บรรยากาศบน "ดาวศุกร์" ร้อนระอุยิ่งกว่าขุมนรก มีแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์กว่า 97% และชั้นเมฆหลายชั้นประกอบด้วยกรดกำมะถัน
"ฟอสฟีน" เกิดขึ้นจากกำมะถัน 1 อะตอม บวกกับไฮโดรเจน 3 อะตอม แล้วมาจับตัวกันเหมือนพีระมิด
"แบคทีเรีย" เป็นสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวที่เล็กที่สุด จะเห็นได้ด้วยกล้องจุลทรรศน์
เราคือ...สิ่งมีชีวิตเดียวในจักรวาลจริงหรือ? คำถามที่ค้างคาอยู่ในใจหมู่มวลมนุษย์บนโลกสีน้ำเงินมาอย่างยาวนานนั้น เริ่มมีคำตอบที่แคบลงกว่าเดิมจากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ที่ทำเอาสิ่งมีชีวิตที่กระดูกสันหลังตั้งฉากกับพื้นโลกที่กำลังใช้ชีวิตกันอย่างยากลำบากจากภาวะการแพร่ระบาดโรค Covid-19 กลับไปให้ความสนใจกับอะไรที่นอกเหนือจากตัวเองกันอีกครั้ง
เพราะล่าสุด มันน่าจะมีอะไรบางอย่างซุกซ่อนตัวอยู่ในดาวที่อยู่ห่างจากโลกของเราไปประมาณ 41 ล้านกิโลเมตร และหากเราจะเดินทางไปด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบัน อาจจะต้องใช้ระยะเวลาเดินทางประมาณ 6 เดือน
พลังแห่งวิทยาศาสตร์ค้นพบอะไรกระนั้นหรือ...คำตอบคือ แก๊สชนิดหนึ่งที่น่าจะมาจาก "จุลชีวะ" ที่มีขนาดเล็ก เล็กมาก ชนิดมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น แต่มันคือ สัญญาณของอะไรบางอย่างที่มันอาจเป็น "สัญญาณของสิ่งมีชีวิต"
"การค้นพบที่ดาวศุกร์ถือเป็นครั้งแรกในวงการดาราศาสตร์โลกที่มีหลักฐานของสิ่งที่น่าจะเกิดมาจากสิ่งมีชีวิตที่ชัดเจน ซึ่งอยู่ในบรรยากาศของดาวเคราะห์นอกโลกของเรา และยังทำให้ดาวศุกร์ที่ถูกลืมกลับมาอยู่ในโฟกัสของนักวิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์ได้อีกครั้ง!"
รศ.ดร.ชัยวัฒน์ คุประตกุล จอมนักวิทยาศาสตร์ของไทย ให้คำจำกัดความถึงข่าววิทยาศาสตร์ชิ้นสำคัญที่สุดชิ้นหนึ่งในปี 2020 รวมถึงจะมาเป็นผู้ให้ความกระจ่างในแบบฉบับเข้าใจง่าย กับการค้นพบสิ่งที่อาจจะเป็น "เอเลียน" บนดาวศุกร์
...
: ทำความรู้จัก "ฟอสฟีน" (Phosphine Gas)
อาจารย์ชัยวัฒน์ค่อยๆ อธิบายถึงสิ่งที่เรียกว่า "ฟอสฟีน" ด้วยน้ำเสียงราบเรียบว่า มันคือ...โมเลกุลของสารประกอบ ซึ่งเกิดขึ้นจากกำมะถัน 1 อะตอม บวกกับไฮโดนเจนอีก 3 อะตอม ที่มาจับตัวกันเหมือนพีระมิด
เหตุไฉน การค้นพบ "ฟอสฟีน" บนดาวศุกร์จึงเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสนใจ?
"มันต้องน่าสนใจสิ!" จอมวิทยาศาสตร์ไทยเน้นคำ
การค้นพบ "ก๊าซฟอสฟีน" มันไม่ต่างจาก "ควัน" ที่อาจจะลอยมาจากกองไฟ นั่นเป็นเพราะโดยปกติในโลกของเรา "ก๊าซฟอสฟีน" มันมักจะถูกปล่อยออกมาจากสิ่งมีชีวิต เข้าใจแล้วใช่ไหมครับว่า "ก๊าซฟอสฟีน" คือ ร่องรอยที่อาจจะเป็นหลักฐานที่ชัดเจนต่อไปในอนาคตว่า เราไม่ได้อยู่คนเดียวในจักรวาล
แล้วอะไรคือ สิ่งมีชีวิตที่พบบนดาวศุกร์?
อาจารย์ชัยวัฒน์ยิ้มเล็กน้อยก่อนตอบคำถามนี้ สำหรับคำถามต่อไปที่ว่า หาก "ก๊าซฟอสฟีน" เกิดจากสิ่งมีชีวิตบนดาวศุกร์จริง มันคือสิ่งมีชีวิตที่มีรูปแบบเป็นอย่างไร คำตอบ ณ วินาทีนี้ คือ มันก็คงต้องเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีขนาดเล็กมากในระดับ "แบคทีเรีย"
แบคทีเรียถือเป็นสิ่งมีชีวิต?
"ใช่ครับ แบคทีเรียถือเป็นสิ่งมีชีวิต" รศ.ดร.ชัยวัฒน์ กล่าว
เบื้องต้น ต้องทำความเข้าใจก่อน สิ่งมีชีวิตในแบบที่มนุษย์คุ้นเคยหรือมีองค์ความรู้นั้น จะอยู่ในรูปแบบของ Corbon-based life ซึ่งมี Corbon เป็นธาตุพื้นฐาน สิ่งมีชีวิตบนโลกของเรามีธาตุพื้นฐาน 4 อย่าง คือ คาร์บอน ไฮโดรเจน ไนโตรเจน และออกซิเจน ที่มารวมกันเป็น DNA ซึ่งแบคทีเรียบนโลกของเราก็ประกอบไปด้วยธาตุพื้นฐานเหล่านี้เช่นเดียวกัน เพียงแต่มันมีขนาดที่เล็กมากๆ เมื่อเทียบกับมนุษย์
โดย "แบคทีเรีย" คือ สิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวที่เล็กที่สุดที่เห็นได้ด้วยกล้องจุลทรรศน์ หากใครนึกไม่ออกว่ามันเล็กแค่ไหน ให้นึกภาพประกอบตามง่ายๆ ว่า เพียงแค่เราลองสะกิดผิวของเราออกมานิดเดียวในนั้นจะมีแบคทีเรียมากถึงระดับพันล้านตัวแล้ว
นอกจากนี้ คำจำกัดความของสิ่งมีชีวิตจะประกอบไปด้วย ต้องขยายพันธ์ุได้ สืบพันธุ์ได้ และต้องเจริญเติบโตได้ ซึ่งแบคทีเรียเข้าองค์ประกอบดังกล่าวทั้งหมด เพราะมันสามารถเจริญเติบโตได้และขยายพันธ์ุได้ด้วยการแบ่งตัวของมันเอง เมื่อมันได้รับความอบอุ่นและอาหารเพียงพอ และหากใครยังไม่ทราบ "แบคทีเรีย" นั้น แม้จะไม่ได้รับอาหารใดๆ เลย มันก็ยังสามารถมีชีวิตอยู่ได้เป็นล้านๆ ปี เพราะล่าสุด เราพบแบคทีเรียจำศีลที่มีอายุยืนยาวนับล้านปีมาแล้ว แถมเมื่อมันกลับมาได้รับความอบอุ่นและอาหาร มันสามารถกลับมามีชีวิตและสามารถแพร่พันธุ์ได้อีกครั้งได้อย่างน่าทึ่งด้วย
...
: "ฟอสฟีน" บนดาวศุกร์เกิดจาก "สิ่งไม่มีชีวิต" ได้หรือไม่?
หากถามว่า...มันจะเกิดขึ้นจากกระบวนการของสิ่งไม่มีชีวิตได้หรือไม่? คำตอบ คือ "ได้" แต่ก็ต้องเป็นการสร้างมันขึ้นมาดั่งเช่นบนโลกโดยมนุษย์ เช่น "ฟอสฟีน" ที่เกิดขึ้นตามโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ แต่มันจะไม่เกิดขึ้นมาง่ายๆ จากกระบวนการอย่างเป็นธรรมชาติ จากสิ่งที่ไม่มีชีวิต ถึงแม้ว่า ในหลักการมันสามารถจะเกิดขึ้นได้ เช่น จากกระบวนการทางเคมี ทางธรณีวิทยา หรืออื่นๆ แต่ในธรรมชาติ โดยตัวของมันเองเกิดขึ้นได้ยากมากๆ และมักจะมีปริมาณไม่สูงมากนัก แต่กับการค้นพบที่ "ดาวศุกร์" มันแตกต่างออกไป เนื่องจากมันพบในปริมาณสูงมากจนยากที่จะหาคำอธิบายอื่นใดได้! จอมนักวิทยาศาสตร์ของไทยเลกเชอร์ฉบับย่อแบบเข้าใจง่ายๆ
อะไรคือ หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ยืนยันถึงการค้นพบ "สิ่งมีชีวิต" บนดาวศุกร์?
การค้นพบครั้งนี้ จริงๆ แล้วค้นพบกันมาตั้งแต่เมื่อ ค.ศ.2016 แล้ว เพียงแต่เป็นการค้นพบโดยใช้กล้องโทรทรรศน์วิทยุ ที่มีชื่อว่า "James Clerk Maxwell Telescope" ในฮาวาย ประเทศสหรัฐอเมริกา แต่ตอนนั้น คณะนักดาราศาสตร์นานาชาติที่นำโดย "เจน กรีฟส์" (Jane Greaves) แห่งมหาวิทยาลัยคาร์ดิฟฟ์ (Cardiff University) ในเวลล์ สหราชอาณาจักร ยังไม่ได้ประกาศออกมาอย่างเป็นทางการ เนื่องจากต้องการหลักฐานที่แน่ชัดกว่านี้
จนกระทั่งล่าสุด ได้มีการใช้กล้องโทรทรรศน์วิทยุที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าเก่า ซึ่งมีชื่อว่า Atacama Large Millimeter Array หรือ ALMA ในประเทศชิลี ตรวจสอบซ้ำอีกครั้งจนได้ผลการวิเคราะห์ในเบื้องต้นออกมาว่า การค้นพบทั้ง 2 ครั้งนั้น นอกจากจะมีความสอดคล้องกันแล้ว ยังเป็นการค้นพบก๊าซฟอสฟีนในประมาณมากเกินกว่าจะมีคำอธิบายได้ โดยกระบวนการของสิ่งไม่มีชีวิตบนดาวศุกร์ คณะทำงานดังกล่าวจึงได้ประกาศผลการค้นพบครั้งนี้ต่อชาวโลกในวารสารทางวิทยาศาสตร์ เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2020
...
อย่างไรก็ดี คณะทำงานไม่ได้คัดค้านหรือปิดกั้นความคิดเห็นของหลายๆ ฝ่าย สำหรับประเด็นที่ว่า "ก๊าซฟอสฟีน" ที่ค้นพบบนดาวศุกร์อาจจะเกิดขึ้นจากกระบวนการของสิ่งไม่มีชีวิต เนื่องจากยังต้องมีการศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมต่อไปในอนาคต
สภาพของ "ดาวศุกร์" เมื่อเปรียบเทียบกับ "โลก" เอื้ออำนวยต่อสิ่งมีชีวิตหรือไม่?
"บรรยากาศบนดาวศุกร์ จินตนาการง่ายๆ มันก็คือ ดินแดนที่ร้อนระอุยิ่งกว่าขุมนรก!" รศ.ดร.ชัยวัฒน์ ให้คำจำกัดความ
เนื่องจากประกอบไปด้วยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์เป็นส่วนใหญ่ หรือ 97% และมีชั้นเมฆอยู่หลายชั้นที่ประกอบไปด้วยแก๊สซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (กรดกำมะถัน) ซึ่งมีความหนาหลายกิโลเมตร ซึ่งชั้นเมฆหนาเหล่านี้ ทำให้ดาวศุกร์เกิดสภาวะเรือนกระจก เก็บกักความร้อนเอาไว้ จนกระทั่งทำให้อุณหภูมิพื้นผิวสูงถึง 470 องศาเซลเซียส!
ทำให้ดาวศุกร์กลายเป็นดาวเคราะห์ที่มีอุณหภูมิพื้นผิวร้อนที่สุดในระบบสุริยะของเรา ทั้งๆ ที่อยู่ไกลกว่า "ดาวพุธ" ซึ่งเป็นดาวเคราะห์ที่อยู่ใกล้กับดวงอาทิตย์ที่สุดถึง 2 เท่า ทำให้หากมีปรากฏการณ์ฝนตก ฝนที่ตกลงมาจะไม่ใช่น้ำ แต่จะเป็น "ฝนกรด" เพราะบรรยากาศของดาวศุกร์เป็นพิษสำหรับสิ่งมีชีวิตในแบบที่พวกเรารู้จักกันแน่นอน
...
ร้อนยิ่งกว่าขุมนรก แล้วเหตุใดจึงจะมีสิ่งมีชีวิตได้?
จอมนักวิทยาศาสตร์ไทยหัวเราะเบาๆ ก่อนตอบคำถามนี้ว่า "นั่นเป็นเพราะก๊าซฟอสฟีนที่พบนี้ มันไม่น่าจะเกิดจากแบคทีเรียหรือสิ่งมีชีวิตอื่นใดที่อยู่บนพื้นผิวของดาวศุกร์ แต่น่าจะอยู่ในบรรยากาศของดาวศุกร์มากกว่า โดยมันน่าจะอยู่บริเวณชั้นบรรยากาศที่สูงขึ้นมาสัก 40-50 กิโลเมตรจากพื้นผิว ซึ่งไม่น่าจะมีอุณหภูมิสูงมากนัก
นอกจากนี้ในโลกเรา ยังเคยค้นพบแบคทีเรียจำศีลที่อยู่ในสภาพฟอสซิส ซึ่งสามารถมีชีวิตอยู่ได้โดยไม่ต้องการออกซิเจนมาแล้ว ฉะนั้น มันจึงเป็นเครื่องพิสูจน์ได้ว่า แบคทีเรียสามารถมีชีวิตอยู่ได้ในทุกสภาวะแวดล้อม ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีสภาวะแวดล้อมเหมือนโลกมนุษย์ของเราแต่อย่างใด รวมถึงสภาวะแวดล้อมราวกับขุมนรกของดาวศุกร์ ก็ไม่ได้รับการยกเว้นด้วยเช่น"
: ย้อนอดีตการค้นพบวี่แววของสิ่งมีชีวิตนอกโลก
"เราเคยพบอะไรที่ใกล้เคียงมาแล้วอยู่บ้าง แต่ไม่เคยมีอะไรชัดเจนมากเท่าครั้งนี้" รศ.ดร.ชัยวัฒน์ กล่าวด้วยน้ำเสียงหนักแน่น
หากนับเฉพาะในระบบสุริยะของเราที่ใกล้เคียงกับกรณีที่พบที่ดาวศุกร์มากที่สุด ก็น่าจะเป็นกรณีการพบฟอสซิลแบคทีเรียที่อยู่ในอุกกาบาต ที่มาจากดาวอังคารเมื่อหลายปีก่อน ซึ่งตอนนั้นถือเป็นข่าวที่โด่งดังมาก แต่ในเวลาต่อมา นักวิทยาศาสตร์สามารถศึกษาจนสามารถพิสูจน์ได้ว่า กรณีดังกล่าวเกิดขึ้นได้จากกระบวนการของสิ่งไม่มีชีวิต ความหวังในการพบสิ่งมีชีวิตนอกโลกจากดาวอังคารจึงต้องยุติลง
ส่วนการส่งยานไปสำรวจดาวอังคารหลายครั้งที่ผ่านมา พบร่องรอยหลักฐานหลายอย่างที่น่าสนใจ ซึ่งเป็นไปได้สูงมากว่า ในอดีตดาวอังคารน่าจะมีสภาพเหมือนโลกของเรา เนื่องจากค้นพบว่า ปัจจุบันมีน้ำอยู่ใต้ดินของดาวอังคาร เพียงแต่อาจจะอยู่ในสภาพของเกล็ดน้ำแข็งเป็นส่วนใหญ่ แต่โอกาสที่จะมีสิ่งมีชีวิตอยู่บนดาวอังคารมีสูงหรือเคยมีมาแล้ว แต่ทุกวันนี้อาจจะสูญพันธุ์ไปแล้ว แต่ยังมีฟอสซิลอยู่หรือยังอยู่ทุกวันนี้ก็เป็นไปได้
รวมถึงกรณีของดาวพฤหัสบดีที่แม้จะมีลักษณะเป็นก้อนน้ำแข็งยักษ์และเต็มไปด้วยความหนาวเหน็บ แต่บรรยากาศของดาวพฤหัสบดีที่มีความหนาแน่นมากๆ นั้น ทำให้มีนักวิทยาศาสตร์ส่วนหนึ่งเชื่อว่าน่าจะมีโอกาสที่จะมีสิ่งมีชีวิตอยู่ได้ แต่จนถึงตอนนี้ก็ยังคงไม่พบหลักฐานใดๆ ที่สามารถยืนยันทฤษฎีดังกล่าวให้เป็นจริงได้เลย
มนุษย์รู้จักและสัมผัสกับดาวศุกร์มานานแค่ไหนแล้ว?
"จริงๆ แล้ว ดาวศุกร์เหมือนโลกเรามากๆ เต็มไปด้วยพื้นที่ราบแห้งแล้งและภูเขามากมาย เพียงแต่...ไม่มีน้ำเลย" เอกนักวิทยาศาสตร์ของไทย พูดด้วยสีหน้าจริงจัง
"ดาวศุกร์" ต้องถือว่าเป็นดาวเคราะห์ที่มีความแปลกมากๆ เพราะหากนับย้อนหลังไปก่อนปี ค.ศ.1961 นักวิทยาศาสตร์และนักดาราศาสตร์ล้วนแล้วแต่มุ่งความสนใจไปที่ดาวศุกร์มากกว่าดาวดวงใดๆ ในระบบสุริยะ เนื่องจากเชื่อมั่นว่ามีโอกาสที่จะมีสิ่งมีชีวิตมากที่สุด เพราะในยุคนั้นการศึกษาผ่านกล้องโทรทัศน์ ดาวศุกร์มีความสดใสและสว่างมาก รวมถึงมีชั้นเมฆหนาทึบ
แต่แล้วหลังจากปี ค.ศ.1961 เป็นต้นมา เมื่อมีการใช้เทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกล้องโทรทรรศน์วิทยุที่มีคุณภาพสูงขึ้น การใช้เรดาห์ตรวจสอบจากโลก รวมถึงการส่งยานอวกาศไปสำรวจดาวศุกร์อย่างจริงจังหลายต่อหลายครั้ง
โดยยานอวกาศที่สามารถลงไปสำรวจพื้นผิวของดาวศุกร์ ได้สำเร็จเป็นลำแรก คือ ยานอวกาศเวเนลา 4 (Venera 4) ของอดีตสหภาพโซเวียตในวันที่ 15 ธันวาคม ค.ศ.1970 แต่มันสามารถปฏิบัติการสำรวจและส่งรูปถ่ายขาวดำของดาวศุกร์ กลับมายังโลกได้เพียงประมาณ 30 นาทีก่อนที่จะหยุดทำงานลง
จากนั้นในวันที่ 1 มีนาคม ค.ศ.1982 สหภาพโซเวียตส่งยานอวกาศเวเนลา 13 (Venera 13) ไปสำรวจพื้นผิวของดาวศุกร์อีกครั้ง คราวนี้สามารถถ่ายภาพสีและข้อมูลเกี่ยวกับดาวศุกร์จำนวนมากกลับมายังโลกได้สำเร็จ
ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้กลับแตกต่างจากความรู้พื้นฐานเดิมที่มีอยู่อย่างสิ้นเชิง เพราะถึงแม้ดาวศุกร์จะมีอะไรที่ใกล้เคียงกับโลก ไม่ว่าจะเป็นขนาดหรือแรงดึงดูด แต่สิ่งที่อยู่ภายในนั้น เต็มไปด้วยบรรยากาศที่หนาแน่นกว่าโลกถึงเกือบ 100 เท่า ในขณะที่ อุณหภูมิพื้นผิวร้อนราวกับนรกถึง 470 องศาเซลเซียส ในขณะที่ อากาศเต็มไปด้วยคาร์บอนไดออกไซด์และกำมะถันที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ จากนั้นมาดาวศุกร์ก็ถูกหมางเมินจากวงการวิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์ไปโดยสิ้นเชิง ยกเว้นแต่ในกรณีที่จะส่งยานอวกาศไปสำรวจดาวดวงอื่นๆ ที่ต้องผ่านดาวศุกร์เพื่ออาศัยแรงเหวี่ยงไปยังจุดที่เป็นเป้าหมายก็จะมีแวะสำรวจบ้างเป็นครั้งคราวเท่านั้น
ฉะนั้น มันจึงน่าจะถึงเวลาแล้วที่วงการวิทยาศาสตร์จะต้องกลับมาให้ความสำคัญกับดาวศุกร์อีกครั้ง หลังจากทอดทิ้งมันมาเป็นเวลาหลายสิบปี โดยล่าสุด ผู้บริหารนาซา (NASA) ยอมรับแล้วว่า การค้นพบครั้งนี้มีความสำคัญและถึงเวลาที่เราจะต้องสนใจดาวศุกร์กันอีกอย่างจริงจัง
มนุษย์ต่างดาวมีจริงหรือไม่?
"หากมีอยู่จริง พวกเขาน่าจะมาถึงโลกอย่างเป็นมิตรมากกว่าที่จะเป็นศัตรู" รศ.ดร.ชัยวัฒน์ กล่าวพร้อมกับสีหน้าที่จริงจัง
ความเห็นส่วนตัวเกี่ยวกับ "มนุษย์ต่างดาว" มีความเชื่อว่า มนุษย์ต่างดาวน่าจะมีอยู่จริง และวันหนึ่งพวกเขาเหล่านั้นจะสามารถเดินทางมายังโลกของเราได้ เพียงแต่ประเด็นนี้ ผมมีความเห็นที่ตรงกันข้ามกับ "สตีเฟน ฮอว์กิง" สุดยอดนักวิทยาศาสตร์ของโลก ที่มองว่า หากมนุษย์ต่างดาวมาถึงโลกได้ พวกเขาน่าจะมาอย่างศัตรู
ขณะที่ในความเห็นส่วนตัว มองว่าหากพวกเขามาถึงโลกได้ พวกเขาน่าจะเป็นมิตรกับมนุษย์มากกว่า นั่นเป็นเพราะหาก "เอเลียน" เหล่านั้น ไม่สามารถพัฒนาจิตใจให้สูงพอ พวกเขาเหล่านั้นจะทำลายล้างพวกเดียวกันเองจนสูญสิ้นเผ่าพันธุ์ก่อนที่จะเดินทางมาถึงโลกได้
เป็นเพราะในประเด็นเดียวกันนี้ ผมเชื่อว่าอีก 100 ปีข้างหน้า มนุษย์โลกสีน้ำเงินของเราก็จะยังไม่สามารถเดินทางออกนอกระบบสุริยะได้ แต่ผมยังไม่แน่ใจว่า มนุษย์จะอยู่ได้ถึงอีก 100 ปีหรือไม่ ถ้าเราไม่พัฒนาจิตใจของเราให้สูงกว่าที่เป็นอยู่!
แล้วคุณล่ะ คิดเหมือน "อาจารย์ชัยวัฒน์" บ้างไหม?
ผู้เขียน: นายฮกหลง
กราฟิก: เทพอมร แสงธรรมาพิทักษ์
ข่าวน่าสนใจ:
- Xiaomi เฉือนเค้ก "Apple" จ่อปล่อยหมัดเด็ด Airpods ใหม่
- ปฏิวัติ "ห้องน้ำสาธารณะ" สุดล้ำ เท่ คูล แต่...ปลด ไม่พ้นทุกข์
- ศึกคอนโซล ปู่นินผงาด Animal Crossing ดันกำไรพุ่ง 428% จ่อถอนสมอเกมมือถือ
- เปิดกระเป๋า 10 บิ๊กอสังหาฯ ตุนเงินสด 2 หมื่นล้าน ฝ่ามรสุมเศรษฐกิจ
- "สี จิ้นผิง" อัปเลเวลสร้างความมั่งคั่ง กลยุทธ์กำเนิด "เศรษฐีหุ้นพันล้าน"