กระแสความเชื่อ “ไอ้ไข่” ไม่ได้มีที่มาจากหลักพระพุทธศาสนา แต่ศาสนาก็ไม่ได้ปฏิเสธความเชื่อเรื่องจิตและวิญญาณ
ตอบยาก “ไอ้ไข่” จะฟีเวอร์ไปถึงเมื่อไร แนะควรตั้งสติ และอยู่ในความไม่ประมาท
ขั้นตอนการปลุกเสกสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ผู้ทำพิธีต้องมีจิตแน่วแน่ไม่แส่ส่าย
ท่ามกลางความลำบากแสนเข็ญของผู้คนยุคนี้ ปัญหาเศรษฐกิจโหมกระหน่ำ จากโควิด-19 ทำให้ธุรกิจแทบจะทุกประเภทได้รับผลกระทบเกือบหมด ในสภาวะความสิ้นหวังนี่เอง จู่ๆ “ไอ้ไข่” หรือ “ตาไข่” แห่งวัดเจดีย์ ตั้งอยู่ที่ หมู่ 7 ตำบลฉลอง อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช ก็โผล่ขึ้นมาสวนกระแส มีผู้คนมากมายหลั่งไหลขอพร หาทางลัด “รวย” ด้วยโชคลาภ หรือจากหวยหรือสลากกินแบ่งรัฐบาล
ว่ากันว่าตามตำนานของ “ไอ้ไข่” หรือ “ตาไข่” มีหลายเวอร์ชัน “ไอ้ไข่” เป็นรูปปั้นไม้แกะสลักเด็กชาย 9-10 ขวบ ตั้งอยู่ในวัดเจดีย์ ที่เชื่อกันว่ามีวิญญาณศักดิ์สิทธิ์สถิตอยู่มาช้านาน
บ้างก็ว่า..เป็นเรื่องเล่าจากชาวบ้านที่เคยเห็นเด็กวิ่งเล่นอยู่ แต่เมื่อเข้าไปดูก็ไม่พบ ชาวบ้านจึงเรียกวิญญาณที่ชาวบ้านสัมผัสได้ว่า “เด็กวัด” หรือ เป็นวิญญาณเด็กที่ติดตามหลวงปู่ทวดมา เมื่อหลวงปู่ทวดธุดงค์มาถึงวัดแห่งนี้ ก็รับรู้ว่ามีทรัพย์สินโบราณฝังอยู่ จึงให้วิญญาณดวงนี้เฝ้าดูแลปกปักรักษา
จะด้วยตำนานเรื่องใดก็ตาม ความเชื่อของชาวบ้านที่มีต่อ “ไอ้ไข่” คือ การขอพร ให้มีโชคมีลาภทั้งสิ้น..
...
ปรากฏการณ์ "ไอ้ไข่" สะท้อน "คนไทย" กำลังแย่ ขาดที่พึ่ง
ผศ.ดร.เดโชพล เหมนาไลย อาจารย์ประจำหลักสูตรวิชาพุทธศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองปรากฏการณ์ของ “ไอ้ไข่” ถือเป็นการสะท้อนว่าสังคมไทยขาดที่พึ่งทางใจ อาจจะด้วยสภาพเศรษฐกิจ สังคมในยุคปัจจุบัน ประกอบกับการระบาดโควิด-19 ที่ทำให้ผู้คนลำบาก ทำให้คนหวัง “ทางลัด” อยากได้อยากมีอย่างรวดเร็วทันใจ
“เท่าที่ทราบมา คือ “ไอ้ไข่” มีมานานแล้ว แต่มาดังตอนนี้ เพราะสังคมแย่ เศรษฐกิจไม่ดี หวังให้ “ไอ้ไข่” มาเปลี่ยนอะไรบางอย่างในชีวิต”
ผศ.ดร.เดโชพล เห็นว่า สังคมไทยเป็นสังคมที่ให้ความสำคัญกับเรื่องความเชื่อ ในขณะที่ประวัติ “ไอ้ไข่” เอง ก็มีเรื่องเล่าในหลายเวอร์ชัน ซึ่งก็ไม่รู้เรื่องไหนจริงหรือไม่จริง แต่บังเอิญว่าอาจจะมีบางคนขอแล้วได้ จึงกลายเป็นการบอกต่อปากต่อปาก
“ส่วนใครจะอยู่เบื้องหลังการปลุกกระแสเรื่องนี้ เป็นสิ่งที่ตอบยาก เพราะอาจจะเป็นสิ่งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ เพราะเมื่อ “ไอ้ไข่” ดังแล้ว ผู้ประกอบการก็จะเข้ามา..”
ขณะที่ พล.อ.จรัล กุลละวณิชย์ ประธานสภาองค์กรพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย บอกว่า “ความเชื่อส่วนบุคคล” ห้ามกันไม่ได้
คุณจะเชื่ออะไร เชื่อว่ามีเลขอะไร คุณจะไปขูดไม้ได้เลขมา คนอื่นก็ไม่เห็นจะเกี่ยวข้อง!
พล.อ.จรัล กล่าวว่า “ไอ้ไข่” เป็นใคร จริงๆ ผมก็ไม่รู้จัก แต่เขาทำให้คนเชื่อได้ก็ถือเป็นเรื่องน่าทึ่ง น่าศึกษา แล้วเราจะไปทุกข์ทำไม ถ้าเรามี “สติสัมปชัญญะ” ก็ต้องเชื่อโดยมีการไตร่ตรอง เชื่อกันด้วยเหตุและผล ซึ่งศาสนาพุทธสอนแบบนั้น
“ถามว่า “ไอ้ไข่” มีดีอะไร หรือรู้แจ้งเห็นจริงหรือเปล่า ผมก็ไม่รู้จริงๆ”
สำหรับคำว่า “สติ” คือการที่มีใจเป็นกลาง รู้จักคิดไหม เช่น คนเขาให้หวย เขารู้ได้ไง เขาตาทิพย์หรือ แต่ถ้าคิดว่าเขามีตาทิพย์ คุณก็เชื่อไปสิ เพราะมันเป็นเรื่องของคุณ..
“ไอ้ไข่” ไม่ใช่ความเชื่อหลักพุทธ แต่นับถือวิญญาณไม่ผิด
ประธานสภาองค์กรพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย กล่าวด้วยน้ำเสียงเรียบเฉยว่า “ความอยาก” คือ กิเลส อยากจะได้ อยากจะมี อยากจะเป็น.. เช่น เราอยากจะเป็นรัฐมนตรี คิดว่าเป็นได้ไหม..คิดว่าทุกคนของได้คำตอบแล้ว
...
หรือ “อยาก” จะถูกลอตเตอรี่ ก็ต้องไปหา “คุณไข่” จากนั้น คุณไข่ก็จะใบ้หวยให้ ส่วนถูกหรือเปล่า “ผมก็ไม่รู้” ซึ่งที่ผ่านมา อาจจะบอกใบ้ตัวเลขให้ แล้วเกิดถูกขึ้นมาก็เลยฮือฮา เท่านั้นเอง..
ศาสตร์แบบนี้ พระ ท่านบอกว่า “ไม่ใช่ศาสนาพุทธ”
พล.อ.จรัล กล่าวว่า พระพุทธเจ้าไม่ได้ปฏิเสธในเรื่องจิตวิญญาณ ผีสาง เทวดา ดังนั้น เวลาเจริญพระพุทธมนต์จึงมีการ “ชุมนุมเทวดา” แสดงว่าท่านให้ความนับถือกับเทวดา มีการพูดถึง “ตรีโลก” คือ โลกมนุษย์ นรก และสวรรค์ ซึ่งวิญญาณคือภาษาหนึ่ง คือ จิต
วิเคราะห์ “ไอ้ไข่” ฟีเวอร์ มองย้อนกระแส "จตุคามฯ"
ความฟีเวอร์ของ “ไอ้ไข่” จะอยู่ได้นานแค่ไหน อาจารย์เดโชพล นิ่งไปสักครู่ ก่อนเอ่ยว่า มันตอบยากนะว่ากระแสไอ้ไข่ จะอยู่นานหรือไม่ แต่หากย้อนดูจตุคามรามเทพ หรือ ลูกเทพ มันก็บอกได้ว่า “มันมาเร็วไปเร็ว” สิ่งสำคัญมันอยู่ที่บริบทสังคมหากมีการเปลี่ยนแปลง มีสิ่งใหม่โผล่มาและสามารถพึ่งพิงได้มากกว่า มันก็อาจจะทำให้กระแสนี้ซบเซาไปเลย
...
“กระแส “ไอ้ไข่” เราควรย้อนกลับไปมองกระแสจตุคามฯ และลูกเทพเยอะๆ เพราะสังคมเรากำลังตั้งอยู่ในความประมาทมากเกินไป คนที่ไปขอพรก็ต้อง “เสี่ยง” ลงทุน มีเงินไม่เท่าไรก็อาจจะทุ่มเล่นหวยจนหมด คิดว่าบน “ไอ้ไข่” แล้วจะช่วยได้ แต่จริงๆ มันตั้งอยู่บนความเสี่ยง”
นอกจากคนขอพรจะได้รับความเสี่ยงแล้ว อาจารย์เดโชพล ยังฝากไปถึงผู้ที่สร้าง “ไอ้ไข่” เป็นวัตถุมงคลด้วย เพราะตั้งอยู่บนความเสี่ยง เช่นเดียวกัน ตอน “จตุคามฯ” ฟีเวอร์คนก็แห่จะจัดสร้าง แต่เมื่อถึงวันหนึ่งหมดกระแสนำจตุคามฯ ไปแจกฟรี ยังไม่มีใครเอาเลย..นี่แหละคือสิ่งที่ต้องตระหนัก
“สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้ช่วยให้สังคมดีอย่างที่ควรจะเป็นเลย เหมือนเป็นสิ่งที่ไม่ยั่งยืน สังคมไทยเป็นสังคมที่เรียนรู้จากประวัติศาสตร์น้อยเกินไปหรือเปล่า..เรามีบทเรียนจากเรื่องที่ผ่านๆ น้อยไป ซึ่งจะว่าไปมันเป็นแบบนี้เกือบทุกเรื่อง คือไม่เรียนรู้จากประวัติศาสตร์” มันมักจะซ้ำรอยอยู่เรื่อยๆ” ดร.เดโชพล กล่าว
...
ความเชื่อ “การปลุกเสก” สิ่งศักดิ์สิทธิ์ กับมุมมอง “ไอ้ไข่”
อาจารย์ประจำหลักสูตรวิชาพุทธศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงการปลุกเสกสิ่งศักดิ์สิทธิ์ว่า ความจริงพระสงฆ์ไม่ควรทำ เพราะถือว่าผิดพระวินัย และถือเป็นเรื่อง “นอกศาสนา” เสียมากกว่า แต่..ก็ไม่ได้ห้ามเสียทีเดียว เพราะตามหลักของศาสนาพุทธ จะว่าด้วย “การบูชาในสิ่งที่ควรบูชา บูชาคนที่ควรบูชา”
“ควรบูชา” แปลว่า เราควรจะบูชาคนที่ศิลมีธรรม บูชากันที่คุณงามความดี ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นใครก็แล้วแต่..
เป็นคน เป็นเทวดา หรือ ผี ซึ่งการนับถือผี ทำได้ ประเด็นมันอยู่ที่ว่านับถือแล้วชีวิตเราเป็นอย่างไร ถ้านับถือแล้วเจริญรุ่งเรืองมากขึ้น ซึ่งพระพุทธองค์ ใช้คำว่า “มีกุศลธรรม” มากขึ้นหรือเปล่า ถ้ามีมากขึ้นก็ทำไป
แต่ถ้านับถือไปแล้วชีวิตมี “อกุศลธรรม” มากขึ้น คือ เบียดเบียนตัวเอง ตัวเองเดือดร้อน คนอื่นเดือดร้อน ก็ไม่ควรจะทำ
อาจารย์เดโชพล กล่าวว่า จากตำนาน “ไอ้ไข่” ที่บอกว่ามีหลายเวอร์ชัน แต่เท่าที่สังเกต คือ ทุกเวอร์ชันจะบอกว่า สมัยเป็นเด็ก “ไอ้ไข่” จะเป็นคนชอบช่วยเหลือคนเดือดร้อน คุณงามความดีของ “ไอ้ไข่” คือ เป็นคนชอบช่วยเหลือผู้อื่น เรียกว่ามีความดีที่พอจะนับถือได้
แต่..หากพูดเป็นภาษาที่เข้าใจง่ายๆ คือ สมมติว่าเราจะไปขอให้คนช่วย คนที่จะช่วยเราก็ดูว่าเราเป็นคนยังไง มีคุณงามความดีหรือเปล่า เราขอให้เขาช่วยเราขอเขาแบบไหน ไปด้วยจิตใจแบบใด
แต่..ส่วนใหญ่ก็อาจจะไปแบบว่า “อยากได้..อยากรวย” ผลที่ได้รับก็คือ อาจจะได้ผลบ้าง ไม่ได้บ้าง..
ซึ่งดังนั้น ทางวัดก็จะมีบอกว่า “ใครจะขอพรไอ้ไข่” ก็ต้องอยู่ในศีล ในธรรม ซึ่งก็เป็นกุศโลบาย เหมือนหลักเกณฑ์สากล เหมือนกับสมัยโบราณที่พระเกจิอาจารย์ปลุกเสกวัตถุมงคลท่านก็ทำลักษณะนี้
ขณะที่ พล.อ.จรัล พูดคนที่จะมาปลุกเสกสิ่งศักดิ์สิทธิ์ว่า การสร้างเครื่องรางคือความชื่อเรื่อง “พลังแห่งจิต” ผู้สร้างจะต้องเพ่งจิตนำไปสู่เครื่องรางนั้น ส่วน “จิต” นั้นจะเข้าไปสิงสู่อย่างไร..ตนก็ไม่รู้ จะศักดิ์สิทธิ์หรือไม่..ก็ไม่รู้ มันขึ้นอยู่กับความแข็งแกร่งของจิตใจของผู้ทำ
เมื่อใส่ “จิต” ลงไปยังเครื่องรางนั้นๆ เวลาผ่านไปนับร้อยปีจะเสื่อมถอยหรือไม่..ก็ไม่รู้ ผู้ที่รับวัตถุมงคลเหล่านั้นมา หากมาทิ้งขว้าง เช่นไปวางใต้บันได “จิต” นั้นไม่อยากอยู่ ก็อาจจะเสื่อมลง เราต้องรู้ในเรื่องหลักของ “พลังแห่งจิต” ซึ่งหากเราทำดี ร่างกายก็จะเป็นสุข
การที่จะทำให้เครื่องรางศักดิ์สิทธิ์ จำเป็นต้องเป็น “อริยสงฆ์” หรือไม่ พล.อ.จรัล ตอบว่า “พลังในจิต” มีเท่ากันทุกคน เพียงแต่ว่า “แน่วแน่” แค่ไหน ถ้าไม่แน่วแน่ จะเรียกว่า “จิตแส่ส่าย” แปลว่าจิตล่องลอยไปไหนก็ไม่รู้ จะคิดเพ่งไปที่วัตถุชิ้นนี้ แต่จิตก็ไม่ไป
อย่างที่ พล.อ.จรัล และ ผศ.ดร.เดโชพล ให้ความเห็นไปข้างต้น..ความเชื่อเรื่อง “ไอ้ไข่” เป็นความเชื่อส่วนบุคคล การนับถือคนดี หรือคุณงามความดีไม่ใช่เรื่องผิด แต่ต้องมี “สติ” และอยู่บนความ “ไม่ประมาท”
ผู้เขียน : อาสาม
กราฟิก : Jutaphun Sooksamphun
อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ