• สตรีผู้เข้มแข็ง ซึมซับทำตามแม่ สืบทอด “ขันลงหิน” ความประณีตฝีมือช่างไทยตั้งแต่สมัยอยุธยา มากว่า 200 ปี 

• วิถีชีวิตแห่งความเป็นไทย สิ่งของหรือวัตถุจากฝีมือคนไทยเริ่มเลือนหาย เหลือน้อย จากความก้าวหน้าของเทคโนโลยี 

• วิกฤติไฟไหม้ ไม่ถอดใจ มุ่งมั่นสู้หลายปี อนุรักษ์มรดกงานศิลป์ “ขันลงหิน” ของบรรพบุรุษ

สังคมไทยในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปมากและรวดเร็วตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ทำให้เยาวชนรุ่นใหม่ ให้ความสำคัญและเห็นคุณค่าทางวัตถุจนทำให้วิถีชีวิตแห่งความเป็นไทย รวมถึงสิ่งของหรือวัตถุที่ทำจากฝีมือคนไทยค่อยๆ เริ่มเลือนหาย และเหลือน้อย

เรื่องราวชีวิตและแนวคิดของ “หญิงเก่งและแกร่ง” ที่ “มาดามริชชี่” จะพาไปรู้จักวันนี้ ไม่ว่าสังคมไทยจะหลงไหลและแปรเปลี่ยนไปตามกระแสชาติอื่นเพียงไร แต่เธอไม่เคยยอมแพ้ มุ่งมั่น ตั้งใจสานต่อและสืบทอด “ขันลงหิน” งานหัตถศิลป์อันงดงาม ทรงคุณค่า ใช้ 6 กรรมวิธีผลิตแบบโบราณของบรรพบุรุษแต่นับวันหาผู้สานต่อได้ยากยิ่ง ตั้งแต่ ช่างตีเพื่อขึ้นรูป ช่างลายเก็บรอยค้อนทำให้ขันเรียยเสมอกัน, ช่างกลึงกลึงผิวให้เรียบเสมอกัน, ช่างกรอ แต่งขอบปากให้กลม, ช่างเจีย ตกแต่งรอยตำหนิ และช่างขัดเพื่อให้ขึ้นเงา  

มาดาริชชี่จึงเดินทางไปยัง “ชุมชนบ้านบุ” หรือมีอีกชื่อ “ชุมชนวัดสุวรรณาราม” เขตบางกอกน้อย พาไปคุยกับ “คุณเมตตา เสลานนท์” สตรีไทยวัย 78 ปี ผู้เข้มแข็งและเป็นคนสุดท้ายของประเทศไทยที่มุ่งมั่นสืบทอดภูมิปัญญา “ขันลงหิน” มากว่า 200 ปีตั้งแต่สมัยอยุธยา ซึ่งเหลือเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย จนได้รับเชิดชู “ครูศิลป์ของแผ่นดิน ปี 2552” ของศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน)

...

: ขันลงหิน สายใยสัมพันธ์ รักและผูกพันแม่ลูก :

ขณะเดินเลียบคลองบางกอกน้อย ลัดเลาะซอยซอกแซกไม่กี่ซอย และอีก 50 เมตรจะได้พบ “คุณเมตตา” สิ่งแรกที่มาดามริชชี่ได้ยินมาแต่ไกล คือเสียงตีเหล็กดังโป๊กๆ ยิ่งทำให้ต้องรีบเดินเพื่ออยากเห็นหัตถศิลป์ “ขันลงหิน” ที่เลื่องชื่อ เมื่อเดินมาถึงจุดหมาย และก้าวขาเข้าประตูโรงงาน รู้สึกเหมือนย้อนเวลาคืนสู่อดีต ทุกอย่างคงไว้ซึ่งความเก่าแก่แต่มีมนตร์ขลัง โดยเฉพาะรูปแบบโรงงานที่หลังคายังใช้สังกะสีแต่ปกคลุมด้วยสีดำทะมึนทั่วใต้หลังคาจากเขม่าถ่านไฟที่ใช้ในการหลอม ตีขันลงหิน

ในขณะกวาดสายตาดื่มด่ำบรรยากาศโดยรอบ คุณเมตตาทายาทคนสุดท้ายของโรงงานขันลงหิน “เจียมแสงสัจจา” ก็ออกมาต้อนรับด้วยรอยยิ้ม แล้วเล่าความรักความผูกพัน “ขันลงหิน” มากว่า 70 ปีด้วยแววตาเปี่ยมสุขและเป็นกันเองเหมือนครูถ่ายทอดความรู้ให้กับลูกศิษย์อย่างไม่หวงวิชากับมาดามริชชี่ว่า พ่อเป็นข้าราชการระดับ ผอ. กระทรวงยุติธรรม แม่จบ ป.4 อาศัยอยู่ใน “ชุมชนบ้านบุ” ริมคลองบางกอกน้อย กทม.

ตั้งแต่เธอเด็ก เรียนประถมฯ ที่โรงเรียนศิษย์วัฒนาเห็นคุณแม่ (เจียม แสงสัจจา) ทำทุกอย่างเกี่ยวกับ “ขันลงหิน” ร่วมกับญาติๆ ของตระกูล และทำงานหนักไม่ต่างจากผู้ชาย นอกจากลงมือทำขันลงหินเอง ตั้งแต่ชั่งทองที่นำมาจากเมืองจีน เรียกว่า “ทองม้าล่อ” หลอมเป็นเนื้อขัน นำไปตี ทุบขึ้นรูป กรึง กรอ แล้วยังดูแลบริหารโรงงานและคนงานกว่า 40 ชีวิต

: ซึมซับ ทำตามแม่ รักจนไม่อยากคิดทำอาชีพอื่น :

เพราะเห็นคุณแม่ทำงานหนัก คุณเมตตาจึงซึมซับและทำตาม ช่วยแม่ทำงานเป็นประจำหลังเลิกเรียนระดับมัธยมฯ ที่โรงเรียนสตรีวรนาถ และในวันเสาร์ อาทิตย์ ตั้งแต่อายุ 12 เริ่มตั้งแต่งานเบาๆ ชั่งทอง ช่วยทุบไปจนถึงช่วยดูแล ช่วยจ่ายงานให้คนงาน คุมงานโดยครูพักลักจำและเรียนรู้จากคุณแม่

คุณเมตตาทำเช่นนี้ทุกวันๆ นานหลายสิบปี จนรู้สึกรักที่จะทำงานตรงนี้โดยไม่เคยคิดอยากมีอาชีพอื่น หลังเรียนจบ ม.5 จึงตัดสินใจไปเรียนอนุปริญญา ด้านบัญชี สถาบันปีนัง อินสติติวต์ ประเทศมาเลเซีย ด้วยเหตุผลใกล้ไทย และในยุคนั้นเด็กไทยนิยมเรียน

...

เมื่อเรียนจบ คุณเมตตาก็มาช่วยแม่ดูแลกิจการ ทำทุกอย่างเช่นเคยเหมือนที่ทำตั้งแต่อายุ 12 ร่วมกันสร้าง “ขันลงหิน” จนเป็นที่รู้จักกว้างขว้างมากขึ้นๆ โดยไม่ได้โฆษณาใดๆ คนรู้จากการบอกปากต่อปากทำให้ขันลงหินได้รับความนิยมอย่างมาก และถูกนำไปใช้ในงานพระราชพิธี หรืองานมงคลต่างๆ ถือเป็นของที่มีค่าเพราะขั้นตอนการผลิตทำด้วยมือทุกอย่าง

“นอกจากลูกค้ามาสั่งทำ มาซื้อที่โรงงาน ก็มีนำขันลงหินไปวางในร้านจิวเวลรี่ของคนรู้จัก แถวเสาชิงช้าที่มีฝรั่งไปเที่ยวเยอะๆ” คุณเมตตาเผยอีกกลยุทธ์ขยายตลาด

: สืบทอดจากแม่ ดูแลช่างฝีมือ 40 คน ไม่ใช่เรื่องยาก :

กิจการครอบครัวรุ่งเรืองก้าวหน้า ได้ออกบูธในต่างประเทศจนมีออเดอร์ส่งออกประเทศต่างๆ จนได้รับรางวัล “พีเอ็ม อวอร์ด” จัดโดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เพราะถือเป็นหัตถกรรมไทยโบราณที่สวยงาม ทรงคุณค่า คุณเมตตาและแม่จึงยืนหยัดทำ “ขันลงหิน” ต่อไป กระทั่งคุณแม่เสียชีวิต คุณเมตตาจึงกลายเป็นทายาทสืบทอดกิจการต่อจากมารดา

...

การที่ไม่มีคุณแม่เคียงข้างอีกต่อไป และต้องดูแลช่างฝีมือเกือบ 40 คน หากเป็นมาดามริชชี่แล้วคงเป็นเรื่องยาก ทำไม่ได้แน่ๆ แต่คุณเมตตากลับรู้สึก “ไม่มีอะไรยาก” เพียงแต่ใช้ความใส่ใจ รักและอดทน เพราะผูกพันกับช่างที่ร่วมงานกับคุณแม่มาตั้งแต่แรก

“เมื่อใจรักสู้ที่จะทำ ความแกร่งจะมาเองโดยไม่รู้ตัว ลงมือทำแล้วต้องทำให้ได้ดีที่สุด การดูแลลูกน้อง ปกครองแบบเพื่อน สื่อสารกันแบบพี่แบบน้อง ให้งานที่ถนัด ไม่ก้าวก่ายเรื่องส่วนตัว ก็จะไม่เกิดปัญหา”

: วิกฤติไฟไหม้ สู้หลายปีเพื่อกลับมาเหมือนเดิม :

ด้วยภูมิปัญญาจากบรรพบุรุษที่ผูกพันมาตั้งแต่วัยเด็ก และความงามอันโดดเด่นของ “ขันลงหิน” ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้ “คุณเมตตา” มุ่งมั่นสืบสาน แต่แล้วเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด มรดกงานศิลป์ “ขันลงหิน” ของบรรพบุรุษเกือบสิ้นชื่อ

กลางดึกคืนหนึ่งเมื่อ พ.ศ. 2549 เกิดไฟไหม้ในชุมชนบ้านบุเสียหายหลายหลัง รวมถึงบ้านของคุณเมตตา ห้องแสดงสินค้าขันลงหินของเก่า หายาก และสต๊อกสินค้าที่เตรียมส่งให้ลูกค้าไฟไหม้เสียหายทั้งหมด แต่ในความโชคร้ายเกิดเรื่องประหลาด เปลวไฟลุกลามไปไม่ถึงส่วนของโรงงาน ซึ่งเป็นที่ผลิต และเก็บอุปกรณ์ต่างๆ ที่สำคัญหายากมาจากอยุธยา อายุกว่าร้อยปี ในการทำ “ขันลงหิน”

...

แม้เจอมรสุมชีวิตครั้งใหญ่ แต่คุณเมตตาก็ตั้งใจว่าจะเปิดโรงงานอีกครั้งให้ได้ เพราะมีช่างกว่า 40 ชีวิตที่ต้องดูแล ต้องขาดเงินทุนเพราะสต๊อกของที่เตรียมขายไหม้หมดแล้ว โชคดีเพื่อนสนิทแนะนำให้ไปปรึกษากรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และได้เข้าโครงการเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการส่งเสริมอาชีพอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรมไทย ทำให้มีเงินทุนมาจัดหาวัตถุดิบและหมุนเวียนใช้จ่ายในกิจการ โรงงานขันลงหินเจียม แสงสัจจาจึงกลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้ง

“ได้เงินกู้มา 2 แสน ดอกเบี้ยต่ำ ผ่อนเดือนละหมื่นกว่า ได้เงินมาก็มาจ่ายค่าแรงให้ช่างฝีมือ เสียใจที่เกิดเหตุไฟไหม้ แต่ไม่เคยคิดปิดกิจการ ถ้าหยุดตั้งแต่วันนั้น ช่างฝีมือดีๆ กับภูมิปัญญาขันลงหินก็คงไม่มีสืบทอดมาจนถึงวันนี้”

: ยืนหยัดสืบสาน จนกว่าลมหายใจสุดท้ายของชีวิต :

จากเหตุการณ์ไฟไหม้ในวันนั้น ปัจจุบันผ่านมา 15 ปี คุณเมตตาไม่เคยท้อ เพราะสนุกกับงาน รวมถึงเต็มใจทำ เพราะใจรักสืบเนื่องมาแต่เด็ก และยังคงยืนหยัดสืบสานงานหัตถกรรม “ขันลงหิน” อย่างแข็งขันต่อไปจนกว่าลมหายใจสุดท้ายของชีวิต

พร้อมสร้างศาลาบนพื้นที่บ้านที่ถูกไฟไหม้ ให้เป็นพิพิธภัณฑ์ บอกเล่าเรื่องราวของขันลงหินบ้านบุเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชนให้กับนักท่องเที่ยวและแขกผู้มาเยือน และเก็บสะสมขันลงหินเพื่อเป็นองค์ความรู้ด้านหัตถศิลป์ของชาติ อนุรักษ์คงอยู่และส่งต่อให้คนรุ่นหลังได้เข้าชมฟรี

“ไม่เคยคิดเก็บเงิน และไม่มีวันเก็บเงินค่าเข้าชม หากเก็บเงิน คนไม่อยากเสียเงินก็ไม่อยากดู ไม่คุ้มกับความตั้งใจที่ต้องการเผยแพร่วัฒนธรรมของชาติที่ตั้งใจสืบทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษ” คุณเมตตาผู้ยึดมั่นในอุดมการณ์

ตลอดเกือบ 25 ปีที่ได้สืบทอดกิจการ นอกจากบริหารกิจการแล้ว คุณเมตตาได้ใช้ทักษะความรู้ที่สืบทอดการทำขันลงหินจากคุณแม่ คอยควบคุมตรวจสอบการทำให้ออกมามีคุณภาพ สวยงามและประณีต และในอนาคตจะพัฒนาสร้างสรรค์ “ขันลงหิน” ให้หลากหลาย เช่น ชุดสำรับข้าว ชุดกาแฟ จาน ชามสลัด ถาดผลไม้ เพื่ออนุรักษ์ภูมิปัญญาไทย อวดโฉมสู่สายตาโลกได้อย่างภาคภูมิใจ

ผู้เขียน : มาดามริชชี่

ภาพ : ชุติมน เมืองสุวรรณ

กราฟิก : sathit chuephanngam

 

ข่าวน่าสนใจ