศิลป์ไทย สมบัติล้ำค่าของชาติที่งดงาม ทรงคุณค่า ขณะนี้ต้องบอกว่าน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง เพราะไร้ผู้สืบสาน อีกไม่นานมรดกภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมากว่า 200 ปีจากฝีมือ 6 ช่างรุ่นสุดท้ายของโรงงานขันลงหิน “เจียม แสงสัจจา” ที่ครูต้อยทายาทคนสุดท้ายผลิต คงเลือนหายไปจากสังคมไทยเหลือไว้เพียง “ตำนานเล่าขาน” เหมือนภูมิปัญญาหลายๆ อย่าง 

ทุกชีวิต มีมุมให้ค้นหาและเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน เพราะนี่คือ LIFE STORY

ข่าวน่าสนใจ