• รัฐบาลสหรัฐฯ อัดฉีดเงินทุน "โครงการอพอลโล" ปี 1960-1973 รวมทั้งสิ้นกว่า 283,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (เทียบเงินเฟ้อ)
  • "ดาวอังคาร" จะโคจรเข้าใกล้โลกมากที่สุดในวันที่ 6 ตุลาคม 2020 มีระยะห่างเฉลี่ยประมาณ 62 ล้านกิโลเมตร
  • จนถึงปี 2020 มีเพียง "สหรัฐอเมริกา" และ "สหภาพโซเวียต" เท่านั้น ที่ส่งยานอวกาศไปแตะพื้นผิวดาวอังคารได้สำเร็จ

องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือที่เรารู้จักกันดีว่า "นาซา" (NASA) เตรียมเทงบประมาณก้อนมหึมาสำหรับแผนการส่ง "มนุษย์อวกาศหญิง" คนแรกในประวัติศาสตร์และ "มนุษย์อวกาศชาย" คนแรกนับตั้งแต่ปี 1972 จับคู่กันขึ้นไปฝากรอยเท้าบนดวงจันทร์อีกครั้งภายในปี 2024

โดย "โครงการเหยียบดวงจันทร์" มูลค่า 28,000 ล้านเหรียญสหรัฐนี้ อยู่ภายใต้ชื่อ "อาร์ทีมิส โปรแกรม" (Artemis Program)

"อาร์ทีมิส" คือชื่อของเทพเจ้ากรีก ผู้เป็นเทพีแห่งดวงจันทร์ ซึ่งมีพี่ชายฝาแฝดชื่อว่า "เทพเจ้าอพอลโล" (Apollo) ซึ่งชื่อเทพเจ้าอพอลโลนี้เอง นาซาเคยใช้เป็นชื่อโครงการสำหรับพามนุษย์อวกาศไปดวงจันทร์ จนกระทั่งประสบความสำเร็จเป็นประเทศเดียวในโลก และจนบัดนี้ (2020) ก็ยังไม่มีประเทศใดทำได้มาก่อน

...

โดยมนุษย์ (เพศชาย) ผู้สร้างประวัติศาสตร์เป็นคนแรกที่เหยียบพื้นผิวของดาวดวงอื่นที่ไม่ใช่โลก และสร้างประโยคที่คนทั้งพิภพไม่เคยลืมเลือนเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 1969 ที่ว่า....

"That's one small step for man, one giant leap for mankind."
"นี่คือก้าวเล็กๆ ของมนุษย์คนหนึ่ง แต่คือก้าวที่ยิ่งใหญ่ของมนุษย์ชาติ"

"นีล อาร์มสตรอง" (Neil Armstrong) คือชื่อของวีรบุรุษผู้ล่วงลับที่ว่านั้น!

อย่างไรก็ดี หากนับตั้งแต่ "นีล อาร์มสตรอง" เป็นต้นมา มีมนุษย์อีกรวม 11 คนเท่านั้นที่มีโอกาสไปเดินบนดวงจันทร์ และทั้งหมดเป็นมนุษย์เพศชายและเป็นชาวอเมริกัน โดยคนสุดท้ายที่มีโอกาส Walked on the Moon มันก็เมื่อ 1972 หรือ 48 ปี ล่วงมาแล้ว

แต่แล้วเมื่อเดือนธันวาคมปี 2017 ประธานาธิบดี "โดนัลด์ ทรัมป์" ได้ลงนามใน Space Policy Directive 1 เพื่อเรียกร้องให้นาซาส่งมนุษย์กลับไปยังดวงจันทร์อีกครั้ง หลังร้างราการออกปฏิบัติการเดินทางเพื่อออกไปสำรวจดาวดวงอื่นมาเนิ่นนานนับตั้งแต่ปี 1972

ซึ่งทันทีหลังจากมีคำสั่งดังกล่าว NASA ได้แสดงความกระตือรือร้นอย่างแรงกล้าเพื่อตอบสนองต่อคำสั่งที่ว่านั้นอย่างเต็มที่ โดยตั้งความหวังเอาไว้ว่า การเดินทางไปสำรวจดวงจันทร์ครั้งล่าสุดนี้จะช่วยให้สหรัฐฯ สร้างสถานะเชิงกลยุทธ์ในอวกาศ และขยายความร่วมมือระหว่างประเทศต่อไปในอนาคต

อย่างไรก็ดี เป็นทราบกันดีอยู่แล้วว่า การส่งมนุษย์กลับไปดวงจันทร์ (อีกครั้ง) นั้น นอกจากจะไม่ใช่เรื่องง่ายแล้ว มันยังถือเป็นโครงการที่ใช้ทุนรอนมหาศาล และสาเหตุที่ทำให้แม้แต่สหรัฐอเมริกาเองยังต้องยุติการส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์ในอดีต ก็คือเหตุผลที่ว่านี้เช่นกัน

จนถึงขนาดมีวลีเสียดสีของชาวอเมริกันที่ไม่พอใจกับการที่รัฐบาลนำเงินจำนวนมหาศาลไปใช้ในโครงการซื้อเรือดำน้ำ เอ๊ย! โครงการส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์ว่า...

...

"เราต้องการขนมปัง มากกว่าก้อนหินบนดวงจันทร์"

การส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์ครั้งก่อนมันต้องใช้เงินมากมายมหาศาลขนาดไหน จนถึงขนาดประเทศอันสุดแสนมั่งคั่งทางเศรษฐกิจอย่าง "สหรัฐอเมริกา" ยังต้องยอมยุติโครงการโอ้อวดความเป็นเบอร์หนึ่งของโลกด้านอวกาศลงชั่วคราว

ทุกอย่างมันเริ่มต้นขึ้นเมื่อ...

"We have a chance of beating the Soviets to go to the moon and back with a man"
"เรามีโอกาสที่จะเอาชนะสหภาพโซเวียตได้ ด้วยการพามนุษย์เดินทางไปและกลับดวงจันทร์"

เมื่อประธานาธิบดี "จอห์น เอฟ เคนเนดี" แห่งสหรัฐอเมริกา ประกาศแย่งชิงความเป็นหนึ่งในปฏิบัติการพาคนไปปักธงบนดวงจันทร์กับอดีตสหภาพโซเวียต ด้วยสุนทรพจน์อันจับใจอีกครั้งจากบรรทัดข้างต้นในปี 1959

จากนั้นเป็นต้นมา...ระหว่างปี 1960-1973 รัฐบาลสหรัฐฯ ได้อัดฉีดเงินทุนกับเพียงเฉพาะ "โครงการอพอลโล" หรือการส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์ รวมกันทั้งสิ้น 28,000 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่หากเทียบกับค่าเงินตามอัตราเงินเฟ้อในปัจจุบันจะสูงถึงประมาณ 283,000 ล้านเหรียญสหรัฐ!

...

ทำให้ในระหว่าง 13 ปี แห่งความทะยานอยากจะเอาชนะที่ว่านั้น เงินทุกๆ 5 ดอลลาร์สหรัฐ ที่จะถูกนำไปใช้สำหรับโครงการอวกาศทั้งหมดของนาซา จะต้องถูกเจียดไปให้กับโครงการอพอลโลถึง 3 ดอลลาร์สหรัฐ

โดยปีที่รัฐบาลสหรัฐฯ อัดฉีดเงินทุนก้อนใหญ่ที่สุดให้กับ "นาซา" เพื่อหวังให้ปฏิบัติการนี้ประสบความสำเร็จให้จงได้ คือ ปี 1966 หรือ 3 ปีก่อนที่ "นีล อาร์มสตรอง" จะได้เป็นผู้บันทึกหน้าประวัติศาสตร์โลกด้วยการลงไปเหยียบดวงจันทร์เป็นคนแรก โดยในปีนั้น NASA ได้งบประมาณรวมกันไปทั้งสิ้นถึง 49,400 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเทียบเท่ากับค่าเงินตามอัตราเงินเฟ้อในปัจจุบัน คือ 482,000 ล้านเหรียญสหรัฐ!

อย่างไรก็ดี หลังสามารถส่งคนไปปักธงชาติสหรัฐฯ บนดวงจันทร์ เพื่อประกาศความเป็นหนึ่งในการบุกเบิกอวกาศได้แล้ว นาซาเริ่มถูกตัดทอนงบประมาณลง โดยเฉพาะเมื่อเข้าช่วงปี 1970 แต่โครงการอพอลโลก็ยังคงสามารถเดินหน้าส่งมนุษย์อวกาศไปเหยียบดวงจันทร์จนประสบความสำเร็จได้อีกถึง 6 ครั้ง (ยกเว้น "อพอลโล 13" ที่ประสบอุบัติเหตุทางเทคนิค จนต้องกลับโลกก่อนที่จะได้ลงบนดวงจันทร์)

จนกระทั่งในปี 1973 เมื่อรัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศยุติการสนับสนุนโครงการอพอลโล หลังไม่อาจทนแรงกดดันจากประชาชนที่ต่อว่าต่อขานเรื่องการนำเงินไปใช้ในโครงการดังกล่าวมากจนเกินไปแล้ว นาซาจึงต้องแข็งใจประกาศว่า โครงการอพอลโลได้บรรลุเป้าประสงค์ลงอย่างสมบูรณ์แล้ว และจำใจต้องยุติการ Walk on the Moon ลงอย่างสิ้นเชิงในปี 1974!

...

เงินทุกๆ ดอลลาร์ถูกนำไปใช้อะไรในโครงการส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์ ตั้งแต่ปี 1960-1973 บ้าง?

1. สร้างยานอวกาศ 8,100 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเทียบเท่ากับค่าเงินตามอัตราเงินเฟ้อในปัจจุบัน คือ 80,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

2. สร้างจรวดขนส่ง 9,400 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเทียบเท่ากับค่าเงินตามอัตราเงินเฟ้อในปัจจุบัน คือ 97,300 ล้านเหรียญสหรัฐ

3. การพัฒนาแผนปฏิบัติการสำหรับการเดินทางไปดวงจันทร์ 3,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเทียบเท่ากับค่าเงินตามอัตราเงินเฟ้อในปัจจุบัน คือ 28,200 ล้านเหรียญสหรัฐ

รวมเงินทุนเฉพาะสำหรับการพัฒนาโครงการโดยตรง ใช้เงินไปรวมกันทั้งสิ้น 20,600 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเทียบเท่ากับค่าเงินตามอัตราเงินเฟ้อในปัจจุบัน คือ 205,300 ล้านเหรียญสหรัฐ

4. อุปกรณ์ภาคพื้น เงินเดือน และค่าใช้จ่ายอื่นๆ 5,200 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเทียบเท่ากับค่าเงินตามอัตราเงินเฟ้อในปัจจุบัน คือ 53,800 ล้านเหรียญสหรัฐ

รวมเงินทุนสำหรับเฉพาะโครงการอพอลโลทั้งหมด ใช้เงินไปรวมกันทั้งสิ้น 25,800 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเทียบเท่ากับค่าเงินตามอัตราเงินเฟ้อในปัจจุบัน คือ 260,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

5. โครงการใช้หุ่นยนต์เดินทางไปดวงจันทร์ (เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนมนุษย์ไปจริงๆ) ใช้เงินไปรวมกันทั้งสิ้น 907 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเทียบเท่ากับ ค่าเงินตามอัตราเงินเฟ้อในปัจจุบัน คือ 10,100 ล้านเหรียญสหรัฐ

6. โครงการเจมีนี (Project Gemini การทดลองส่งมนุษย์ไปยังอวกาศครั้งละ 2 คน เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนไปดวงจันทร์) ใช้เงินไปรวมกันทั้งสิ้น 1,300 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเทียบเท่ากับค่าเงินตามอัตราเงินเฟ้อในปัจจุบัน คือ 13,800 ล้านเหรียญสหรัฐ

รวมเงินทุนทั้งหมดสำหรับความพยายามส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์ รัฐบาลสหรัฐอเมริกาใช้เงินรวมกันไปทั้งสิ้น 28,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเทียบเท่ากับค่าเงินตามอัตราเงินเฟ้อในปัจจุบัน คือ 283,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

แล้วสำหรับโครงการ Back to the moon for feminist ครั้งนี้ NASA ใช้เงินทุนไปแล้วเท่าไร?

1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คือ ตัวเลขต้นทุนสำหรับเฉพาะนำมาใช้เพื่อการพัฒนาระบบเชิงพาณิชย์ สำหรับการพามนุษย์จากโลกมุ่งหน้าไปสู่ดวงจันทร์โดยตรง อีก 651 ล้านเหรียญสหรัฐ จะถูกนำไปใช้สำหรับการสนับสนุนและซ่อมบำรุงยานอวกาศโอไรออน (Orion Spacecraft) ซึ่งเป็นยานอวกาศใหม่ของนาซา รวมถึงจรวดที่กำลังถูกพัฒนาสำหรับปฏิบัติการเดินทางไปดวงจันทร์ของบริษัทโบอิ้ง ที่มีชื่อว่า Space Launch System หรือ SLS โดยปัจจุบัน NASA ใส่เงินไปกับเฉพาะโครงการ SLS แล้วกว่า 11,900 ล้านเหรียญสหรัฐ และมันพร้อมใช้งานได้เมื่อเดือนธันวาคม 2017 ที่ผ่านมา

ปัจจุบัน "ยานอวกาศโอไรออน" ถูกสร้างเสร็จสมบูรณ์และพร้อมสำหรับขั้นตอนการติดตั้งกับจรวดชนิดใหม่ ที่จะพายานอวกาศพุ่งทะยานออกนอกโลกในขั้นตอนสุดท้าย ซึ่งใกล้จะมาถึงในเร็วๆ นี้แล้ว ส่งผลให้แผนการสำหรับการส่งยานไปโคจรรอบดวงจันทร์โดยไม่มีนักบินอวกาศ การส่งหุ่นยนต์ไปยังดวงจันทร์ เพื่อทดสอบรูปแบบการให้บริการขนส่งเชิงพาณิชย์ การทดลองทางวิทยาศาสตร์ และการทดสอบเทคโนโลยีทางด้านอวกาศ อย่างน้อย 2 ครั้ง ภายในปี 2021 ยังคงเดินหน้าตามแผนงานในระยะที่ 1 ของโครงการอาร์ทีมิส

ส่วนแผนงานในระยะที่ 2 จะเริ่มต้นในปี 2023 นั่นก็คือ การส่งนักบินอวกาศไปกับยานโอไรออน เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับแผนงานในระยะที่ 3 นั่นก็คือ การส่งนักบินอวกาศกลับไปเดินบนดวงจันทร์อีกครั้ง

โดยนักบินอวกาศที่จะไป Walk of the Moon ในปี 2023 นี้ จะสวมชุดอวกาศใหม่ที่มีความยืดหยุ่นและสามารถเคลื่อนไหวในสภาพไร้น้ำหนักได้ดีขึ้นกว่าชุดอวกาศยุคโครงการอพอลโล ส่วนภารกิจบนดวงจันทร์ครั้งใหม่นี้ นาซายังคงเปิดเผยเพียงว่า

"พวกเขาจะทำหน้าที่เก็บตัวอย่างและทดลองทางวิทยาศาสตร์ภายในระยะเวลาเกือบ 7 วัน บนพื้นผิวดวงจันทร์"

ทั้งนี้ ตามที่ระบุใน "โครงการอาร์ทีมิส" การทดลองทางวิทยาศาสตร์บนดวงจันทร์ที่ว่านี้ จะมุ่งเน้นไปที่การค้นหาทรัพยากรต่างๆ เช่น น้ำ ออกซิเจน หรือแม้กระทั่งเชื้อเพลิง นอกจากนี้ นาซายังได้ตั้งความหวังเอาไว้ด้วยว่า เมื่อถึงวันที่มนุษย์ไปเดินบนดวงจันทร์อีกครั้ง รวมถึงการออกไปสำรวจด้วยยานพาหนะที่มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิมในพื้นที่ใหม่ๆ บนดวงจันทร์ ที่พวกเขายังไม่เคยสำรวจมาก่อนเมื่อ 48 ปีที่แล้วด้วย

และแน่นอน หากปฏิบัติการกลับไปบนดวงจันทร์อีกครั้งประสบความสำเร็จได้ตาม Timeline ภายในปี 2024 อีกหนึ่งย่างก้าวสำคัญของมนุษย์ชาติสำหรับการส่งมนุษย์ไปยังดาวดวงที่ไกลกว่า และท้าทายมากกว่า ที่มีชื่อว่า "ดาวอังคาร" ซึ่งนาซาวางหมุดหมายเอาไว้แล้วว่าจะต้องพิชิตให้ได้ภายในปี 2033 คงจะไม่ไกลเกินเอื้อมมือไปไขว่คว้าอีกต่อไป...

เหตุใด "นาซา" จึงต้องไปดวงจันทร์ ก่อนไปดาวอังคาร?

"เราจะสามารถเดินทางไปยังดาวอังคารได้โดยอาศัยการไปลงจอดบนดวงจันทร์ นั่นเป็นเพราะเราต้องการเรียนรู้เรื่องวิธีการดำรงชีวิตและการทำงานบนโลกอีกโลกหนึ่ง ซึ่ง 'ดวงจันทร์' คือสถานที่ที่ดีที่สุด สำหรับคำตอบและบททดสอบทางเทคโนโลยีที่ว่านั้น นอกจากนี้ หากเราสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ต่างๆ ที่ต้องการได้เร็วเท่าไร เราก็จะยิ่งสามารถเดินทางไปยังดาวอังคารได้เร็วมากขึ้นเท่านั้นด้วย" จิม ไบรเดนสไตน์ (Jim Bridenstine) House Committee on Science, Space and Technology

Mission to Mars กับ "เวลา" สำหรับการเดินทางที่ต้องจ่าย ที่อาจจะยาวนานถึง 2 ปี

หากใครยังไม่ทราบ หากการส่งมนุษย์เดินทางไปยังดวงจันทร์นั้นว่าทั้งยากและแพงแล้ว การเดินทางไป "ดาวอังคาร" นั้น ต้องเรียกได้ว่ายากกว่าเยอะ และแน่นอนต้องจ่ายแพงยิ่งกว่ามากๆ นั่นเป็นเพราะระยะทางโดยเฉลี่ยระหว่างโลกและดาวอังคารที่ใกล้ที่สุด อยู่ที่ประมาณ 33.9 ล้านไมล์ หรือ 54.6 ล้านกิโลเมตร! ในขณะที่ "ดวงจันทร์" นั้น อยู่ห่างจากโลกของเราในระยะที่ใกล้ที่สุด โดยเฉลี่ยที่เพียง 239,000 ไมล์ หรือ 384,632 กิโลเมตรเท่านั้น!

นอกจากนี้ ระยะทางเฉลี่ยที่ใกล้ที่สุดซึ่งเหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับการส่งมนุษย์ไป "ดาวอังคาร" ที่ว่าไปนั้น มันไม่ได้คงอยู่เช่นนั้นเสมอไป เนื่องจากแรงโน้มถ่วงของดาวต่างๆ มักจะไปส่งผลกระทบต่อวิถีวงโคจรจนให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ โดยเฉพาะดาวพฤหัสบดีที่มักจะมีอิทธิพลต่อวงโคจรของดาวอังคาร อย่างไรก็ดี โดยปกติ "ดาวอังคาร" มักจะมีวิถีวงโคจรเข้าใกล้โลกโดยเฉลี่ย 1 หรือ 2 ครั้งในทุกๆ 15 หรือ 17 ปี ที่ระยะห่างเฉลี่ย 35.8 ล้านไมล์ หรือ 57.6 ล้านกิโลเมตร

และในปี 2020 นี้ ดาวอังคารจะโคจรเข้าใกล้โลกมากที่สุดในวันที่ 6 ตุลาคม โดยมีระยะห่างเฉลี่ยประมาณ 38.6 ล้านไมล์ หรือ 62 ล้านกิโลเมตร

"ไกล" แค่ไหนถึงจะเรียกว่า "ใกล้" ระหว่างโลกและดาวอังคาร

วันที่ 27 สิงหาคม ปี 2003 ที่ผ่านมา "ดาวอังคาร" ได้โคจรเข้าใกล้โลกของเรามากกว่าปกติ คือ ระยะทางเฉลี่ย 34.6 ล้านไมล์ หรือ 55.7 ล้านกิโลเมตร โดยถือเป็นการโคจรเข้าใกล้โลกมากที่สุดในรอบเกือบ 59,619 ปี และปรากฏการณ์แบบนี้จะเกิดขึ้นได้อีกครั้ง ก็โน่นเลยวันที่ 28 สิงหาคม ปี 2287 หรืออีก 284 ปีข้างหน้า (นับจากปี 2003)

ด้วยเหตุนี้ NASA จึงประเมินการเดินทางไปยังดาวอังคารในเบื้องต้นเอาไว้ว่า ด้วยความรู้และเทคโนโลยีที่มีในปัจจุบัน การเดินทางไปพิชิตดาวเคราะห์สีแดงในแบบเร็วที่สุด ประหยัดพลังงานมากที่สุด และมีความเป็นไปได้มากที่สุด จะต้องใช้ระยะเวลาเดินทางเฉลี่ย 6-9 เดือน ซึ่งนั่นเท่ากับการเดินทางไปและกลับระหว่างโลกและดาวอังคารในแบบเร็วที่สุดแล้ว ก็อาจจะต้องใช้ระยะเดินทางท่องในอวกาศยาวนานเกือบ 2 ปี!

ศักยภาพล่าสุดของ "นาซา" สำหรับการเดินทางไปดาวอังคาร

จนถึงปัจจุบัน (ปี 2020) ยังคงมีเพียง "สหรัฐอเมริกา" และ "สหภาพโซเวียต" เท่านั้น ที่สามารถส่งยานอวกาศไปลงแตะบนพื้นผิวดาวอังคารได้สำเร็จ โดยล่าสุด สหรัฐอเมริกาส่งยานอวกาศลงไปยังพื้นผิวดาวอังคาร รวมกันแล้วทั้งสิ้น 8 ลำ โดยลำล่าสุดคือ InSight ที่ลงไปแตะพื้นผิวของดาวอังคาร เมื่อเดือนพฤศจิกายนปี 2018 ที่ผ่านมา โดยมันเดินทางจากโลกไปยังดาวอังคารด้วยระยะทางทั้งสิ้นถึง 301,223,981 ไมล์ (484,771,801.583 กิโลเมตร) หรือมากกว่า 10 เท่าของระยะการเดินทางที่นาซาปรารถนาจะนำมาใช้สำหรับการส่งมนุษย์ไปปักธงชาติสหรัฐฯ บนดาวอังคาร!

ผู้เขียน: นายฮกหลง
กราฟิก: เทพอมร แสงธรรมาพิทักษ์

ข่าวน่าสนใจ: